ภิกขุสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  26 ส.ค. 2555
หมายเลข  21621
อ่าน  1,736

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ภิกขุสูตร

(ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓)

จาก...พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ -หน้า ๓๗๙

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๗๙

ภิกขุสูตร

(ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓)

[๖๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน

อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง

เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว

นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

[๖๘๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มี

พระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว

พึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว

เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อม

เชื้อเชิญเราอย่างนั้นเหมือนกัน และเมื่อเรากล่าวธรรมแล้ว ย่อมสำคัญเราว่า

เป็นผู้ควรติดตามไปเท่านั้น

ภิกษุนั้นทูลวิงวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า

โปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตเจ้าโปรดแสดงธรรมโดยย่อ

แก่ข้าพระองค์ แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของ

พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ไฉน ข้าพระองค์พึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มี-

พระภาคเจ้า.

[๖๘๗] พ. ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงยังเบื้องต้นใน

กุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน. เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร? คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี

และควานเห็นตรง เมื่อใด ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอ

จักตรง เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔

โดยส่วน ๓. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน.

[๖๘๘] ดูก่อนภิกษุ เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ มี

ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑ จง

พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด

อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑ จงพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอก

อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑

จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ... จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา

ภายนอกอยู่ ... จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกอยู่ ...

จงพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ ... จงพิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกอยู่

จงพิจารณาเห็นจิตใจจิตทั้งภายในภายนอกอยู่ ... จงพิจารณาเห็นธรรมใน

ธรรมภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส

ในโลกเสีย ๑ จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกอยู่ ๑ มีความเพียร มี

สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑ จงพิจารณาเห็น

ธรรมในธรรมทั้งภายในภายนอกอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด

อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ๑.

[๖๘๙] ดูก่อนภิกษุ เมื่อใด เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จัก

เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ โดยส่วน ๓ อย่างนั้น. เมื่อนั้น เธอพึงหวังความ

เจริญในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว ตลอดคืนหรือวันอันจักมาถึง ไม่มี

ความเสื่อมเลย.

[๖๙๐] ครั้งนั้น ภิกษุนั้นชื่นชม ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

เธอเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว

ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย

ผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง

ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ

ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นมิได้มี ก็แลภิกษุนั้นได้เป็นพระ-

อรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

จบภิกขุสูตรที่ ๓

อรรถกถาภิกขุสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในภิกขุสูตรที่ ๓.

บทว่า เอวเมว ปนิเธกจฺเจ ความว่า ได้ยินว่า ภิกษุนั้น ให้

บอกกัมมัฏฐานแล้ว ย่อมเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ ไม่ตามประกอบกายวิเวก.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงข่มภิกษุนั้น จึงตรัสอย่างนี้.

บทว่า ตสฺมา ได้แก่ เพราะเธอย่อมขอเทศนาโดยสังเขป. บทว่า ทิฏฺิ

ได้แก่ ความเห็นว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน.

จบอรรถกถาภิกขุสูตรที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ภิกขุสูตร

(ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไป

เฝ้ากราบทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยย่อ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นผู้ผู้เดียว

หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง

แสดงถึงการยังเบื้องต้นของกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ คือ ศีล และ ความเห็นถูก พร้อมทั้ง

ทรงแสดงถึงการเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓ คือ พิจารณาเห็นกาย เวทนา จิต

และธรรม ในภายใน ในภายนอก และทั้งภายในและภายนอก ถ้าเป็นอย่างนี้ได้

ก็จะเป็นผู้มีความเจริญในกุศลธรรม ไม่มีความเสื่อมเลย

เมื่อพระพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปนี้ก็ได้กราบทูลสรรเสริญพระ

ภาษิตของพระองค์ แล้วกราบทูลลากลับไป ท่านได้เป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจาก

หมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว และในที่สุดก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึง

ความเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง.

ขอเชิญคลิกเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

เห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง เห็นอะไรคะ

เป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว

กาย เวทนา จิต ธรรม

การบรรลุธรรม ถ้าไม่เอาชีวิตเข้าแลก จะไม่ถึงใช่ไหมครับ

ไม่ศีกษาพระธรรม ดับกิเลสไม่ได้

ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน !

เห็นกายในกายภายใน - ภายนอก

พิจารณาเห็นกายในกาย โดยไม่ความไม่ใช่ตัวตน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อธิบาย ภิกขุสูตร

พระธรรมของพระพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้ง แม้ในพระสูตรนี้ ก็ควรเป็นผู้ละเอียดที่

จะเข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่ง จากเรื่องราวของพระสูตรนี้ ภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้ที่

ประมาท ไม่รักษาปาฏิโมกขสังวรศีล ทีเป็นศีลของพะรภิกษุให้ดี แต่เป็นผู้ที่อยากจะ

ฟัง ธรรมสั้นๆ จากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า จึงตรัสข่ม ภิกษุรูปนั้นว่าเป็นโมฆบุรุษ

คือ เธออยากจะฟังพระธรรมสั้นๆ แต่เธอก็ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่เราตรัส

ไว้ดีแล้ว คือ การไม่รักษาสิกขาบท เป็นผู้ประมาท เป็นต้น เมื่อพระภิกษุรูปนั้น อ้อน

วอนให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พระพุทธเจ้า ทรงแสดงให้ เป็นผู้รักษาสิกขาบท

คือ ปาฏิโมกขสังวรศีล ให้ดี คือ รักษาสิกขาบท และ อบรมปัญญาให้มีความเห็นที่

ตรง เช่น มีความเชื่อกรรมและผลของกรรม ก็จะเป็นผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้ซึ่งก็จะ

ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า การจะมีศีลที่ดีขึ้น และ มีความเห็นที่ตรง ถูกต้องขึ้น มาจากอะไร

ก็จะต้องจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเท่านั้นครับ ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็จะทำให้

ศีลดีขึ้น มีความเห็นที่ตรงขึ้น และประเด็นอีกประการหนึ่ง คือ ไม่ได้หมายความว่า ภิกษุ

รูปนี้ จะมีศีลสมบูรณ์ทันที แต่ก็เป็นผู้ไม่ประมาทขึ้น ในการที่จะรักษาศีล ดำรงชีวิตด้วย

ความไม่ประมาทมากขึ้น ก็จะต้องมีการประพฤติผิดสิกขาบทได้บ้าง แต่ก็เห็นโทษและ

ปลงอาบัติตามสมควร ในขณะที่ปลงอาบัติแล้วก็เป็นผู้ที่ชื่อว่า เป็นผู้มีศีล คือ ปาฏิ

โมกขสังวรศีลบริสุทธิ์ดีในขณะนั้น และ ขณะที่ฟัง ศึกษาพระธรรมากขึ้น ก็เริ่มมีความ

เห็นตรง มากขึ้นทั้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม รวมทั้งความเห็นถูกในเรื่องกรรมฐาน

ที่เป็นวิปัสสนา ในเรื่องราวของสภาพธรรม เพราะ มีความเข้าใจพระธรรมากขึ้น ก็เป็น

เหตุให้สติปัฏฐานเกิด เพราะ ความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ในขณะหนึ่งขณะใด แต่ไม่ใช่จะ

มีศีลบริสุทธิ์ตลอด และ เพราะมีความเข้าใจถูกในพระธรรม ก็เจริญสติปัฏฐานได้ คือ

สติปัฏฐานเกิดรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ครับ

ดังนั้น เมื่ออ่านพระสูตร ก็จะไม่เข้าใจผิดไปว่า จะต้องรักษาศีลให้ดีให้สมบูรณ์ก่อน

ไม่เช่นนั้น จะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ไม่ได้หมายความเช่นนั้น ครับ

ซึ่ง สำหรับพระสูตรนี้ เป็นศีลของ พระภิกษุ ที่เป็นปาฏิโมกขสังวรศีล ซึ่ง หาก

พระภิกษุมีศีลไม่ดี การผิดสิกขาบท ไม่ปลงอาบัติ เป็นธรรมที่เป็นอันตรายที่เป็นเครื่อง

กั้นของการบรรลุธรรม และ การเจริญขึ้นของกุศลธรรมขั้นสูง มีการเจริญสติปัฏฐาน

ดังนั้น พระองค์จึงมุ่งหมายถึงเพศพระภิกษุ ว่า เธอจงชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน นั่นคือ

ทำคืน ปลงอาบัติที่ได้ล่วงมา และรักษาศีล ก็จะไม่เป็นเครื่องกั้นต่อการเจริญขึ้นของ

กุศลธรรมขั้นสูง มีการเจริญสติปัฏฐาน 4 ครับ

การเจริญสติปัฏฐานของเพศคฤหัสถ์ที่ไม่ได้มี อันตรายยิกธรรม ธรรมที่เป็นเครื่อง

กั้นต่อการบรรลุธรรม และ การเจริญขึ้นของกุศลธรรมขั้นสูง มีการเจริญสติปัฏฐาน

ด้วย การผิดสิกขาบทที่เป็นของพระภิกษุ แต่มีเพียงการทำอนันตริยกรรม 5 ที่กั้นการ

บรรลุธรรม และ การเจริญขึ้นของกุศลธรรมขั้นสูงของเพศคฤหัสถ์เท่านั้น เพราะฉะนั้น

จึงเป็นธรรมดาของปุถุชนที่เป็นเพศคหัสถ์ที่ยังมีโอกาสล่วงศีลได้เป็นธรรมดา เพราะ

ยังไม่ใช่พระโสดาบัน แต่ไมได้หมายความว่า เมื่อยังล่วงศีลอยู่บ้าง จะอบรมปัญญา

เจริญสติปัฏฐาน 4 ไม่ได้ เพราะ การสะสม อกุศล ความไม่ดี ที่ล่วงศีล ก็ส่วนหนึ่ง

และ การเจริญอบรมปัญญาทีเป็นฝ่าย กุศลก็ส่วนหนึ่ง เป็นคนละส่วนกัน ซึ่ง อาศัย

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ศีลก็ค่อยๆ ดีขึ้น ตามกำลัง

ปัญญาที่เจริญขึ้น และก็มีความเห็นตรงมากขึ้น จนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดได้

แม้จะล่วงศีลได้บ้างก็เป็นธรรมดา จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักษาศีลให้ดีเสียก่อน

จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ครับ สำคัญที่ความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ และ ธรรม

จะทำหน้าที่ปรุงแต่ง ทั้งกาย วาจาและ วามเห็นถูกเอง ไม่มีเราที่จะพยายามรักษา

ศีลให้ดี ให้มีความเห็นตรง เพราะ มีแต่ธรรมทำหน้าที่เป็นไป

ซึ่ง แม้ในสมัยพุทธกาล ในเพศคฤหัสถ์ หลานท่านอนาถะ ชื่อนายเขมา ล่วงศีลข้อ

3 เป็นประจำ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ปัญญาที่สะสมมา ก็ทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

นายพรานกุกกุฏมิตร ภรรยาเป็นพระโสดาบัน ตัวเองเป็นปุถุชน ฆ่าสัตว์เลี้ยงชีพเป็น

ประจำ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ ครับ นี่แสดง

ให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐาน การอบรมปัญญาเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องของ

ความเข้าใจว่า เป็นธรรมดาของผู้ที่มีกิเลสของเพศคฤหัสถ์ที่ยังล่วงศีลได้ และเกิด

อกุศล เป็นธรรมดา แต่ ปัญญาที่สะสมมาไม่ได้หายไปไหน เมื่อได้ฟังพระธรรม ก็เกิด

สติปัฏฐานและได้บรรลุธรรม ครับ ศีล ความเห็นตรง จะมีเจริญขึ้นได้ ด้วยปัญญาที่

เกิดขึ้นจากการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Zeta
วันที่ 27 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 27 ส.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 27 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kanchana.c
วันที่ 27 ส.ค. 2555

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ทัศนีย์ตั่ง
วันที่ 29 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chamaikorn
วันที่ 29 ส.ค. 2555

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 29 ส.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jans
วันที่ 29 ส.ค. 2555
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เมตตา
วันที่ 1 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pakwalanch
วันที่ 1 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนาค่ะ

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ