เรื่องปัญหาของพระอานนท์เถระ ... วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 
มศพ.
วันที่  17 ก.พ. 2556
หมายเลข  22500
อ่าน  1,543

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... •••

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

เรื่องปัญหาของพระอานนท์เถระ

... จาก ...

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 331


(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 331

เรื่องปัญหาของพระอานนท์เถระ

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภปัญหาของพระอานนทเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณํ" เป็นต้น กาลแห่งพระพุทธเจ้าต่างกัน แต่คำสอนเหมือนกัน ได้ยินว่า พระเถระ นั่งในที่พักกลางวัน คิดว่า "พระศาสดา ตรัสบอกเหตุแห่งพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ทุกอย่าง คือ พระชนนีและพระชนก การกำหนดพระชนมายุ ไม้เป็นที่ตรัสรู้ สาวกสันนิบาต อัครสาวก อุปัฏฐาก แต่อุโบสถมิได้ตรัสบอกไว้ อุโบสถ แห่งพระพุทธเจ้าแม้เหล่านั้นเหมือนอย่างนี้ หรือเป็นอย่างอื่น" ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลถามเนื้อความนั้น ก็เพราะความแตกต่างแห่งกาลแห่งพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเท่านั้น ได้มีแล้ว ความแตกต่างแห่งคาถาไม่มี ด้วยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงกระทำอุโบสถในทุกๆ ๗ ปี เพราะพระโอวาทที่พระองค์ประทานแล้ว ในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ ๗ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี และ เวสสภู ทรงกระทำอุโบสถในทุกๆ ๖ ปี (เพราะพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้น ทรงประทานในวันหนึ่งเท่านั้นพอไปได้ ๖ ปี) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากกุสันธะ และ โกนาคมนะได้ทรงกระทำอุโบสถ ทุกๆ ปี (เพราะพระโอวาท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์นั้น ทรงประทานในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ปีหนึ่งๆ ) พระกัสสปทสพล ได้ทรงกระทำอุโบสถทุกๆ ๖ เดือน เพราะพระโอวาทที่พระองค์ทรงประทานในวันหนึ่ง พอไปได้ ๖ เดือน ฉะนั้น พระศาสดา จึงตรัสความแตกต่างกันแห่งกาลนี้ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ส่วน โอวาทคาถาของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นอย่างนี้นี่แหละ." ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงกระทำอุโบสถ แห่งพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ซึ่งเป็นอันเดียวกันทั้งนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :- ๔. สพฺพปาปสฺส อกรณ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปน เอต พุทฺธาน สาสน. ขนฺตี ปรม ตโป ตีติกฺขา นิพฺพาน ปรม วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปร วิเหฐยนฺโต. อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสน อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอต พุทฺธาน สาสน.

คำแปล "ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพาน ว่า เป็นเยี่ยม ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ ความประกอบโดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต ๑ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่ อกุศลธรรมทุกชนิด การยังกุศลให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ออกบวชจนถึงพระอรหัตตมรรค และการยังกุศลที่ตนให้เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ ชื่อว่า อุปสมฺปทา การยังจิตของตนให้ผ่องใสจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่า สจิตฺตปริโยทปน.

บาทพระคาถาว่า เอต พุทฺธาน สาสน โดยอรรถว่า นี้เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์.

บทว่า ขนฺติ ความว่า ขึ้นชื่อว่า ความอดทน กล่าวคือ ความอดกลั้นนี้ เป็นตบะอย่างยอดยิ่ง คืออย่างสูงสุดในพระศาสนานี้ บาทพระคาถาว่า นิพฺพานํ ปรม วทนฺติ พุทฺธา ความว่า พุทธบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้ คือ พระพุทธะจำพวก ๑ พระปัจเจกพุทธะจำพวก ๑ พระอนุพุทธะจำพวก ๑ ย่อมกล่าวพระนิพพานว่า "เป็นธรรมชาติอันสูงสุด"

บทว่า น หิ ปพฺพชิโต โดยความว่า บุคคล ผู้ที่ล้างผลาญบีบคั้นสัตว์อื่นอยู่ด้วยเครื่องประหารต่างๆ มีฝ่ามือเป็นต้น ชื่อว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต.

บทว่า สมโณ ความว่า บุคคลผู้ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะด้วยเหมือนกัน การไม่ติเตียนเอง และการไม่ยังผู้อื่นให้ติเตียน ชื่อว่า อนูปวาโท การไม่ทำร้ายเอง และการไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำร้าย ชื่อว่า อนูปฆาโต.

บทว่า ปาติโมกฺเข ได้แก่ ศีลที่เป็นประธาน. การปิด ชื่อว่า สวโร. ความเป็นผู้รู้จักพอดี คือความรู้จักประมาณ ชื่อว่า มตฺตญฺญุตา.

บทว่า ปนฺตํ ได้แก่ สงัด.

บทว่า อธิจิตฺเต ความว่า ในจิตอันยิ่งกล่าว คือ จิตที่สหรคตด้วยสมาบัติ ๘. การกระทำความเพียร ชื่อว่า อาโยโค.

บทว่า เอต ความว่า นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์. ก็ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสศีลอันเป็นไปทางวาจา ด้วยอนูปวาท ตรัสศีลอันเป็นไปทางกาย ด้วยอนูปฆาต ตรัสปาติโมกขสีลกับอินทริยสังวรสีล ด้วยคำนี้ว่า ปาติโมกฺเข จ สวโร ตรัสอาชีวปาริสุทธิสีล และปัจจัยสันนิสิตสีล ด้วยมัตตัญญุตา ตรัสเสนาสนะอันสัปปายะ ด้วยปันตเสนาสนะ ตรัสสมาบัติ ๘ ด้วยอธิจิต ด้วยประการนี้ สิกขาแม้ทั้ง ๓ ย่อมเป็นอันพระองค์ตรัสแล้วด้วยพระคาถานี้ทีเดียว ฉะนี้แล. ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นฉะนี้แล.

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

เรื่องปัญหาของพระอานนท์เถระ

ท่านพระอานนท์เถระ คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกถึงพระชนนี (พระมารดา) และพระชนก (พระบิดา) การกำหนดพระชนมายุ ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ สาวกสันนิบาต (การประชุมพระสาวก) อัครสาวก และภิกษุผู้อุปัฏฐาก ของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ (พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี สีขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ และ พระสมณโคดม) แต่มิได้ตรัสบอกอุโบสถไว้ อุโบสถของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนกันหรือเป็นอย่างอื่น ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามพระองค์ถึงเรื่องดังกล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า กาลเท่านั้นที่แตกต่างกัน แต่โอวาทคาถาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน.

หมายเหตุ คำว่า อุโบสถ มีความหมายหลายนัย ขึ้นอยู่กับว่าจะมุ่งหมายถึงอะไรในแต่ละที่ในแต่ละแห่ง ความหมายของอุโบสถ มีดังนี้

-หมายถึง วันพระ

-หมายถึง ศีล ๘ ที่รักษาในวันอุโบสถ (คือวันพระ)

-หมายถึง สังฆกรรมของพระภิกษุที่จะต้องกระทำทุกกึ่งเดือน คือ การยกสิกขาบทขึ้นแสดง เพื่อเป็นการทบทวนว่าพระภิกษุแต่ละรูปมีการล่วงละเมิดสิกขาบทข้อใดบ้างเป็นต้น

-หมายถึง การทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ (คำสอนที่เป็นประธาน) ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์

-หมายถึง บัญญัติ คือ ชื่อของสัตว์ เช่น ช้างอุโบสถ เป็นต้น

ดังนั้น คำว่า อุโบสถ ในพระสูตรนี้ หมายถึง การทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้า ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ที่นี่ครับ

ความลึกซึ้งของ....การไม่ทำบาป

การยังจิตของตนให้ผ่องใส

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Noparat
วันที่ 18 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Boonyavee
วันที่ 18 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 19 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 19 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
natural
วันที่ 22 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ