ปฐมมหานามสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  16 ก.ย. 2555
หมายเลข  21742
อ่าน  1,617

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปฐมมหานามสูตร

(ว่าด้วยศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่)

จาก... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕-หน้า ๕๓๑

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

คณะวิทยากรมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้า ๕๓๑

ปฐมมหานามสูตร

(ว่าด้วยศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่)

[๒๑๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม

ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก กระทำ

จีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวร

สำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่ามหา-

นามะ ได้ทรงทราบข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มี-

พระภาคเจ้า ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จ

จาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ

เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทพระผู้มี-

พระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสทูลถาม

พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทราบข่าวดังนี้ว่า

ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่าพระ-

ผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ จะพึงอยู่

ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตร

เสด็จเข้ามาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่

ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ จึงพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็น

การสมควรแก่มหาบพิตรผู้เป็นกุลบุตร ดูก่อนมหาบพิตร กุลบุตรผู้มี

ศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภ

ความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติ

ตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่น

ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อม

เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ดูก่อนมหาบพิตร

มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงทรงเจริญธรรม ๖

ประการให้ยิ่งขึ้นไป ดูก่อนมหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ มหาบพิตร

ถึงทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา

และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ เป็นศาสดา

ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงตถาคต สมัยนั้น จิตของอริย-

สาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริย-

สาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อม

ได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อม

เกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วย

ปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข

ย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึง

ความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ใน

หมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญพุทธา-

นุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงธรรม

ว่า พระธรรมอัน พระผู้พระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่

ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน

พึงรู้เฉพาะตน ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระธรรม

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม

ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรงเพราะ

ปรารภพระธรรม ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความ

ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปรา-

โมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกาย

สงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร

อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบในหมู่สัตว์ผู้ถึงความ

ไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึง

พร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญธัมมานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตร พึงระลึกถึง

พระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘

นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของ

ต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มี

นาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม

ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง

ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระสงฆ์

ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อัน

ประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของ

อริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อม

เสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวก

นี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ

เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อม

ด้วยกระแสธรรมเจริญสังฆานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงศีล

ของตนว่า ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ

อันตัณหาและทิฏฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูก่อนมหาบพิตร

สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสวกนั้น ย่อมไม่ถูก

ราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของ

อริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนิน

ไปตรงเพราะปรารภศีล ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ตามรู้ธรรม ย่อม

ได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความ

ปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้

มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหา-

บพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้

ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในสัตว์ผู้มีความพยาบาท

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญสีลานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะ

ของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือความ

ตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควร

แก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทิน

คือความตระหนี่กลุ้มรุม ดูก่อนมหาพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะ

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม

ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อน

มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภจาคะ ย่อมได้

ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ

ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก

ผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิต

ของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้ อาตมภาพ

กล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มี

ความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ที่มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแส

ธรรมเจริญจาคานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึง

เทวดาทั้งหลายว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์ มีอยู่

เทวดาชั้นยามามีอยู่ เทวดาชั้นดุสิตมีอยู่ เทวดาชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดา

ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีมีอยู่ เทวดาชั้นพรหมกายมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงขึ้นไป

กว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้

แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศรัทธาเช่นนั้นอยู่ เทวดา

เหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว ไปบังเกิดในเทวโลก

ชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศีลเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด

จุติจากกโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีสุตะเช่นนั้น

เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดใน

เทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีจาคะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วย

ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มี

ปัญญาเช่นนั้น ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล

สุตะ จาคะและปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของ

อริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ

กลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหา-

บพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดาทั้งหลาย ย่อม

ได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ

ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก

ผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข

จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพ

กล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มี

ความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแส

ธรรมเจริญเทวดานุสสติ ดังนี้แล.

จบปฐมมหานามสูตรที่ ๑

อรรถกถาปฐมมหานามสูตร

วรรคที่ ๒ ปฐมมหานามสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า นานาวิหาเรหิ วิหรต ความว่า ชื่อว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่

ประจำสำหรับคฤหัสถ์ มิได้มีอย่างเดียว เพราะเหตุนั้น เจ้ามหานามศากยะ

จึงทูลถามว่า เมื่อหม่อมฉันอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่ประจำ. ด้วยบทว่า

เกน วิหาเรน เจ้ามหานามศากยะ ทูลถามว่า หม่อมฉันพึงอยู่ด้วยธรรม

เป็นเครื่องอยู่ประจำอย่างไหน พระเจ้าข้า. บทว่า อาราธโก ได้แก่ ผู้ทำ

ให้ถึงพร้อมผู้บริบูรณ์. บทว่า ธมฺมโสตสมาปนฺโน พุทฺธานุสฺสตึ ภาเวติ

ความว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมแล้ว ย่อมเจริญพุทธานุสสติ.

จบอรรถกถาปฐมมหานามสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปฐมมหานามสูตร

(ว่าด้วยศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้น

สักกะ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระองค์กราบทูลถามถึงธรรม

เป็นเครื่องอยู่ ว่า ควรอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

พึงทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือ

มีศรัทธา มีการปรารภความเพียร มีสติตั้งมั่น มีจิตตั้งมั่น และ มีปัญญา

แล้วพึงทรงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ

๑. พุทธานุสสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า : อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภพระพุทธเจ้า

เป็นอารมณ์) ๒. ธัมมานุสสติ (ระลึกถึงพระธรรม : อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภพระธรรมเป็น

อารมณ์)

๓. สังฆานุสสติ (ระลึกถึงพระอริยสงฆ์ : อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภพระสงฆ์เป็น

อารมณ์) ๔. สีลานุสสติ (ระลึกถึงศีล : อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภศีลเป็นอารมณ์) ๕. จาคานุสสติ (ระลึกถึงจาคะ : อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภจาคะคือการสละ,

การบริจาคเป็นอารมณ์) ๖. เทวตานุสสติ (ระลึกถึงเทวาดา ได้แก่ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา คือ

ศรัทธา ศีล สุตะ (การสดับตรับฟังพระธรรม) จาคะ และ ปัญญา แม้ตนเองก็มี

คุณธรรม เช่นนั้น)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อนุสติ ๖ [อนุสสติสูตร] พุทธานุสสติเป็นอย่างไร เหตุให้เกิดพุทธานุสสติคืออะไรพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติฯลฯ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ประสาน
วันที่ 17 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paew_int
วันที่ 17 ก.ย. 2555

-ขออนุโมทนาค่ะ-

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 17 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนา ในธรรมที่เกื้อกูลเป็นอย่างดีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 21 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chuanperm
วันที่ 21 ก.ย. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 21 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
SRPKITT
วันที่ 22 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ