อสังขาริกกัง

 
gboy
วันที่  7 ก.ย. 2555
หมายเลข  21692
อ่าน  2,572

โลภมูลจิตที่เป็นอสังขาริก หมายความถึง ไม่ถูกชักจูงด้วยอะไรครับ

ตัวอย่างเช่น

ขณะคิดนึกอยากรับประทานอาหารอร่อย จิตขณะนั้นเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริกครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อสังขาริก อ (ไม่มี) + สงฺขาริก (การปรุงแต่ง, การชักชวน) ไม่มีการชักชวน หมายถึง สภาพของจิตที่มีกำลัง เมื่อจะมีการกระทำสิ่งใด ไม่ต้องมีการชักชวนด้วยกาย หรือวาจาของบุคคลอื่น หรือชักชวนด้วยใจของตนเอง เพราะสภาพจิตมีกำลังที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความตั้งใจ เช่น ตั้งใจจะไปชมมหรสพ ถึงจะมีคนชักชวนหรือไม่ ก็ต้องไปอยู่แล้ว ขณะนั้น เป็นโลภมูลจิตที่เป็นอสังขาริก หรือตั้งใจที่จะใส่บาตรด้วยศรัทธา ขณะที่ตั้งใจ แล้วก็ไปใส่บาตรนั้น เป็นกุศลจิตที่เป็นอสังขาริก

จิตที่เป็นอสังขาริกมีทั้ง ๔ ชาติ อกุศลอสังขาริก มีโทษมากกว่า อกุศลสสังขาริก กุศลอสังขาริก มีอานิสงส์มากกว่า กุศลสสังขาริก

เพราะฉะนั้น อสังขาริก จึงไม่จำเป็นจะต้องหมายถึง มีคนมาชักชวน แต่ สภาพธรรม จิตที่มีกำลัง นั่นแสดงถึง การไม่มีการต้องชักชวน เป็นอสังขาริก

แม้ตามตัวอย่างของผู้ที่คิดจะรับประทานอาหาร คิดเองที่จะทานสิ่งนี้ เพราะ ชอบอาหารประเภทนี้ ก็ชื่อว่า ไม่มีการชักชวน ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ความจริงแห่งชีวิตตอนที่ ๑๓๖ จิตตสังเขป (อสังขาริกจิต-สสังขาริกจิต)

อสังขาริก และ สสังขาริก

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

อสังขาริกมาจากการสะสม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
gboy
วันที่ 8 ก.ย. 2555

อาจารย์ครับ แล้วอย่างกรณีเดินเที่ยวในห้าง บังเอิญเจออาหารอร่อยวางขาย จึงอยากทาน โลภมูลจิตเป็นชนิดใดครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สภาพธรรมก็หลากหลายมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงไปตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ประโยชน์จึงอยู่ที่ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็น ธรรม ไม่ใช่เรา แม้แต่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) ไม่ว่าจะเป็นประเภทที่มีกำลังกล้าโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูก หรือ กำลังอ่อนที่ต้องอาศัยการชักจูง ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ โดยที่จิตในขณะนั้น เป็นอกุศลประกอบด้วยอกุศลเจตสิกประการต่างๆ มีโลภะ (ความติดข้องต้องการ) เป็นต้น

ทุกครั้งที่โลภะเกิดขึ้น มีลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คือ มีลักษณะที่ติดข้องต้องการ ไม่สละ ผูกพันอยู่กับสิ่งนั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

จากคำถามที่ว่า

แล้วอย่างกรณีเดินเที่ยวในห้าง บังเอิญเจออาหารอร่อยวางขาย จึงอยากทาน โลภมูลจิตเป็นชนิดใดครับ

- ควรเข้าใจความจริงครับว่า โลภมูลจิต มี ๘ ดวง แบ่งประเภท โดยมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง และ ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง และ ยังแบ่งตามความรู้สึก คือ เวทนา ที่เป็นโสมนัสเวทนา ๔ ดวง และ อุเบกขาเวทนา ๔ ดวง และ ยังแบ่งเป็นอสังขาริก คือ โลภะที่ไม่อาศัยกาชักจูง มีกำลัง และ สสังขาริก โลภะที่ไม่มีกำลัง

เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดอยากจะทานอาหาร ขณะนั้นด้วยโลภมูลจิต แต่จะเป็นดวงใดนั้น ก็จะต้องพิจารณาครับว่า ขณะนั้นมีความเห็นผิดว่า เที่ยง เป็นสุข หรือ เป็นเราหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็คือ เป็นโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดดวงใดดวงหนึ่ง

เพราะ ขณะที่อยากทาน ไม่ได้มีความเห็นผิด เป็นเพียงโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ใน ๔ ดวง และ ก็ต้องพิจารณาว่า ขณะนั้น มีความรู้สึกโสมนัส หรือ เฉยๆ ในขณะที่อยากทาน และ พิจารณาว่า เป็นจิตที่มีกำลัง หรือ ไม่มีกำลัง ถ้ามีกำลัง ด้วยโลภะที่มีกำลัง ก็เป็นอสังขาริก ครับ

ซึ่งการจะรู้ในขณะนั้นที่อยากทานอาหารว่าเป็นจิตประเภทใด โลภะดวงไหนนั้น จะต้องเป็นปัญญาระดับสติปัฏฐาน ที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จึงจะรู้ได้ ครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและไกล สำคัญที่เริ่มเข้าใจขั้นการฟังไปก่อนทีละเล็กละน้อย ก็จะค่อยๆ รู้ความจริง ตามที่สภาพธรรมที่เป็นไปอยู่ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 9 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณมากครับเมื่อได้อ่านกระทู้นี้แล้วก็ได้เข้าใจดียิ่งขึ้นครับ

กราบอนุโมทนาด้วยครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ