ทำงาน และ ธรรมมะ

 
peeraphon
วันที่  18 ก.พ. 2555
หมายเลข  20575
อ่าน  1,449

เรียน อาจารย์ ทุกท่าน

ผมมีเรื่องอยากสอบถามเกี่ยวกับ การทำงาน และธรรมะ. แต่ก่อนอื่นขอเรียนว่า เว็บบอร์ด dhammahome แห่งนี้ ทำให้ผมได้เข้าใจธรรมะ มากขึ้น และได้อธิบาย ให้กับภรรยา และ บุคคล อื่นๆ ในสภาพความเป็นจริงของธรรมะ เพื่อให้คนอื่นๆ ละ จากความเห็นผิด แต่ดูเหมือนว่า แต่ละคน ก็มีปัญญา และความเข้าใจต่างกันไปจริงๆ ส่วนทุกวันนี้จะรู้ตัวทันที หรือไม่นาน หลังจากมีจิตเป็นอกุศล และเตือนตัวเองด้วยคำอธิบาย การตอบกระทู้ ของอาจารย์ และท่านอื่นๆ ทุกๆ ท่าน ในที่นี้. จึงขอกราบ อนุโมทนา มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

มีคำถามอยู่สอง ประเด็นครับ

ทุกวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรค จากการ การเจริญกุศลจิต คือการทำงาน เพราะ เนื่องจากตัวผมเองมี สิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ทำงานเกินอายุ ทำงานหลายๆ อย่าง ไปพร้อมกัน และหลายๆ ครั้ง ที่ โมหะ และ โทสะ เกิดขึ้นบ่อยๆ คิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงสภาวธรรมแบบนี้ หากว่ายังมีสิ่งต้องรับผิดชอบมากมาย จึงอยากอยากจะสอบถาม ว่า มีตัวอย่างข้อใด ใน พระไตรปิฎก หรือ เรื่องราว ที่จะมา เป็นตัวอย่างให้ มีปัญญา จัดการ กับ สภาวธรรมแบบนี้ได้บ้างครับ

อีกข้อหนึ่งก็คือ จากการงานที่ทำ จะต้องมีการเขียนบทความภาษาต่างประเทศอยู่บ่อยๆ ซึ่งต้องให้มีใจความดึงดูด เพื่อให้ลูกค้าที่มาอ่าน เข้าใจ ในตัวสินค้า และบางครั้งเหมือนกับจะต้องหลอกล่อให้ซื้อสินค้า. ซึ่งในขณะที่เขียน จิตคิดไปว่า ต้องเขียน ดีๆ เขียนให้ดึงดูด ดึงเอาโปรโมชั่นล่อใจลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าซื้อ ตรงนี้ เป็น โลภะ หรือ ทำให้ผู้อื่นเกิดโลภะ หรือไม่ อย่างไรครับ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาและได้เข้าใจพระธรรมในหนทางที่ถูกต้อง ไม่มากก็น้อยครับ เพราะอาศัยกัลยาณมิตร ทีมงานเว็บไซด์ ท่านอาจารย์สุจินต์และองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และได้มีโอกาสได้เจริญอบรมปัญญา อันเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของชีวิตครับ จึงขออนุโมทนาสหายธรรมทุกท่านที่เข้าใจพระธรรมและช่วยเผยแพร่พระธรรม รวมทั้งกราบท่านอาจารย์สุจินต์และขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ครับ


สำหรับในในเรื่องธรรม กับ การทำงาน ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ในความเป็นจริง ก็เป็นเพียง จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ ดังนั้น การทำงาน ก็คือ การทำหน้าที่ของจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะขณะที่ทำงาน ก็ไม่พ้นจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้กระทบสัมผัสและการคิดนึก ซึ่งที่กล่าวมา ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก ไม่พ้นจากรูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนั้นขณะที่ทำงานก็คือ ขณะที่จิต เจตสิกเกิดขึ้นทำหน้าที่ ขณะที่คิดนึกเรื่องราวของงาน ก็ต้องมี จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นอีกเช่นกัน ทำหน้าที่คิดนึก เป็นต้นครับ การทำงาน ก็คือ การเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกที่มีในชีวิตประจำวัน ไม่มีเราทำงานเลย เพราะมีแต่ธรรม ครับ

จากคำถามที่ ๑ ที่ถามว่า

ทุกวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรค จากการ การเจริญกุศลจิต คือการทำงาน เพราะเนื่องจากตัวผมเองมี สิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ทำงานเกินอายุ ทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน และหลายๆ ครั้ง ที่ โมหะ และ โทสะ เกิดขึ้นบ่อยๆ คิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยง สภาวธรรมแบบนี้ หากว่ายังมีสิ่งต้องรับผิดชอบมากมาย จึงอยากจะสอบถาม ว่า มีตัวอย่างข้อใด ใน พระไตรปิฎก หรือ เรื่องราว ที่จะมาเป็นตัวอย่างให้ มีปัญญา จัดการ กับ สภาวธรรมแบบนี้ได้บ้างครับ


ตามที่กระผมกล่าวแล้ว ว่าการทำงานก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิกที่เกิดขึ้น แม้ขณะที่ไม่ทำงาน ก็มีจิต เจตสิกที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ตามจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อยังเป็นปุถุชน ยังเป็นผู้หนาด้วยกิเลส คือ มีกิเลสที่สะสมมามาก ดังนั้น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงาน หรือไม่ทำงาน ก็เป็นอกุศลโดยส่วนมาก เป็นปกติ ธรรมดาของปุถุชน แม้เพียงตื่นขึ้น ลืมตาก็เป็นอกุศลแล้วโดยไม่รู้ตัวเลย ถามว่า บังคับบัญชา ให้ไม่เป็นอกุศลได้ไหม คำตอบ คือ ไม่ได้ครับ เพราะเกิดอกุศลแล้ว เป็นอนัตตา หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสะสมกิเลสมามาก ครับ ดังนั้นในชีวิตประจำวัน จึงเกิดอกุศลเป็น ปกติ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 18 ก.พ. 2555

คำถาม คือ จะทำอย่างไร มีปัญญา จะจัดการอย่างไร กับสภาพธรรมแบบนี้ คือ กับอกุศลที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ง่ายๆ ก็คือ ไม่อยากให้อกุศลเกิดมากแบบนี้ จะทำอย่างไรให้อกุศลน้อย

ตามที่กล่าวแล้วครับว่า อกุศลมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น และเมื่อไม่มีเรา มีแต่ธรรม จึงบังคับบัญชาไม่ได้ที่จะไม่ให้อกุศลเกิด และยิ่งเป็นสิ่งยากเหลือประมาณที่จะเปลี่ยนจากความเป็นผู้หนาด้วยกิเลส ด้วยระยะเวลาอันไม่นาน ด้วยปัญญาเพียงขั้นการฟังที่จะทำให้อกุศลเกิดน้อยลงได้ ครับ ทุกคนก็ไม่อยากให้เกิดอกุศลมากๆ แต่ก็เกิดมากเพราะขาดปัญญา และปัญญาก็มีหลายระดับ กิเลสก็มีหลายระดับอีกเช่นกันครับ ดังนั้นกิเลสที่สะสมมามาก จะละคลายไปโดยรวดเร็วไม่ได้เลย ดังนั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น แต่จะไม่ก้าวกระโดด เพราสะสมอวิชชามามาก ปัญญาจึงเจริญทีละน้อย กิเลสที่มีมากอยู่จึงเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลเกิดขึ้น

ดังนั้น ไม่มีพระธรรมบทใด ที่ฟังแล้ว อกุศลที่สะสมมามากจะหายไปทันที สำหรับผู้ที่สะสมกิเลสมามาก สะสมปัญญามาน้อย และไม่มีพระธรรมบทใด ที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมากทันที สำหรับผู้ที่สะสมปัญญามาน้อย สะสมกิเลสมามาก แต่พระธรรมทุกบท ไม่ว่าส่วนใด ไม่ได้เจาะจง เป็นเหตุให้เกิดปัญญาและกุศลธรรมแต่จะมาก จะน้อยแล้วแต่การสะสมมาของบุคลลนั้น ครับ ว่าสะสมกิเลสมามาก หรือ ปัญญามาก ครับ ดังนั้น ก็ไม่เลือกที่จะฟังพระธรรมบทใด เรื่องใดที่ได้ฟังขณะนั้น เมื่อเข้าใจ ก็เข้าใจในเรื่องนั้น ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้นในขณะที่เข้าใจ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 18 ก.พ. 2555

เป็นอันว่า ต้องค่อยๆ สะสมไปทีละน้อย และยอมรับความจริงด้วยปัญญาว่า กิเลสมีมากเหลือเกิน ไม่สามารถละคลายได้รวดเร็วและก็ยังจะต้องมีอกุศล โลภะ โทสะ โมหะเกิดมากในชีวิตประจำวัน แม้จะเป้นผู้ศึกษาธรรมก็ตาม เพราะปัญญายังมีน้อยนั่นเอง ปัญญาเพียงขั้นการฟัง จากการอ่านพระไตรปิฎก ยังทำอะไรกิเลสไม่ได้ เพียงแต่ค่อยๆ เข้าใจความจริงขึ้นครับ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ หนทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นหนทางดับกิเลสทั้งปวง หนทางนี้ ไม่ใช่หนทางที่จะพยายาม จัดการ บังคับด้วยตัวเราที่จะทำ แต่เป็นหนทางสายกลาง ด้วยปัญญา เป็นทางสายกลางด้วยปัญญานั่นเองครับ ปัญญาที่รู้ความจริงว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรม ดังนั้น หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่การจะทำ จัดการอะไรทั้งสิ้น แต่เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว ตามความเป็นจริง เพราะสัตว์โลกเข้าใจผิดว่า มีสัตว์ บุคคล มีสิ่งต่างๆ แต่ความเป็นจริงคือ มีแต่ธรรม ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ดังนั้นหนทางการอบรมปัญญา คือ เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่การพยายามที่จะไม่ให้อกุศลเกิด แต่อกุศลเกิดแล้วเข้าใจความจริงในขณะที่อกุศลเกิดว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ การอบรมปัญญาที่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 18 ก.พ. 2555

และจากคำถามข้อที่ ๒ ที่ว่า

อีกข้อหนึ่งก็คือ จากการงานที่ทำ จะต้องมีการเขียนบทความ ภาษาต่างประเทศอยู่บ่อยๆ ซึ่งต้องให้ มีใจความ ดึงดูด เพื่อให้ลูกค้าที่มาอ่าน เข้าใจ ในตัวสินค้า และบางครั้งเหมือนกับ จะต้องหลอกล่อให้ซื้อสินค้า. ซึ่งในขณะที่เขียน จิตคิดไปว่า ต้องเขียนดีๆ เขียนให้ดึงดูด ดึงเอาโปรโมชั่นล่อใจลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าซื้อ ตรงนี้ เป็น โลภะ หรือทำให้ผู้อื่นเกิดโลภะ หรือไม่ อย่างไรครับ


แน่นอนครับว่า ชีวิตขอปงปุถุชน ก็เกลือกกลั้วกับด้วยอกุศลที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แม้ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม อกุศลเกิดเป็นปกติ หากกุศลเกิดบ่อย ปัญญาเกิดมาก ผิดปกติแน่นอนครับ ดังนั้น โลภะก็มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน มากมายนับไม่ถ้วน แม้ลืมตาขึ้นมาก็เป็นโลภะแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงการเขียนบทความเพื่อให้ผู้อื่นสนใจ ก็ต้องมีโลภะ อกุศลได้เป็นธรรมดาครับ และก็อยากให้ผู้อื่นมีโลภะ ก็คือ โลภะของตนเองอีกนั่นเอง ครับ ซึ่งไม่ใช่เพียงโลภะที่เกิดขึ้น แม้โมหะ ความไม่รู้ ไม่รู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็เกิดขึ้นด้วย แต่เราไม่ได้เห็นโทษ เพราะไม่ปรากฏให้รู้เลย ดังนั้น หนทางการอบรมปัญญาตามที่กล่าวมา คือ ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมดา ไม่ต้องไป จัดการ ทำอะไร เพราะทำไม่ได้แน่นอน เพียงแต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไปเรื่อยๆ ปัญญาก็จะเจริญขึ้น แต่ทีละน้อยนะครับ ก็ค่อยๆ เข้าใจไปและก็อยู่กับกิเลสต่อไปเป็นปกติ โดยไม่ได้เดือดร้อนว่า กิเลสเราเยอะเหลือเกินจะทำยังไง เพราะเข้าใจความจริงแล้วว่าจะต้องเป็นอย่างนี้แหละ กิเลสเยอะ ถ้าไม่เยอะซิผิดปกติ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็ฟังพระธรรม จนอยู่กับกิเลสด้วยความเข้าใจ จนปัญญาถึงพร้อมก็อยู่กับกิเลสด้วยปัญญาที่รู้ว่า กิเลส อกุศลที่เกิดขึ้นเป็นธรรม นี่คือ หนทางสายกลาง อันเป็นหนทางที่จะดับกิเลสได้ในที่สุดครับ ฟังพระธรรมต่อไป ไม่ต้องทำอะไร ทุกอย่างเป็นธรรมและอนัตตา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ peeraphon ด้วย ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษาอบรมเจริญปัญญาต่อไป ซึ่งต้องเป็นผู้ที่สะสมเหตุที่ดี สะสมการฟังในอดีตมาแล้ว จึงทำให้ได้ฟัง ได้ศึกษาและได้สะสมปัญญาต่อไป เมื่อไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษา ฟังต่อไป บ่อยๆ เนืองๆ ความเข้าใจถูก ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เจริญขึ้นไปตามลำดับ

แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และ รูป ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับพืชเชื้อของกิเลส อันเป็นกิเลสที่ละเอียด ที่จะต้องถูกดับด้วยอริยมรรค (โสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค) ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสขั้นที่กลุ้มรุมจิต เกิดขึ้น เป็นปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ และเป็นที่น่าพิจารณาอีกว่า แต่ละบุคคลสะสมอกุศลมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ซึ่งได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานจนนับไม่ได้ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อยๆ เห็นว่าขณะจิตที่เป็นไปในแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง หรือ ถ้าไม่เป็นโลภะหรือโทสะ ก็เป็น โมหะ ตลอดเวลาที่จิตไม่เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล และ ไม่มีการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง เป็นต้น จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่อกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะติดข้องมากๆ ก็ได้ อาจจะ โกรธมากๆ ก็ได้ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส นั่นเอง พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรม ได้ว่าธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ

กิเลสที่มีมาก จะถูกดับได้ด้วยปัญญา [แต่ก็เป็นเรื่องที่ยาวไกลมาก ซึ่งจะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา] นี้คือ ประโยชน์ที่เกิดจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด ดังนั้น จึงขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยจริงๆ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อให้พระธรรมขัดเกลากิเลสในจิตใจของตนเองให้เบาบาง แล้วผลแห่งการเจริญปัญญาจะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองด้วยการเห็นโทษของกิเลสทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นต้น ตามความเจริญขึ้นของปัญญา ทำให้ดำเนินชีวิตเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรยิ่งขึ้น งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น กระทำในสิ่งที่ควรทำ ซึ่งไม่มีตัวตนที่ไปทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peeraphon
วันที่ 19 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thorn
วันที่ 19 ก.พ. 2555

จากพระสูตร เรื่อง อิฏฐสูตร

แสดงธรรม ๑๐ ประการที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ ... ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

โภคสมบัติ ๑
วรรณะ ๑
ความไม่มีโรค ๑
ศีล ๑
พรหมจรรย์ ๑
มิตร ๑
ความเป็นพหูสูต ๑
ปัญญา ๑
ธรรม ๑
สัตว์ทั้งหลาย ๑

แต่มีธรรม ๑๐ ประการ เป็นอันตรายแก่ธรรม ๑๐ ประการนี้ คือ

ความเกียจคร้าน ความไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นอันตรายแก่โภคสมบัติ,
การไม่ประดับตกแต่ง เป็นอันตรายแก่วรรณะ,
การกระทำสิ่งที่ไม่เป็นที่สบาย เป็นอันตรายแก่ความไม่มีโรค,
ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว เป็นอันตรายแก่ศีล,
การไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์,
การแกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริงเป็นอันตรายแก่มิตร,
การไม่ทำการสาธยาย เป็นอันตรายแก่ความเป็นพหูสูต,
การไม่ฟังด้วยดี ไม่สอบถาม เป็นอันตรายแก่ปัญญา,
การไม่ประกอบความเพียร การไม่พิจารณา เป็นอันตรายแก่ธรรมทั้งหลาย,
การปฏิบัติผิดเป็นอันตรายแก่สัตว์ทั้งหลาย

แต่มีธรรมที่เป็นอาหาร ของธรรม ๑๐ ประการนี้ คือ

ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียร เป็นอาหารของโภคสมบัติ ๑
การประดับ การตกแต่งร่างกาย เป็นอาหารของวรรณะ ๑
การทำสิ่งเป็นที่สบาย เป็นอาหารของความไม่มีโรค ๑
ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นอาหารของศีลทั้งหลาย ๑
การสำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของพรหมจรรย์ ๑
การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง เป็นอาหารของมิตรทั้งหลาย ๑
การกระทำการสาธยาย เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต ๑
การฟังด้วยดี การสอบถาม เป็นอาหารของปัญญา ๑
การประกอบความเพียร การพิจารณา เป็นอาหารของธรรมทั้งหลาย ๑
การปฏิบัติชอบ เป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลาย ๑

//www.dhammahome.com/webboard/topic/16651

จากพระสูตร เรื่อง สุภาษิตสูตร

... วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษและเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน

องค์ ๔ เป็นไฉน? คือ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมกล่าวแต่วาจาที่บุคคลกล่าวดีแล้วเท่านั้น ไม่กล่าววาจาที่บุคคลกล่าวชั่วแล้ว ๑

ย่อมกล่าวแต่วาจาที่เป็นธรรม เท่านั้น ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม ๑

ย่อมกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักเท่านั้น ไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ๑

ย่อมกล่าวแต่วาจาจริงเท่านั้น ไม่กล่าววาจาเท็จ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน.

//www.dhammahome.com/webboard/topic/18994

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 20 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 20 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ