คฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์อยู่ได้กี่วัน

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  11 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21248
อ่าน  3,649

เกิดความไม่แน่ใจครับว่า คฤหัสถ์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่บวชจะมีชีวิตอยู่ได้กี่วัน ๗ วัน หรือวันเดียว? เข้าใจว่าคงมีกระทู้เก่าที่ถาม-ตอบเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่กระผมค้นหาไม่เป็น ขอความกรุณาแนะนำ หรือตอบปัญหานี้อีกครั้งก็ได้ครับ (อยากดูหลักฐานในคัมภีร์ด้วยครับว่ามีระบุไว้ที่ไหน)

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คฤหัสถ์เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ หากไม่บวชในวันนั้น ย่อมปรินิพพานในวันนั้นเอง ไม่ใช่ ๒ วัน หรือ ๗ วัน เพราะ เพศคฤหัสถ์ไม่สามารถรองรับคุณธรรมของความเป็นพระอรหันต์ไว้ได้

ซึ่งคำตอบมีอยู่แล้ว ในกระทู้นี้ครับ เชิญคลิก ครับ

ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

เพราะเหตุใดเพศคฤหัสถ์จึงรองรับคุณธรรมของพระอรหันต์ไม่ได้

ฆราวาสได้เป็นพระอรหัตหากไม่บวชต้องเข้าสู่พระนิพพาน [มิลินทปัญหา]

ส่วนหลักฐานในพระคัมภีร์มีทั้งแสดงไว้ในพระไตรปิฎก และ มิลินทปัญหา ที่แสดงว่า จะต้องปรินิพพานในวันนั้น ไม่ใช่ ๗ วัน หลักฐานมีดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 445

บทว่า นตฺถิ โข วจฺฉ ดูก่อนวัจฉะ ไม่มีเลย คือ ผู้ยังไม่ละ

คิหิสังโยชน์ ชื่อว่าจะทำที่สุดทุกข์ย่อมไม่มี. แม้บุคคลเหล่าใดดำรงเพศคฤหัสถ์ คือ สันตติมหาอำมาตย์ อุคคเสนะ เศรษฐีบุตร วีตโสกธารกะ ก็บรรลุพระอรหัตได้. แม้บุคคลเหล่านั้น ก็ยังความใคร่ในสังขารทั้งปวงให้แห้งไปด้วยมรรคแล้วบรรลุได้. แต่เมื่อบรรลุแล้วก็ไม่ตั้งอยู่ด้วยเพศนั้น. ชื่อว่าเพศคฤหัสถ์นี้เลว ไม่สามารถทรงคุณอันสูงสุดไว้ได้. เพราะฉะนั้น ผู้ตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์นั้นบรรลุพระอรหัตแล้วย่อมบวช หรือ ปรินิพพานในวันนั้นเอง


มิลินทปัญหา

พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารพระองค์ผู้ประเสริฐ ซึ่งฆราวาสได้พระอรหัตในวันใด ต้องบวชในวันนั้น ในสำนักครูบาอาจารย์โดยปรกติที่ว่าจะกระทำเหมือนพระโองการตรัสฉะนี้ จะได้บวชเอาเองก็ดี จะให้คอยท่าอุปัชฌาย์อาจารย์ท่านผู้มีฤทธิ์อันจะเหาะมาบวชให้ก็ดี ช้าไปวัน ๑ หรือ ๒ วัน เช่นนี้ไม่ได้ ถ้าบวชเองก็เป็นไถยเพศ มิได้เรียกว่าบรรพชา ประการหนึ่ง ถึงจะคอยท่าพระอรหันต์อันมีฤทธิ์ รู้จักจิตว่าจะบรรพชาจึงจะเหาะมาบวชให้ก็ไม่ได้ ถ้าช้าไปจนวัน ๑ หรือ ๒ วัน เกินกำหนดไป ก็คงจะเข้าสู่นิพพานในวันนั้น ขอถวายพระพร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เข้าใจผิด เพราะทั้งหมดแสดงถึงความเป็นจริง ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถคิดธรรมเอาเองได้ ต้องได้ฟัง ได้ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ใครจะว่าอย่างไรในทางที่ผิด ไม่ถูกต้อง ไม่ตรง ก็มีความมั่นคงในความถูกต้อง ไม่คล้อยตามความเห็นที่ไม่ตรง เพราะได้เข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้องแล้ว นั่นเอง

รวมทั้งประเด็นคฤหัสถ์ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วย ว่าถ้าไม่บวช ก็จะดับขันธปรินิพพานในวันนั้น ไม่สามารถมีชีวิตเป็นไปต่อไปได้ เพราะเพศคฤหัสถ์ไม่สามารถรองรับคุณธรรมที่สูงยิ่งได้, ได้กลับมาอ่านทบทวนอีกครั้ง ก็เป็นประโยชน์มาก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ น.อ. ทองย้อย, อ.ผเดิม และทุกๆ ท่านด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
หลานตาจอน
วันที่ 13 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 13 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 14 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopam
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

เล่ม ๔๒ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 115

เรื่องสันตติมหาอำมาตย์

พระศาสดาระงับความโศกของบุคคลได้

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเธอว่า "ท่านมาสู่สำนักของผู้สามารถเพื่อดับความโศกได้แน่นอน, อันที่จริง น้ำตาที่ไหลออกของท่านผู้ร้องไห้ในเวลาที่หญิงนี้ตาย ด้วยเหตุนี้นั่นแล มากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้ง ๔" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

"กิเลสเครื่องกังวลใด มีอยู่ในกาลก่อน เธอจงยังกิเลสเครื่องกังวลนั้น ให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวล จงอย่ามีแก่เธอในภายหลัง, ถ้าเธอจักไม่ยึดถือขันธ์ ในท่ามกลาง จักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป."

ในกาลจบพระคาถา สันตติมหาอำมาตย์ บรรลุพระอรหัตแล้ว

พิจารณาดูอายุสังขารของตน ทราบความเป็นไปไม่ได้แห่งอายุสังขารนั้นแล้ว จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตการปรินิพพานแก่ข้าพระองค์เถิด."

พระศาสดาแม้ทรงทราบกรรมที่เธอทำแล้ว ก็ทรงกำหนดว่า "พวก มิจฉาทิฏฐิประชุมกัน เพื่อข่มขี่ (เรา) ด้วยมุสาวาท จักไม่ได้โอกาส.

พวกสัมมาทิฏฐิ ประชุมกัน ด้วยหมายว่า ่พวกเราจักดูการเยื้องกรายของพระพุทธเจ้า และการเยื้องกรายของสันตติมหาอำมาตย์' ฟังกรรม ที่สันตติมหาอำมาตย์นี้ทำแล้ว จักทำความเอื้อเฟื้อในบุญทั้งหลาย" ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงบอกกรรมที่เธอทำแล้วแก่เรา, ก็เมื่อจะบอก จงอย่ายืนบนภาคพื้นบอก จงยืนบนอากาศชั่ว ๗ ลำตาล แล้วจึงบอก."

แสดงอิทธิปาฏิหารย์ในอากาศ

สันตติมหาอำมาตย์นั้น ทูลรับว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว จึงถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ขึ้นไปสู่อากาศชั่วลำตาลหนึ่ง ลงมาถวายบังคมพระศาสดาอีก ขึ้นไปนั่งโดยบัลลังก์บนอากาศ ๗ ชั่วลำตาลตามลำดับแล้ว ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับ บุรพกรรมของข้าพระองค์"

เล่ม ๔๑ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 430

เรื่องพระทารุจีริยเถระ

ทารุจีริยะบรรลุพระอรหัตแต่ยังเป็นคฤหัสถ์

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสห้ามเขาว่า "พาหิยะ ไม่ใช่กาลก่อน, เราเป็นผู้เข้าไปสู่ระหว่างถนนเพื่อบิณฑบาต." พาหิยะ ฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้วกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ผู้ท่องเที่ยวไปในสงสาร ไม่เคยได้อาหารคือคำข้าวเลยหรือ? ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของพระองค์ หรือของข้าพระองค์, ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด." แม้ครั้งที่ ๒ พระศาสดาก็ตรัสห้ามแล้วเหมือนกัน. ได้ยินว่า พระศาสดานั้นได้ทรงปริวิตกอย่างนั้นว่า "จำเดิมแต่กาลที่พาหิยะนี้เห็นเราแล้ว สรีระทั้งสิ้น (ของเขา) อันปีติท่วมทับไม่มีระหว่าง, ผู้มีปีติกำลัง แม้ฟังธรรมแล้วจักไม่อาจแทงตลอด (ของจริง) ได้, เขาจงตั้งอยู่ในอุเบกขาคือความมัธยัสถ์ก่อน, แม้ความกระวนกระวายของเขาจะมีกำลัง เพราะเป็นผู้เดินมาสิ้นทาง ๑๒๐ โยชน์โดยคืนเดียวเท่านั้น, แม้ความกระวนกระวายนั้นจงระงับเสียก่อน," เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสห้ามถึง ๒ ครั้ง ถูกเขาอ้อนวอนแม้ครั้งที่ ๓ ประทับยืนในระหว่างถนนนั่นเอง ทรงแสดงธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า "พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาในศาสนานี้ อย่างนั้นว่า "เมื่อรูปเราได้เห็นแล้ว รูปจักเป็นเพียงเราเห็น." พาหิยะนั้นกำลังฟังธรรมของพระศาสดานั้นแล ยังอาสวะทั้งหมดให้สิ้นไป บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ แล้ว, ก็แล ขณะนั้นนั่นเองเขาทูลขอบรรพชากะพระผู้มีพระภาคเจ้า, ถูกตรัสถามว่า "บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ?" ทูลตอบว่า "ยังไม่ครบ." ทีนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า "ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสวงหาบาตรจีวร" แล้วก็เสด็จหลีกไป. ได้ยินว่า พาหิยะนั้นกระทำสมณธรรมสิ้น ๒ หมื่นปี คิดว่า "ธรรมดาภิกษุได้ปัจจัยด้วยตนแล้ว ไม่เหลียวแลผู้อื่น บริโภคเองเท่านั้นจึงควร" ดังนี้แล้ว ไม่ได้กระทำการสงเคราะห์ด้วยบาตรหรือจีวร แม้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง. เพราะฉะนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า "บาตรจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ จักไม่เกิดขึ้น" จึงไม่ได้ประทานบรรพชา ด้วยความเป็นเอหิภิกษุแก่เขา. แม้พาหิยะนั้นแสวงหาบาตรจีวรอยู่นั่นแล ยักษิณีคนหนึ่งมาด้วยรูปแม่โคนม ขวิดถูกตรงขาอ่อนข้างซ้าย ให้ถึงความสิ้นชีวิต.

พระศาสดาเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้วเสด็จออกไปพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ทรงเห็นสรีระของพาหิยะถูกทิ้งในที่กองขยะ จึงทรงบัญชาภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยืนใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่ง ให้นำเตียงมาแล้ว นำสรีระนี้ออกจากเมืองเผาแล้วกระทำสถูปไว้." ภิกษุทั้งหลายกระทำดังนั้นแล้ว; ก็แลครั้นกระทำแล้วไปยังวิหารเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลบอกกิจที่ตนกระทำแล้ว ทูลถามอภิสัมปรายภพของพาหิยะนั้น.

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกมาให้ศึกษา ๒ เรื่อง
พึงศึกษาพระไตรปิฎกเถิด ความสงสัยอะไรๆ ต่างๆ จะค่อยๆ หายไป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
captpok
วันที่ 16 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Witt
วันที่ 14 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ