ปิยสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  16 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22183
อ่าน  2,051

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปิยสูตร

(ว่าด้วยผู้ไม่รักตน กับ รักตน)

จาก...

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๔ - หน้าที่ ๔๒๖-๔๒๘

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และ คณะวิทยากรมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๔ - หน้าที่ ๔๒๖-๔๒๘


ปิยสูตรที่ ๔ (ว่าด้วยผู้ไม่รักตน และ ผู้รักตน)

[๓๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ เข้าห้องส่วนตัวพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนเหล่าไหนหนอแล ชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหน ชื่อว่าไม่รักตน ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า ก็ชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่าไม่รักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้ โดยประการใด ชนเหล่านั้น ย่อมทำความเสียหายให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่รักตน, ส่วนว่า ชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ารักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตนถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กัน ย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้ โดยประการใดชนเหล่านั้น ย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ตนด้วยตนเองได้ โดยประการนั้นฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน.

[๓๓๕] พระผู้มีพระเจ้าตรัสว่า ถูกแล้วๆ มหาบพิตร เพราะว่า ชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้น ไม่ชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย มีความรักตน ถึงเช่นนั้น พวกเขา ก็ชื่อว่าไม่มีความรักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กัน ย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้น ย่อมทำความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้ โดยประการนั้น พวกเขาเหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนว่า ชนบางพวก ย่อมประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ พวกเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเหล่านั้น ก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้รักใคร่กัน ย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้ โดยประการใด พวกเหล่านั้น ย่อมทำความดีความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น พวกเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน.

[๓๓๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ (คำร้อยแก้ว) นี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา (คำร้อยกรอง) ต่อไปอีกว่า

ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ ก็ไม่

พึงประกอบด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้น

เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะไม่ได้โดยง่ายเลย

เมื่อความตายเข้าถึงตัวแล้ว บุคคล

ย่อมละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไร ย่อมเป็น

ของของเขา และ เขาจะพาเอาอะไร

ไปได้ อนึ่ง อะไรเล่า จะติดตามเขาไป

ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น.

มัจจา (ผู้ที่มาเกิดแล้วจำจะต้องตาย)

ในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือบุญและ

บาปทั้งสองประการ, บุญ และ บาปทั้งสอง

นั้น ย่อมเป็นของของเขา อนึ่ง บุญและ

บาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป

ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น.

เพราะฉะนั้น บุคคลเมื่อจะสะสมกรรม

ที่จะให้ผลในภายหน้า ก็พึงทำกัลยาณกรรม

ด้วยว่า บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์

ทั้งหลายในปรโลก.

อรรถกถาปิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในปิยสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า รโคตสฺส แปลว่า ไป [อยู่]ในที่ลับ. บทว่า ปฏิสลฺลีนสฺส ได้แก่เร้นอยู่ผู้เดียว. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงนำสูตรนี้ ให้เป็นคำตรัสของพระสัพพัญญูจึงตรัสในสูตรนี้ว่า เอวเมต มหาราช (ถูกแล้วๆ มหาบพิตร) ดังนี้. บทว่าอนฺตเกนาธิปนฺนสฺส แปลว่า ผู้ถูกความตายครอบงำแล้ว.

จบอรรถกถาปิยสูตรที่ ๔.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 16 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป ปิยสูตรที่ ๔ (ว่าด้วยผู้ไม่รักตน และ ผู้รักตน) พระเจ้าปเสนทิโกศล เข้าไปเฝ้าผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระวิหารเชตวัน กราบทูลถึงความตรึกนึกคิดของพระองค์เกี่ยวกับผู้ไม่รักตน และ ผู้รักตนว่าเป็นอย่างไร ความตรึกนึกคิดของพระองค์ มีว่า บุคคลผู้ไม่รักตน คือ ผู้ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจาและ ทางใจ ส่วนบุคคลผู้รักตน คือ ผู้ประพฤติสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสดับแล้ว ก็ได้ตรัสรับรองว่า เป็นความจริงอย่างนั้น ต่อจากนั้น จึงตรัสพระคาถา มีว่า "ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ ก็ไม่พึงประกอบด้วยบาป ..." (ตามข้อความในพระสูตร) . ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ครับ สิ่งที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือปัญญา ชีวิตที่มีค่า คือ มีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ และได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ มือที่มองไม่เห็น พึงรักษาตน [ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท] ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เข้าใจ
วันที่ 16 ธ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 16 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Noparat
วันที่ 17 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 18 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สุภัทรา
วันที่ 21 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 21 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
j.jim
วันที่ 22 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ