คนที่หนีไปบวช

 
พิมพิชญา
วันที่  9 ต.ค. 2555
หมายเลข  21866
อ่าน  23,224

เรามักจะได้ยินได้ฟังเรื่องคนที่หนีครอบครัวไปบวชอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่เหตุผลที่หนีไปบวช คือไม่อยากเผชิญปัญหาทางโลก ไม่อยากครองเรือน ไม่อยากรับผิดชอบปัญหาอะไร อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะบรรลุธรรม และมักจะนำตนเองไปเทียบกับเหตุการณ์สมัยพุทธกาล ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเสด็จหนีออกจากพระราชวังเพื่อออกผนวช เมื่อดิฉันได้ยินได้ฟังเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยๆ เลยเกิดสงสัยว่าการหนีไปบวชด้วยเหตุผลเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สมควรแค่ไหน

อยากทราบความเห็นอันละเอียดจากสหายธรรมที่บ้านธัมมะ เพราะมีการกล่าวอ้างเรื่องราวในสมัยพุทธกาลมาประกอบด้วย และหลายๆ คนในสังคมส่วนใหญ่ มักจะอนุโมทนากับการตัดสินใจลักษณะนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า บวช คือ อะไร? บวชเป็นภาษาไทย มาจากภาษาบาลีว่า ปวช แปลว่า การเว้นโดยทั่ว กล่าวคือ เว้นจากอกุศล เว้นจากบาปธรรม เว้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล เห็นโทษของการอยู่ครองเรือนว่า เป็นที่หลั่งไหลมาแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง จึงสละเพศคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต ด้วยความจริงใจ เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งขึ้น จุดประสงค์ของการบวชที่แท้จริง คือ การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงสามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต มีทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิต และ เป็นคฤหัสถ์ การศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ได้จำกัดที่เพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีศรัทธาที่จะฟังที่จะศึกษา ก็ย่อมได้ประโยชน์ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ได้มีความสนใจที่จะฟังพระธรรมและไม่น้อมที่จะประพฤติตามพระธรรมไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทั้งนั้น

การบวชเป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ และไม่ใช่เป็นการหนีเอาตัวรอด แต่เป็นเรื่องของการเห็นโทษของการอยู่ครองเรือนจริงๆ ยกตัวอย่าง พระเถระท่านหนึ่ง ชื่อว่า พระปุณณะ เดิมทีท่านเป็นพ่อค้าชาวสุนาปรันตะ ออกเดินทางจากถิ่นของตนไปยังชนบทต่างๆ เพื่อไปรับสินค้ามาขาย วันหนึ่งเดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีก็พักกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไว้ไม่ไกลจากพระวิหารเชตวัน เห็นผู้คนเดินทางไปในพระวิหารเชตวัน ก็ถามว่าคนเหล่านี้จะไปไหนกัน คนเหล่านั้นตอบว่าจะเดินทางไปฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขณะนี้พระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะเหตุที่ดีที่ท่านเคยสะสมมา เกิดความปีติเมื่อได้ยินคำว่าพระรัตนตรัย จึงเดินทางไปฟังพระธรรมด้วย และมีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีศรัทธาน้อมไปในบรรพชา ก็เลยมอบสินค้าทั้งหมดให้กับน้องชายที่ชื่อ จุลลปุณณะ ได้ดำเนินการต่อไป ท่านสละทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วบวชในพระพุทธศาสนา และผลของการอบรมเจริญปัญญา ก็ทำให้ท่านสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด

ดังนั้น บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิตเห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสที่มี เป็นอย่างมาก ในเพศของบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ครับ

ขอเชิญสหายธรรมทุกๆ ท่านร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

การบวชพระ * เป็นสิ่งสำคัญ * ที่แสดงความเป็นลูกผู้ชาย ... จริงหรือ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียด และ เป็นเรื่องที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล เพราะ ความคิดของบุคคลสมัยพุทธกาล กับ ความคิดของบุคคลในสมัยปัจจุบัน ย่อมแตกต่างกัน ตามปัญญาที่แตกต่างกัน ครับ เพราะในสมัยปัจจุบันย่อมสำคัญว่า การศึกษาพระธรรมจะต้องไปที่วัด การจะบรรลุธรรมได้จะต้องบวช การจะอบรมปัญญา จะต้องอยู่ในเพศบรรพชิต ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์ การพ้นจากทุกข์ด้วยการบวช เหล่านี้ก็เกิดจาก การไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้เข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้าโดยละเอียด เพราะ ในความเป็นจริง สภาพธรรมที่ทำให้ดับกิเลส หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยเพียงการเปลี่ยนเพศจากคฤหัสถ์ เป็น บรรพชิต โดยการบวช หากไม่มีปัญญาแล้ว ไม่ว่าอยู่ในเพศใด ก็ไม่สามารถเข้าใจและบรรลุธรรมได้เลย

เพราะฉะนั้น การบวช ที่ถูกต้อง คือ เป็นการเห็นโทษ เบื่อหน่ายด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่ด้วยความเบื่อหน่ายด้วยกิเลส ต้องแยกนะครับว่า เห็นโทษในการครองเรือนของพระโพธิสัตว์ หรือพระมหาสาวกในอดีต ด้วยปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่ามีโทษมีทุกข์อย่างไร และ การไม่เกิดมีความสุข จึงบวช เพื่อต้องการดับทุกข์ ดับกิเลสจริงๆ จึงบวช นี่คือ บวชด้วยใจที่เข้าใจพระธรรมที่เห็นโทษของกิเลส แต่ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายที่ไม่ได้สิ่งที่พอใจ หรือ ไม่ชอบใจในชีวิตประจำวัน หรือ เพียงความอยากที่เป็นโลภะที่อยากจะบวช เป็นโลภะที่อยากจะบรรลุธรรม จึงบวช

จะเห็นนะครับว่า แม้แต่การบวช ก็เป็นเรื่องของปัญญา เป็นสำคัญ ดังเช่น ในสมัยพุทธกาล ท่านรัฐปาละ ท่านเห็นโทษของการครองเรือนด้วยปัญญา จึงบวช แม้บิดามารดาจะขอร้อง ร้องไห้ ท่านก็ยอมตาย สละชีวิต เพื่อที่จะบวช ดูเหมือนจะเกินไปแต่นี่แสดงถึงศรัทธา และ ปัญญาของท่าน ซึ่งเมื่อได้อ่านรายละเอียดในรัฐปาลสูตร ในตอนหนึ่ง เมื่อท่านรัฐปาละ กลับไปเยี่ยมบ้านด้วยเพศบรรพชิต ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว มี พระเจ้าโกรัพพยะที่อดีตเคยเป็นเพื่อนของท่าน มาถามท่านรัฐปาละว่า ทำไมท่านถึงบวช ทั้งๆ ที่ ท่านยังหนุ่ม ผมดับสนิท มีทรัพย์สมบัติมาก ยังไม่แก่ สามารถเสวยสุขจากการบริโภคกามได้ ท่านรัฐปาละ กล่าวได้น่าฟัง และ แสดงถึงปัญญาของท่านที่บวชด้วยความเข้าใจว่า

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 9 ต.ค. 2555
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 9 ต.ค. 2555

จะเห็นนะครับว่า เพราะท่านอาศัยการฟังพระธรรม และเกิดปัญญาความเข้าใจของโลกตามความเป็นจริงที่ไม่น่ายินดีด้วยปัญญา ประการแรก คือ ทุกคนก็ต้องไม่พ้นจากชรา ควรที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท ประการที่สอง ไม่มีใครต้านทานโลกได้ คือ โลกก็ต้องเกิดและดับไปเป็นธรรมดา และต้องตาย ญาติ เพื่อน หรือ ใครจะต้านทาน หรือ ห้ามให้คนที่จะต้องตายไม่ตายก็ไม่ได้ ประการที่สาม โลก ไม่มีอะไรที่เป็นของๆ ตน เพราะมีแต่ธรรมไม่ใช่เรา และจะต้องละสิ่งเหล่านี้ ซึ่งกำลังจากไปในจิตแต่ละขณะที่เกิดดับครับ

และประการที่ ๔ โลก คือ สัตว์โลกเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ประการต่างๆ รวมทั้งตัวท่าน ควรที่จะดับกิเลส เป็นสำคัญ ท่านมีปัญญาความเข้าใจถูก จึงบวชเพื่อประโยชน์ คือ การดับกิเลส เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น จึงขาดปัญญาไม่ได้เลย แต่ไม่ใช่ด้วยโลภะ ความต้องการ หรือ สำคัญว่า การบวชเป็นทางพ้นทุกข์ โดยไม่เข้าใจว่า ปัญญาเป็นทางพ้นทุกข์ และอยู่ในเพศ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิตก็ได้ ครับ

ซึ่งจากที่ผู้ถามได้ถามกรณีของพระโพธิสัตว์ โดยคนในปัจจุบันใช้ในการกล่าวอ้างในเรื่องการบวชนั้น กระผมขอนำพระสูตรที่แสดงโดยตรงของพระพุทธเจ้า ที่แสดงถึงว่า ที่พระโพธิสัตว์ก่อนบวช ท่านคิดอย่างไร คือ ท่านคิดด้วยปัญญา อย่างไร ครับ ซึ่งน่าพิจารณา และน่าฟังมากครับ จะขอเล่าพอสังเขปดังนี้

ในสุขุมาลสูตร เล่มที่ ๓๔ ฉบับมหามกุฏ พระพุทธเจ้าได้เล่าเหตุการณ์ครั้งที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ว่า เราเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง คือ เป็นผู้ละเอียดอ่อน และได้รับความสุขอย่างยิ่ง จากพระราชบิดา ที่ให้อยู่ในปราสาท ๓ ฤดู ไม่มีผู้ชายเลย และได้ความสุขต่างๆ มากมาย แม้อย่างนี้ เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์เราก็ยังเกิดความคิดถึงความจริงว่า เราไม่พ้นจากความแก่ไปได้ เมื่อเห็นคนแก่ก็น้อมมาในตนด้วยปัญญา เราจึงไม่ประมาทในความเป็นหนุ่ม ไม่มัวเมาในความเป็นหนุ่ม

พระองค์ทรงพิจารณา ความเจ็บ และความตาย ทำให้ไม่ประมาทในความไม่มีโรค หรือ ไม่มัวเมาในความไม่มีโรค และ ไม่มัวเมาในความมีชีวิตอยู่ เพราะ ชีวิตแสนสั้นเมื่อพิจารณาดังนี้ พระโพธิสัตว์จึงออกบวชด้วยปัญญาที่พิจารณาตามความเป็นจริง

ในกรณีของพระโพธิสัตว์ที่ออกบวช เพราะท่านเห็นโทษของการครองเรือน และเพราะบุญ บารมีถึงพร้อมที่สะสมมาแล้ว ในตอนนั้น คืออินทรีย์แก่กล้าที่พร้อมที่จะบวช อันเป็นอินทรีย์ มีปัญญา เป็นต้น ที่เห็นความจริงของชีวิต จึงเบื่อหน่ายด้วยปัญญา ไม่ใช่โทสะ ครับ

เชิญคลิกอ่านพระคาถาที่พระโพธิสัตว์ กล่าวถึง ความคิดทีเกิดจากปัญญาจึงบวช ครับ

พระโพธิสัตว์เบื่อหน่ายด้วยปัญญาจึงออกบวช [สุขุมาลสูตร]

ดังนั้น หากบวชด้วยความไม่เข้าใจ หรือ ต้องการบวชด้วยการสำคัญผิดว่า จะเป็นทางหลุดพ้น และเมื่อบวชแล้ว การไม่ศึกษา และรักษาพระวินัยที่ดี ย่อมมีโทษมากกับผู้บวชเอง การอนุโมทนา ก็ย่อมจะต้องเป็นการอนุโมทนาในคุณความดี คือ กุศลธรรมที่เป็นการเห็นโทษของกิเลส แต่ไม่ใช่ความอยากไม่มีกิเลส ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

จุดประสงค์ของการบวชที่ถูกต้อง [รัฐปาลเถรคาถา]

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น, อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผิน
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 10 ต.ค. 2555

การบวชคือ การประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อขัดเกลากิเลส เป็นการรักษาศีลมากกว่า ศีลห้าและศีลแปด ที่สำคัญต้องมีอัธยาศัยที่สะสมมา ที่จะเห็นโทษของอกุศลและเจริญ กุศลเพิ่มขึ้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
mild
วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บวช หรือสิกขา แปลว่าศึกษา เพื่อความไม่วุ่นวาย เพื่อความไม่ขัดข้องในใจ เพื่อสละความติดข้อง จึงไม่เห็นสมควรเรียกว่าเป็นการหนีครอบครัว และพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้หนี หากแต่เป็นความกรุณาที่หาประมาณไม่ได้ เพราะครั้นตรัสรู้แล้วยังประโยชน์โดยการแสดงธรรมแก่พระญาติ แล พระมารดาเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์

อยากทราบความเห็นอันละเอียดจากสหายธรรมที่บ้านธัมมะ เพราะมีการกล่าวอ้างเรื่องราวในสมัยพุทธกาลมาประกอบด้วย และหลายๆ คนในสังคมส่วนใหญ่มักจะอนุโมทนากับการตัดสินใจลักษณะนี้

นอกจากมนุษย์ ยังมีสัตว์ต่างๆ เทวดา และอีกมากมายที่ไม่มีโอกาสได้สิกขาในพระธรรมวินัยนี้ เราจึงควรเข้าใจว่า การสะสมเหตุมาแล้วจึงเป็นปัจจุบันที่ได้บวชครับ

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ธ.ค. 2567

คนที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นกิเลสของตัวเองและไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการสละเพศคฤหัสถ์ แล้วบวช นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จริงใจและไม่ใช่ผู้ตรง เพราะถามว่าบวชทำไม ถ้าตอบว่าเพราะเหตุนั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้เข้าใจพระธรรมและรู้อัธยาศัยของตนเองว่าเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามพระธรรมวินัยแล้ว สมควรบวชไหม การบวชเป็นภิกษุไม่ใช่เป็นอยู่อย่างสบายให้ผู้คนกราบไหว้ แต่เพราะเป็นผู้ที่เห็นกิเลสและเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมจึงบวชเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ฉะนั้น การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อ่านเพิ่มเติม

ทำไมบวช

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ