จิตทำหน้าที่ รับ จำ คิด รู้ .

 
govit2553
วันที่  30 พ.ค. 2555
หมายเลข  21194
อ่าน  14,469

จิตทำหน้าที่ รับ จำ คิด รู้ ใช่หรือไม่

ขอคำอธิบายด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต มีอรรถหลายอย่าง ครับ

๑. จิตเป็นสภาพธรรม ที่รู้อารมณ์ คือ เป็นใหญ่ในการรู้

๒. จิตเป็นสภาพธรรมที่คิด

๓. จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสมสันดาน

๔. จิตเป็นสภาพธรรมที่วิจิตร มีหลากหลาย

เพราะฉะนั้น จิตจึงทำหน้าที่รู้อารมณ์ เป็นใหญ่ในการรู้ แต่ไม่ได้เป็นการรู้ตามความเป็นจริง และ จิต ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ จำ จิตทำหน้าที่รู้เท่านั้น รู้อารมณ์ ส่วนการจำเป็นหน้าที่ของสัญญาเจตสิก ซึ่งสัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิดขึ้น จิตทำหน้าที่รู้ในอารมณ์นั้น แต่ขณะนั้นก็มีการจำด้วย แต่เป็นหน้าที่ของสัญญาเจตสิก ครับ

จะเห็นนะครับว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างจะต้องอาศัยการเกิดขึ้นร่วมกัน จึงเกิดขึ้นได้ แต่สภาพธรรมแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ตามสภาพธรรมนั้นๆ อันแสดงถึง ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นไป จึงไม่มีเราที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นแต่เพียงจิตที่ทำหน้าที่เห็น ได้ยิน การศึกษาเรื่องจิต และสภาพธรรมอื่นๆ ด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ย่อมเป็นไปเพื่อละคลายความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ที่นี่ครับ

ที่ชื่อว่าจิตเพราะอรรถว่าคิด อธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์


พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 228

อธิบายคำว่าจิต พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า จิตฺตํ สภาวะที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า ย่อมคิด คือว่าย่อมรู้แจ้งซึ่งอารมณ์

อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า จิต นี้ ทั่วไปแก่จิตทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในบทว่า จิตฺตํ นี้ จิตใดที่เป็นกุศลฝ่ายโลกีย์ อกุศล และมหากิริยาจิต จิตนั้นชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า ย่อมสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า เป็นธรรมชาติอันกรรมและกิเลสทั้งหลายสั่งสมวิบาก

อีกอย่างหนึ่ง แม้ทั้งหมด ชื่อว่า จิตเพราะความเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

ชื่อว่า จิต เพราะการทำให้วิจิตร

พึงทราบเนื้อความในบทว่า จิตฺตํ นี้ ดังพรรณนามาฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
govit2553
วันที่ 30 พ.ค. 2555

เมื่อใดหรือคราใดที่ปรุงเป็นอารมณ์เรียกว่า รับ

คราใดที่เก็บอารมณ์นั้นไว้ เรียกว่า จำ

คราใดที่ใคร่ครวญในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า คิด

คราใดที่รับรู้ เรียกว่า รู้ เช่น ตาเห็นรูป รู้ หูฟังเสียง รู้

ข้างบนนี้ ถูกต้อง หรือ ผิดพลาด ประการใดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ

จากความเข้าใจเบื้องต้น จิต เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และ กิริยาจิต มีลักษณะเดียว คือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ที่จิตมีความหลากหลายแตกต่างกันไป นั้น เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เพราะอารมณ์ต่างกัน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวัน ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่เกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาละที่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีจิตเกิดขึ้นอีกเลย เพราะได้ดับเหตุคือกิเลสที่จะเป็นเหตุให้มีการเกิดได้แล้ว

ข้อความจากความคิดเห็นที่ 2 นั้น สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ในความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เป็นจิต ว่าจิต มีลักษณะเพียงรู้แ้จ้งซึ่งอารมณ์เท่านั้น จิตไม่ได้จำ เพราะจำเป็นหน้าที่ของสัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต

จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตเป็นสังขารธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

นอกจากนั้นประเด็นเรื่องคิด ที่เป็นอรรถของจิตนั้น คิด ในที่นี้ ก็มีคำอธิบายต่อไปว่า ได้แก่ การรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ เพราะรูปธรรม รู้แจ้งอารมณ์ไม่ได้ ต้องเป็นนามธรรมเท่านั้น

อีกสำนวนหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อย คือ รับรู้ ก็พอที่จะเข้าใจได้ว่า ต้องเป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิกเท่านั้นที่จะรับรู้อารมณ์ได้ โดยที่มีจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน

ส่วนเจตสิกธรรมก็เป็นธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ทำกิจหน้าที่ของตนๆ โดยไม่ปะปนกัน และจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า รูปธรรม ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ ตา ไม่ได้เห็นรูป หู ไม่ได้ฟังเสียง แต่ที่เห็นรูป รู้รูปได้เพราะมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ที่ได้ยินเสียงได้ เพราะมีจิตเกิดขึ้นรู้เสียงทางหู ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 30 พ.ค. 2555

เรียนสนทนาในความคิดเห็นที่ 2 เพิ่มเติม ครับ

ไปทีละคำนะครับ

เมื่อใดหรือคราใดที่ปรุงเป็นอารมณ์เรียกว่า รับ


จิตเป็นสภาพรู้ จิตจะเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิก เรียกว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง คือ ปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น แม้ไม่ใช่อกุศล หรือ กุศล เป็น วิบากจิต ก็ชื่อว่าปรุงแต่งแล้ว ขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ สิ่งที่ถูกจิตรู้ เรียกว่า อารมณ์ ซึ่งอารมณ์ของจิต มีทั้ง จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติธรรมที่เป็นเรื่องราว เพราะฉะนั้น ขณะที่ปรุงแต่ง คือ จิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ได้ทำการรับอารมณ์ แต่เป็นการรู้อารมณ์ แต่ การรับอารมณ์ต่อจากจิต เป็นกิจหน้าที่ของจิตประเภทหนึ่ง เรียกว่า สัมปฏิจฉันนจิต ที่รับรู้อารมณ์ต่อ ครับ ดังนั้น คำว่า รับ จึงหมายถึง รับรู้อารมณ์ต่อจากจิตที่เพิ่งดับไป ครับ


คราใดที่เก็บอารมณ์นั้นไว้ เรียกว่า จำ

- พระพุทธเจ้าทรงแสดงในปฏิสัมภิทามรรคไว้ ว่า จิต ไม่มีที่เก็บไว้ และ ไม่ได้เก็บอะไรไว้ได้ เพราะ จิตเกิดขึ้นและดับไป และ ไม่ได้เก็บอารมณ์ต่างๆ ไว้ด้วย เพียงแต่ว่า เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมี สิ่งที่ถูกจิตรู้ เรียกว่า อารมณ์ ครับ และ อารมณ์นั้น ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ก็ต้องดับไปด้วย ครับ โดยที่จิตไม่ได้เก็บอารมณ์ไว้เลย และขณะที่เป็นอารมณ์ก็ไม่ได้เก็บอารมณ์ แต่รู้อารมณนั้น ครับ เช่นเมื่อเห็นเกิดขึ้น ก็มี สี เป็นอารมณ์ ไม่ได้เก็บอารมณ์นั้นไว้ แต่รู้อารมณ์นั้น จนกว่า สีนั้นจะดับไป ครับ


คราใดที่ใคร่ครวญในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า คิด

- ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ และคิดในรูปร่างสัณฐานของสภาพธรรม รวมทั้งคิดในสิ่งที่ปรากฏ พิจารณาในสิ่งที่ปรากฏในอารมณ์นั้น ก็ชื่อว่า คิด ครับ


คราใดที่รับรู้ เรียกว่า รู้ เช่น ตาเห็นรูป รู้ หูฟังเสียง รู้

- การรู้เป็นหน้าที่ของจิต ครับ คราใดที่รู้ คือ เมื่อใดจิตเกิดขึ้น เช่น จิตเห็นเกิดขึ้น ก็รู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่มีการเห็น ชื่อว่ารู้แล้ว คือ รู้ สี รู้ในอารมณ์นั้น จึงกล่าวได้ว่า ขณะใดที่จิตเกิด ไม่ว่าจิตประเภทใด ครานั้น ชื่อว่า รู้แล้ว รู้ในอารมณ์นั้นที่กำลังปรากฏ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 1 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
govit2553
วันที่ 1 มิ.ย. 2555

ขอบคุณครับ

เรื่องจิต มีหน้าที่ รับ จำ คิด รู้ ไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไป ตั้งแต่เมื่อไร เหมือนกันครับ น่าจะนานมาแล้ว จึงทำให้คนมากมาย คิดไปว่า จิต ทำหน้าที่ จำด้วย ผมเข้ามาถาม เพื่อได้ความมั่นใจ ครับ ว่า จิต ไม่ทำหน้าที่จำเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 1 มิ.ย. 2555

จิตไม่ได้ทำหน้าที่รับ หรือคิด หรือจำ แต่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์เท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงจิต เจตสิกด้วย ก็ทำหน้าที่ทั้งรับ ทั้งจำ ทั้งคิด ทั้งรู้ ก็ร่วมกันทั้งหมด เพราะเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ