อนุสัย

 
นกขมิ้น
วันที่  6 มี.ค. 2555
หมายเลข  20712
อ่าน  7,534

อนุสัยคืออะไร มีกี่ประเภท ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า อนุสัยคืออะไร มีกี่ประเภท

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญระดับมรรคจิต ครับ อนุสัย มี ๗ ประการ คือ

๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้

กิเลสมี ๓ ขั้น คือ ... อนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส วีติกกมกิเลส

วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย วาจา วิรัติ คือ ละเว้นวีติกกมกิเลสได้ด้วยศีล

ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม ระงับปริยุฏฐานกิเลสได้ชั่วคราว เป็นวิกขัมภณปหานด้วยฌานกุศลจิต

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลส อนุสัยกิเลสก็นอนเนื่องอยู่ในจิตที่เกิดดับสืบต่อกันเป็นเชื้อเป็นปัจจัยให้เกิดปริยุฏฐานกิเลส

กิเลสทั้งหลายจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่เกิดอีกเลย เมื่อโลกุตตรมัคคจิตรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยประจักษ์แจ้งสภาพของพระนิพพาน ตามลำดับขั้นของมัคคจิต ซึ่งปหานกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามลำดับขั้นของมัคคจิตนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 มี.ค. 2555

และจากคำถามที่ว่า จะมีวิธีการสังเกตอนุสัยกิเลสในชีวิตประจำวัันได้อย่างไร

วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ สามารถปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวันทั้งกับตนเองและผู้อื่น เพราะมีการแสดงออกมาทางกายและวาจา เช่น การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น

ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต มี นิวรณ์ เป็นต้น แต่ไม่ได้แสดงออกมาทางกายและวาจา เพียงแต่เกิดกิเลสขึ้นมาภายในจิตใจ เช่น เกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่ได้เห็น เกิดความขุ่นเคืองใจ แต่ไม่ได้ล่วงแสดงอกมาทางกาย วาจา ซึ่งสามารถรู้ได้ในชีวิตประจำวัน กับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน โดยผู้นั้นเองที่จะเป็นผู้รู้ด้วยปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ ครับ

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่ละเอียด นอนเนื่องในสันดาน ไม่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นการสั่งสมไว้ในจิต เปรียบเหมือนเชื้อโรคที่ฝังตัวอยู่ในร่างกาย ไม่สามารถรู้ได้ ต่อเมื่อเกิดอาการของโรคแล้ว (ปริยุฏฐานกิเลสและวีติกมกิเลส) ย่อมรู้ได้ ว่ามีสาเหตุจากเชื้อโรค ซึ่งอนุสัยกิเลสเป็นพืชเชื้อให้มีการเกิดขึ้นของกิเลสอย่างกลาง เช่น ความโกรธในใจ ดังนั้น อนุสัยกิเลส จึงเป็นกิเลสที่ละเอียดที่สุด ที่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ครับ

แต่ถึงแม้ไม่สามารถที่จะรู้อนุสัยกิเลสได้ แต่ก็สามารถอบรมปัญญา เพื่อละอนุสัยกิเลสได้ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็จะถึงปัญญาระดับสูงที่เป็นมรรคจิต ที่สามารถละอนุสัยกิเลสได้จริงๆ ครับ ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้และละอนุสัยกิเลส ด้วยการอบรม ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่า กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล แสดงให้ทราบว่า กิเลสนั้นหยาบ และมีกำลัง, กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภะ กิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต แต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด ซึ่งไม่มีใครรู้เลยนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสที่เป็นระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลส และไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น

พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ เป็นต้น

จึงแสดงให้เห็นว่ากิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับ ขั้นหยาบ และ ที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลาง คือ ขณะที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบ คือ ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา นั่นเอง, เพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบ, กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้ นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นประเภทและหมดไปตามลำดับมรรคด้วย กล่าวคือ

โสตาปัตติมรรค ดับ ทิฏฐานุสัย และ วิจิกิจฉานุสัย

อนาคามิมรรค ดับ กามราคานุสัย และ ปฏิฆานุสัย

อรหัตตมรรค ดับ มานานุสัย ภวราคานุสัย และ อวิชชานุสัย

พระอรหันต์เท่านั้น ที่เป็นผู้ไม่มีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิตอีกต่อไป

กว่าจะดำเนินไปถึงการดับอนุสัยกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรม และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติเดียวหรือ สองชาติเท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Yongyod
วันที่ 6 มี.ค. 2555

คำตอบของท่านอาจารย์ทั้งสอง ละเอียด และทำความแจ่มแจ้งในความละเอียดของกิเลส ทำให้รู้จักกิเลสดีขึ้น เชื้อโรคที่นอนเนื่องติดอยู่กับเราคงนับชาติไม่ถ้วน โดยที่ไม่รู้ตัวเลย ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็คงไม่รู้ เมื่อไม่รู้คิดว่าไม่มีอะไร จริงแท้นอนเนื่องอยู่ทุกขณะรอที่จะปรากฏอาการนั้นเอง อย่างกล่าว เมื่อไม่รู้ก็นึกว่าปกติ ไม่มีอะไร แบบนั้นก็คงไม่คิดละ รู้อย่างนี้แล้ว เริ่มคิดละกันบ้างแล้วรึยัง ตามกำลังปัญญาจริงๆ

ขออนุโมทนาครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 7 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 8 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นกขมิ้น
วันที่ 9 มี.ค. 2555

ขอบคุณ ขอบคุณและขออนุโมทนาสาธุๆ ๆ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ