วีณาสูตร ... วันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  29 เม.ย. 2555
หมายเลข  21043
อ่าน  2,355

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

วีณาสูตร

(ว่าด้วยทรงแสดงธรรมเปรียบด้วยพิณ)

...จาก ...

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 484

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 484

วีณาสูตร

(ว่าด้วยทรงแสดงธรรมเปรียบด้วยพิณ)

[๓๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง หรือแม้ความคับแค้นใจในรูปอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุหรือแก่ ภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุหรือภิกษุณีพึงห้ามจิตเสียจากรูปอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ นั้น ด้วยมนสิการว่า หนทางนั้นมีภัย มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า มี หนาม มีรกชัฏ เป็นทางผิด เป็นทางอันบัณฑิตเกลียด และเป็นทางที่ไปลำบาก เป็นทางอันอสัตบุรุษดำเนินไป ไม่ใช่ทางที่สัตบุรุษดำเนินไป ท่านไม่ควรดำเนินทางนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีพึงห้ามจิตเสียจากรูปอันบุคุคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุนั้น ... ฯลฯ ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความพอใจ ความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง หรือแม้ความคับแค้นใจในธรรมารมณ์อันบุคคล พึงรู้แจ้งด้วยใจ พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุหรือภิกษุณีพึงห้ามจิตเสียจากธรรมารมณ์นั้น ด้วยมนสิการว่า หนทางนั้นมีภัย มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า มีหนาม มีรกชัฏ เป็นทางผิด เป็นทางอันบัณฑิตเกลียด และเป็นทางที่ไปลำบาก เป็นทางอันอสัตบุรุษดำเนินไป ไม่ใช่ทางที่สัตบุรุษดำเนินไป เธอย่อมไม่ควรดำเนินทางนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีพึงห้ามจิตเสียจากธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจนั้น.

[๓๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้าสมบูรณ์แล้ว แต่เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้า เป็นผู้ประมาท และโคกินข้าวกล้า ลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงถึงความเมา ความประมาทตามต้องการ แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่สดับแล้ว ไม่ทำความสำรวมในผัสสายตนะ ๖ ย่อมถึงความเมา ความประมาทในกามคุณ ๕ ตามความต้องการ ฉันนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้าสมบูรณ์แล้ว เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้าเป็นผู้ไม่ประมาท และโคกินข้าวกล้า พึงลงสู่ข้าวกล้าโน้น เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้า พึงจับโคนั้นสนพาย แล้วผูกรวมไว้ที่ระหว่างเขาทั้งสอง ครั้นแล้วพึงตีกระหน่ำด้วยตะพดแล้วจึงปล่อยไป โคตัวกินข้าวกล้า พึงลงสู่ข้าวกล้าโน้น แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าของผู้รักษาข้าวกล้า พึงจับโคสนสะพายแล้วผูกรวมไว้ที่ระหว่างเขาทั้ง ๒ ครั้นแล้วจึงตีกระหน่ำด้วยตะพด แล้วจึงปล่อยไป โคกินข้าวกล้านั้น อยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี พึงเป็นสัตว์ยืนมากหรือนอนมาก ไม่พึงลงสู่ข้าวกล้านั้นอีก พลางระลึกถึงการถูกตีด้วยไม้ครั้งก่อนนั้นนั่นแหละ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คราใด จิตอันภิกษุข่มขู่แล้ว ข่มไว้ดีแล้ว ในผัสสายตนะ ๖ คราวนั้น จิตย่อมดำรงอยู่ สงบนิ่งในภายใน มีธรรมเอกผุดขึ้น ย่อมตั้งมั่น ฉันนั้น เหมือนกันแล.

[๓๔๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ ยังไม่เคยได้ฟังเสียงพิณ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ ฟังเสียงพิณแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเสียงอะไรหนอ น่าชอบใจ น่าใคร่ น่ามัวเมา น่าหมกมุ่น น่าพัวพันอย่างนี้ บุรุษนั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ เสียงนั้นเป็นเสียงพิณ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์พึงกล่าวว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงไปนำพิณนั้นมาให้เรา ราชบุรุษทั้งหลายพึงนำพิณมาถวาย พึงกราบทูลว่า นี่คือพิณนั้น พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์นั้นพึงกล่าวว่า แน่ะ ท่านผู้เจริญ ฉันไม่ต้องการพิณนั้น ท่านทั้งหลายจงนำเสียงพิณนั้นมาให้แก่เราเถิด ราชบุรุษกราบทูลว่า ขอเดชะ ขึ้นชื่อว่าพิณนี้มีเครื่องประกอบหลายอย่าง มีเครื่องประกอบมาก นายช่างประกอบดีแล้วด้วยเครื่องประกอบหลายอย่าง คือ ธรรมดาว่าพิณนี้ อาศัยกระพอง อาศัยราง อาศัยลูกบิด อาศัยนม อาศัยสาย อาศัยคันชัก และอาศัยความพยายามของบุรุษซึ่งสมควรแก่พิณนั้น มีเครื่องประกอบหลายอย่าง มีเครื่องประกอบมาก นายช่างประกอบดีแล้วด้วยเครื่องประกอบหลายอย่างจึงจะส่งเสียงได้ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ ทรงผ่าพิณนั้น ๑๐ เสี่ยงหรือ ๑๐๐ เสี่ยง แล้วกระทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วพึงเผาไฟแล้วพึงกระทำให้เป็นเขม่า โปรยไปด้วยลมแรง หรือพึงลอยไปเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ท้าวเธอตรัสอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าชื่อว่าพิณนี้ ไม่ได้สติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะเลวทรามกว่าพิณนี้ไม่มี เพราะพิณนี้ คนต้องมัวเมา ประมาทหลงใหลจนเกินขอบเขต ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมแสวงหาคติแห่งรูป คติแห่งเวทนา ... สัญญา ... สังขารทั้งหลาย ... วิญญาณ เท่าที่มีอยู่ เมื่อเธอแสวงหาคติแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเท่าที่มีอยู่ ความยึดถือโดยคติของภิกษุนั้นว่า เรา หรือว่าของเรา หรือว่าเป็นเรา แม้นั้น ก็ไม่มีแก่เธอ.

จบ วีณาสูตรที่ ๙

อรรถกถาวีณาสูตรที่ ๙ (นำมาเพียงบางส่วน)

ในวีโณปมสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พระศาสดาทรงเริ่มคำว่า ยสฺส กสฺสจิ ภิกฺขเว ภิกฺขุสฺส วา ภิกฺขุนิยา วา ดังนี้ไว้ เพื่อแสดงว่า เปรียบเหมือนว่า มหากุฏุมพี ทำกสิกรรมมาก เสร็จนาได้ข้าวกล้าแล้ว สร้างปะรำไว้ที่ประตูเรือน เริ่มถวายทานแด่สงฆ์ทั้งหลาย.

ถึงแม้เขาจะตั้งใจถวายแด่พระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (เท่านั้น) ก็จริง ถึงกระนั้นเมื่อบริษัททั้งสองฝ่าย อิ่มหนำสำราญแล้ว แม้ชนที่เหลือก็พลอยอิ่มหนำสำราญไปด้วย ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงบำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยเศษ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่ควงโพธิพฤกษ์ ทรงแสดงธรรมจักรอันประเสริฐ ประทับนั่งที่พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อประทานธรรมบูชา แก่ภิกษุบริษัท และภิกษุณีบริษัท จึงทรงปรารภวีโณปมสูตร. ก็วีโณปมสูตรนี้นั้น ถึงจะทรงปรารภหมายเอาบริษัททั้งสอง (เท่านั้น) ก็จริง ถึงกระนั้น ก็มิได้ทรงห้ามบริษัททั้ง ๔ เพราะฉะนั้น แม้บริษัททั้งมวล ก็ควรฟังได้ ทั้งมีศรัทธาได้ด้วย ทั้งบำเพ็ญให้บริบูรณ์แล้ว ก็จะได้ดื่มอรรถ แห่งพระธรรมเทศนานั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า ฉนฺโท เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้.

ตัณหาที่มีกำลังอ่อนแรกเกิด ชื่อว่า ฉันทะ ฉันทะนั้นไม่สามารถเพื่อให้กำหนัดได้. แต่ตัณหาที่มีกำลัง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่า ราคะ ราคะนั้นสามารถทำให้กำหนัดยินดีได้. ความโกรธที่มีกำลังน้อย แรกเกิดไม่สามารถเพื่อจะถือท่อนไม้เป็นต้นได้ ชื่อว่าโทสะ. ส่วนความโกรธที่มีกำลังมาก เกิดขึ้นติดต่อกันมา สามารถจะทำการเหล่านั้นได้ ชื่อว่า ปฏิฆะ. ส่วนความไม่รู้ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความหลงและความงมงาย ชื่อว่าโมหะ. เมื่อเป็นเช่นนั้น ในสูตรนี้ เป็นอันท่านสงเคราะห์อกุศลมูล ๓ ไว้ด้วยบทที่ ๕. เมื่อถือเอาอกุศลมูลเหล่านั้นแล้ว กิเลสที่มีอกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นมูล ก็เป็นอันทรงหมายเอาแล้วแล.

อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบททั้ง ๒ ว่า ฉนฺโท ราโค นี้ เป็นอันทรงหมายเอาจิตตุปบาท (การเกิดขึ้นแห่งจิต) ที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง. ด้วยบททั้ง ๒ ว่า โทโส ปฏิฆํ เป็นอันทรงหมายเอาจิตตุปบาท ที่สหรคตด้วยโทมนัส ๒ ดวง.

ด้วยบทว่า โมหะ เป็นอันทรงหมายเอาจิตตุปบาทที่สหรคตด้วยอุทธัจจะและวิจิกิจฉาสองดวง ปราศจาก โลภะ และโทสะ. สรุปแล้วเป็นอันทรงแสดงจิตตุปบาท (ฝ่ายอกุศล) ๑๒ ดวง ทั้งหมดไว้แล้ว.

บทว่า สภโย ความว่า มีภัย เพราะเป็นสถานที่อยู่อาศัยของพวกโจรคือกิเลส.

บทว่า สปฺปฏิภโย ความว่า มีภัยเฉพาะหน้า เพราะเป็นเหตุแห่งการฆ่าและการจองจำ เป็นต้น.

บทว่า สกณฺฏโก ความว่า มีหนาม เพราะมีหนามมีราคะ เป็นต้น.

บทว่า อุมฺมคฺโค ความว่า ไม่ใช่ทางสำหรับผู้จะดำเนินไปสู่เทวโลกมนุสสโลก หรือพระนิพพาน.

บทว่า กุมฺมคฺโค ความว่า ชื่อว่าทางชั่ว เพราะเป็นทางให้ถึงอบาย เหมือนทางเท้าที่ทอดไปสู่สถานที่ซึ่งน่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน …

บทว่า ตโต จิตฺตํ นิวารเย ความว่า พึงห้ามจิตนั้นที่เป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งฉันทะ เป็นต้น จากรูปเหล่านั้น ที่จะพึงรู้แจ้งได้ทางจักษุ ด้วยอุบาย มีการระลึกถึงอสุภารมณ์ เป็นต้น อธิบายว่า เมื่อความกำหนัดในเพราะอิฏฐารมณ์ เกิดขึ้นในจักษุทวาร จิตของผู้ระลึกถึง (มัน) โดยความเป็นอสุภะ จะหมุนกลับ. เมื่อความขัดเคืองในเพราะอนิฏฐารมณ์เกิดขึ้น จิตของผู้ระลึกถึงมัน โดยเมตตา จะหมุนกลับ. เมื่อความหลงในเพราะมัชฌัตตารมณ์เกิดขึ้น จิตของผู้ระลึกถึงการสอบถามอุทเทสการอยู่กับครู จะหมุนกลับ. แต่บุคคลเมื่อไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ ควรระลึกถึง ความที่พระศาสดาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ความที่พระธรรมเป็นสวากขาตธรรม และความปฏิบัติชอบของพระสงฆ์. เพราะว่าเมื่อภิกษุพิจารณาความที่พระศาสดาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ก็ดี ความที่พระธรรมเป็นสวากขาตธรรมก็ดี พิจารณาการปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ก็ดี จิตจะหมุนกลับ. ด้วยเหตุนั้นจึงได้กล่าวไว้ว่า อสุภาวชฺช-นาทีหิ อุปาเยหิ นิวารเย …

... บทว่า ตมฺปิ ตสฺส น โหติ ความว่า แม้การยึดถือ ๓ อย่างในรูปารมณ์เป็นต้น ด้วยอำนาจ ทิฏฐิ ตัณหา และ มานะ ที่ท่านแสดงไว้อย่างนี้ว่า เรา ว่าของเรา หรือว่าเราเป็นนั้น ก็ไม่มีแก่พระขีณาสพนั้น รวมความว่า พระสูตรชื่อว่าเป็นไปตามลำดับ.

จบ อรรถกถาวีณาสูตรที่ ๙ ที่นำมาเพียงบางส่วน.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

วีณาสูตร

(ว่าด้วยทรงแสดงธรรมเปรียบด้วยพิณ)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า

ถ้าความพอใจ ความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง หรือแม้ความคับแค้นใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ พึงบังเกิดแก่ภิกษุหรือภิกษุณี ภิกษุหรือภิกษุนั้น ก็พึงห้ามจิตเสียจากรูป เสียง เป็นต้น ด้วยการใส่ใจว่า หนทางนั้นมีภัย มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า มีหนาม มีรกชัฏ เป็นทางผิด เป็นทางอันบัณฑิตเกลียด และเป็นทางที่ไปลำบาก เป็นทางอันอสัตบุรุษดำเนินไป ไม่ใช่ทางที่สัตบุรุษดำเนินไป ท่านไม่ควรดำเนินทางนั้น (ซึ่งแม้จะมีพยัญชนะว่า ห้ามจิต แปลจากภาษาบาลีว่า จิตฺตํ นิวาเรยฺย แต่ก็ไม่มีตัวตนที่ไปห้าม หรือไปทำอะไร แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แทนที่จะเป็นอกุศล)

บุคคลผู้ที่ประมาทไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมติดข้องเพลิดเพลินในกามคุณ ๕ เหมือนกับโคที่ลงกินข้าวกล้าของเจ้าของซึ่งประมาท ตามความต้องการของตน แต่ถ้าเป็นผู้ข่มจิตไว้ ข่มไว้ดีแล้ว ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตย่อมดำรงอยู่สงบ ย่อมตั้งมั่น เปรียบเหมือนกับโคตัวที่ลงกินข้าวกล้า แต่พอถูกเจ้าของทำโทษบ่อยๆ ในที่สุดก็ไม่กล้าลงกินข้าวกล้าอีก

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธ์ ๕) เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มีอะไรเหลือ ไม่ควรแก่การติดข้องยินดีพอใจ บุคคลผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริง ย่อมไม่ยึดถือขันธ์ ๕ ด้วยอำนาจตัณหา มานะ และ ทิฏฐิ เปรียบเหมือนกับผู้ที่ติดข้องในเสียงพิณ เสียงพิณเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งเมื่อให้แยกย่อย ผ่าเป็นชิ้นๆ นำไปเผาไฟแล้ว ก็หาเสียงพิณไม่เจอ ย่อมเข้าใจว่า เสียงพิณ ทำให้คนไม่มีสติ ทำให้คนหลงมัวเมา จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรติดข้องยินดีพอใจ.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ขอให้อธิบาย

ขันธ์ 5

อินทรีย์สังวรศีล

ธรรมเอก หมายถึงอะไร

ปฐมสัมโพธสูตร .. ความรู้แท้ในเรื่องอายตนะ

กรุณาอธิบาย เป็นเรา ด้วยตัญหา ทิฏฐิ มานะ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อธิบาย วีณาสูตร

ความจริงแล้ว ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก และรูปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่ง สภาพธรรมจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล ก็ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ดังนั้น กิเลสจะเกิดขึ้นก็เกิดทางตา ... ใจ และปัญญาจะเกิดขึ้นก็เกิดทางตา ... ใจ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ อกุศลที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ทรงสรรเสริญกุศลที่เกิดขึ้นและเจริญขึ้น โดยเฉพาะกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

ขณะนี้กำลังเห็น ปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส เมื่อเห็นเกิดแล้ว ย่อมยินดี พอใจในสิ่งที่เห็น หรือ ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น หรือ เกิดอกุศลประการใด ประการหนึ่ง เมื่อเห็นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หากเมื่ออกุศลเกิดขึ้นกับเธอ เมื่อเห็น ได้ยิน ... คิดนึก พึงห้ามจิตเสีย คำว่า ห้ามจิต ก็ต้องพิจารณาโดยละเอียดครับ เริ่มจากคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีเรา บังคับบัญชาไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีเราที่จะห้ามจิต การห้ามจิต คือ เปลี่ยนจากอกุศล เป็นกุศล คือ ห้ามจิตจากอกุศลจิต เป็น กุศลจิตนั่นเอง

แต่ที่สำคัญ ไม่มีใครที่จะทำ จะห้ามจิตได้ แต่เป็นปัญญาที่เกิดขึ้น ที่เห็นโทษ คือปัญญาทำหน้าที่ ที่เห็นโทษภัยของกุศล ว่ากิเลสเป็นภัย จึงอบรมปัญญา และ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นมาก อกุศลหรือกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะเห็น ได้ยิน ... คิดนึก ปัญญาก็สามารถเกิด ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในขณะนั้น แทนที่จะเป็นอกุศลต่อ เช่น ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อสุภะ ความไม่งามด้วยกุศลจิต และรวมถึง การรู้ว่า อกุศลในขณะนั้นเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ชื่อว่าห้ามจิตแล้ว ด้วยกุศลจิตที่เกิดขึ้น รวมทั้งกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ดังนั้น ธรรมจึงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่า อกุศลเกิด ก็จะพยายามห้ามจิตหากกุศลไม่เกิด ทำอย่างไร ก็ไม่สามารถห้ามจิต ให้เป็นอกุศลเกิดต่อไปได้เลย ครับ แต่เพราะอาศัยการฟังพระธรรม อบรมปัญญาไปเรื่อยๆ ปัญญาจะทำหน้าที่เอง ค่อยๆ ห้ามจิต คือ กุศลจิตเกิดต่อจากอกุศล ห้ามจิตไม่ให้เป็นอกุศลต่อ โดยไม่ใช่การบังคับเจาะจงที่จะห้ามเลย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ในสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเหมือน วัวไม่ดี ที่ยังไม่ได้รับการสอน ฝึก ย่อม ลงไปกินข้าวกล้า เพราะความประมาทของเจ้าของนา ทำให้วัวลงไปกินข้าวกล้า แต่เพราะ เจ้าของนา เมื่อเจอวัว ก็จับตี เมื่อวัวมาอีก สองครั้ง สามครั้งก็จับตีอีก เพื่อสอนให้วัวรู้ เมื่อวัวจะมากินข้าวกล้าอีก วัวย่อมนึกถึง การถูกตี ก็ไม่กล้าลงไป กินข้าวในนาฉันใด ผู้ที่ประมาท ย่อมถูกอกุศลครอบงำ เมื่อเห็น ได้ยิน เพราะ ไม่มีปัญญาที่จะห้ามอกุศลที่เกิดขึ้นได้ คือ ไม่มีความสามารถในการห้ามโค แต่เมื่อใด เริ่มฟังพระธรรม ศึกษาธรรม ปัญญาก็จะเจริญขึ้น ก็เหมือนการตีโค ย่อมห้ามโค คือ ห้ามอกุศลที่เกิดขึ้นด้วยปัญญาเกิดต่อในขณะนั้น ครับ

พระพุทธเจ้าทรงอุปมาต่อไปในเรื่องของพิณ ครับ ว่า พระราชา ได้ยินเสียงพิณ เกิดความชอบในเสียงพิณอย่างมาก รับสั่งให้นำพิณมา แต่ก็ไม่มีเสียงพิณ ซึ่งเสียงพิณจะมีได้เพราะอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างมาประกอบกัน แต่พระราชาก็หาวิธีให้เสียงพิณนั้นออกมา ด้วยการผ่าพิณออก นำไปเผา เพื่อให้เสียงพิณออกมา แต่ก็ไม่ได้เจอเสียงพิณเลย ฉันใด เมื่อผู้ที่อบรมปัญญา พิจารณา ขันธ์ ๕ ที่เป็นพิณ ไม่ใช่เสียงพิณ ว่า พิณ คือ ขันธ์ ๕ นั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีเราอยู่ในนั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป หาสาระไม่ได้ พิจารณาด้วยปัญญา ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ครับ และไม่ยึดถือด้วยอำนาจ ด้วยปัญญาที่เกิดขึ้น จนดับกิเลสหมดสิ้นครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 2 พ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผิน
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 5 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม

และทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 5 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 5 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ