การระลึกเป็นไปใน อกุศล
การระลึกเป็นไปใน อกุศล ไม่ทราบว่าเป็นหน้าที่การงานของเจตสิกใดครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สติเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดกับจิตที่ดี ทำกิจหน้าที่ระลึก แต่ต้องระลึกเป็นไปในทางที่ดี คือ ในทางกุศล ซึ่งสติเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกประเภทและทุกระดับ ดังนั้น สติเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิต ก็ต้องเป็นการะลึก ในกุศล ที่เป็นการระลึกเป็นไปในกุศลขั้นทาน ศีล และ ภาวนา มีสมถภาวนาและวิปัสสนา ครับ ยกตัวอย่าง เช่น ขณะที่เห็นขอทาน แล้วคิดจะให้ สติเกิดแล้ว ระลึกที่จะให้ เป็นกุศลจิตขั้นทาน ที่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ระลึกที่จะให้ ครับ ขณะที่งดเว้นจากการฆ่ายุง ขณะนั้น สติเกิดระลึกที่จะงดเว้นจากบาป เป็นสติที่เกิดกับกุศลขั้นศีล เป็นต้น และขณะที่สติปัฏฐานเกิด (วิปัสสนา) ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น เป็นสติ ที่ทำหน้าที่ระลึก ตัวธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น ที่เกิดร่วมกับปัญญา ครับ
ส่วน ขณะที่อกุศลเกิดนั้น ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย แต่การนึกขึ้นได้ ระลึกขึ้นได้ ไม่ใช่กิจหน้าที่ของสติเจตสิก ดังนั้น คำว่า ระลึกได้ โดยมากใช้กับฝ่ายดี ที่เป็น สติเจตสิก แต่ไม่ใช้กับฝ่ายอกุศล ครับ แต่ฝ่ายอกุศล มักจะใช้คำว่า นึกขึ้นได้ ซึ่งการ นึกถึง เรื่องราวต่างๆ ได้ ในอดีต ที่เคยผ่านมา หรือ แม้แต่การนึกขึ้นได้ว่า กุญแจวางไว้ตรงไหน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสติเจตสิกที่นึกขึ้นได้ ซึ่งสามารถนึกขึ้นได้ด้วยอกุศลจิตได้ ครับ ซึ่งถ้าเป็นไปในฝ่ายอกุศลแล้ว ก็สามารถนึกขึ้นได้ด้วยเจตสิก ที่ไม่ใช่สติเจตสิก แต่คือ วิตกเจตสิก ที่ทำกิจ ตรึก นึกถึง เรื่องราวที่ผ่านมาแล้วได้ และ นึกถึงว่าวางกุญแจ หรือ สิ่งต่างๆ ไว้ตรงไหนก็นึกขึ้นได้ ครับ เป็นกิจหน้าที่ของ วิตกเจตสิก ซึ่งวิตกเจตสิก เป็นปกิณณกเจตสิก คือ เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท ซึ่งเกิดกับจิตชาติใดก็เป็นจิตประเภทนั้น ชาตินั้น และสามารถเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลจิตได้ครับ
ดังนั้น การนึกขึ้นได้ หรือ แม้จะใช้คำว่า ระลึกได้ แต่เป็นไปในทางอกุศล เช่น นึกขึ้นได้ว่า วางอาวุธไว้ที่ไหน ที่สำหรับฆ่าสัตว์ การนึกขึ้นได้ ในทางอกุศล เป็นกิจหน้าที่ของ วิตกเจตสิก ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต โดยอาศัย สัญญา ความจำที่เคยจำได้ในอดีต เป็นปัจจัยให้นึกขึ้นได้ ด้วย วิตกเจตสิก ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่งาม เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย กุศลกับอกุศล เป็นธรรมคนละประเภทกัน ไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด
โดยปกติของปุถุชนแล้ว เป็นผู้ตกไปในฝักฝ่ายของอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้มีโทษมาก เพราะกาย วาจา และใจ เป็นไปกับด้วยอกุศล เมื่อสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังมากขึ้น ก็ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตามควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้น โดยที่ไม่มีสติเลย ในขณะที่จิตเป็นอกุศล เพราะสติไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต จึงกล่าวได้ว่า ชีวิตประจำวันไม่ได้มีแต่กุศลจิต กุศลจิตมีเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลจิต เทียบส่วนกันไม่ได้เลย การตรึกนึกคิดก็เป็นไปกับด้วยอกุศลเป็นส่วนใหญ่ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งนั้น เมื่อไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก และ กิริยา ครับ
..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จากที่คุณ paderm เขียนว่า การนึกขึ้นได้ ในทางอกุศล เป็นกิจหน้าที่ของวิตกเจตสิก ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต โดยอาศัย สัญญา ความจำที่เคยจำได้ในอดีตเป็นปัจจัยให้นึกขึ้นได้ ด้วย วิตกเจตสิก
ถ้าอย่างนั้นขณะที่มีสติเป็นไปในกุศล ก็เป็นการนึกขึ้นได้ในทางกุศล โดยเป็นกิจหน้าที่ของ วิตกเจตสิก ที่เกิดร่วมกับกุศลจิตที่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยอาศัยสัญญา ความจำที่เคยจำได้ในอดีต เป็นปัจจัยให้นึกขึ้นได้เช่นกันใช่ไหมครับ เช่น การฟังธรรมให้เข้าใจบ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้นึกขึ้นได้ว่าขณะนี้เป็นธรรม โดยเป็นกิจหน้าที่ของ วิตกเจตสิก ที่เกิดร่วมกับกุศลจิตที่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยอาศัยสัญญา ความจำที่เคยจำได้ในอดีตจากการฟังธรรมที่ถูกต้อง
เรียนความเห็นที่ 3 ครับ
ควรเข้าใจความละเอียดของ วิตกเจตสิก
วิตกเจตสิก เป็นสภาพธรรม ที่ทำหน้าที่ ตรึกนึกคิดด้วย และเป็นสภาพธรรมที่จรดในอารมณ์ ด้วยครับ
ซึ่ง ขณะที่เป็นกุศลจิต เช่น ไม่ติดข้อง ออกจากกาม ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ ก็มีวิตกเจตสิก ทำกิจหน้าที่ ตรึก นึกคิด นึกคิดที่จะออกจากกาม ซึ่งเราก็คงจะเคยได้ยินใช่ไหมครับว่า เนกขัมมะวิตก คือ การตรึกนึกคิดที่จะออกจากกาม ซึ่ง การคิดในทางที่ดี ก็มีแสดง ไว้ ๓ ประการ คือ
๑. เนกขัมมะวิตก ความคิดที่จะออกจากกาม
๒. อพยาปาทะวิตก ความคิดที่ตรึกที่จะไม่พยาบาท ปองร้าย
๓. อวิหิงสาวิตก ความคิดที่ตรึกที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
ส่วนวิตกเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทอื่นๆ ก็ทำกิจหน้าที่ จรดในอารมณ์นั้น ครับ
จะเห็นถึงความละเอียดของวิตกเจตสิก ที่เปรียบเหมือนเท้าของโลก ให้ตรึก นึกคิดเรื่อยไป ในทางกุศล และ ในทางอกุศลด้วย ครับ ดังนั้น ขณะที่เป็นกุศลจิต ก็มีสติที่ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ ก็มีวิตกเจตสิก ทำหน้าที่ ตรึกนึกคิดได้ในทางกุศล และ จรดในอารมณ์นั้น ซึ่งแม้การนึกขึ้นได้ การตรึก ในทางอกุศลก็มีได้ ด้วยวิตกเจตสิก เช่นกัน ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
การตรึกที่เป็นไปในอกุศลมี ๓ อย่าง
๑. กามวิตก การตรึกเป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๒. พยาปาทวิตก การตรึกในการอาฆาต ปองร้าย การแก้แค้น
๓. วิหิงสาวิตก การตรึกในการเบียดเบียนสัตว์อื่น ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การนึกขึ้นได้ ในทางอกุศล เป็นกิจหน้าที่ของ วิตกเจตสิก
ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต โดยอาศัย สัญญา ความจำที่เคยจำได้ในอดีต
เป็นปัจจัยให้นึกขึ้นได้ ด้วย วิตกเจตสิก ครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
จากธรรมสังคณี ...
สตินี้นั้นมีการระลึก (การไม่ฟั่นเฟือน) เป็นลักษณะ ... วิตกนั้น ท่านจึงกล่าว มีการยกจิตขึ้นในอารมณ์เป็นลักษณะ ...
อกุศล คือ ฟั่นเฟือนเป็นไปได้หรือไม่ การระลึกใช้กับกุศลเท่านั้น
เรียนความเห็นที่ 7 ครับ
ตามที่กล่าวแล้วในความเห็นต่างๆ ข้างต้นครับว่า วิตกเจตสิก ทำหน้าที่ ตรึกนึกคิด ที่เป็นเท้าของโลก และทำหน้าที่ จรดในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเข้าใจความหมายว่า ทำหน้าที่อย่างไรในขณะนั้น อย่างเช่น วิตกเจตสิกที่เกิดกับชาติวิบาก มีจิตเห็น เป็นต้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ ตรึก นึกคิด นึกขึ้นได้ แต่ทำหน้าที่ จรดในอารมณ์นั้น ที่ เป็น สี เป็นอารมณ์ ครับ ดังนั้น วิตกเจตสิกที่เกิดกับจิตอกุศล ไม่ได้ทำกิจระลึกได้ ดังเช่น สติเจตสิก แต่ขณะที่นึกขึ้นได้ เช่น ลืมกุญแจไว้ ก็นึกขึ้นได้ ขณะนั้นก็เป็น อกุศล แต่อกุศลก็นึกขึ้นได้ ด้วยอกุศลนั้น แต่ไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนานั่นเอง ที่เป็นกิจหน้าที่ของจิตและวิตกเจตสิกที่ทำกิจนึกขึ้นได้ หากการนึกขึ้นได้ ด้วยกุศล เท่านั้น ที่เป็นกิจของกุศลเท่านั้น ชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเกิดกุศลมากมาย แต่ในความเป็นจริง ย่อมนึกขึ้นได้ ด้วยอกุศลจิตก็ได้ ครับ
ดังนั้น เราจะต้องแยกระหว่างการนึกขึ้นได้ด้วย กุศล และ อกุศลจิต ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เรียนท่านอาจารย์และผู้ร่วมสนทนาทุกท่าน
ผมสามารถสรุปอย่างนี้ได้หรือไม่ครับ?
สติเจตสิก สามารถเกิดร่วมด้วยกับ เนกขัมมะวิตก ๓ ประการคือ
๑. เนกขัมมะวิตก ความคิดที่จะออกจากกาม
๒. อพยาปาทะวิตก ความคิดที่ตรึกที่จะไม่พยาบาท ปองร้าย
๓. อวิหิงสาวิตก ความคิดที่ตรึกที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
สติเจตสิก จะไม่เกิดร่วมด้วยกับ วิตก ที่เป็นอกุศล นึกขึ้นได้ไปในทางอบายคือ
๑. กามวิตก การตรึกเป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๒. พยาปาทวิตก การตรึกในการอาฆาต ปองร้าย การแก้แค้น
๓. วิหิงสาวิตก การตรึกในการเบียดเบียนสัตว์อื่น
ขอขอบพระคุณ และ อนุโมทนาครับ
รบกวนอาจารย์ paderm
กรุณาทบทวนความเห็นที่ 8 ด้วยครับ
ข้อความที่ว่า
"อย่างเช่น วิตกเจตสิกที่เกิดกับชาติวิบาก มีจิตเห็น เป็นต้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ ตรึก นึกคิด นึกขึ้นได้ แต่ทำหน้าที่ จรดในอารมณ์นั้น"
ผมเข้าใจว่า วิตกเจตสิกไม่เกิดร่วมกับ จิตเห็น ครับ
ป.ล. กรุณาซ่อนความเห็นของผมด้วยครับ
เรียนความเห็นที่ 11 ครับ
ขออภัยครับ ถูกต้องตามที่ผู้ร่วมสนทนากล่าวมา คือ จิตเห็น ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขออนุโมทนาที่ทักท้วงมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ
ไม่เป็นไรหรอกครับ ไม่ต้องซ่อน ผิดก็ต้องผิด เพื่อให้คนอื่นเข้าใจถูก ครับ
จำผิดไป ครับ ถ้ามีอะไรผิดไป ก็แนะนำอย่างนี้ จะทำให้เกื้อกูลกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้อ่านและผู้ร่วมสนทนา ครับ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาทั้งผู้ถามและผู้ตอบทุกๆ ท่านด้วยความเคารพนับถือ