เจตนาเจตสิก กับเจตนาที่เป็นกรรมบถ

 
Thanapolb
วันที่  19 มี.ค. 2555
หมายเลข  20820
อ่าน  3,917

ขอเรียนถาม อ. คำปั่น หรือ อ.ผเดิม เรื่อง เจตนาเจตสิก กับเจตนาที่เป็นกรรมบถ

เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง แต่เมื่อกล่าวว่าการกระทำนั้นมีเจตนาร่วมด้วยหรือไม่จึงจะเป็นกรรมบถ อยากให้ยกตัวอย่างเจตนาที่เป็นกรรมบถ ที่ประกอบด้วยเจตสิกอื่นๆ อะไรบ้างจึงทำให้มีกำลัง (ยกตัวอย่างทั้งฝ่ายอกุศล และกุศล อย่างละตัวอย่าง)

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เจตนา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่มีความจงใจขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เจตนา กับ กรรม คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นเจตนาเจตสิก เกิดร่วมกับจิตทุกชาติ ทุกขณะ ไม่มีเว้น กล่าวคือ เจตนาเกิดร่วมกับจิตชาติกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติอกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติวิบากก็ได้ เกิดร่วมกับชาติกิริยาก็ได้ แต่ถ้าเป็นกรรมที่จะให้ผลภายภาคหน้า ต้องเป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรม กับอกุศลกรรมเท่านั้น การกระทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมบถ และ อกุศลกรรมบถ จะไม่ปราศจากเจตนาเลย (เพราะจิตทุกขณะ ต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยเสมอ) แต่เป็นเจตนาที่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้าได้ อกุศลจิต และ กุศลจิต ที่มีกำลัง จึงสำเร็จเป็นกรรมบถ มีการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ยกตัวอย่างทางฝ่ายอกุศลที่เป็นอกุศลกรรมบถ เช่น มีเจตนาที่จะทำร้ายคนอื่น เช่น ทำลายอวัยวะ หรือ แม้กระทั่งถึงกับฆ่าให้ตาย จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แต่เป็นอกุศลจิตที่มีกำลังมากกว่าเพียงแค่กลุ้มรุม เจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตในขณะนั้นก็ไม่พ้นไปจากอกุศลเจตสิกประการต่างๆ เช่น ความโกรธขุ่นเคืองไม่พอใจ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ความไม่รู้ เป็นต้น เจตนาเป็นอกุศลเจตนา และสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถด้วยสามารถเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในอนาคตได้

อย่างเช่น อดีตชาติของท่านพระจักขุบาล ที่เคยเกิดเป็นหมอรักษาหญิงที่ป่วยเป็นโรคตาจนหายแล้ว แต่เพราะถูกหญิงคนนั้นเบี้ยวไม่ยอมทำตามคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ว่าถ้ารักษาหายก็จะยอมเป็นทาส นางพูดโกหกว่า แต่ก่อนยังพอมองเห็นได้ พอได้รับการรักษาจากหมอแล้ว กลับหนักกว่าเดิม ทำให้หมอโกรธไม่พอใจ กลับไปบ้านไปทำยาเพื่อทำให้นางตาบอด พร้อมกับบอกว่าให้หยอดยานี้แล้วจะหาย ซึ่งยาที่หยอดนั้นไม่ใช่ยาสำหรับรักษา แต่เป็นยาสำหรับทำลายตา ทำให้หญิงนั้นตาบอดสนิท เจตนาของหมอเป็นอกุศลเจตนา เป็นอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมให้ผล ก็ให้ผลที่ไม่ดีกับตนเอง เท่านั้น ไม่ใช่ผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่ผู้อื่น ในเมื่อเป็นกรรมที่ตนเองได้กระทำ ก็ต้องเป็นตนเองเท่านั้นที่ได้รับผลของกรรม แม้แต่ท่านพระจักขุบาล เอง ถึงแม้ว่าในชาติสุดท้ายท่านจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เพราะอดีตกรรมที่ท่านได้กระทำไว้ตั้งแต่ในกาลสมัยที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นเหตุทำให้ท่านเป็นผู้มีตาบอด เพราะกรรม คือ เจตนาประทุษร้ายต่อผู้อื่น ด้วยการประกอบยาทำลายตาของหญิงชาวบ้านคนหนึ่งทำให้นางถึงกับตาบอด เจตนา อันเป็นกรรมนั้น สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่สูญหายไปไหน เมื่อถึงคราวให้ผล ก็ทำให้พระจักขุบาล เป็นผู้มีตาบอด

ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล เช่น ขณะที่ให้ทาน ขณะที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น หรือแม้แต่ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศล จิตเป็นกุศล ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีประการต่างๆ มีความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความผ่องใส ความระลึกได้เป็นไปในกุศล ความละอาย ความเกรงกลัวต่ออกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศล และเจตนาก็เป็นกุศลเจตนา ถ้าเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย กุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่สูญหายไปไหน เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า และเมื่อให้ผลก็ย่อมให้ผลเป็นผลที่ดีน่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเท่านั้น นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม สภาพจิตต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างกุศลจิต กับ อกุศลจิต กุศลจิต ย่อมประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีประการต่างๆ จะไม่มีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วยได้เลย ถ้าเป็นอกุศลจิตแล้ว ย่อมมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามควรแก่อกุศลจิตนั้นๆ จะไม่มีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วยเลย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านและฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

เจตนาเจตสิกเป็นกัมมปัจจัย

ผลของอกุศลกรรมยังตามให้ผล

รรมคือเจตนา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม คือ การกระทำ องค์ธรรม คือ เจตนาเจตสิก ซึ่งเจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ทั้งกุศล อกุศล วิบากและกิริยาจิต ดังนั้น หากเราแบ่งเจตนา เป็นกว้างๆ สามารถแบ่งเจตนาได้ เป็น ๒ อย่าง คือ เจตนาที่เกิดกับจิตพร้อมกับจิต แต่ไม่ให้ผล คือ เป็นเพียงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้น แต่ไม่ให้ผลเป็นผลของกรรมในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น เจตนาเจตสิกที่เกิดกับ จิตชาติวิบาก เช่น ขณะที่เห็น ก็มีเจตนาเจตสิก แต่เจตนาเจตสิก ที่เกิดกับจิตเห็น ไม่ได้ให้ผลที่จะต้องได้รับวิบาก มีการเกิดในภพที่ดี ไม่ดี เพราะเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตเห็น หรือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกิริยาจิตของพระอรหันต์ ก็ไม่ให้เกิดผลของกรรม หรือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับเพียงกุศลจิต อกุศลจิต ที่ไม่ถึงกรรมบถ เพียงเป็นนิวรณ์ เช่น ขุ่นเคือง โศกเศร้า ซึ่งมีเจตนาเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ให้ผลเป็นวิบากในอนาคต ซึ่งเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตบางประเภท แต่ไม่ให้ผล ทางภาษาธรรม เรียก กรรม หรือ เจตนานี้ว่า สหชาตกัมมปัจจัย คือ เป็นกรรม หรือ เจตนาที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต แต่ไม่ให้ผลในอนาคต ครับ

เจตนาเจตสิก นัยที่สอง คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตบางประเภท แต่เจตนาเจตสิก นั้น ให้ผล คือ ทำให้เกิดผลของกรรม ให้วิบากในอนาคต เป็นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศล อกุศล แต่ กุศล หรือ อกุศลนั้นมีกำลังถึงเป็นกรรมบถ คือ ครบองค์ ทำให้เกิดวิบากได้ในอนาคต มีการเกิดในสวรรค์ หรือ ในนรก เป็นต้น อันเพราะมีเจตนาในการทำกรรมที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม ครบองค์ ครับ เช่น การฆ่าสัตว์ มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นเจตนาที่มีกำลัง ถึงกับล่วงกรรมบถ

โดยนัยตรงกันข้าม ในฝ่ายกุศลกรรม เมื่อกระทำกุศลกรรม จนครบกรรมบถในฝ่ายกุศล ที่ไม่ใช่เพียงกุศลจิต มีการรักษาศีล เจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น ขณะนั้น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตนาเจตสิกที่เกิดกับการกระทำกุศลกรรม ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผล หรือ วิบากในอนาคตได้ เจตนาเจตสิกที่ทำให้เกิดวิบากในอนาคต ทางภาษาธรรมเรียกว่า นานักขณิกกัมมปัจจัย ครับ คือ สามารถให้ผลในขณะต่อไป อันเกิดจากเจตนาเจตสิกในการทำกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ส่วนคำถามที่ว่า

อยากให้ยกตัวอย่างเจตนาที่เป็นกรรมบถ ที่ประกอบด้วยเจตสิกอื่นๆ อะไรบ้างจึงทำให้มีกำลัง (ยกตัวอย่างทั้งฝ่ายอกุศล และกุศล อย่างละตัวอย่าง)


สำหรับ ฝ่ายอกุศล ที่เป็นกรรมบถ มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในความเป็นจริง อกุศลจิตที่ไม่ถึงกรรมบถ ก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เจตนานั้น ไม่มีกำลัง เพราะอะไร เพราะเจตนานั้น ไม่ได้เจตนาที่เป็นไปในการถึงกรรมบถ คือ มีเจตนาฆ่า เป็นต้น อาจเพียงมีเจตนาที่จะทำร้าย แต่ไม่ให้ถึงกับตาย ดังนั้น เจตนาจะมีกำลังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า เป็นเจตนาอะไร เป็นสำคัญด้วยครับ นี่ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง เจตนาที่เกิดร่วมด้วย กับ เจตนาเจตสิก ที่เป็นไปใน อกุศลกรรม ก็ต้องเป็นเจตสิกที่ไม่ดี มีโมหะ เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับล่วงกรรมบถ เจตสิกฝ่ายไม่ดีนั้น ก็มีกำลังด้วย เพราะอหิริกะเจตเสิก ความไม่ละอาย อโนตตัปปะเจตสิก ความไม่เกรงกลัว ๒ เจตสิกนี้ที่เป็นฝ่ายอกุศล มีกำลัง เพราะการล่วงศีล เหตุใกล้ คือ ความไม่ละอาย (อหิริกะเจตสิก) และไม่เกรงกลัวต่อบาป (อโนตตัปปะเจตสิก) เกิดขึ้นมีกำลังมาก ทำให้ล่วงศีล ล่วงกรรมบถ ครับ

ส่วนในฝ่ายกุศลกรรม ที่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หากถึงขั้นที่ทำกุศลกรรม ครบองค์ เช่น ขณะที่ให้ทานกับพระภิกษุ ก็เพราะมีกุศลจิตที่มีกำลัง อันเกิดจากเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย ซึ่งพระพุทธองค์แสดงถึงการให้ทาน ที่สามารถให้ทานได้ง่าย เป็นอุปนิสัย เพราะบุคคลนั้นมี อโลภเจตสิก (ความไม่ติดข้อง) ที่มีกำลังนั่นเอง อันเป็นเจตสิกฝ่ายดี ที่เป็นไปในการสละ ไม่ติดข้อง นี่คือ ตัวอย่างในการให้ทานได้ เพราะอโลภเจตสิกมีกำลัง ส่วนกุศลในขั้นอื่น ยกตัวอย่างอีก เช่น ขณะที่เจริญเมตตา ขณะนั้น อโทสเจตสิก (ความไม่โกรธ) ที่เป็นเจตสิกฝ่ายดี มีกำลัง ทำให้เกิดความเมตตาเจริญเมตตาได้บ่อยๆ เนืองๆ ครับ

อีกตัวอย่างหนึ่งในฝ่ายกุศล เช่น ขณะที่เจริญวิปัสสนา สติปัฏฐานรู้ความจริงในขณะนี้ เพราะอาศัยเจตสิกฝ่ายดี คือ อโมหเจตสิก (ปัญญา) ที่มีกำลัง คือ เพราะปัญญามีกำลัง จึงทำให้ทำกุศลที่ครบกรรมบถ มีการเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Thanapolb
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ขอขอบพระคุณท่านอ.ทั้งสองมากครับ ทำให้เข้าใจเรื่องกรรม และเจตนามากขึ้น แม้จะยังน้อยนิด แต่ก็ต้องสะสมการฟัง การอ่าน การสนทนาต่อไปอีกนานจนกว่าสัญญาความจำ จะจดจำปัญญาที่เห็นถูกอย่างมั่นคง

ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ เรื่องที่จะถามต่ออาจจะแยกเป็นคนละประเด็นกับคำถามแรก แต่ก็พอจะผูกโยงสืบเนื่องกันได้ จึงไม่ขอตั้งกระทู้ใหม่

พอดีท่านอ. ผเดิม กล่าวถึงองค์ธรรม พอดี "กรรม คือ การกระทำ องค์ธรรม คือ เจตนาเจตสิก" ทำให้ผมนึกถึง อีกคำหนึ่ง ซึ่งก็เป็นอกุศลธรรม หรือ ธรรมะฝ่ายอกุศล คือคำว่า "อภิชฌา คือ ความกำหนัด ความเพ่งเล็งอยากได้ องค์ธรรม คือ โลภะ" ซึ่งก็ไม่พ้นจากมีเจตนาเจตสิกอยู่ด้วยในอกุศลจิตนั้น

ที่จะเรียนถาม อาจไม่ถามแนวเรื่อง กรรม กับเจตนา แต่อยากเรียนถามสั้นๆ ว่า ที่ท่านกล่าวคำว่า อภิชฌา คงมีเจตนา ที่จะแสดงความหมายที่มากกว่าคำว่าโลภะ เฉยๆ อย่างไร ท่านต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจอะไรมากขึ้น หรือผู้ฟังควรเข้าใจอย่างไรบ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

สำหรับ อภิชฌา องค์ธรรม ก็คือ โลภเจตสิก ซึ่งหากกล่าวในอกุศลกรรมบถแล้ว อภิชฌา เป็น ความติดข้องพอใจ ที่มีกำลัง จนถึงขนาดมีจิตที่ทำทุจริตที่จะนำสิ่งของ ของผู้อื่นมาเป็นของตน แต่ ถ้าเป็นโลภเจตสิกที่เพียงติดข้อง พอใจ เห็นแล้วชอบ ไม่ได้มีเจตนาทุจริตที่มีกำลัง ที่อยากมากถึงขนาดจะเอามาเป็นของตนด้วยวิธีทุจริต อันนี้ก็ไม่เป็นอภิชฌา เป็นเพียงโลภะ ธรรมดาที่ติดข้องทั่วไปครับ อาจจะอยากได้และก็ทำงานหาเงินด้วยวิธีสุจริต ก็เป็นโลภะ ที่ไม่ใช่ อภิชฌา ที่เป็นอกุศลกรรมบถที่มีเจตนาทุจริต ตั้งใจจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตน ครับ ดังนั้น โลภะจึงมีหลายระดับ ตามกำลังของกิเลส ครับ

เจตนาที่เกิดร่วมด้วย กับ โลภะที่ติดข้องทั่วไป กับ อภิชฌา จึงต่างระดับกัน คือ เป็นเจตนาที่เป็นไปในบาปที่มีกำลังที่เป็นทุจริตที่เกิดกับอภิชฌา กับเจตนาเจตสิกที่เกิดกับโลภะ ที่เพียงติดข้องธรรมดา แต่ไม่ถึงทำทุจริต ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 295

ธรรมชาติที่เพ่งเล็ง ชื่อว่า อภิชฌา.

อธิบายว่า เป็นผู้มุ่งต่อสิ่งของของผู้อื่น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นผู้น้อมไปสู่สมบัติของผู้อื่น อภิชฌานั้นมีการเพ่งเล่งภัณฑะของบุคคลอื่นเป็นลักษณะอย่างนี้ว่า โอหนอ สิ่งนี้พึงเป็นของเรา ดังนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ในพระไตรปิฏกแสดงไว้ พระเทวทัต ทำสงฆ์ให้แตกกัน เป็นเจตนาเจตสิกที่มีกำลังเป็นอกุศลกรรมบถ ทำให้พระเทวทัตไปเกิดในอเวจีนรกตลอดกัปป์ ตรงข้ามถ้าเป็นฝ่ายกุศล นางวิสาขา ถวายพระวิหาร ทำให้ท่านไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pat_jesty
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณอ.ผเดิม และขออนุโมทนากับทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 25 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
palsawangpattanagul
วันที่ 13 พ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 13 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 3 ก.ย. 2564

ขอบคุณมากครับ ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ