การพูดล้อเลียนผู้อื่น-มิตรที่ดี

 
lovedhamma
วันที่  30 พ.ค. 2555
หมายเลข  21191
อ่าน  7,341

การที่เราเห็นคนที่อาจจะมีปมด้อย หรือ เห็นคนที่มีปัญหา แล้วเราก็ไปพูดในลักษณะแบบทีเล่นทีจริง เย้าแหย่ ... หรือทำให้เค้าโกรธ-อับอาย ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นคนที่เป็นโรคที่ดูแล้วน่าเกลียด (เมื่อเห็นจากภายนอก) หรืออื่นๆ ก็ตาม เราจะบาปมั้ยครับ?

อีกคำถาม คือ มิตรที่ดีในทางพระพุทธศาสนา (เป็นเพื่อนที่ควรคบ) จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพูด วาจามีได้ เพราะ อาศัย จิต เจตสิก รูปเป็นปัจจัย จึงมีการพูดเกิดขึ้น ครับ ซึ่งการพูดด้วยกุศลจิตก็มี การพูดด้วยอกุศลจิตก็มี ครับ ซึ่ง การพูดในลักษณะแหย่ หรือ ทำให้ผู้อื่นโกรธ อับอาย เกิดจากเจตนาไม่ดี จิตย่อมเป็นอกุศลในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ก็ชื่อว่า เป็นบาป แล้วในขณะนั้น ครับ แต่บาปก็มีหลายระดับ บาปที่เป็นเพียงอกุศลจิต สะสมเป็นอุปนิสัย แต่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากให้เกิดผลของกรรมก็มี และ บาปที่มีกำลัง ที่ล่วงกรรมบถ ผิดศีล เป็นต้น ก็เป็นบาปที่ทำให้เกิดวิบาก มีการเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น ในอนาคต ได้ครับ ดังนั้น การพูดแหย่ให้คนอื่นโกรธ ให้อับอาย ก็มีทั้งที่ครบกรรมบถ ล่วงศีลได้ และ ไม่ครบกรรมบถ ไม่ล่วงศีลก็มี ครับ ขึ้นอยู่กับเจตนา และ กำลังของกิเลส ของผู้พูดด้วยเป็นสำคัญ หากเจตนาทำบาป พูดเพื่อทำร้ายเขา โดยการพูดวาจาให้เขาโกรธ เป็นเจตนาที่เกิดจากกิเลสรุนแรง และทำให้ผู้นั้นเสื่อมประโยชน์ด้วย ก็มีโทษมาก ครับ แต่เจตนาพูดแหย่เล่น ให้สนุก ไม่ได้มีเจตนาว่าร้าย ไม่ได้มีเจตนาให้เขาเสียหาย ก็ไม่ได้มีโทษมาก ครับ

ที่สำคัญ ไม่ได้อยู่ที่มีโทษมาก หรือ โทษน้อย อกุศลเล็กน้อยก็ชื่อว่ามีโทษ เปรียบเหมือน คูถ ของสกปรก แม้มีประมาณน้อย ก็ชื่อว่า เหม็น ฉันใด อกุศลเล็กน้อยก็มีโทษเพราะจะทำให้สะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี จนเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีที่มีกำลัง ก็ทำให้ล่วงศีลได้ในอนาคต ครับ เพราะ การสะสมนิสัยไม่ดี ทีละน้อยนั่นเอง ครับ

วาจาที่ดี ควรพูด จึงเป็นวาจาที่เกิดจากกุศลจิต คือ พูดจริง พูดอ่อนหวาน พูดไม่เพ้อเจ้อ และไม่พูดส่อเสียด เป็นต้น และ ควรพูด คำนึงถึงคนฟัง เราไม่ชอบวาจาแบบใด คนอื่นก็ไม่ชอบวาจาแบบนั้น ก็ไม่ควรพูดคำนั้น ที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนใจได้ ครับ หากคิดถึงคนอื่นให้มาก คิดถึงตนเองให้น้อยลง การกระทำทางกาย วาจาก็จะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้มากทีเดียว ครับ

ซึ่งวาจาที่ดี จะมีมากขึ้น เจริญได้ ก็ตามกำลังปัญญาที่เจริญขึ้น อันอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นสำคัญ ครับ


- ส่วน มิตรที่ดี คือ มิตรที่มีคุณความดี มีคุณธรรม ที่มี ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น สรุปได้ว่าเป็นมิตรมีคุณธรรมภายในตนนั่นเอง ซึ่งมิตรที่ประเสริฐสูงสุด คือพระพุทธเจ้า ครับ เพราะ แสดงหนทางการดับกิเลส และ ให้สัตว์โลก ได้ดับกิเลสตามพระองค์ด้วย

มิตรที่ดี จึงไม่ใช่คนที่ตามใจเรา พูดหวานๆ กับเรา แต่ มิตรที่ดี คือ มิตรที่หวังประโยชน์เกื้อกูล เตือนในสิ่งที่ควรเตือน ห้าม แนะนำในทางที่ดี โดยไม่ใช่หวังความเป็นที่รัก แต่หวังประโยชน์เกื้อกูลกับผู้อื่น แล มิตรที่ดีประเสริฐที่สุด คือ คุณความดี กุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นมิตรที่ดี ที่นำแต่สิ่งที่ดีมาให้ และ ปัญญาเป็นมิตรที่ประเสริฐสุด เพราะ เป็นมิตรที่ฆ่า ศัตรู คือ กิเลสภายในจิตใจ และ แนะนำ นำทางในสิ่งที่ดี ครับ

เชิญคลิกอ่านมิตรที่ดี ได้ที่นี่ครับ

ลักษณะกัลยาณมิตร [อรรถกถาเมฆิยสูตร]

ว่าด้วยมิตร [มิตตสูตร]

พึงทราบมิตรแท้ ๔ จำพวก

มิตรที่ประเสริฐ [สุตตนิบาต]

ศัตรูที่ต่อหน้าเป็นมิตร

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแ่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเกี่ยวกับเรื่องการพูดมีมากมาย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาว่า สิ่งใดควรพูด สิ่งใด ไม่ควรพูด เพราะพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องเตือนที่ดี คำพูดใดที่พูดไปแล้วทำให้กิเลส อกุศลเกิดมากยิ่งขึ้น ก็ไม่ควรพูด ซึ่งเป็นคำพูดที่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง ในทางตรงกันข้าม คำพูดใดที่พูดไปแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม นั่นเป็นคำที่ควรพูด

ซึ่งจะพิจารณาจากองค์ประกอบของวาจาที่ดี ว่า จะต้องเป็นคำจริง เป็นถ้อยคำ ที่อ่อนหวาน เป็นถ้อยคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ กล่าวถูกกาละ และ เป็นคำพูดที่ ประกอบด้วยเมตตาจิต มุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นสำคัญ

สำหรับการพูดล้อเลียนนั้น พิจารณาได้ว่าเป็นเพราะอกุศลแน่ๆ จึงทำให้มีคำพูดเช่นนั้นออกไป ถ้าเป็นกุศลจิตแล้วจะไม่มีคำพูดอย่างนั้นเลย และควรที่จะได้พิจารณาว่า ตนเองไม่ชอบคำพูดอย่างใด คนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน จึงไม่ควรกล่าวถ้อยคำที่จะทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ รวมไปถึงคำพูดที่ไม่ควรทุกประเภทด้วย ทั้งคำเท็จ คำหยาบคาย คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ อันเป็นวจีทุจริต

- เพื่อนที่หวังดีให้เราเกิดกุศล ให้มีความเห็นที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย จึงจะได้ชื่อว่าเป็น กัลยาณมิตร เพราะถ้าไม่มีเพื่อนดี ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้เลย แต่เพราะมีเพื่อนดี จึงช่วยให้เราได้เข้าใจพระธรรม ได้เข้าใจความจริงและละอกุศลต่างๆ

เพราะฉะนั้น เพื่อนที่ดี คือ ผู้เกื้อกูลให้เกิดกุศล เพื่อนคนไหนแนะนำให้เกิดกุศล รู้ได้เลยว่าบุคคลนั้นเป็นกัลยาณมิตร เป็นมิตรที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว กัลยาณมิตร ไม่ใช่คนที่หวังร้าย ไม่ใช่คนที่พูดประจบประแจง ไม่ใช่คนที่หวังผลประโยชน์จากคนที่ตนคบ ไม่ใช่คนที่แนะนำให้ทำความชั่วต่างๆ นานา แต่กัลยาณมิตร ย่อมแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ห้ามจากความชั่ว แล้วให้ตั้งอยู่ในความดียิ่งๆ ขึ้นไป การได้คบกัลยาณมิตร จึงเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ อย่างแท้จริง ไม่มีความเสื่อมเลยแม้แต่น้อย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 พ.ค. 2555

เพื่อนที่ดี ที่ควรคบ ห้ามไม่ให้เพื่อนทำชั่ว แนะนำให้เพื่อนตั้งอยู่ในศีล ในความดี

การพูดล้อเลียนผู้อื่น ไม่ดี ไม่ควรทำ ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล เป็นบาป ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tookta
วันที่ 31 พ.ค. 2555

โดยปกติคนที่มีปมด้อย ตัวเขาเองก็รู้สึกแย่อยู่แล้ว เราก็ไม่ควรไปพูดตอกย้ำปมด้อยของเขา หรือ ดูถูกเขา หรือพูดล้อเลียนเขาจนทำให้ผู้อื่นดูถูกเขา เพราะผู้มีปมด้อยนั้นจะต้องทุกข์ใจมากมายขนาดไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 1 มิ.ย. 2555

... มิตรที่ดีประเสริฐที่สุด คือ คุณความดีกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นมิตรที่ดี ที่นำแต่สิ่งที่ดีมาให้ และ ปัญญาเป็นมิตรที่ประเสริฐสุด เพราะ เป็นมิตรที่ฆ่า ศัตรู คือ กิเลสภายในจิตใจ และ แนะนำ นำทางในสิ่งที่ดี ...

ความเข้าใจในข้อความข้างต้น ทำให้เห็นประโยชน์ของพระธรรมมากขึ้น ลดการเข้าสังคมต่างๆ ลงได้มาก การคบเพื่อนที่ไม่จำเป็นก็ลดลง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่เป็นสาระ บางทีดูเหมือน anti- social แต่จิตใจเบาสบายกว่า เพราะยังคงทำหน้าที่ความรับผิดชอบได้ตามปกติ รวมทั้งมีความเข้าใจและเมตตาต่อผู้อื่นด้วย

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 1 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ

และที่คุณ nong กล่าวมาก็ดูเหมือนจะเป็นแนวทางเดียวกันเลย หลายคนจะพูด ว่าเป็นคนที่ไม่เข้าสังคมหรือที่เรียกว่า social แต่ถ้าเข้าแล้วมีแต่ทำให้กิเลสเกิดทับถมมากขึ้น ซึ่งของเดิมก็มากมายอยู่แล้ว ใครจะว่าเช่นนั้นก็คงยอม

คนเข้าวัดเข้าวา ศึกษาธรรมะ ไม่ค่อยยุ่งกับใครในสังคมทางโลก เค้าเข้าใจกันว่าเป็นคนมีปัญหา หรือเป็นคนบ้า

แต่คนที่อยู่กับกิเลส ตัณหา ล้อมรอบ ด้วยความไม่รู้ เราก็เรียกว่า คนน่าสงสาร

จะเป็น คนบ้า หรือ คนน่าสงสาร ดีครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ