นิวรณ์ 10 สัมโพชฌงค์ 14 โดยปริยาย 2 อย่าง เป็นไฉน

 
Thanapolb
วันที่  9 พ.ค. 2555
หมายเลข  21095
อ่าน  7,148

ขอเรียนถาม

เคยได้ยินท่าน อ. กล่าวถึง เช่น ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วมี ๑๐ อย่าง

ปริยายที่สัมโพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วมี ๑๔ อย่าง

คงจะหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดทางกายและทางใจจึงมี ๒ อย่าง

ฟังแล้วพอเข้าใจ แต่ไม่มีโอกาสได้ถามให้อธิบายให้ละเอียดขึ้น

อยากรบกวน อ. ผเดิม และ อ. คำปั่น เมตตา ขยายอรรถธิบายเรื่องนี้เพิ่มด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเทศนาที่ว่าด้วยนิวรณ์ ๑๐ กับ โพชฌงค์ ๑๔ โดยปริยาย ๒ อย่างนั้น มี ความละเอียดลึกซึ้งมาก เป็นข้อความจากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 297 เป็นต้นไป ข้อความโดยสรุปมีดังนี้

พระภิกษุทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะได้ออกไปบิณฑบาต เนื่องจากว่าเวลายังเช้าอยู่ ก็เลยเข้าไปอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ เพื่อสนทนาปราศัยกัน พอได้ทักทายปราศัยกันแล้ว พวกอัญญเดียรถีย์ ก็ได้สนทนากับกับภิกษุทั้งหลายว่า "พระสมณโคดม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เธอจงหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจ อันเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังปัญญา และจงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง แม้พวกเราก็ได้กล่าวสอนสาวกของตน ว่า เธอทั้งหลายจงละนิวรรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจ อันเป็นเครื่องบันทอนกำลังปัญญา และจงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรที่เป็นความต่างกันของคำสอน" พระภิกษุเหล่านั้น พอได้ฟังแล้ว ก็ไม่ได้กล่าวโต้ตอบอะไร ไม่ชื่นชม ไม่คัดค้าน แต่มีควาประสงค์ที่จะทราบความละเอียดจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พอกลับจากบิณฑบาตและฉันภัตตาหารแล้ว จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลเนื้อความดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ถ้าพวกเธอได้ถามต่อไปว่า ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้ว เป็น ๑๐ อย่าง และปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้ว เป็น ๑๔ อย่าง มีอยู่หรือไม่? อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นก็จะไม่สามารถที่จะกล่าวแก้ได้ เพราะไม่มีใครจะกล่าวแก้ได้นอกจากพระตถาคต พระสาวกของพระตถาคต หรือ ผู้ที่ได้ฟังจากพระตถาคต และ จากพระสาวกของพระตถาคต เท่านั้น

ต่อจากนั้น พระองค์ จึงได้ทรงแสดง ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้ว เป็น ๑๐ อย่าง และ ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้ว เป็น ๑๔ อย่าง ดังต่อไปนี้

ในส่วนของนิวรณ์ ๕ อาศัยแล้ว เป็น ๑๐ อย่าง ได้แก่

๑. กามฉันทะ ความติดข้องยินดีพอใจ ติดข้องในธรรมภายใน (ขันธ์ของตน) กับ ติดข้องในธรรมในภายนอก (นับเป็น ๒)

๒. พยายาท ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจในธรรมภายใน กับ ในภายนอก (นับเป็น ๒)

๓. ถีนมิทธะ เป็นสภาพธรรมที่เป็นนิวรณ์ ๒ อย่าง คือ ถีนะ กับ มิทธะ (นับเป็น ๒)

๔. อุทธัจจกุกกุจจะเป็นนิวรณ์ ๒ อย่าง คือ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กับ กุกกุจจะ ความเดือดร้อนรำคาญใจ (นับเป็น ๒)

๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย สงสัยในในธรรมภายใน กับ ธรรมในภายนอก (นับเป็น ๒)

ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้ว เป็น ๑๔ อย่าง ได้แก่

๑. สติสัมโพชฌงค์ ระลึกธรรมที่เป็นไปในภายใน กับ ธรรมในภายนอก (นับเป็น ๒)

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาที่พิจารณาธรรมที่เป็นไปในภายใน กับ ธรรมที่เป็นไปในภายนอก (นับเป็น ๒)

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ แสดงถึงความเพียรที่เป็นไปทางกาย และ เป็นไปทางจิต (นับเป็น ๒)

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ แสดงถึงปีติที่มีวิตกวิจาร กับ ปีติที่ไม่มีวิตกวิจาร (นับเป็น ๒)

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แสดงถึงความสงบกาย ก็เป็นปัสสัทธิ กับ ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิ (นับเป็น ๒)

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ แสดงถึงสมาธิที่มีวิตกวิจาร กับ สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร (นับเป็น ๒)

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ แสดงถึงอุเบกขาที่เป็นความวางเฉยในธรรมที่เป็นไปในภายใน กับ ความวางเฉยในธรรมที่เป็นไปในภายนอก

ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ภิกษุบางพวกได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน บางพวกได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี บางพวกได้บรรลุเป็นพระอนาคามี บางพวกได้บรรลุเป็นพระอรหันต์.

จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา ด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ เพื่อเข้าใจธรรม เท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ ครับ

ชุด เทปวิทยุ ครั้งที่ 1457

ชุด เทปวิทยุ ครั้งที่ 1458

ชุด เทปวิทยุ ครั้งที่ 1459

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การละนิวรณ์

โพชฌงค์ ๗

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในเรื่องของ ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วมี ๑๐ อย่าง ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วมี ๑๔ อย่าง อยู่ในพระสูตรที่ชื่อว่า ปริยายสูตร ซึ่ง เรื่องราว คือ พวกอัญญเดียรถีย์ พวกนอกศาสนานั้น ได้ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เรื่องนิวรณ์ และ เรื่อง โพชฌงค์ ซึ่งตามทั่วไปแล้ว การแสดงเรื่อง นิวรณ์ และ เรื่องโพชฌงค์ มีเฉพาะพระพุทธเศาสนาเท่านั้น คือ เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่ง พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า นิวรณ์ ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้นจิต คือ ไม่ให้จิตเป็นกุศล เพราะเป็นอกุศลในขณะนั้น พระองค์แสดงว่า นิวรณ์เป็นสภาพธรรมที่ควรละ ส่วน โพชฌงค์ อันเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อถึงการตรัสรู้ อันเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ พระองค์แสดงว่าโพชฌงค์ ควรเจริญและเมื่อ เมื่ออัญญเดียรถีย์ ที่เป็นพวกนอกศาสนา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า จึงนำคำของพระพุทธเจ้าที่ได้ฟังมา เพียงอาศัยการจำเท่านั้นเอง คือจำว่า นิวรณ์ ๕ ควร ละ โพชฌงค์ ๗ ควรเจริญ แสดงกับ บริษัท ศิษย์ของตน เพื่อหวังลาภ สักการะ

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย เข้าไปหาอัญเดียรถีย์ พวกอัญญเดียรถีย์ จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า เราก็สอนว่า นิวรณ์ควรละ โพชฌงค์ ควรเจริญ พระพุทธเจ้าก็แสดงว่า นิวรณ์ควรละ โพชฌงค์ ควรเจริญ แล้วแตกต่างกันอย่างไร ในเมื่อก็สอนเหมือนๆ กัน ภิกษุทั้งหลาย ต้องการความแจ่มแจ้งในพระธรรม จึงไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า หากพวกเธอถาม พวกอัญญเดียรถีย์ว่า นิวรณ์โดยนัย ๑๐ อย่าง กับโพชฌงค์ โดยนัย ๑๔ อย่าง เป็นอย่างไร เขาเหล่านั้นย่อมตอบไม่ได้ เพราะว่า พวกอัญญเดียรถีย์ เพียงจำมาเท่านั้นครับว่า นิวรณ์ มี ๕ อย่าง คือ กามฉันทะ พยายาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา และ โพชฌงค์ มี ๗ อย่างเท่านั้น เมื่อถูกถามโดยนัย นิวรณ์ ๑๐ กับ โพชฌงค์ ๑๔ ย่อมไม่รู้ เพราะไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า นิวรณ์ คือ อย่างไรและโพชฌงค์ คืออย่างไร ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ค. 2555

พระพุทธเจ้า ทรงอธิบาย นิวรณ์ โดยนัย ๑๐ ประการ และ โพชฌงค์โดย ๑๔ ประการ

ดังนี้ครับ

ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจครับว่า นิวรณ์ คือ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้นจิต คือ ปิดกั้นจิตไม่ให้เป็นกุศล คือ เป็นอกุศล และเป็นธรรมที่บั่นทอนกำลังของปัญญา คือ ขณะที่นิวรณ์ที่เป็นอกุศลเกิด ปัญญาเกิดไม่ได้ในขณะนั้น ชื่อว่า บั่นทอนปัญญา ครับ ซึ่งนิวรณ์ ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก ที่เป็น จิตที่ไม่ดี และ มีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย

นิวรณ์ประการแรก คือ กามฉันทะ นั่นก็คือ โลภะเจตสกิที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส หากเราเข้าใจความจริง ข้อหนึ่งของโลภะ คือ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องได้ทุกอย่าง ดังนั้น กามฉันทะ ความติดข้อง ก็ติดข้องได้เกือบทั้งหมด พูดง่ายๆ ครับว่า ขณะนี้ ติดข้องอะไรบ้าง ติดข้องในรูปร่างกายของตนเองไหม ติดข้องในตา หู จมูก ลิ้น กาย ติดข้องแม้ขณะที่เกิดความสุข โสมนัส เวลาเกิดความสุขในใจของตนเอง ก็ติดข้องอีก รวมความว่า สามารถเกิดโลภะ ติดข้องใน ตัวเอง และไม่ใช่เพียงตัวเองเท่านั้นที่ติดข้อง เมื่อเห็นใคร บุคคลใด ก็ติดข้องในบุคคลอื่น เช่น สัตว์เลี้ยง คนที่หน้าตาดี เป็นต้น ก็ติดข้องพอใจ อันอาศัย ผู้อื่นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น กามฉันทะ จึงสามารถแบ่งได้ เป็น ๒ อย่างคือ เกิดความยินดีติดข้อง เพราะอาศัย ตัวเอง เพราะ ถ้าไม่มี จิต เจตสิก รูป ของตนเอง ก็ไม่มีการเกิดการติดข้องเกิดขึ้น ดังนั้น โลภะเกิดได้ เพราะอาศัย ตัวเอง ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ติดข้องเกิดได้ และ กามฉันทะ ที่เป็นโลภะ เกิดได้ เพราะ อาศัย คนอื่นๆ สัตว์อื่นๆ ภายนอก และแม้ไม่ใช่สัตว์ บุคคล แม้สิ่งไม่มีชีวิต เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ที่เป็นรูปธรรมภายนอก ก็ทำให้ติดข้อง เกิดกามฉันทะ ในสิ่งภายนอกได้ ครับ

ดังนั้น กามฉันทนิวรณ์ จึงแบ่งเป็น ๒ คือ โลภะที่เกิดเพราะอาศัย ตนเอง ที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่สมมติว่าเป็นเรา เป็นตนเอง และ โลภะเกิดขึ้นเพราะอาศัย คนอื่น สิ่งอื่นๆ ภายนอก ที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เป็นที่ตั้งอาศัยของโลภะได้ ครับ แต่ไม่ได้หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดที่กาย และที่เกิดทางใจ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ค. 2555

นิวรณ์ที่ ๒ คือ พยาปาทะ ความพยาบาท ก็โดยนัยเดียวกันกับ กามฉันทะ ที่เป็นโลภะ แบ่งเป็น ๒ คือ ความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัย ตนเองและผู้อื่นสิ่งอื่น ประการแรกนั้น ปฏิฆะ ความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้นได้ พูดง่ายๆ คือ โทสมูลจิตที่เกิดขึ้น มีอารมณ์ คือ จิต เจตสิก รูป ที่เนื่องกับตนเอง เช่น โกรธ ไม่พอใจ รูปร่างกายของตนเอง เห็นปาก ก็เกิดความไม่ชอบที่ไม่สวย เห็นผื่นขึ้นหน้าตนเอง ก็เกิดความไม่พอใจ ส่วนความไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ เกิดเพราะอาศัย บุคคลอื่นๆ สิ่งอื่นๆ เช่น เห็นคนที่ไม่ชอบเดินมา ก็เกิดความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น

ถีนมิทธะ แบ่งเป็น ๒ คือ ถีนะ กับ มิทธะ

อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กับ กุกกุจจะ ความเดือดร้อนรำคาญใจ

วิจิกิจฉา แบ่ง เป็น ๒ อย่าง คือ ความลังเลสงสัยในตน และ ความลังเลสงสัยภายนอก ซึ่งขออธิบายดังนี้ครับ ความลังเลสงสัยในตน คือ ความลังเลสงสัยครับว่าเรามีจริงไหม หรือ สงสัยว่า จิต เจตสิก รูป มีจริงหรือไม่ อันเนื่องด้วยตนเอง สงสัยว่า เมื่อก่อนเราเป็นใคร และชาติหน้าจะเกิดเป็นอะไร เป็นต้น นี่คือความลังเลสงสัย ปรารภตนเอง และ ความลังเลสงสัยปรารภภายนอก เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มีจริงหรือไม่ เป็นต้น ครับ ส่วน โพชฌงค์ ๗ ที่แบ่งเป็น ๑๔ อย่าง อธิบายดังนี้ ครับ

ขออธิบายความละเอียดดังนี้ ครับ

สติสัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. สติเกิดเพราะอาศัย ธรรมภายในตน

๒. สติเกิดเพราะอาศัย ธรรมภายนอกตน

สติเกิดเพราะอาศัยธรรมภายในตน คือ ขณะนี้ มีสภาพธรรมที่เกิด ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มี จิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้น ขณะที่ที่สติที่มีกำลัง ระลึกตัวลักษณะของสภาพธรรม ที่เนื่องด้วยกายของตน เช่น ขณะที่เห็น จิตเห็น เกิดขึ้น สติสัมโพชฌงค์เกิด ระลึกรู้ในตัวจิตเห็น จิตเห็นเป็นธรรมที่เนื่องด้วยตน จึงเป็นสติสัมโพชฌงค์เกิด เพราะอาศัยธรรมภายในตน จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น ... จิตรู้กระทบสัมผัส ก็เป็นธรรมภายในตน ขณะที่ติดข้อง เกิดโลภะ แล้วสติเกิดระลึกรู้ในตัวโลภะ ที่เกิดกับตนเอง ก็ชื่อว่า สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดเพราะอาศัยธรรมภายในตน

สติเกิดเพราะอาศัยธรรมภายนอกตน ขณะที่กำลังเห็น แต่ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น คือ สี สีเป็นธรรมภายนอกตน ไม่ว่าจะเห็นเป็นใคร เป็นสิ่งของ แต่ก่อนจะเห็นเป็นสิ่งต่างๆ ต้องเห็นเป็นสีก่อน สี ที่เห็น ไม่ได้เนื่องกับตนเอง แต่เป็นการเห็น สี ภายนอกตน ขณะที่สติเกิดที่มีกำลังระลึกรู้ ที่สี ที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น ชื่อว่า สติสัมโพชฌงค์ เกิดเพราะอาศัยธรรมภายนอกตน

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ปัญญาเจตสิก แบ่งเป็น ๒ อย่าง โดยนัยเดียวกับ สติสัมโพชฌงค์ เช่นกัน

๑. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เกิด เพราะอาศัยธรรมภายในตน เช่น ขณะที่ปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม ที่เป็น จิตเห็น ... จิตคิดนึก หรือ ขณะที่โกรธ ก็ความโกรธ เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง แต่ปัญญาสามารถเกิดรู้ความจริงในขณะที่โกรธได้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา คือ ปัญญา หรือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เกิด เพราะอาศัยธรรมภายในตน

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เกิดเพราะอาศัยธรรมภายนอกตน เช่น ขณะที่ ปัญญาเกิด รู้ความจริงในขณะที่ สีกำลังปรากฏ ขณะที่เสียง กำลังปรากฏ สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น อันเป็นธรรมภายนอกตน ไม่ได้เนื่องกับตนเอง ด้วยปัญญาที่รู้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เป็น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เกิดเพราะอาศัยธรรมภายนอกตน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ค. 2555

วิริยสัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ความเพียรทางกาย และความเพียรทางจิต

อธิบายดังนี้

ความเพียรทางกาย ก็คือขณะที่กำลัง มีการไหวไปทางกาย เช่น เดินจงกรม แต่จะต้องเป็นความเพียรที่เกิดกับปัญญา ที่เป็นกุศลธรรมในขณะนั้นนะครับ ขณะที่เดินจงกรมขณะนั้น กำลังเพียรทางกาย เพราะ มีการไหวไปของกายในขณะนั้น

ความเพียรทางจิต โดยทั่วไปแล้ว วิริยเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้น ขณะใดที่ไม่ได้มีการไหวไปทางกาย แต่นึกในใจ ขณะนั้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น ขณะที่สติและปัญญาเกิดรู้ความจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ถามว่ามีความเพียรไหม แม้ไม่ได้เดินจงกรมอยู่ มีแล้ว เพราะ วิริยเจตสิกเกิดกับปัญญา เพียรแล้วในขณะนั้น เพียรที่จะรู้ความจริง จึงเป็นความเพียรทางจิต ครับ

ปีติสัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ปิติสัมโพชฌงค์ที่มีวิตก วิจาร ปีติสัมโพชฌงค์ที่ไม่มีวิตก วิจาร

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ความสงบกาย ก็เป็นปัสสัทธิ กับ ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิ อธิบายดังนี้

๑. ความสงบกาย ในที่นี้ จะต้องเข้าใจให้ถูกครับว่า กายในที่นี้หมายถึง นามกาย ไม่ใช่ร่างกาย ท่าทางดูสงบนะครับ แต่เป็นนามกาย ที่เป็นนามกาย ๓ คือ เวทนา สัญญา สังขารขันธ์ สงบระงับด้วย ปัญญาที่เกิด ที่เป็นสัมโพชฌงค์

๒. ความสงบแห่งจิต มุ่งหมายถึง จิตที่เป็นวิญญาณขันธ์ที่เกิดขึ้น สงบระงับในขณะนั้น เพราะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาระดับสูง ครับ ที่รู้ความจริง

สมาธิสัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ สมาธิที่มีวิตกวิจาร กับ สมาธิที่ไม่มีวิตก วิจาร

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ความวางเฉย อันเนื่องจาก ธรรมที่เกิดขึ้นภายในตน และ ความวางเฉยที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจาก ธรรมภายนอกตน

ซึ่งขออธิบาย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ในความละเอียดครับว่า อุเบกขาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ นะครับ แต่มุ่งหมายถึง สภาพธรรมฝ่ายดี ที่ทำให้เกิดความวางเฉย ไม่เอนเอียง คือ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่ทำให้เกิดความวางเฉย ซึ่ง การวางเฉยในสภาพธรรมที่ปรารภตน เช่น ขณะที่โลภะเกิดในตน ก็ปัญญา และสัมโพชฌงค์องค์อื่นๆ เกิดพร้อมกัน และขณะนั้นก็วางเฉย ไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวไปในอกุศล ครับ

ส่วน ภายนอก คือ ขณะที่เห็น สี หรือ ได้ยินเสียง ก็เกิดสัมโพชฌงค์ ระลึกที่ตัว เสียงที่เป็นภายนอกเกิดความวางเฉย ไม่หวั่นไหวในอกุศล เพราะรู้ความจริงในขณะนั้น


นี่คือ ความละเอียดลึกซึ้ง ของ นิวรณ์ ๑๐ และ สัมโพชฌงค์ ๑๔ ครับ ซึ่ง พระธรรมของพระพุทธเจ้า มีหลากหลายนัย เพื่อแสดงให้ผู้ได้อ่าน ได้ศึกษา เข้าใจความละเอียดลึกซึ้งของธรรม ดังนั้น พระสูตรนี้ที่กล่าวมาทั้งหมด มุ่งหมายถึง ธรรมที่เกิดภายในตน มี จิตเห็น จิตได้ยิน ... จิตคิดนึก โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง และธรรมภายนอกตน ก็คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เป็นธรรมภายนอกตน เป็นต้น ซึ่ง ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง เพราะว่า นิวรณ์ และ โพชฌงค์ ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก ครับ การรู้ความจริงก็จะต้องรู้ในสิ่งที่มีจริง เช่นกัน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Thanapolb
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองมากครับ อธิบายได้ละเอียดดีมาก ทำให้กระจ่างขึ้นเยอะ และละสิ่งที่เข้าใจผิดได้ เช่น เดิมเข้าใจว่า ความสงบ ๒ อย่าง คือทางกายและทางจิต นึกว่าทางกายหมายถึงร่างกายเพียงเท่านั้น ไม่นึกถึง นามกาย ๓ เลย

ขอถามเพิ่มเติมในเชิงสมมติครับ

ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์นอกศาสนานั้นได้ยินพระพุทธองค์ทรง หรือใครกล่าวแสดงว่า ปริยายที่นิวรณ์ ๕ อาศัยแล้วมี ๑๐ อย่าง ปริยายที่ โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วมี ๑๔ อย่าง แล้วก็ไปบอกคนอื่นว่าคำสอนของตนก็เป็นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้ประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง ผู้ที่ฟังก็อาจเชื่อตาม แล้วจะแก้คำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์อย่างไร และสมัยนี้ก็ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคอยแก้ไขปัญหาข้อสงสัยนั้นให้พวกเรา

เราต้องศึกษาจากพระไตรปิฎกและฟังจากผู้มีปัญญา ผู้ศึกษามามากที่เข้าใจกว่า และจนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งด้วยตนเองกระมังครับ

ขออนุโมทนา

อย่างนั้นเท่านั้นกระมังครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 10 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ถึงแม้ว่าพวกนอกศาสนา หรือ คนที่เข้าใจธรรมผิด ที่ได้เพียงแต่จำมาว่า ปริยายของ นิวรณ์ มี ๑๐ และ สัมโพชฌงค์มี ๑๔ แม้จะกล่าวอย่างนี้ก็ตาม แต่เขาไม่ได้เข้าใจความจริง ตามที่กระผมได้กล่าวไว้ข้างต้นครับว่า นิวรณ์โดยนัย ๑๐ และ สัมโพชฌงค์ ๑๔ คือ การแสดงถึงความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ และ การรู้ความจริงที่เป็น สัมโพชฌงค์ ก้ต้องรู้ความจริงในขณะนี้ อันอาศัยเนื่องด้วยตนเองและผู้อื่น เมื่อผู้กล่าวตาม ไม่ได้เข้าใจว่า ธรรม คือ อะไร เพราะ สำคัญว่า มีสัตว์ บุคคล ก็ย่อมทำให้เข้าใจผิด แม้จะกล่าวว่า นิวรณ์ ๑๐ และ สัมโพชฌงค์ ๑๔ ก็สำคัญว่า มีเราที่มีนิวรณ์ มีเราที่เจริญสัมโพชฌงค์ ก็สำคัญผิด เพราะ ไม่เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมทั้งนั้น และเป็นความจริงที่มีในขณะนี้ ดังนั้น กล่าวได้ ครับ แต่ไม่สามารถอธิบายได้ ว่า เป็น อย่างไร เป็นธรรมอย่างไร เพราะ ไม่ได้เข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องว่า ธรรมคืออะไร ได้ แต่เพียงอ่าน และจำมา และก็อธิบายตามความเข้าใจผิด ครับ เพราะฉะนั้น การจะแก้คำกล่าว ที่กล่าวด้วยความจำ ไม่เข้าใจของบุคคลอื่น เพื่อให้ผู้อื่นและผู้ที่ได้ฟัง เข้าใจขึ้น ก็ด้วยการสอบถาม สนทนา และ ก็เทียบเคียงกับพระธรรม โดยเฉพาะกับพระอภิธรรม ที่แสดงถึงว่า มีแต่ธรรม และเป็นอนัตตา ครับ ซึ่ง การสนทนา สอบถาม ก็จะทำให้ผู้ที่พียงแต่จำ หรือ เข้าใจผิด เข้าใจขึ้น และเป็นการทำให้ผู้อื่นที่ได้รับฟัง เพียงการจำมา ก็จะเข้าใจขึ้นไปด้วย ครับ

แม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นศาสดาแทนพระองค์ และเป็นเครื่องเทียบเคียง ตรวจสอบความเข้าใจได้ดีที่สุด ไม่ว่ากับใคร บุคคลใด สำคัญที่ความเข้าใจถูกของเราเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 10 พ.ค. 2555

แม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นศาสดาแทนพระองค์ และเป็นเครื่องเทียบเคียง ตรวจสอบความเข้าใจได้ดีที่สุด ไม่ว่ากับใคร บุคคลใด สำคัญที่ความเข้าใจถูกของเราเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kinder
วันที่ 11 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wittawat
วันที่ 11 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ อ. ทุกท่าน ที่ได้ยกพระสูตรขึ้นมาเพื่อแสดงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ไม่ใช่เรื่องที่คิดเองได้

เพราะปัญญาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้นั้นละเอียดลึกซึ้ง

คำว่าอาศัย โดยละเอียด กระผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องของปัจจัย ซึ่งละเอียดครับ

และสำคัญที่สุด พระธรรมทั้งหมด เป็นประโยชน์ให้เข้าใจความจริงที่มีในขณะนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wanipa
วันที่ 16 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง และขออนุโมทนาบุญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
เข้าใจ
วันที่ 10 ส.ค. 2555

ศึกษาก่อนก็เข้าใจก่อน ศึกษาทีหลังก็ค่อยๆ เข้าใจครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ผู้มาใหม่
วันที่ 6 ต.ค. 2556

บ้านธัมมะเป็น web ที่ตอบปัญหาที่คาใจผมมานานได้ดีที่สุด

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านมากครับ

ขอความเจริญในธรรมจงมีเพิ่มแด่ทุกท่านยิ่งขึ้นๆ ไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 22 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ