คำว่า ทิฏฐุชุกรรม หมายถึงอะไร?

 
dets25226
วันที่  14 มี.ค. 2555
หมายเลข  20768
อ่าน  6,806

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ข้อใด เป็นความหมาย

ข้อใด เป็นทางอบรม

คำว่า "อุชุ" ในที่นี้นั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร กับคำว่า "อุชุ" ในคุณของพระอริยสงฆ์ว่า อุชุปฏิปันโน

ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทิฏฐุชุกรรม หมายถึง การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มีความเห็นตรง เห็นถูกตามความเป็นจริง

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ... ทิฏฐุชุกรรม [๑]

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ... ทิฏฐุชุกรรม [๒]

ส่วนคำถามที่ว่า ข้อใดเป็นทางอบรม ทิฏฐุชุกรรม

การกระทำความเห็นให้ตรง คือ จากเห็นผิด ไปสู่ความเห็นที่ถูก ที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นทีละน้อย ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้และความเห็นผิด อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่ตรง เมื่อละความไม่ตรงคือกิเลสประการต่างๆ ด้วยปัญญา ที่เป็นสภาพธรรมที่ตรงตามความเป็นจริง ก็จะค่อยๆ ทำความเห็นให้ตรง โดยไม่มีตัวเราทำ แต่ปัญญาที่เจริญ ทำความเห็นให้ถูกมากขึ้น ดังนั้น ขณะใดที่เข้าใจพระธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะใด ก็เป็นความเห็นที่ตรง เป็น ทิฏฐุชุกรรมในขณะนั้นครับ ซึ่งจะเกิดและอบรมให้มีได้ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ทิฏฐุชุกรรม ซึ่ง สำคัญมากสำหรับข้อนี้ เพราะมีความเห็นที่ตรง คือ ความเห็นถูกนั่นเอง ขณะที่เป็นความเห็นถูก ปัญญาเกิดเป็นบุญ เป็นกุศล และความเห็นตรงนี้เอง ที่จะทำให้กุศลประการอื่นๆ บุญประการอื่นๆ เจริญขึ้น เพราะมีความเข้าใจถูกเป็นสำคัญ ครับ ดังนั้นบุญประการต่างๆ จะเจริญขึ้นได้ เพราะมีความเห็นถูก ความเห็นตรงหรือปัญญาเป็นสำคัญ


คำว่า "อุชุ" ในที่นี้นั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร กับคำว่า "อุชุ" ในคุณของพระอริยสงฆ์ว่า อุชุปฏิปันโน

- อุชุ หมายถึง ตรง ดังนั้น อุชุปฏิปันโน หมายถึง ผู้ปฏิบัติตรง และตรงด้วยความเห็นถูก ที่เป็น สัมมาปฏิปทา คือ ปฏิบัติตรงด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นปฏิปทา ทางที่ตรง ไม่คด พระอริยสาวกทั้งหลาย ประพฤติทางนี้ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่มีความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ เป็นแกนหลัก อันเป็นทางไม่คด เป็นทางตรง จึงชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรตรงด้วยความเห็นถูก ที่เป็น อริยมรรคมีองค์ ๘ ครับ ส่วนทิฏฐุชุกรรม ที่เป็นคำผสมระหว่าง ทิฏฐิ กับ อุชุ ก็แปลว่า ตรงเหมือนกัน แต่ เป็นความเห็นที่ตรง ตรงถูกต้อง ดังนั้น อุชุ ทั้งสอง ก็แปลว่า ตรง เหมือนกัน ครับ แต่ขึ้นอยู่กับว่า ไปประกอบกับคำอะไร แต่ ต้องตรงด้วยกุศล ด้วยความเห็นถูก คือ ปัญญา ครับ

เชิญอ่านเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่นี่ครับ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
dets25226
วันที่ 14 มี.ค. 2555

"ความเห็นที่ตรง คือ ความเห็นถูกนั่นเอง"

อุชุปฏิปันโน ก็คือ ปฏิบัติด้วยความเห็นถูกซินะครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 14 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ถูกต้องครับ ขออนุโมทนาในความเห็นถูก ที่เป็นความเห็นตรง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า ทิฏฐิชุกรรม มาจากคำว่า ทิฏฐิ (ความเห็น) + อุชุ (ตรง) + กรรม (การกระทำ) รวมกันแล้ว แปลว่า การกระทำความเห็นให้ตรง โดยที่ไม่มีตัวตนที่กระทำ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรม กุศลธรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งคำว่า ตรง ในที่นี้เป็นความตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุทั้งหมด ทั้งทาน ศีลและภาวนา เพราะเป็นความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จึงจะเป็นผู้มีความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย ความเข้าใจที่ถูกต้องย่อมจะเกิดมีไม่ได้เลย

ความหมายของคำว่า อุชุ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็แปลว่า ตรง ทั้งนั้น ตรงด้วยกุศลธรรม ตรงด้วยความเห็นที่ถูกต้อง

สำหรับคำว่า อุชุ ในบทสังฆคุณ คือ อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรง) นั้น ก็แปลว่า ตรง

คำว่า ตรง ในที่นี้ หมายถึง ตรงต่อพระนิพพาน ซึ่งจะต้องดำเนินตามหนทางที่จะมุ่งตรงต่อพระนิพพาน คือ อบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เริ่มต้นด้วยความเห็นที่ถูกต้อง โดยไม่เข้าใกล้หนทางปฏิบัติที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่า เป็นผู้ค่อยๆ ละความคดงอทางกาย ทางวาจา และทางใจที่เป็นไปกับด้วยอกุศลประการต่างๆ จนกว่าจะเป็นผู้ค่อยๆ ตรงขึ้น มีกาย วาจา และใจ ตรง ด้วยกุศลธรรม ตรง ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นผู้ตรงจริงๆ ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสได้ตามลำดับ เป็นพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จนกระทั่งสุงสุด ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ไม่มีโทษใดๆ เลย ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ทิฏฐุชุกรรม หมายถึง ความเห็นถูก เช่น เชื่อกรรมและผลของกรรม เชื่อว่าชาตินี้มีจริง ชาติหน้ามีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และ ความเห็นถูกที่ประเสริฐที่สุดคือ ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมะ ที่ไม่ใช่ตัวตนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
dets25226
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 16 มี.ค. 2555

การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริงได้นั้น ก็ต้องเริ่มจากการโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย เหตุ และผล ว่า ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 81

๑๔. ทุติยโยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร

โยนิโสมนสิการเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค

[๑๔๕] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความเกิดแห่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุคือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมแห่งความกระทำไว้ในใจโดยแยบคายพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ