ทสุตตรสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  4 มี.ค. 2555
หมายเลข  20697
อ่าน  2,123

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

๑๑. ทสุตตรสูตร

(ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)

...จาก...

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐๔


(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐๔

๑๑. ทสุตตรสูตร

(นำมาเพียงบางส่วนเท่านั้น)

[๓๖๔] ข้าพเจ้า สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโปกขรณี ชื่อ คัดครา ใกล้เมืองจำปา. ณ ที่นั้นท่านพระสารบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมา ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า [๓๖๕] เราจักกล่าวทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อ ปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เพื่อ บรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์

ว่าด้วยธรรมหมวด ๒

[๓๗๗] ธรรม ๒ อย่าง มีอุปการะมาก ธรรม ๒ อย่าง ควรเจริญ ธรรม ๒ อย่าง ควรกำหนดรู้ ธรรม ๒ อย่าง ควรละ ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนเสื่อม ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนวิเศษ ธรรม ๒ อย่างแทงตลอดได้ยาก ธรรม ๒ อย่าง ควรให้เกิดขึ้น ธรรม ๒ อย่าง ควรรู้ยิ่ง ธรรม ๒ อย่าง ควรทำให้แจ้ง.

[๓๗๘] ธรรม ๒ อย่าง มีอุปการะมากเป็นไฉน คือ สติ และสัมปชัญญะ ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ มีอุปการะมาก.

[๓๗๙] ธรรม ๒ อย่าง ควรเจริญเป็นไฉน คือ สมถะ และวิปัสสนา ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ควรเจริญ.

[๓๘๐] ธรรม ๒ อย่าง ควรกำหนดรู้ เป็นไฉน คือ นามและรูป ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ควรกำหนดรู้.

[๓๘๑] ธรรม ๒ อย่าง ควรละเป็นไฉน คือ อวิชชา และภวตัณหา ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ควรละ

[๓๘๒ ] ธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม เป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ว่ายาก และความคบคนชั่วเป็นมิตร ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม.

[๓๘๓] ธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนวิเศษ เป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ว่าง่าย และความคบคนดีเป็นมิตร. ธรรม ๒ อย่างเหล่าเป็นไปในส่วนวิเศษ.

[๓๘๔] ธรรม ๒ อย่าง แทงตลอดได้ยาก เป็นไฉน ได้แก่ ธรรมใดเป็นเหตุ และเป็นปัจจัย เพื่อความเศร้าหมอง แห่งสัตว์ทั้งหลาย ธรรมใดเป็นเหตุ และเป็นปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ แทงตลอดได้ยาก.

[๓๘๕] ธรรม ๒ อย่าง ควรให้เกิดขึ้น เป็นไฉน ได้แก่ ญาณ ๒ คือ ญาณในความสิ้นไป ญาณในความไม่เกิด ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ควรให้เกิดขึ้น.

[๓๘๖] ธรรม ๒ อย่าง ควรรู้ยิ่งเป็นไฉน ได้แก่ ธาตุ ๒ คือ สังขตธาตุ และอสังขต-ธาตุ. ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ควรรู้ยิ่ง.

[๓๘๗] ธรรม ๒ อย่าง ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน. คือ วิชชาและวิมุติ. ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ควรทำให้แจ้ง. ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้จริงแท้ แน่นอนไม่ผิดพลาด ไม่เป็นอย่างอื่น พระตถาคตตรัสรู้ชอบแล้วด้วยประการฉะนี้...

อรรถกถาทสุตตรสูตร

(นำมาเพียงบางตอน)

หลายบทว่า อิเม เทฺว ธมฺมา พหูการา ความว่า ธรรม คือ สติ และ สัมปชัญญะ ๒ เหล่านี้ มีอุปการะ คือ นำประโยชน์เกื้อกูลมาให้ในที่ทั้งปวง เหมือนความไม่ประมาท มีอุปการะในกิจทั้งหลายมีการบำเพ็ญศีลเป็นต้น ฉะนั้น. สติ ก็คือ สตินั่นเอง. สัมปชัญญะ คือ ญาณ (ปัญญา) หลายบทว่า สมโถ จ วิปสฺสนา จ ความว่า ธรรมอันเป็นโลกิยะ และโลกุตตระ ทั้ง ๒ เหล่านี้ ท่านกล่าวไว้ในสังคีติสูตร. สมถะ คือ สมาธิ. วิปัสสนา คือ ปัญญา. นาม ได้แก่อรูปขันธ์ ๔ และนิพพาน ๑. อนึ่ง ขันธ์ ๔ ในบรรดาธรรมเหล่านั้น ก็ชื่อว่า นาม แม้ด้วยอรรถว่า น้อมไป เพราะขันธ์เหล่านั้น ย่อมมุ่งหน้าน้อมไปในอารมณ์. ขันธ์ ๔ ย่อมยังกันและกันให้น้อมไปในอารมณ์. นิพพานย่อมยังธรรมอันไม่มีโทษให้น้อมไปในตน เพราะเป็นปัจจัยแห่งธรรมที่เป็นใหญ่ในอารมณ์. คำว่ารูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔. ทั้งหมดนั้นชื่อว่า รูป เพราะอรรถว่า ต้องย่อยยับไป. คำว่า อวิชฺชา ได้แก่ความไม่รู้ในสัจจะ มีทุกข์เป็นต้น. แม้เรื่องนี้ก็ได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้วในวิสุทธิมรรคเช่นกัน. คำว่า ภวตณฺหา หมายถึงความปรารถนาภพ. สมดังที่ตรัสไว้ว่า "บรรดาตัณหาเหล่านั้น ภวตัณหา คืออะไร คือความพอใจความเป็นในภพทั้งหลาย" ดังนี้เป็นต้น.คำว่า ภวทิฏฺฐิ (นี้) ความเที่ยง ท่านเรียกว่า ภวะ คือ ทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจความเห็นว่าเที่ยง แม้ทิฏฐินั้นท่านก็แถลงรายละเอียด ไว้แล้วในพระอภิธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า "บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ภวทิฏฐิคืออะไร คือ ทิฏฐิ ได้แก่ความเห็นที่เกิดขึ้นว่า "ตนมี โลกมี" ดังนี้. คำว่า วิภวทิฏฺฐิ (นี้) ความขาดสูญ ท่านเรียกว่า วิภวะ คือทิฏฐิที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจเห็นว่าขาดสูญ แม้ที่นั้นท่านก็แถลงรายละเอียดไว้แล้วในพระอภิธรรมเช่นเดียวกันโดยนัยเป็นต้นว่า "บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น วิภวทิฏฐิ คือ อะไร คือ ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นที่ว่า "ตนไม่มี โลกไม่มี" ดังนี้. คำว่า โทวจสฺสตา มีบทอธิบายดังนี้ - การว่ากล่าวในบุคคลนี้ ผู้มักถือเอาแต่สิ่งน่ารังเกียจ ติดใจในสิ่งที่เป็นข้าศึก ไม่เอื้อเฟื้อเชื่อฟัง เป็นการยาก ดังนั้น บุคคลผู้นี้จึงชื่อ ทุพฺพโจ (ผู้ว่ายาก) การกระทำของบุคคลผู้ว่ายากนั้น ชื่อว่า โทวจสฺสํ ภาวะของโทวจัสสะนั้น ชื่อว่า โทวจสฺสตา ภาวะแห่งการกระทำของผู้ว่ายาก ความเป็นผู้ว่ายาก. ความเป็นผู้ว่ายากนี้ รายละเอียดมีมาในพระอภิธรรมว่า "บรรดาธรรมเหล่านั้น โทวจัสสตา คือ อะไร คือความเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ในเมื่อเพื่อนสหธรรมิกกำลังว่ากล่าวตักเตือนอยู่ โทวจัสสตานั้น โดยความหมาย ย่อมเป็นสังขารขันธ์ แต่บางท่านกล่าวว่า คำนี้เป็นชื่อของขันธ์ทั้ง ๔ ที่เป็นไปโดยอาการเช่นนี้. คำว่า ปาปมิตฺตตา มีบทอธิบายดังนี้ คนชั่วทั้งหลาย มีคนไร้ศรัทธาเป็นต้น เป็นมิตรของผู้นั้น ดังนั้น เขาจึงชื่อว่า ปาปมิตฺโต ภาวะแห่งปาปมิตตะนั้น ชื่อว่า ปาปมิตฺตตา (ความเป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร) ความเป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตรนี้ รายละเอียดมีมาในพระอภิธรรม อย่างนี้ว่า "บรรดาธรรมเหล่านั้น ปาปมิตฺตตา คืออะไร คือ การคบหาสมาคมส้องเสพ มั่วสุม จงรักภักดี ประพฤติคล้อยตามบุคคลผู้ไร้ศรัทธา ทุศีล ขาดการศึกษา ตระหนี่ และไม่มีปัญญา" แม้ปาปมิตตตานั้น โดยความหมาย ก็พึงทราบเช่นเดียวกับ โทวจัสสตา. ความเป็นผู้ว่าง่าย และความมีคนดีเป็นมิตร พึงทราบโดยนัยตรง กันข้ามจากที่กล่าวมาแล้ว. คุณธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ในที่นี้ ท่านกล่าวระคนกันทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ. หลายบทว่า สตฺตานํ สงฺกิเลสาย สตฺตานํ วิสุทฺธิยา ความว่า อโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุ และเป็นปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย โยนิโสมนสิการเป็นเหตุและเป็นปัจจัย เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย. เหมือนอย่างนั้นความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย ความเป็นผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยเพื่อความหมดจด แห่งสัตว์ทั้งหลาย เหมือนกัน. อกุศลมูล ๓ (โลภะ โทสะ โมหะ) กุศลมูล ๓ (อโลภะ อโทสะ อโมหะ) โยคะ ๔ วิสังโยคะ ๔ เจโตขีละ ๕ อินทรีย์ ๕ อคารวะ ๖ คารวะ ๖ อสัทธรรม ๗ สัทธรรม ๗ กุสีตวัตถุ ๘ อารัพภวัตถุ ๘ อาฆาตวัตถุ ๙ อาฆาตปฏิวินัย ๙ อกุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ ตกเป็นธรรมอย่างละ ๒ มีประเภทดังที่กล่าวมาเหล่านี้ บัณฑิต พึงทราบว่า แทงตลอดได้ยาก สองบทว่า สงฺขตา ธาตุ ความว่า ขันธ์ห้าอันปัจจัยทั้งหลาย กระทำแล้ว. สองบทว่า อสงฺขตา ธาตุ ความว่า พระนิพพาน อันปัจจัยทั้งหลายมิได้กระทำ. พึงทราบวินิจฉัยในสองบทนี้ว่า วิชฺชา จ วิมุตฺติ จ ดังต่อไปนี้ วิชชา ๓ ชื่อว่า วิชชา อรหัตตผล ชื่อว่าวิมุตติ

คำว่า ขเย ญานํ ได้แก่ ญาณในอริยมรรค อันทำให้กิเลสสิ้นไป. คำว่า อนุปฺปเท ญาณํ ได้แก่ญาณในอริยผล อันเป็นผลที่ยังไม่เกิดโดยปฏิสนธิ หรือที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความไม่เกิดขึ้นแห่งกิเลสที่มรรคนั้นๆ ฆ่าได้แล้ว. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คำว่า ขเย ญาณํ คือ ญาณของผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรค. คำว่า อนุปฺปเท ญาณํ คือ ญาณของผู้พรั่งพร้อมด้วยผล


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 4 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ทสุตตรสูตร

(ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ใกล้กรุงจัมปา พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยได้แสดงทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดทุกข์ ซึ่งคำว่า ทสุตตระ มาจากคำว่า ทสะ (๑๐) + อุตตระ (เป็นอย่างยิ่ง) แปลว่า มี ๑๐ เป็นอย่างยิ่ง คือ ไม่เกิน ๑๐ หมายความว่า ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตร จำแนกธรรม เป็น ๑๐ หมวด คือ ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึง หมวดที่ ๑๐ และ ในแต่ละหมวดๆ นั้น ก็แบ่งออกเป็น ๑๐ ข้อยืนพื้น (คือ มีอุปการะมาก, ควรเจริญ, ควรกำหนดรู้, ควรละ, เป็นไปในส่วนเสื่อม, เป็นไปในส่วนวิเศษ, แทงตลอดได้ยาก, ควรให้เกิดขึ้น, ควรรู้ยิ่ง, ควรทำให้แจ้ง) กล่าวคือ ธรรมหมวดหนึ่ง ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ ธรรมหมวด ๒ ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ จนกระทั่งธรรมหมวด ๑๐ ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ

สำหรับที่จะสนทนาในวันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕ นี้ ได้นำมาเฉพาะธรรมหมวด ๒ ว่า ธรรมหมวด ๒ ที่มีอุปการะมาก, ธรรมหมวด ๒ ควรเจริญ, ธรรมหมวด ๒ ควรกำหนดรู้, ธรรมหมวด ๒ ควรละ, ธรรมหมวด ๒ เป็นไปในส่วนเสื่อม, ธรรมหมวด ๒ เป็นไปในส่วนวิเศษ, ธรรมหมวด ๒แทงตลอดได้ยาก, ธรรมหมวด ๒ ควรให้เกิดขึ้น, ธรรมหมวด ๒ ควรรู้ยิ่ง, ธรรมหมวด ๒ ควรทำให้แจ้ง นั้น มีอะไรบ้าง (ตามที่ปรากฏในพระสูตร)

เมื่อท่านพระสารีบุตรได้แสดงทสุตตรสูตรจบ ภิกษุทั้งหลายก็ชื่นชมภาษิตของท่านพระสารีบุตรและ ในตอนท้ายของอรรถกถา ได้แสดงไว้ว่า พระภิกษุแม้ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นนึกถึงอยู่ซึ่งพระสูตรนี้นั่นเอง ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตต์ พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ก็เพราะความที่ตนมีใจแช่มชื่นนั้น.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

โยคสูตร ... เสาร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๓

ตะปูปักใจ ตะปูตรึงใจ [เจโตขีละ ๕ สังคีติสูตร]

อินทรีย์ ๕

อคารวะ สคารวะ [สังคีติสูตร]

อสัทธรรม ๗ สัทธรรม ๗ [สัตตกนิบาต]

ที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร : อารัพภวัตถุ ๘ [อัฏฐกนิบาต]

ที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน : กุสีตวัตถุ ๘ [อัฏฐกนิบาต]

ปฐมอาฆาตวินยสูตร - ทุติยอาฆาตสูตร

เครื่องกำจัดความอาฆาต ๑๐ ประการ [อาฆาตปฏิวินยสูตร]

อกุศลกรรมบถ ๑๐ [สังคีติสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผิน
วันที่ 5 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paew_int
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Chalee
วันที่ 8 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พรสุธรรม
วันที่ 9 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สาธุๆ ๆ นำหลายๆ ๆ เด้อครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 10 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ