คำหยาบคาย

 
lovedhamma
วันที่  30 ก.ย. 2555
หมายเลข  21811
อ่าน  4,450

ผู้ที่จิตใจดี แต่มีอุปนิสัยพูดคำไม่เพราะเป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่าหยาบคาย หรือไม่ อย่างไรเรียกว่าหยาบคาย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำพูดมีได้ เพราะ อาศัย จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น ดังนั้น คำพูดจึงมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น คำพูด จึงพูดด้วย อกุศลจิต ก็ได้ พูดด้วย กุศลจิต ก็ได้ แต่คำพูดใดที่เป็นคำหยาบ สำคัญที่จิตนั้นเป็นสำคัญ เพราะ จิตหยาบ คือ หยาบด้วยอกุศลจิตที่เป็นโทสะในขณะนั้น จึงชื่อว่า เป็นคำหยาบ เพราะมีจิตที่หยาบเป็นสำคัญ แต่ ถ้าจิตไม่หยาบ ไม่เป็นอกุศลจิตที่เป็นโทสะแล้ว ไม่ชื่อว่าหยาบ ไม่ได้สำคัญที่คำพูด เรื่องราวที่พูด เป็นสำคัญ

เช่น พระภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มักกล่าววาจาเรียกคนอื่นว่า คนถ่อย แต่เป็นเพราะท่านสะสมการเรียกอย่างนี้ในอดีตชาติ มามากมาย จึงยังติดการพูดเช่นนี้ แต่ท่านพูดด้วยกิริยาจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แม้คำว่าคนถ่อยจะฟังดูไม่ดี แต่จิตท่านพูดด้วยกิริยาจิต จิตไม่หยาบ คำนั้นจึงไม่ใช่คำหยาบ เพราะ ไม่มีเจตนาด่าว่าใครนั่นเอง ครับ

หรือ แม่เป็นห่วงลูก กล่าววาจา ด้วยคำที่ดูว่าหยาบเหมือนจะด่า ว่าลูก แต่ ด้วยจิตที่หวังดี ไม่ใช่ด้วยโทสะ คำนั้นแม้ฟังดูไม่ไพเราะ แต่ จิตไม่หยาบด้วยโทสะ ก็ไม่ใช่คำหยาบ ครับ

ส่วน ปุถุชน ยังมีอกุศลจิตโดยมาก แม้พูดคำที่ดูดี น่ารัก ตามที่ชาวโลกสมมติกันในปัจจุบัน แต่มีเจตนาว่าบุคคลนั้นในขณะที่พูด แต่พูดด้วยคำสวยหรู ไพเราะ ก็ชื่อว่า เป็นคำหยาบ เพราะ หยาบด้วยจิตที่หยาบด้วยโทสมูลจิตที่เจตนาว่าร้ายคนอื่นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จะเป็นคำหยาบหรือไม่ ก็สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ

สรุปได้ว่า วาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นกุศลจิต แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะ แต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ ครับ

ซี่งในพระพุทธศาสนาแสดง องค์ประกอบและรายละเอียดของการเป็นผรุสวาจาดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 196

เรื่องวาจาหยาบ แต่ใจไม่หยาบ

ได้ยินว่า เด็กคนหนึ่งไม่เอื้อเฟื้อถ้อยคําของมารดาไปป่า มารดาไม่สามารถให้เด็กนั้นกลับได้ จึงได้ด่าว่า ขอให้แม่กระบือดุจงไล่มึง ทันใดนั้น แม่กระบือป่าได้ปรากฏแก่เด็กนั้น เหมือนอย่างมารดาว่าทีเดียว เด็กนั้นได้กระทําสัจจกิริยาว่า สิ่งที่มารดาของเราพูดด้วยปาก จงอย่ามี สิ่งที่มารดาคิดด้วยใจ จงมีเถิด แม่กระบือได้ยืนอยู่เหมือนถูกผูกไว้ในป่านั้นเอง.

ประโยคแม้ตัดความรักอย่างนี้ ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะมีจิตอ่อนโยน.

จริงอยู่ บางครั้งมารดาบิดาย่อมกล่าวกะลูกน้อยๆ ถึงอย่างนี้ว่า

พวกโจรจงห้ําหั่นพวกเจ้าเป็นชิ้นๆ ดังนี้ แต่ก็ไม่ปรารถนาแม้ให้กลีบบัวตกเบื้องบนของลูกน้อยๆ เหล่านั้น

อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์ บางคราวก็กล่าวกะพวกศิษย์อย่างนี้ว่า พวกนี้ไม่มียางอาย ไม่เกรงกลัว คุยอะไรกัน จงไล่มันไปเสีย ก็แต่ว่า ย่อมปรารถนาให้ศิษย์เหล่านั้นสําเร็จการศึกษา และบรรลุมรรคผล.

เหมือนอย่างว่า วาจาไม่เป็นผรุสวาจา เพราะคําอ่อนหวานก็หาไม่. ด้วยว่าผู้ต้องการจะฆ่า พูดว่า จงให้ผู้นี้นอนให้สบาย ดังนี้ จะไม่เป็นผรุสวาจาก็หาไม่. ก็วาจานี้เป็นผรุสวาจาทีเดียว เพราะมีจิตหยาบ. ผรุสวาจานั้น มีโทษน้อย เพราะผู้ที่ตนพูดหมายถึงนั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 197

มีคุณน้อย มีโทษมาก เพราะผู้นั้นมีคุณมาก

ผรุสวาจานั้น มีองค์ ๓ คือ

๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า

๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ

๓. อกฺโกสนา การด่า


สามารถอ่านรายะเลียดเพิ่มเติมได้ที่กระทู้นี้ ครับ

การใช้คำพูด (ศีลข้อ 4)

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ผรุสวาจาประกอบด้วยองค์ ๓

ผรุสวาจาเกิดจากจิตที่ประทุษร้าย

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องที่เกี่ยวกับคำพูด หรือ ความประพฤติเป็นไปทางวาจา นั้น บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็จะเห็นได้ว่า มีคำพูดหลายอย่างที่ควรเว้น ไม่ควรพูด คำพูดหยาบคาย คำพูดที่คนฟังฟังแล้วเจ็บใจ ไม่สบายใจ คำพูดเหน็บแนม คำเท็จ เป็นต้น เป็นคำที่ไม่ควรพูด แต่ถ้าเป็นคำพูดที่เป็นคำจริง เป็นประโยชน์ เป็นคำที่ควรพูด ซึ่งเป็นข้อความที่ควรพิจารณาว่านี้เป็นความจริง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่, อาจจะย้อนกลับไปคิดถึงในกาลก่อนก็ได้ว่า ตนเองมีวาจาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่? และได้กล่าววาจาที่เป็นประโยชน์หรือไม่? ตนเองไม่ชอบคำพูดอย่างไร ก็ไม่ควรพูดคำอย่างนั้นกับคนอื่น

จึงแสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง เตือนให้เห็นกุศลและโทษภัยของกุศลประการต่างๆ ตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริงและจะได้ขัดเกลากิเลสของตนเองในชีวิตประจำวัน ต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 1 ต.ค. 2555

คำพูดเพราะก็เป็นคำสกปรกได้ ถ้าจิตเป็นอกุศล เน่าใน เป็นกิเลสที่สะสมมาอย่างนั้น คำพูดหยาบคือคำด่าด้วยจิตที่ประทุษร้ายเป็นอกุศลจิต ถ้าด่าผู้มีคุณก็มีโทษมาก เป็น เหตุให้ไปอบายภูมิ หลังจากนั้นถ้าได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์วิบากอย่างเบาก็ทำให้ได้ยิน เสียงที่ไม่ดี ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 1 ต.ค. 2555

กราบอนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่านครับ ขอรบกวนสอบถามเพิ่มเติมครับ

ในกรณีของโจร ที่กล่าวว่า ขอท่านจงนอนให้สบาย แต่มีจิตคิดจะฆ่า คำพูดนั้นเป็นผรุสวาจาอย่างไรครับ เพราะมิใช่เป็นการกล่าวด่าแต่อย่างใด แล้ว ที่ว่า "การด่า" ในที่นี้ ต้องเป็นคำพูดที่มาจากจิตโกรธแบบใดครับ เพราะไม่เช่นนั้น การพูดไรๆ ที่พูดด้วยจิตโกรธ ก็ถือเป็นผรุสวาจาทั้งสิ้นเลยเหรอครับ? อย่างเช่น ฟ้าร้อง ก็กล่าวขึ้นด้วยตกใจว่าฟ้าร้อง จะถือเป็นผรุสวาจาด้วยไหม? ในเมื่อกล่าวด้วยโทสะ?

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"วาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นอกุศลจิต แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะ แต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ"

"สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ ครับ ว่า จะเป็นผรุสวาจา วาจาหยาบหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา เรื่องราวที่พูด เป็นสำคัญ ครับ"

ผรุสวาจานั้น มีองค์ ๓ คือ

๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า

๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ

๓. อกฺโกสนา การด่า

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ในกรณีของโจร ที่กล่าวว่า ขอท่านจงนอนให้สบาย แต่มีจิตคิดจะฆ่า คำพูดนั้น เป็นผรุสวาจาอย่างไรครับ เพราะมิใช่เป็นการกล่าวด่าแต่อย่างใด แล้ว ที่ว่า "การด่า"

ในทีนี้ ต้องเป็นคำพูดที่มาจากจิตโกรธแบบใดครับ

- การที่โจรพูดอย่างนั้นด้วยจิตคิดจะฆ่า ขณะนั้น เป็น เจตนาฆ่าโดยทางวาจา แต่ไม่ใช่เจตนาด่า ว่าร้าย ที่เป็นผรุสวาจา ครับ


เพราะไม่เช่นนั้น การพูดไรๆ ที่พูดด้วยจิตโกรธ ก็ถือเป็นผรุสวาจาทั้งสิ้นเลยเหรอครับ?

- การพูดด้วยจิตที่โกรธ ด้วย เจตนาว่าร้าย จัดเป็นผรุสวาจา ครับ แต่การพูดบางอย่างพูดด้วยจิตที่โกรธ แต่ไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายก็ได้ ไม่จัดเป็นผรุสวาจา ครับ


อย่างเช่น ฟ้าร้อง ก็กล่าวขึ้นด้วยตกใจว่าฟ้าร้อง จะถือเป็นผรุสวาจาด้วยไหม? ในเมื่อกล่าวด้วยโทสะ?

- ดังได้อธิบายไปแล้ว ต้องมีเจตนาว่าร้ายด้วย ครับ ที่เกิดจากโทสมูลจิต

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 2 ต.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 3 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 4 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 21 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ