ถวายบูชาด้วยดอกไม้ ของหอม

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  17 เม.ย. 2555
หมายเลข  20986
อ่าน  15,204

กราบเท้าอาจารย์ทุกท่านที่เคารพอย่างสูง

รบกวนเรียนสอบถามครับ

๑. ภิกษุมีการละเว้นเครื่องหอม มาลัยที่ร้อยเป็นพวงดอกไม้ เป็นต้น แต่ช่วงสงกรานต์ คนทั่วไปก็สรงน้ำท่านด้วยน้ำหอม ถวายด้วยพวงมาลัย ดอกไม้ หรือบางทีเราก็มักถวายธูปหอม เทียนหอมแด่ท่าน อาจจะไม่ใช่พุทธศาสนาโดยตรง

อย่างนี้เป็นการยั่วเย้าให้ท่านเกิดโลภะหรือไม่ครับ ซึ่งอย่างผม เวลาถวายพวงมาลัย ธูปหอม เทียนอย่างดี กับภิกษุ ก็หวังให้ท่านนำไปบูชาพระพุทธเจ้า อีกกาลหนึ่ง หรือ ว่าเจตนาของใครก็ของใครครับ ที่จะต้องรู้จิตตนเองว่า ขณะนั้นสภาพธรรมใดเกิดขึ้น รู้แล้วละด้วยการสะสมการเข้าใจถูก เห็นถูก ด้วยคุณลักษณะของพระธรรม ครับ

ซึ่งผมสับสนว่า ในพุทธกาลก็มีคนนำของหอมประณีต อย่างดี เช่น แก่นไม้จันทน์หอมถวายพระพุทธองค์ เค้าถึงได้รับอนิสงส์ดีในเวลาวิบากให้ผล อย่างนี้ก็แสดงว่าผู้ถวายมีใจที่น้อมบูชาของประณีตแด่พระพุทธองค์ ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ถือเป็นการยั่วเย้าโลภะหรือไม่ ครับ

ซึ่งผมก็มักนำธูปหอม เทียนหอมอย่างดี พวงมาลัยอย่างประณีต ถวายภิกษุ (ด้วยใจหวังบูชาคุณท่าน และ ท่านก็มักนำไปบูชาพระพุทธเจ้าต่อไป ถึงแม้ของเหล่านี้จะดีมาก (แต่ก็คุณค่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับของที่ควรจะถวายที่จัดเป็นปัจจัยที่ระบุในพระวินัย) และถึงแม้จะไม่เลิศเท่าการปฏิบัติบูชา แต่ก็คงมีความหลากหลายตามการสะสมของแต่ละคนใช่หรือไม่ครับ แล้วผมควรปฏิบัติอย่างไร เป็นสำคัญ

กราบรบกวนอาจารย์เมตตาด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบูชา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มี ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยดอกไม้ ของหอม เป็นต้น ซึ่งการบูชา หมายถึง การบูชาในคุณความดีของบุคคลนั้น หรือ บูชาพระธรรม เป็นต้น คือ บูชาในสิ่งที่ควรเคารพ สักการะ บูชา

จากคำถามที่ว่า

๑. ภิกษุมีการละเว้นเครื่องหอม มาลัยที่ร้อยเป็นพวงดอกไม้ เป็นต้น แต่ช่วงสงกรานต์ คนทั่วไปก็สรงน้ำท่านด้วยน้ำหอม ถวายด้วยพวงมาลัย ดอกไม้ หรือบางทีเราก็มักถวายธูปหอม เทียนหอมแด่ท่าน อาจจะไม่ใช่พุทธศาสนาโดยตรง อย่างนี้เป็นการยั่วเย้าให้ท่านเกิดโลภะหรือไม่ครับ


- ขอกล่าวถึงประเด็นการสรงน้ำพระก่อนครับว่า การสรงน้ำพระ กับ พระภิกษุในวันสงกรานต์ เป็นประเพณีรุ่นหลัง และในสมัยพุทธกาลไม่มีการสรงน้ำพระภิกษุแบบนี้ ครับ มีแต่สมัยพุทธกาล ภิกษุด้วยกัน พยาบาล รักษาภิกษุผู้ป่วย โดยการอาบน้ำให้ อันนี้แสดงว่า เหตุผลที่จะอาบน้ำพระ ด้วยเพราะท่านป่วย แต่ไม่ใช่เพราะประเพณี และที่สำคัญ ต้องเป็นพระภิกษุด้วยกัน ไม่ใช่ฆราวาส มาสรงน้ำพระภิกษุ ครับ และการที่พระภิกษุให้ฆราวาส อาบน้ำให้ ก็ไม่ใช่กิจของพระภิกษุที่ควรทำครับ นี่กรณีการสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ครับ เอื้อต่อการอาบัติของพระภิกษุและไม่ใช่กิจของสงฆ์

ส่วนประเด็นการถวายดอกไม้ ของหอม ก็ต้องรู้จักกาลเวลา เหมาะสม ไม่ใช่ไปให้ดอกไม้ของหอม ตอนที่สรงน้ำพระภิกษุ ครับ

ซึ่งในสมัยพุทธกาล ก็มีการบูชาด้วยอามิสบูชา ด้วยดอกไม้ ของหอมเช่นกัน ครับ โดยส่วนมากในสมัยพุทธกาล เขาจะนำดอกไม้ ของหอม มาบูชาพระภิกษุทั้งหลายและพระพุทธเจ้าในเวลาเย็น ส่วนเวลาเช้า จะเป็นการถวายภัตตาหาร เป็นต้น หลังจากเที่ยง มีเวลาเย็น จะนำเภสัช และ ดอกไม้ของหอม อันประณีต มาบูชาพระรัตนตรัยกัน ครับ

อย่างที่พระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ก็จะมีทั้งอุบาสก อุบาสิกา นำดอกไม้ของหอมมาบูชาพระพุทธเจ้า ทำให้กุฎีของพระพุทธเจ้าหอมฟุ้งไป จึงเรียกว่า คันธกุฎี และ การที่เราถวายดอกไม้กับพระภิกษุในปัจจุบัน ธูปหอม เทียนหอมเหล่านี้ ด้วยเจตนาให้ภิกษุทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้า ก็เป็นการถูกต้องและสมควรแล้ว เพราะภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่สามารถนำธูปหอม เทียนหอม ไปประดับตกแต่งร่างกายได้ รวมทั้งดอกไม้ มีพวงมาลัยที่ประณีตก็เหมาะสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระปฏิมา ไม่เหมาะกับการมาตกแต่งกายของท่าน ที่จะทำให้ท่านอาบัติอยู่แล้วครับ ซึ่งภิกษุท่านก็นำดอกไม้ไปบูชาพระพุทธเจ้าอยู่แล้วครับ ไม่ได้เป็นการประดับตกแต่งตัวท่าน จึงเป็นการสมควรแล้วที่ถวายด้วยจิตที่ตั้งไว้ถูก ครับ เพราะเราไม่ได้ถวาย พวกโรลออน เจลแต่งผม ที่จะนำไปประดับตัวของพระภิกษุได้ ครับ

ดังนั้น กุศลทุกประการควรเจริญ อันผู้มีความเห็นถูก มีปัญญา ย่อมไม่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการ แม้จะรู้ว่า กุศลอื่นเลิศ แต่ก็ไม่ได้มีความเป็นเราที่เป็นโลภะที่จะเลือกเจริญกุศลที่เลิศ ไม่เจริญกุศลอื่นๆ เพราะกุศลน้อยกว่า แต่ผู้มีปัญญา เจริญกุศลทุกๆ ประการ ตามกาลเวลา โอกาสที่เหมาะสม ดังเช่น ท่านอนาถะ นางวิสาขา ก็เข้าไปหาพระภิกษุทั้งหลาย หลังเที่ยง มีตอนเย็น เป็นต้น ท่านก็นำดอกไม้ ของหอมและเภสัช บูชา ถวายกับพระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายด้วยครับ

และเมื่อมีปัญญาแล้วก็เจริญกุศลทุกๆ ประการ พร้อมๆ กับ เจริญกุศลที่เลิศ คือ ปฏิบัติบูชาด้วย นั่นคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติตามคำสอน มีการรักษาศีล อบรมวิปัสสนา เป็นต้น และขณะที่เข้าใจพระธรรม ปัญญาเจริญขึ้นก็เป็นการปฏิบัติบูชาอันเลิศ ครับ เมื่อเข้าใจถูก ก็เจริญทุกประการ แต่ก็มีความเห็นถูกว่า ปฏิบัติบูชาเป็นเลิศ ครับ

ที่สำคัญ ควรพิจารณาว่า ของที่บูชาทั้งหมดที่เป็นอามิส การบูชาด้วยคุณความดี ย่อมประเสริฐ หากจะเปลี่ยนจากดอกไม้ ของหอม หรือสิ่งที่เป็นเครื่องสักการะที่เป็นวัตถุ ของเหล่านั้น รวมๆ กัน เปลี่ยนเป็นคุณความดี ย่อมจะประเสริฐอย่างยิ่ง เพราะไม่มีการบูชาใดที่จะประเสริฐเท่าบูชาด้วยจิตใจที่เป็นความดี ครับ ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมนั่นเอง เป็นปัจจัยให้ปัญญาเจริญและกระทำกุศลทุกๆ ประการ ก็ขออนุโมทนา มา ณที่นี้ ในกุศลของคุณผ้าเช็ดธุลี ที่ทำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ฟังดีมากครับ

อณูของความดี

ยอดของนมัสการ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบูชา ในสิ่งที่ควรบูชามีพระรัตนตรัย เป็นต้น เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรม ที่มีความเคารพอ่อนน้อม ขจัดซึ่งความหยาบกระด้างแห่งจิต โดยมีกุศลจิต นั่นเอง เป็นเครื่องบูชา เพราะกุศลจิตเกิดขึ้น จึงบูชา สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเห็นคุณประโยชน์ของกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ย่อมไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศล ซึ่งเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ไม่ใช่เพื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับ ย่อมมีความนอบน้อมที่จะบูชาทั้งด้วยวัตถุสิ่งของ มีดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งเป็นอามิสบูชา และ ด้วยการปฏิบัติบูชา (ธรรมบูชา) ปฏิบัติบูชา หรือ ธรรมบูชา นี้ เป็นบูชาสูงสุดด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงครับ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ท่านจะบูชา ... พระรัตนตรัย ... ด้วยอะไร

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

" ไม่มีการบูชาใดที่จะประเสริฐเท่าบูชาด้วยจิตใจที่เป็นความดี "

" ปฏิบัติบูชา หรือ ธรรมบูชา นี้ เป็นบูชาสูงสุดด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 18 เม.ย. 2555

แม้ในสมัยที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พวกเทวดาและมนุษย์ก็พากันบูชาด้วยดอกไม้ของหอม กุศลไม่ว่าจะขั้นใดก็ควรเจริญทุกครั้งที่มีโอกาส ในพระไตรปิฎกก็มีแสดงไว้ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนยากจน คิดจะบูชาเจดีย์พระพุทธเจ้า จึงเด็ดดอกบวบขม ๔ ดอก กำลังเดินไปบูชาที่พระเจดีย์ ระหว่างทางถูกโคขวิดตาย ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 19 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 20 เม.ย. 2555

* * * --------------------- * * *

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านอย่างสูงครับ

อนุโมทนากุศลที่เจริญแล้วทุกท่านด้วยครับ

* * * ------------------------- * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
lovedhamma
วันที่ 24 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 15 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านอย่างสูงครับ

ขอบพระคุณ คุณผ้าเช็ดธุลีและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ