อิสสรสูตร ... วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
อิสสรสูตร
(ว่าด้วย อำนาจเป็นใหญ่ในโลก เป็นต้น)
จาก...พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๑๐
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๑๐
๗. อิสสรสูตร
(ว่าด้วย อำนาจเป็นใหญ่ในโลก เป็นต้น)
[๒๑๑] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอ เป็นใหญ่ในโลก อะไร
หนอเป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย อะไร
หนอเป็นดังสนิมศัสตราในโลก อะไรหนอ
เป็นเสนียดในโลก ใครหนอนำของไปอยู่
ย่อมถูกห้าม แต่ใครนำไปกลับเป็นที่รัก
ใครหนอมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดี
ต้อนรับ.
[๒๑๒] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า
อำนาจ เป็นใหญ่ในโลก หญิงเป็น
สูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย ความโกรธเป็น
ดังสนิมศัสตราในโลก พวกโจรเป็นเสนียด
ในโลก โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม แต่
สมณะนำไปกลับเป็นที่รัก สมณะมาหา
บ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ.
จบ อิสสรสูตร ที่ ๗.
อรรถกถาอิสสรสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอิสสรสูตรที่ ๗ ต่อไป:-
บทว่า สตฺถมล ได้แก่ ศัสตราที่มีสนิมเกาะแล้ว. บทว่า กึสุ
หรนฺต วาเรนฺติ คือ ย่อมป้องกันมิให้นำไป. บทว่า วโส ได้แก่ ความ
เป็นไปทั่วแห่งอำนาจ. บทว่า อิตฺถี ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
หญิง เป็นสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย คือ เป็นภัณฑะอันประเสริฐ เพราะเป็น
ภัณฑะที่ไม่พึงทอดทิ้ง. อีกอย่างหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย และพระเจ้า
จักรพรรดิ แม้ทั้งหมด ย่อมเกิดในท้องของมารดาเท่านั้น เพราะฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า หญิงเป็นสูงสุด แห่งภัณฑะทั้งหลาย ดังนี้.
บทว่า โกโธ สตฺถมล อธิบายว่า ความโกรธ เช่นกับด้วยศัสตรา
อันสนิมเกาะกินแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง เป็นสนิมของศัสตรา คือ ปัญญา เพราะฉะนั้น
จึงตรัสว่า สนิมของศัสตรา ดังนี้. บทว่า อพฺพุท ได้แก่ เป็นเหตุแห่ง
ความพินาศ อธิบายว่า พวกโจรเป็นผู้ทำความพินาศในโลก. บทว่า หรนฺโต
ความว่า ถือเอาวัตถุทั้งหลายมีสลากภัตเป็นต้นไปอยู่. จริงอย่างนั้น สมณะ
เมื่อนำวัตถุทั้งหลายมีสลากภัตเป็นต้นเหล่านั้นอันมนุษย์ทั้งหลาย สละถวายแล้ว
ในเวลาที่ตั้งไว้นั่นแหละไป ชื่อว่า ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์เหล่านั้น. เมื่อสมณะ
ไม่นำวัตถุไป พวกมนุษย์ย่อมเป็นผู้วิปปฏิสาร (เดือดร้อน) เพราะอาศัยความเสื่อมจาก
บุญ (ที่จะได้) .
จบอรรถกถาอิสสรสูตรที่ ๗.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อิสสรสูตร
(ว่าด้วย อำนาจเป็นใหญ่ในโลก เป็นต้น)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบปัญหาที่เทวดาทูลถาม ความว่า
๑. อะไร เป็นใหญ่ในโลก? = อำนาจ เป็นใหญ่ในโลก
๒. อะไร เป็นสิ่งสูงสุด แห่งภัณฑะ (สิ่ง,สิ่งของ) ทั้งหลาย? = หญิง เป็นสิ่งสูงสุด
แห่งภัณฑะทั้งหลาย
๓. อะไร เป็นดังสนิมศัสตราในโลก ? = ความโกรธ เป็นดังสนิมศัสตราในโลก
๔. อะไร เป็นเสนียดในโลก? = โจร เป็นเสนียดในโลก
๕. ใคร นำของไปอยู่ ย่อมถูกห้าม? = โจร นำของไปอยู่ ย่อมถูกห้าม
๖. ใคร นำของไป กลับเป็นที่รัก? = สมณะ นำของไป ย่อมเป็นที่รัก (ของมนุษย์
ทั้งหลาย)
๗. ใคร มาหาบ่อยๆ บัณฑิต ย่อมยินดีต้อนรับ? = สมณะ มาหาบ่อยๆ บัณฑิต
ย่อมยินดีต้อนรับ.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
กุศลธรรม ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่
กุศลธรรม [ถอดเทปสนทนาธรรมรายการบ้านธัมมะ]
มีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ [ปฐมสุขสูตร]
ให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ฯลฯ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อธิบาย อิสสรสูตร
พระสูตร นี้แสดงความจริงของโลกที่เป็นไป ทั้งโดยนัยของสมมติสัจจะ คือ เรื่องราวของโลก ที่เป็นจริงอย่างไร ครับ อธิบายดังนี้ ครับ
อะไร เป็นใหญ่ในโลก? = อำนาจ เป็นใหญ่ในโลก
โลก ที่เป็นเรื่องราว อันอาศัย ความจริงที่เป็นสัจจะ ที่เป็นโลกที่แท้จริง คือ จิต เจตสิก รูป ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เมื่อมีสภาพธรรมที่มีจริง จึงบัญญัติว่าโลก ดังนั้น ในโลกโดยสมมติเรื่องราวนั้น ผู้ที่เป็นใหญ่คือ ผู้ที่มีอำนาจ หากไม่มีอำนาจแล้ว ก็ไม่สามารถจะเป็นใหญ่ได้ แม้มีทรัพย์ สมบัติมากมาย แต่ไม่มีอำนาจ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นใหญ่ แม้ในครอบครัว ผู้ที่เป็นใหญ่ ไม่ใช่ผู้ที่มีเงินอย่างเดียว แต่เพราะเป็นผู้มีอำนาจ มีผู้ที่เชื่อฟัง เพราะมีอำนาจ สามารถปกครองได้ ประเทศชาติ สังคมใหญ่ๆ ก็เช่นกัน พระราชา จะเป็นใหญ่ ปกครองได้ ก็ต้องมีอำนาจ ดังนั้น อำนาจ จึงเป็นใหญ่ในโลก นี่ โดยนัยสมมติ เรื่องราว ครับ
แต่เมื่อว่าโดยปรมัต ความจริง สัจจะ ความเป็นใหญ่ของสภาพธรรม สภาพธรรม แต่ละอย่าง ก็ไม่พ้นจากอำนาจของความจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังนั้น อะไรเป็นใหญ่ในสภาพธรรมทั้งหลาย ก็คือ ความจริงของสภาพธรรม ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้นั่นเอง อันเป็นอำนาจของลักษณะของกฎไตรลักษณ์ ที่เป็นใหญ่ ครับ
- อะไร เป็นสิ่งสูงสุด แห่งภัณฑะ (สิ่ง,สิ่งของ) ทั้งหลาย? = หญิง เป็นสิ่งสูงสุด แห่งภัณฑะทั้งหลาย
สิ่งของต่างๆ ที่มีค่า ไม่ว่าอะไรก็ตาม หญิงมีค่ามากที่สุด เพราะ คำว่ามีค่า ก็มาจาก ความติดข้อง ยินดีพอใจ เมื่อยินดีพอใจในสิ่งนั้น จึงให้ค่ากับสิ่งนั้นมาก สิ่งต่างๆ จะของอะไรก็ตาม ผู้ชายย่อมรักผู้หญิง เป็นที่สุด จึงมีค่าที่สุด เพราะ หวงแหน ติดข้องมากที่สุด ในบรรดาสิ่งของทั้งหลาย จึงมีค่าที่สุด เพราะอาศัยอำนาจของความติดข้องเป็นสำคัญ ครับ
อะไร เป็นดังสนิมศัสตราในโลก ? = ความโกรธ เป็นดังสนิมศัสตราในโลก
สนิม มีลักษณะ ที่เกาะไว้ นำมาซึ่งความสกปรก ความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นดังสนิมมลทินของจิตใจ ที่เกาะใจไว้ ยิ่งโกรธบ่อยๆ ก็เกาะไว้ดังสนิม ไม่ปล่อยออกไป ผูกโกรธไว้ เป็นสนิมติดที่เหล็กไว้ ความโกรธก็ฉันนั้น ครับ และ ความโกรธ ตามที่อรรถกถาอธิบาย ยังเป็นสนิม ของปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่ทำให้เกิดปัญญา นั่นเอง ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อไร ย่อมไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นตามความเป็นจริง ความโกรธจึงชื่อว่า เป็นสนิมของปัญญา ครับ
อะไร เป็นเสนียดในโลก? = โจร เป็นเสนียดในโลก
โจร ย่อมประพฤติไม่ดี นำความเสียหาย มาให้บุคคลอื่นและสังคม จึงชื่อว่าเป็นเสนียด เป็นสิ่งที่ไม่ดีกับโลก โลก คือ สัตวโลก ที่เป็น สัตว์ บุคคล ครับ
ใคร นำของไปอยู่ ย่อมถูกห้าม? = โจร นำของไปอยู่ ย่อมถูกห้าม
โจร นำของไป เป็นของตนเอง ผู้ที่ถูกขโมยของไป ก็ไมได้รับประโยชน์จากของนั้น ของนั้นก็สูญหายไป บุญก็ไม่เกิดจากจิตใจ จากของที่เสียไป เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากของที่หายไป จากคนอื่นเอาไป ก็ถูกห้าม เมื่อโจรเอาของไป ครับ
ใคร นำของไป กลับเป็นที่รัก? = สมณะ นำของไป ย่อมเป็นที่รัก (ของมนุษย์ทั้งหลาย)
โดยนัยเดียวกัน ทั้งๆ ที่ของก็หายไปจากเจ้าของ แต่ของนั้น เกิดจากจิตที่สละ จิตที่เป็นบุญกุศล เมื่อให้ทานอยู่ หากไม่มีผู้รับ ไม่มีผู้รับไป ทานนั้นก็ไม่สำเร็จ กุศลก็ไม่สำเร็จครบในการให้ทาน ดังนั้น เมื่อ สมณะพราหมณ์ ผู้มีคุณธรม นำของจาก ผู้ที่สละสิ่งของไป ผู้ที่ให้ สละแล้วด้วยจิตกุศล ย่อมยินดี และ รักใคร่ภิกษุนั้น ที่ทำให้ทาน หรือบุญของผู้ให้สำเร็จ ครับ เพราะฉะนั้น เมื่อตนเองสละ และคนอื่นเอาไปแล้ว บุญสำเร็จ ผู้ที่นำไป คือ ทำให้บุญสำเร็จ ย่อมไม่ถูกห้ามจากการเอาของนั้นไป และ ย่อมเป็นที่รักด้วยครับ เพราะทำให้บุญของผู้ให้สำเร็จนั่นเอง
ใคร มาหาบ่อยๆ บัณฑิต ย่อมยินดีต้อนรับ? = สมณะ มาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ.
ผู้ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นผู้มีอัธยาศัยในการเจริญกุศล อบรมปัญญา เมื่อสมณะผู้มีปัญญา มีคุณธรรม มาหาบ่อยๆ ย่อมยินดี เพราะ ได้มีโอกาสเจริญกุศลบ่อยๆ และได้มีโอกาสฟังพระธรรม อบรมปัญญา จาก สมณะผู้รู้ บัณฑิตจึงยินดีที่ สมณะผู้มีคุณธรรมและปัญญา มาหาบ่อยๆ ต่างจาก พาล ที่ไม่ยินดี ในกุศลธรรม และไม่สนใจอบรมปัญญา ย่อมไม่ยินดีในสมณะที่มาหาบ่อยๆ เพราะ ไม่อยากเสียสละทรัพย์ของตน ไม่อยากฟัง สิ่งที่เป็นธรรม อยากฟังแต่สิ่งที่ทำให้ติดข้อง นั่นเอง ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ