ศีลกับการดำเนินชีวิต
กราบเรียนถามท่านผู้รู้ค่ะว่า
๑. การทำผิดกฎเมืองอย่างเช่น การฝ่าไฟแดง ถือว่าเป็นการผิดศีลข้ออทินนาหรือเปล่าคะ
๒. ในการเข้าเรียน เพื่อนฝากเช็คชื่อเข้าชั้น แต่ตัวเพื่อนนั้นไม่ได้เข้า การทำแบบนี้ผิดศีลข้อมุสากับอทินนาหรือเปล่าคะ
ได้ยินเค้าว่ามาค่ะลองไตร่ครองดูแล้ว แต่ไม่แน่ใจค่ะ เมื่อพิจารณาในเรื่องศีล แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลแน่ๆ ใช่หรือเปล่าคะ รบกวนท่านผู้รู้ช่วยชี้แจงหลักการที่ใช้ในการตัดสิน ว่าผิดศีลข้อไหน แล้วตรวจสอบได้อย่างไรว่าผิดคะ ถ้าเป็นในกรณีอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. การทำผิดกฎเมืองอย่างเช่น การฝ่าไฟแดง ถือว่าเป็นการผิดศีลข้ออทินนาหรือเปล่าคะ
- สำหรับศีลข้ออทินนาทานนั้น ประกอบด้วยองค์ ๕ จึงผิดศีล อทินนาทาน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 190
ข้อความบางตอนจาก ... วรรณาจุลศีล อทินนาทาน มีองค์ ๕
อทินนาทานนั้น มีองค์ ๕ คือ
๑. ปรปริคฺคหิตํ ของที่เจ้าของหวงแหน
๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา รู้อยู่ว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน
๓. เถยฺยจิตฺตํ จิตคิดลัก
๔. อุปกฺกโม พยายามลัก
๕. เตน หรณํ ลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น
ดังนั้น ขณะที่ฝ่าไฟแดง ไม่ได้มีวัตถุ สิ่งของที่จะไปลักขโมยอะไร จึงไม่ได้ผิดศีลข้อ ๒ จึงไม่ใช่การผิดศีล แต่ เป็นการผิดมารยาทที่ดีงาม ที่ไม่ได้คิดถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ก็เป็นอกุศลจิตในขณะนั้นได้ ครับ หากมีความต้องการที่จะฝ่าไฟแดง ด้วย โลภะ หรือ โทสะ ครับ
๒. ในการเข้าเรียน เพื่อนฝากเช็คชื่อเข้าชั้น แต่ตัวเพื่อนนั้นไม่ได้เข้า การทำแบบนี้ผิดศีลข้อมุสากับอทินนาหรือเปล่าคะ
ได้ยินเค้าว่ามาค่ะลองไตร่ครองดูแล้ว แต่ไม่แน่ใจค่ะ เมื่อพิจารณาในเรื่องศีล แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลแน่ๆ ใช่หรือเปล่าคะ รบกวนท่านผู้รู้ช่วยชี้แจงหลักการที่ใช้ในการตัดสิน ว่าผิดศีลข้อไหน แล้วตรวจสอบได้อย่างไรว่าผิดคะ ถ้าเป็นในกรณีอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน
- การให้เช็คชื่อ ไม่เกี่ยวข้องกับอทินนาทาน เพราะ ไม่ได้ลักขโมย วัตถุใดมา แต่ การฝากเช็คชื่อ สามารถเป็นการโกหกที่เป็นมุสาวาทได้ เพราะตนเองไม่ได้มา แต่ โกหกด้วยการฝากเช็คชื่อว่ามา หากมีเจตนาโกหก ให้ผู้อื่นสำคัญว่าตนเองมา ก็เป็น มุสาวาท ครับ และจะพิจารณา เหตุการณ์อื่นๆ ว่าล่วงศีลหรือไม่ ก็พิจารณาตามองค์ของศีลในแต่ละข้อ
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
อทินนาทาน มีองค์ ๕ [วรรณาจุลศีล]
กาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ประกอบ ๔ออย่าง
แต่การกระทำอะไรก็ตามที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ก็ล้วนแล้วแต่มาจากอกุศลจิตที่เกิดขึ้น หากไม่มีกิเลส และถึงแม้จะไม่ได้ล่วงศีล ปกติก็เป็นอกุศลจิตในชีวิตประจำวันเป็นธรรมดาของปุถุชน ผู้มีปัญญาจึงต้องเห็นโทษของกิเลสแม้เพียงล็กน้อย ไม่ต้องกล่าวถึง จะล่วงศีล ผิดศีลหรือไม่ ครับ ซึ่งหนทางเดียวที่จะเห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของอกุศลจิต และ การล่วงศีล นั่นคือ รู้จักกิเลส อกุศลจิตที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และ เป็นอกุศลธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้นก็จะงดเว้น ในสิ่งที่ไม่ควร ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การที่จะได้รู้ถึงความควร และ ไม่ควร ก็เพราะได้ฟังพระธรรม แต่ก่อนอาจจะคิดว่า การกระทำบางอย่าง ไม่น่าจะผิดอะไร แต่พอได้ศึกษาพระธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ทั้งในเรื่องของทาน ศีล การอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น ที่เหลือนอกจากนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด แต่ก็จะต้องพิจารณาอีกว่า อกุศลที่ว่านั้น มีกำลังถึงขั้นที่เป็นการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ที่เป็นอกุศลกรรมบถหรือไม่? แต่ถึงอย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าอกุศลแล้ว ไม่เคยนำคุณประโยชน์มาให้ใครเลย อกุศล เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศลธรรม เท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว การน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีให้กับตนเอง ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร ครับ
...ขอบพระคุณ อ.ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...