สิ่งทั้งปวง ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ และ นิพพาน ใช่หรือไม่ครับ ?

 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่  19 ม.ค. 2556
หมายเลข  22359
อ่าน  1,569

จากที่ศึกษามากระผมเข้าใจดังนี้ครับ

1. รูป

ตา หู จมูก ลิ้น กาย

แสง/สี (พลังงานแสงที่เดินทางมากระทบจอประสาทตา)

เสียง (คลื่นสั่นสะเทือน ที่ลอยมากระทบหู)

กลิ่น (อนุภาคสารเคมีที่ลอยมากระทบจมูก)

รส (อนุภาคสารเคมีที่มาสัมผัสลิ้น)

โผฏฐัพพะ (อุณหภูมิ แรงกระทำ ที่มากระทบผิวหนังและอวัยวะรับสัมผัส)

เหล่านี้เป็นรูป

แม้แต่น้ำ ลม ก้อนหิน ไฟ ไฟฟ้า

สภาพเล็กได้ ใหญ่ได้ ร้อนได้ เย็นได้

มีขนาด มีปริมาตรได้

มีการเคลื่อนที่เคลื่อนไหวๆ หรือมีการหยุดนิ่งตึง

มีการผลัก มีการดูด

(สภาวะทางฟิสิคส์ต่างๆ ที่พวกเรารู้จัก ล้วนเป็นรูป ร่างกายก็เป็นรูป)

2. นาม คือสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ จับต้องไม่ได้ ไม่มีเล็กใหญ่ สั้นยาว ไม่มีน้ำหนัก เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความสงสัย ฯลฯ ความทุกข์ ความสุข ความไม่สุขไม่ทุกข์ ความจำ

สภาพรู้ทางตา (เห็น) จักขุวิญญาณ

สภาพรู้ทางหู (ได้ยิน) โสตวิญญาณ

สภาพรู้ทางจมูก (รู้กลิ่น) ฆานะวิญญาณ

สภาพรู้ทางลิ้น (รู้หวานบ้าง รู้ขมบ้าง รู้เปรี้ยวบ้าง รู้เค็มบ้าง) ชิวหวิญญาณ

สภาพรู้ทางกาย (รับรู้ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคลื่อนไหว นิ่งตึง) กายวิญญาณ

สภาพรู้ทางใจ (รู้เรื่องราวต่างๆ ) มโนวิญญาณ

ความคิด วิตก วิจาร3 สิ่งที่พ้นไปจากรูปและนาม (ไม่ใช่ขันธ์ ๕) ก็คือนิพพานขอถามดังนี้ครับ
1. ที่ผมเข้าใจนั้น มีส่วนไหนถูกบ้าง มีส่วนไหนผิดบ้าง (ถ้าผิด ควรแก้เปลี่ยนให้เป็นอย่างไรบ้าง จึงจะถูกต้องยิ่งๆ ขึ้น) มีส่วนไหนที่ควรเพิ่มเติมบ้าง

2. โลภะ โทสะ โมหะ ความฟุ้งซ่าน ความสงสัย ความกลัว ความหดหู่ ความคิดนึก ความเศร้าโศก ฯลฯ เหล่านี้จัดเป็นขันธ์ประเภทใดครับ เพราะเหตุใด (ขอพุทธวจนะอ้างอิงด้วยครับ เท่าที่ค้นมา หาไม่เจอว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นขันธ์ใดในพระสูตรไหน)

3. มีบางท่านบอกว่า โลภะ โทสะโมหะ เป็นเวทนาขันธ์ เขาบอกว่า โลภะ เป็นสุขเวทนา โทสะ เป็นทุกขเวทนา โมหะ เป็นอทุกขมสุขเวทนา จริงหรือไม่ประการใด

ขอขอบคุณทุกท่านมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริงทั้งปวงเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนและไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริง อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ คือ พระนิพพาน เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการเป็นธรรม เช่น เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม โกรธเป็นธรรม ติดข้องเป็นธรรม ความละอายเป็นธรรม ความเข้าใจเป็นธรรม สีเป็นธรรม เสียงป็นธรรม เป็นต้น เพราะมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ซึ่งไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะมีชื่อว่าอย่างไร ธรรมย่อมไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เมื่อกล่าวถึงธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่มีจริง สำหรับสิ่งทีมีจริงนั้นก็แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมที่เป็นามธรรม (จิต เจตสิกและพระนิพพาน) และรูปธรรม เมื่อว่าโดยความหมายแล้ว นามธรรมเป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้) เช่น เห็นเป็นนามธรรมเพราะเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะนั้น มีจิตเห็นพร้อมทั้งเจตสิกเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป เป็นต้น ซึ่งได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิตและในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ผัสสะ เวทนา เจตนา เป็นต้น) [นอกจากนั้น ก็ยังมีนามธรรม อีกประเภทหนึ่ง คือ พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์]

ส่วนรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์เหมือนอย่างนามธรรม รูปธรรมมีทั้ง หมด ๒๘ รูป มี สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นต้น ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่ต้องไม่หาที่ไหนเพราะมีจริงทุกขณะ ทุกขณะเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และรูป แต่ละอย่างแต่ละประการเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมเหล่านั้นไม่ได้เลยจริงๆ ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้นั้น มีแต่นามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่า มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นหกทางนี้เลย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริงและกำลังปรากฏ ซึ่งมีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ

โลภะ โทสะ โมหะ ความฟุ้งซ่าน ความสงสัย ความกลัว ความหดหู่ ความคิดนึก ความเศร้าโศก ฯลฯ เหล่านี้จัดเป็นขันธ์ประเภทใดครับ เพราะเหตุใด

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ โลภะ โทสะ โมหะ ความฟุ้งซ่าน ความสงสัย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เป็นสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สังขารขันธ์ และขันธ์อื่นๆ [อรรถกถาติกนิบาต]

- มีบางท่านบอกว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเวทนาขันธ์ เขาบอกว่า โลภะ เป็นสุขเวทนา โทสะ เป็นทุกขเวทนา โมหะ เป็นอทุกขมสุขเวทนา จริงหรือไม่ประการใด

ใครบอกก็ไม่เหมือนการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลส เป็นอกุศล เป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ เพราะเวทนาขันธ์ ก็ต้อง หมายถึงเฉพาะเวทนา ความรู้ึสึกอย่างหนึ่งอย่างใด ใน ๕ เวทนา คือ ความรู้สึกที่ เป็นสุขทางกาย (สุขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ (โสมนัสเวทนา) ความรู้สึก ที่เป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางใจ (โทมนัสเวทนา) และความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเทวนา ทั้งหมด ต่างก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จริงอยู่ เวลาที่โลภะเกิดขึ้นนั้น บางครั้งมีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย บางครั้งก็มี อทุกขมสุขเวทนาเกิดร่วมด้วย

เวลาที่โทสะเกิดขึ้น จะมีเฉพาะโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยเท่านั้น ซึ่งในขณะที่ โลภะเกิด และ โทสะ เกิด ก็มีโมหะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เวลาที่โมหะเกิด โดยไม่มีโลภะ เกิดด้วย โดยไม่มีโทสะเกิดด้วยก็มีเวทนาที่เป็น อทุกขมสุขเวทนา เกิดร่วมด้วยเท่านั้น ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตาม ความเป็นจริง ว่า ไม่ใช่เรา ธรรมมีอยู่ทุกขณะ แต่ไม่รู้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมให้ เข้าใจ ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีัศรัทธา มีความอดทน มีความจริงใจ ที่จะฟัง ที่จะศึกษา ด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 ม.ค. 2556

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานไม่นอกเหนือไปจากนี้ และ ที่สำคัญขณะนี้ไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานเป็นขันธวิมุตติ พ้นโลก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจคำว่า ขันธ์ ให้ถูกต้องเป็นเบื้องต้นเสียก่อนครับว่า ขันธ์ หมายถึงอะไร

ขันธ์ หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งที่เรียกว่าขันธ์ หมายถึง กองแห่งธรรม ถ้า ให้เข้าใจง่ายๆ คือ ขันธ์ หมายถึง ประเภทของธรรมแต่ละประเภท ขันธ์ มี ๕ ขันธ์ หรือมีสภาพธรรม แบ่งเป็น ๕ ประเภทดังนี้ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑

รูปขันธ์ ได้แก่ รูปทุกรูป รูปทุกชนิด ทุกประเภท

เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก (ความรู้สึกสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เฉยๆ ) ๑ ดวง

สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก (ความจำหมายรู้อารมณ์) ๑ ดวง

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง (เว้นเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิก)

วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตทุกดวง

จากคำถามที่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ความฟุ้งซ่าน ความสงสัย ความกลัว ความหดหู่ ความคิดนึก ความเศร้าโศก ฯลฯเหล่านี้จัดเป็นขันธ์ประเภทใดครับ เพราะเหตุใด

- สำหรับ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นสังขารขันธ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นสภาพธรรม ที่ปรุงแต่ง (สังขาร) ให้สภาพธรรมอื่นๆ ให้เป็นไป คือ จิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ

และจากคำถามที่ว่า (ขอพุทธวจนะอ้างอิงด้วยครับ เท่าที่ค้นมา หาไม่เจอว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นขันธ์ใดในพระสูตรไหน)

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 373

เมื่อท่านถือเอามานะ หมู่กิเลสซึ่งเป็น สังขารขันธ์ นี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ซึ่งเกิดพร้อมกับมานะนั้น ก็ชื่อว่า สัมปยุตตด้วยมานะ


[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 18

สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอกุศล

[๓๑๐] สังขารขันธ์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ผัสสะ เจตนา วิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ วิริยพละ สมาธิพละ อหิริกพละ อโนตตัปปพละ โลภะ โมหะ อภิชฌา มิจฉาทิฏฐิ อหิริกะ อโนตตัปปะ สมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ หรือ นามธรรมที่อิงอาศัยเกิดขึ้นแม้อื่นใด เว้น เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ มีอยู่ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่า สังขารขันธ์ มีในสมัยนั้น ฯลฯ สภาวธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ธรรมเป็นอกุศล


จากคำถามที่ว่า

มีบางท่านบอกว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเวทนาขันธ์ เขาบอกว่า โลภะ เป็นสุขเวทนา โทสะ เป็นทุกขเวทนา โมหะ เป็นอทุกขมสุขเวทนา จริงหรือไม่ประการใด

- เจตสิกแต่ละประเภท เป็นแต่ละประเภท แยกจากกัน ทำหน้าที่แตกต่างกันไป อย่างชัดเจน โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทำหน้าที่ติดข้อง ขณะที่ติดข้อง โลภะ เจตสิกทำหน้าที่ติดข้อง แต่ไม่ได้ทำหน้าที่รู้สึกดังเช่น เวทนาเจตสิก แต่ขณะที่เกิด ความสุข ขณะนั้น เวทนาเจตสิกไม่ได้ทำหน้าที่ติดข้อง แต่ เป็นความรู้สึกสุขเท่านั้น เพียงแต่ว่า สุขเวทนาไม่จำเป็นจะต้องเกิดกับโลภะก็ได้ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เพราะ ฉะนั้น การเกิดร่วมกันของเจตสิกแต่ละประเภท จึงไม่สามารถจะเอามาปนรวมกันได้ ว่าหากสภาพธรรมนี้เกิดร่วมกับ สุขเวทนา สภาพธรรมนั้นจะเป็นสุขเวทนา เป็นเวทนา ขันธ์ ครับ เพราะ ถ้าเป็นเช่นนั้น สัญญา ความจำ เป็นเจตสิกที่เกิดกับ จิตทุกดวง และ เกิดร่วมกับเจตสิกทุกๆ ประเภท ดังนั้น โลภะ ก็เกิดกับสัญญาขันธ์ โลภะก็ต้องเป็น สัญญาขันธ์ไปด้วย ก็ไม่ใช่ครับ เพราะ ตามที่ได้ยกพระไตรปิฎกมาชัดเจนข้างต้นที่ ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นสังขารขันธ์ ครับ


เชิญคลิกฟังเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

เฉพาะเจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

เวทนาขันธ์ได้แก่เวทนาเจตสิก

เวทนาขันธ์ หมายถึง ความรู้สึก

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 21 ม.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ทำดีทูเดย์
วันที่ 22 ม.ค. 2556
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่ 24 ม.ค. 2556

ขอบคุณครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 24 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ