โยคสูตร - โยคะ ๔ อย่าง - ๑๘-๑๒-๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 ธ.ค. 2553
หมายเลข  17609
อ่าน  3,000

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

•••... มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ...•••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๘ ธ.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

โยคสูตร (ว่าด้วยโยคะ ๔ อย่าง)

...จาก...

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ ๓๕ - หน้าที่ 28-33

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ ๓๕ - หน้าที่ 28-33

๑๐. โยคสูตร (ว่าด้วยโยคะ ๔ อย่าง)

[๑๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โยคะ (เครื่องประกอบ) ๔ นี้ โยคะ ๔ คืออะไร? คือ กามโยคะ (เครื่องประกอบคือกาม) ภวโยคะ (เครื่องประกอบคือภพ) ทิฏฐิโยคะ (เครื่องประกอบคือทิฏฐิ) อวิชชาโยคะ (เครื่องประกอบคืออวิชชา) กามโยคะเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้ถึงความเกิด ความดับ ความชุ่มชื่น ความขมขื่น และความออกไป แห่งกามทั้งหลายตามจริง เมื่อไม่รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งกามทั้งหลาย ตามจริง ความยินดีในกาม ความเพลิดเพลินในกาม ความเยื่อใยในกาม ความสยบในกาม ความกระหายในกาม ความกลัดกลุ้มในกาม ความหมกมุ่นในกาม ความดิ้นรนในกาม ย่อมติดแนบใจ นี้เรียกว่า กามโยคะ. กามโยคะเป็นดังนี้ ก็ ภวโยคะเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งภพทั้งหลาย ตามจริง เมื่อไม่รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งภพทั้งหลาย ตามจริง ความยินดีในภพ ฯลฯ ความดิ้นรนในภพ ย่อมติดแนบใจ นี้เรียกว่า ภวโยคะ. กามโยคะ ภวโยคะ เป็นดังนี้ ก็ ทิฏฐิโยคะเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งทิฏฐิทั้งหลาย ตามจริง เมื่อไม่รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งทิฏฐิทั้งหลาย ตามจริง ความยินดีในทิฏฐิ ฯลฯ ความดิ้นรนในทิฏฐิ ย่อมติดแนบใจ นี่เรียกว่า ทิฏฐิโยคะ. กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ เป็นดังนี้ ก็ อวิชชาโยคะเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามจริง เมื่อไม่รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามจริง ความไม่รู้แจ้ง ความเขลา ในผัสสายตนะ ๖ ย่อมติดแนบใจ นี่เรียกว่า อวิชชาโยคะ. กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ อวิชชาโยคะ เป็นดังนี้ บุคคล ผู้ยังละโยคะไม่ได้ นุงนังด้วยธรรมทั้งหลาย อันเป็นบาปอกุศล เป็นสังกิเลสเป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความเร่าร้อน มีทุกข์ เป็นผลทำให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป เพราะเหตุนั้น เราเรียกบุคคลนั้นว่า อโยคักเขมี (ผู้ไม่เกษมจากโยคะ) นี้แล โยคะ ๔ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิสังโยคะ (ความปลอดโปร่ง) ๔ นี้ วิสังโยคะ ๔ คืออะไร? คือ กามโยควิสังโยคะ (ความปลอดโปร่งจากกามโยคะ) ภวโยควิสังโยคะ (ความปลอดโปร่งจากภวโยคะ) ทิฏฐิโยควิสังโยคะ (ความปลอดโปร่งจากทิฏฐิโยคะ) อวิชชาโยควิสังโยคะ (ความปลอดโปร่งจากอวิชชาโยคะ) กามโยควิสังโยคะ เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งกามทั้งหลาย ตามจริง เมื่อรู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไป แห่งกามทั้งหลายตามจริง ความยินดีในกาม ฯลฯ ความดิ้นรนในกาม ย่อมไม่ติดแนบใจ นี้เรียกว่ากามโยควิสังโยคะ. กามโยควิสังโยคะ เป็นดังนี้ ก็ ภวโยควิสังโยคะ เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนโนโลกนี้ รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งภพทั้งหลาย ตามจริง เมื่อรู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งภพทั้งหลาย ตามจริง ความยินดีในภพ ฯลฯ ความดิ้นรนในภพ ย่อมไม่ติดแนบใจ นี้เรียกว่า ภวโยควิสังโยคะ. กามโยควิสังโยคะ ภวโยควิสังโยคะ เป็นดังนี้ ก็ ทิฏฐิโยควิสังโยคะ เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งทิฏฐิทั้งหลาย ตามจริง เมื่อรู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งทิฏฐิทั้งหลาย ตามจริง ความยินดีในทิฏฐิ ฯลฯ ความดิ้นรนในทิฏฐิ ย่อมไม่ติดแนบใจ นี้เรียกว่า ทิฏฐิโยควิสังโยคะ. กามโยควิสังโยคะ ภวโยควิสังโยคะ ทิฏฐิโยควิสังโยคะ เป็นดังนี้ ก็ อวิชชาโยควิสังโยคะ เป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามจริง เมื่อรู้ถึงความเกิด ฯลฯ ความออกไปแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามจริง ความไม่รู้แจ้ง ความเขลาในผัสสายตนะ ๖ ย่อมไม่ติดแนบใจ นี้เรียกว่า อวิชชาโยควิสังโยคะ. กามโยควิสังโยคะ ภวโยควิสังโยคะ ทิฏฐิโยควิสังโยคะ อวิชชาโยควิสังโยคะ เป็นดังนี้ บุคคล ผู้ละโยคะได้แล้ว ปลอดโปร่งจากธรรมทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศลเป็นสังกิเลส เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความเร่าร้อน มีทุกข์ เป็นผลทำให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป เพราะเหตุนั้น เราเรียกบุคคลนั้นว่า โยคักเขมี (ผู้เกษมจากโยคะ) นี้แล วิสังโยคะ ๔

พระคาถา สัตว์ทั้งหลาย อันกามโยคะประกอบไว้แล้ว ซ้ำภวโยคะและทิฏฐิโยคะประกอบเข้าอีก อวิชชารุมรัดเข้าด้วย ย่อมเวียนเกิดเวียนตายไป ส่วนสัตว์เหล่าใด รู้กามและภวโยคะ ด้วยประการทั้งปวง ตัดถอนทิฏฐิโยคะ และทำลายอวิชชาเสียได้ สัตว์เหล่านั้น ก็เป็นผู้ปลอดโปร่งจากโยคะทั้งปวง เป็นมุนีผู้ข้ามพ้นจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้แล.

จบโยคสูตรที่ ๑๐.

อรรถกถาโยคสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโยคสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :- กิเลส ชื่อว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ. ในบทว่า กามโยโค เป็นอาทิ ความกำหนัดประกอบด้วยกามคุณ ๕ ชื่อว่า กามโยคะ. ความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่า ภวโยคะ. ความติดใจในฌานก็อย่างนั้น.ราคะประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ และทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่าทิฏฐิโยคะ. ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ ชื่อว่า อวิชชาโยคะ, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กามโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในกาม, ชื่อว่า ภวโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ, ชื่อว่า ทิฏฐิโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในทิฏฐิ, ชื่อว่า อวิชชาโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในอวิชชา, คำดังกล่าวมานี้ เป็นชื่อของธรรมที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง. บัดนี้ เมื่อทรงแสดงขยายธรรมเหล่านั้นให้ละเอียด จึงตรัสว่า กตโม จ ภิกฺขเว เป็นอาทิ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุทย คือ ความเกิด. บทว่า อตฺถงฺคม คือ ความดับ. บทว่า อสฺสาท คือความชุ่มชื่น. บทว่า อาทีนวํ คือ โทษที่มิใช่ความชุ่มชื่น. บทว่า นิสฺสรณ คือ ความออกไป. บทว่า กาเมสุ คือ ในวัตถุกาม. บทว่า กามราโค คือ ราคะ เกิดเพราะปรารภกาม. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล. บทว่า อนุเสติ คือ บังเกิด. พึงทราบเนื้อความในบททุกบทอย่างนี้ว่า บทว่า อย วุจฺจติภิกฺขเว กามโยโค ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า เหตุแห่งการประกอบเหตุแห่งการผูกสัตว์ไว้ในกาม. บทว่า ผสฺสายตนาน ได้แก่ เหตุมีจักขุสัมผัส เป็นต้น สำหรับอายตนะทั้งหลายมีจักษุเป็นต้น. บทว่า อวิชฺชา อญฺาน ความว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้. อิติ ศัพท์ ในบทนี้ว่า อิติกามโยโค พึงประกอบกับโยคะ แม้ทั้ง ๔ ว่า กามโยคะ ดังนี้ ภวโยคะ ดังนี้ เป็นต้น. บทว่า สมฺปยุตฺโต ได้แก่ ผู้ห้อมล้อมแล้ว. บทว่า ปาปเกหิ ได้แก่ ที่ลามก. บทว่า อกุสเลหิ ได้แก่ เกิดแต่ความไม่ฉลาด. บทว่า สงฺกิเลสิเกหิ คือ มีความเศร้าหมอง อธิบายว่า ประทุษร้ายความผ่องใสแห่งจิตที่ผ่องใสแล้ว. บทว่า โปโนพฺภวิเกหิ ได้แก่ เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่. บทว่า สทเรหิ ได้แก่ มีความเร่าร้อน. บทว่า ทุกฺขวิปาเกหิ ได้แก่ ให้ทุกข์เกิดขึ้นในเวลาให้ผล. บทว่า อายติํ ชาติชรามรณิเกหิ ได้แก่ ให้เกิดชาติ ชรา มรณะในอนาคตบ่อยๆ . บทว่า ตสฺมา อโยคกฺเขมีติ วุจฺจติ ความว่า ก็เพราะเหตุที่บุคคลผู้ละโยคะยังไม่ได้ ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อโยคักเขมี (ไม่เกษมจากโยคะ) เพราะเขายังไม่บรรลุพระนิพพาน อันเกษมจากโยคะ ๔ เหล่านั้น. บทว่า วิสโยคา คือ เหตุแห่งความคลายกิเลสเป็นเครื่องประกอบ. บทว่า กามโยควิสโยโค คือ เหตุแห่งความคลายกามโยคะ. แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้แล.บรรดาบทเหล่านั้น การเพ่งอสุภกัมมัฏฐาน เป็นการคลายกามโยคะ, อนาคามิมรรค ทำอสุภฌานนั้นให้เป็นบาทแล้วบรรลุ ชื่อว่า คลายกามโยคะ โดยส่วนเดียวแท้. อรหัตตมรรค ชื่อว่า คลายภวโยคะ, โสดาปัตติมรรค ชื่อว่าคลายทิฏฐิโยคะ, อรหัตตมรรค ชื่อว่าคลายอวิชชาโยคะ. บัดนี้ เมื่อทรงแสดงขยายวิสังโยคธรรมเหล่านั้นให้ละเอียดจึงตรัสว่า กตโม จ ภิกฺขเว เป็นอาทิ. ความแห่งพระดำรัสนั้น พึงทราบโดยนัยอันกล่าวแล้ว. บทว่า ภวโยเคน จูภย ความว่า ประกอบไว้ด้วยภวโยคะ และประกอบไว้ด้วยภวโยคะ ทิฏฐิโยคะแม้ทั้งสองยิ่งขึ้นอีก คือ ประกอบด้วยโยคะอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า ปุรกฺขตา ได้แก่ ถูกนำไว้ข้างหน้า หรือ ถูกแวดล้อม. บทว่า กาเม ปริญฺาย ได้แก่ รู้กามแม้ทั้งสองอย่าง. บทว่า ภวโยคญฺจ สพฺพโส ได้แก่ รู้ภวโยคะทั้งหมดนั่นแล. บทว่า สมูหจฺจ ได้แก่ ถอนหมดแล้ว. บทว่า วิราชยํ ได้แก่ กำลังคลายหรือคลายแล้ว. ก็เมื่อกล่าวว่า วิราเชนฺโต ก็เป็นอันกล่าวถึงมรรค เมื่อกล่าวว่า วิราเชตฺวา ก็เป็นอันกล่าวถึงผล. บทว่า มุนิ ได้แก่ พระมุนี คือ พระขีณาสพ. ดังนั้น ในสูตรนี้ ก็ดีในคาถา ก็ดี จึงตรัสทั้งวัฏฏะทั้งวิวัฏฏะ แล.

จบอรรถกถาโยคสูตรที่ ๑๐.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 12 ธ.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป โยคสูตร (ว่าด้วยโยคะ ๔ อย่าง)

โยคสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยโยคะ คือ กิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะซึ่งในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทั้งโยคะ ๔ และ ความปลอดโปร่งจากโยคะ ๔ ด้วย ดังนี้คือ โยคะ ๔ ได้แก่ กามโยคะ (ความติดข้องยินดีพอใจในกาม) ภวโยคะ (ความติดข้องในภพ) ทิฏฐิโยคะ (ความเห็นผิด) และ อวิชชาโยคะ (ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก

บุคคลผู้ที่ยังละโยคะไม่ได้ ประกอบด้วยบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป จึงเป็นผู้ไม่ปลอดโปร่งหรือไม่เกษมจากโยคะ ความปลอดโปร่งจากโยคะ ๔ ได้แก่ ปลอดโปร่งจากกามโยคะ ปลอดโปร่งจากภวโยคะ ปลอดโปร่งจากทิฏฐิโยคะ และปลอดโปร่งจากอวิชชาโยคะ บุคคลผู้ที่ละโยคะได้แล้ว ไม่ประกอบด้วยบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จึงเป็นผู้ปลอดโปร่งหรือเกษมจากโยคะ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

โยคะ ๔

กิเลสหมายถึงอะไร

ละกิเลสตามลำดับขั้น

ไม่ศีกษาพระธรรม ดับกิเลสไม่ได้

กิเลสทุกชนิดย่อมเสียดแทงจิต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prakaimuk.k
วันที่ 14 ธ.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ups
วันที่ 14 ธ.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ เพราะไม่รู้จึงติดและเพลิดเพลินอยู่ (ผมเอง)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
hadezz
วันที่ 15 ธ.ค. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผิน
วันที่ 15 ธ.ค. 2553
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สุภาพร
วันที่ 16 ธ.ค. 2553

ขอขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 16 ธ.ค. 2553
อนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jans
วันที่ 16 ธ.ค. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
tai34
วันที่ 17 ธ.ค. 2553
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 18 ธ.ค. 2553

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ก.ไก่
วันที่ 14 ธ.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ