การอบรมเจริญปัญญาทางอินทรีย์ ชั้นเลิศ ในอริยวินัย
ลักษณะแห่งการอบรมเจริญปัญญาทางอินทรีย์ หรือ อินทรียภาวนา ชั้นเลิศ
อานนท์ อินทรียภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา) ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า?อานนท์ ในกรณีนี้ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ -ไม่เป็นที่ชอบใจ - เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ เกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะเห็นรูปด้วยตา. ภิกษุนั้น รู้ชัดอย่างนี้ว่า
"อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง (สงฺขต) เป็นของหยาบๆ (โอฬาริก) เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจสมุปฺปนฺน) ; แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต, กล่าวคือ อุเบกขา" ดังนี้. (เมื่อรู้ชัดอย่างนี้) อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ - ไม่เป็นที่ชอบใจ - เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป, อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ - ไม่เป็นที่ชอบใจ - เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจอันบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไปเร็วเหมือนการกระพริบตาของคน ส่วนอุเบกขายังคงเหลืออยู่.
อานนท์ นี้แล เราเรียกว่า อินทรียภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย ในกรณีแห่งรูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ (ในกรณีแห่งเสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน ต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับแห่งอารมณ์นั้นๆ คือ ในกรณีแห่งเสียงเปรียบด้วยความเร็วแห่งการดีดนิ้วมือ เป็นต้น)
ธัมมสากัจฉา ช่วงบ่ายครับ
เจริญสติ เจริญปัญญา เจริญอุเบกขา เจริญธรรม
สาธุๆ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากข้อความมที่ยกมา อยู่ในพระสูตรที่ชื่อว่า อินทรียภาวนาสูตร ว่าด้วยการเจริญ อบรมอินทรีย์ ซึ่งอินทรีย์ในที่นี้ ก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา นั่นก็คือ การ อบรมอินทรยี์ ก็คือ การอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส ซึ่งในเรื่องนี้ อุตตรมาณพเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า อาจารย์ของท่านสอนการอบรมอินทรีย์อย่างไร หรือ สอนการอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสอย่างไร อุตตรมาณพทูลว่า อาจารย์ของข้า พระองค์สอนว่า ผู้ที่จะอบรมปัญญา อบรมอินทรีย์ คือ อย่าเห็นรูปด้วยตา อย่าได้ยิน เสียงด้วยหู พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า หากผู้ที่จะอบรมอินทรีย์ อย่างอาจารย์ท่าน ผู้นั้น ก็จะต้องตาบอด และ หูหวก อุตตรมาณพเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงนั่งนิ่ง คอตก ซบเซา
พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงการอบรมอินทรีย์ คือ การอบรมปัญญาที่ประเสริฐยิ่งและถูกต้องว่า เมื่อเธอเห็นรูปด้วยตาและเกิดความชอบ หรือ ไม่ชอบ ก็เกิดปัญญารู้ความจริงด้วยวิปัสสนาญาณ ที่เป็น วิปัสสนูเบกขา คือ การวางเฉยด้วยปัญญา ที่รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นวางเฉยด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่การวางเฉย ที่เป็นอุเบกขาเวทนา ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือไ่ม่รู้อะไรในขณะนั้นนะครับ ดังนั้น แต่แม้แต่คำว่า วางเฉยก็ต้องเป็นผู้ะเอียด ไม่ใช่ว่าไม่รู้สึกอะไร จะเป็นการวางเฉยที่เป็นการเจริญอินทรีย์ อบรมปัญญานะครับ แต่วางเฉยเพราะปัญญาเกิด รู้ความจริงว่า รูปที่เห็นเป็นแต่เพียงรูปธรรม มไม่ใช่เรา จึงวางเฉยด้วยปัญญา และไม่หวั่นไปในความชอบ และไม่ชอบเพราะรู้ความจริงครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงเพราะการที่จะเป็นผู้มีปัญญาที่เป็นกลางในการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดตามเหตุปัจจัยเป็นวิปัสสนูเปกขา ได้นั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง มิใช่ด้วยความเป็นตัวตนหรือด้วยความไม่รู้ และประการที่สำคัญการอบรมเจริญอินทรีย์ เป็นเรื่องของการเจริญขึ้นของธรรม กล่าวคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์เป็นอินทรีย์ที่แก้กล้า เมื่อนั้นก็ทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ครับ
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
อุเบกขาเป็นความมั่นคงไม่หวั่นไหวด้วยกำลังของปัญญา สติเกิดขึ้นย่อมดับความชอบใจและไม่ชอบใจได้เร็วพลันทันที การเจริญสติฯ จนชำนาญเหมือนอย่างบุรุษมีตาดี กระพริบตาฉะนั้น ถ้าไปพยายามไม่ให้เกิด กั้นไว้ หรือเลือก จะไม่ใช่การเจริญสติฯ การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...