การเจริญกายคตาสติ อย่างเดียวสามารถบรรลุธรรมได้ไหม ?
ทำไมพระอานนท์ เจริญ"กายคตาสติ" อย่างเดียวถึงบรรลุอรหันต์ได้ครับ
พระอานนท์สำเร็จพระอรหัต
[๖๑๗] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายังเป็นเสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึงเอนกายด้วยตั้งใจว่า จักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระัรัตนตรัย
ก่อนอื่น ทำความเข้าใจในเรื่อง ของ กายคตาสติให้ถูกต้องก่อนนะครับว่าคืออะไรและเป็นอย่างไร กายคตาสติ คือ สติและปัญญาที่ระลึกเป็นไปในการกาย ซึ่ง กายคตาสติ มี 2 อย่างคือทั้งที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา กายคตาสติที่เป็นสมถภาวนาคงเคยได้ยินนะครับที่ว่า พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น พิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูล ในอาการ32 พิจารณาว่าผม ขน เล็บ ปฏิกูล ไม่น่ายินดี ติดข้อง ขณะที่มีความเข้าใจถูก ในการคิดพิจารณาเช่นนี้ จิตสงบจากกิเลสชั่วขณะ เพราะคิดถูก แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมไม่ได้ละความยึดถือว่าเป็เรา เป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังเป็นผมของเรา ขนของเราอยู่ แต่พิจารณาถูกว่าเป็นสิ่งปฏิกูล มีสติและปัญญาพิจารณา สิ่งที่เนื่องกับกาย มี ผม ขน เล็บ เป็นต้นว่าปฏิกูล นี่คือกายคตาสติ โดยนัยสมถภาวนา ซึ่งไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงแต่ทำให้จิตสงบชั่วขณะที่พิจารณาครับ ส่วนกายคตาสติโดยนัย วิปัสสนา คือ สติที่ระลึกเป็นไปในกายเช่นกัน แต่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎที่กาย ที่เป็นธาตุ 4 คือ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม คือ เย็น ร้อนอ่อน แข็ง ตึงไหว ที่เนื่องกับกาย ขณะนั้นสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่เนื่องกับกายที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่การพิจารณาบัญญัติเรื่องราวที่เป็น ผม ขน เล็บ อาการ 32เป็นต้น เมื่อสติเกิดรู้ว่าเป็นเพียงแข็ง เราก็ไม่มี กายก็ไม่มี มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎ ก็สามารถไถ่ถอนความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลได้ อันเป็นหนทางดับกิเลสได้ ทีเป็นการเจริญวิปัสสนา ดังนั้น กายคตาสติ อีกชื่อหนึ่งในการเจริญวิปัสสนา ก็คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น การเจริญ กายคตาสติ สติที่เนื่องในกาย ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานในหมวด กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง ซึ่งการเจริญสติปัฏฐาน
เป็นหนทางที่สามารถดับกิเลสได้ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพระโสดาบันมานานแล้ว ดังนั้นท่านย่อมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ปัญญายังไม่แก่กล้าที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านย่อมทราบหนทางในการดำเนินเพื่อดับกิเลส สติของท่านในขณะที่อบรมในชีวิตประจำวัน ท่านก็เป็นผุ้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีสติระลึกลัษณะของสภาพธรรมที่เป็นทั้ง กาย เวทนา จิตและธรรม ทั้ง 4 หมวด ใน สติปัฏฐาน โดยที่ท่านไมได้เลือกหมวดอะไร แต่ท่านก็มีสติระลึกทั่วทั้ง 4 หมวด ทั้ง กาย เวทนา จิต ธรรม เพียงแต่ว่าตอนที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นจะต้องมีอารมณ์ของสภาพธรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนั้น ท่านมีสภาพธรรมที่เนื่องกับกาย อาจจะเป็น เย็นหรือ ร้อน อ่อน หรือ แข็ง ตึงหรือ ไหว เพียงอารมณ์เดียว เมื่อท่านมีสติระลึกในสภาพธรรมนั้น ในขณะนั้นท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะที่เนื่องกับกาย ทีเป็นกายคตาสติ หรือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานครับ การบรรลุ จึงต้องพิจารณาเพียงอารมณ์เดียวในขณะนั้นครับ เปรียบเหมือนเวลาจะเข้าเมือง มี 4 ประตู เข้าประตูไหนก็ถึงเมืองเหมือนกัน ดังนั้นท่านพระอานนท์ท่านบรรลุในขณะที่พิจารณากายเป็นสำคัญในขณะนั้นที่เป็นกายคตาสติ หรือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะเจริญอยู่หมวดเดียว คือ พิจารณากาย ก่อนที่จะบรรลุเท่านั้นครับ ตามที่กล่าวแล้ว ท่านก็พิจารณา หมวดอื่นๆ ทั้ง เวทนา จิตและธรรมเป็นปกติ เพียงแต่ตอนบรรลุต้องมีอารมณ์เดียว ซึ่งท่านพระอานนท์บรรลุด้วย การเจริญกายคตาสติในขณะจิตนั้นครับ ดังนั้นก่อนที่ท่านบรรลุ ปกติในชีวิตประจำวันท่านก็ไม่ไ่ด้เจริญหมวดเดียว ท่านก็มีสติระลึกเป็นไปทั้ง 4 หมวด ทั้ง กาย เวทนา จิตและธรรมครับ ไม่ใช่ว่าท่านจะเจริญอยู่หมวดเดียวในชีวิตประจำวันครับ เพราะปัญญาต้องรู้ทั่วในสภาพธรรมที่เป็นกาย เวทนา จิต ธรรมในชีวิตประจำวันครับ
กายคตาสติที่เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงสามารถดับกิเลส บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะกายคตาสติ นัยที่เป็นสติปัฏฐานได้ด้วยครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ท่านพระอานนท์เถระ รวมไปถึงพระอริยสงฆ์สาวก ทั้งหลาย ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น นั้น ล้วนเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งนั้น และที่สำคัญ สติปัฏฐาน ไม่ได้เพียงอย่างเดียว เท่านั้น มี ถึง ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด เพราะธรรมที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะ นั้น ก็คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ไม่พ้นไปจากนามธรรม และ รูปธรรม สำหรับในประเด็นของกายคตาสติ ที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น ต้องเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะจะทำให้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจจธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับจนถึงพระอรหันต์ เป็นกายคตาสติที่พระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าทรงสรรเสริญ [ไม่ใช่ที่เป็นสมถภาวนา เพราะสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงระงับไว้ได้เท่านั้นไม่สามารถทำลายกิเลสใดๆ ได้เลย] แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเจริญกายคตาสติอย่างเดียวแล้วจะได้บรรลุ เพราะถ้ายังไม่มีการศึกษา ให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่นอกเหนือไปจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (กายคตาสติ) ก็ยังมีความไม่รู้และมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้ การที่จะขจัดความสงสัยความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้เพียงลักษณะของสภาพธรรมเพียงหมวดเดียวในสติปัฏฐาน ๔ เพราะถ้ารู้เพียงหมวดเดียว ก็แสดงว่า ยังไม่รู้สภาพธรรม ในหมวดอื่นๆ ต้องเป็นผู้รู้ทัั่่วทั้งหมด ทั้งกาย เวทนา จิต และ ธรรม เมื่อเหตุย่อมสมควรแก่ผล ปัญญาเจริญสมบูรณ์พร้อมก็ทำให้ผู้นั้นถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะบรรลุด้วยอะไร อย่างเช่นท่านพระอานนท์ก็บรรลุด้วยการเจริญกายคตาสติ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ตามความเป็นจริง
เพราะขณะที่ระลึกรู้ ก็ต้องเป็นเพียงอย่างเดียวที่เป็นอารมณ์ในขณะนั้น ไม่สามารถรู้พร้อมๆ ได้หลายอารมณ์ แต่ก่อนที่จะบรรลุได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน มาแล้ว ทั้งนั้น เพราะท่านเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ทางใจ นั้น เป็นทีตั้งของสติ (สติปัฏฐาน) ทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกและปัญญารู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นครับ เป็นบุญของผู้ศึกษาธรรมะจริงๆ ที่มีท่านอาจารย์ทั้งสองช่วยตอบข้อสงสัยให้กับผู้ที่ยังรู้น้อยเช่นผม
อย่างการเปรียบมหาสติปัฏฐาน 4 เป็นประตูเมืองผมได้ยินมานานแล้ว แต่เพิ่งจะได้ความกระจ่างในอรรถวันนี้เองครับ ทำให้เห็นความสำคัญว่าการศึกษาธรรมะต้องเป็นผู้ละเอียดและต้องมีกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะ เช่นกรณีนี้หากไม่เป็นผู้ละเอียด ไม่มีผู้รู้ที่อธิบายก็อาจจะเข้าใจผิดว่าการเจริญสติปัฏฐานเพียงหมวดใดหมวดหนึ่งตามอัธยาศัยของตนก็สามารถทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมได้ ทั้งที่แท้จริงแล้วสติเป็นอนัตตา ไม่สามารถเลือกได้เลยว่าจะให้เกิดเจาะจงรู้สภาพธรรมใดตามที่เราต้องการ ต้องแล้วแต่เหตุและปัจจัยจริงๆ
ขอกราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ