ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ประเทศพม่า ๔ - ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ [มัณฑเลย์]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  15 มี.ค. 2556
หมายเลข  22627
อ่าน  2,128

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๔ - ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

ชาวสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. จำนวน ๑๐๗ ท่าน ได้เดินทางไปเที่ยวชมโบราณสถาน

และ ศาสนสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ของประเทศพม่า เป็นเวลา ๕ วัน

โดยมีท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ร่วมเดินทางไปกับคณะฯในครั้งนี้ด้วย

คณะฯทั้งหมด ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง ราว ๑๐.๕๕ น.

ของวันที่ ๔ มีนาคม และเดินทางถึงท่าอากาศยานมัณฑเลย์ ราวเวลา ๑๒.๒๐ น.

โดยการเดินทางครั้งนี้ จัดขึ้นโดยคุณสุรภา ภวนานันท์ สมาชิกชมรมฯลำดับที่ ๘๘๕

ด้วยความเอาใจใส่อย่างดีเยี่ยมตลอดการเดินทาง ทั้งการดูแลกระเป๋าสัมภาระ

ทั้งเรื่องอาหาร และ ที่พัก ที่ดีเยี่ยม ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบมาก่อนแล้วล่วงหน้า

ทำให้การเดินทางในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความประทับใจของทุกคน ตลอดการเดินทาง

เป็นความใฝ่ฝันของข้าพเจ้ามานานแล้ว ที่อยากเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ ที่ประเทศพม่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่พุกาม ซึ่งมีภาพของทุ่งกว้างที่ประกอบไปด้วยพระเจดีย์นับพัน

ซึ่งมีความงดงามมาก ยิ่งเมื่อทราบว่าท่านอาจารย์จะเดินทางไปพร้อมกับคณะฯด้วย

ข้าพเจ้าแทบไม่ต้องคิดเลย เมื่อคุณเผดิม ยี่สมบุญ ได้แจ้งข่าวการเดินทางนี้

เพราะเหตุว่า ไม่มีที่ใด ไม่มีการเห็นใด จะประเสริฐไปกว่า

ที่ได้มีโอกาสไปในสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ พร้อมๆ กับท่านอาจารย์

ด้วยว่าการเห็นนั้นๆ ย่อมประเสริฐ เพราะความเข้าใจ จากความเกื้อกูลในธรรมของท่าน

เป็นความสุขแท้จริง นอกไปจากการได้เห็นสถานที่สวยงาม การสัมผัสที่น่าพอใจ

อาหารอร่อยๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า ทั้งหมดก็ดับไป หมดไป ไม่กลับมาอีก

ดังที่ท่านมักกล่าวเตือนอยู่บ่อยๆ ตลอดการเดินทางว่า

"เห็นเพื่อลืม"

(อาหารกลางวันมื้อแรก ณ ภัตตาคาร ริมกำแพงพระราชวังมัณฑเลย์)

แม้รสของอาหารอันเลิศ ในบรรยากาศอันเลิศ ที่ล้วนหมดสิ้นไปแล้ว ดับไปหมดแล้ว

ลืมไปหมดแล้ว แต่บุคคลก็ยังแสวงหา ที่จะได้รับรสนั้นอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ทั้งๆ ที่รู้ว่า การได้สัมผัสรับรู้ต่างๆ เพียงเกิดขึ้น

เพื่อที่จะ "ลืม" ก็ตาม

เป็นการเตือนให้ได้พิจารณาบ่อยๆ เพื่อละคลายความติดข้อง ในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ

ซึ่งข้าพเจ้าขอนำความการสนทนาธรรม บนเรือที่ล่องไปในแม่น้ำอิรวดี อันกว้างใหญ่

มาฝากให้ทุกๆ ท่านได้พิจารณา พร้อมๆ ไปกับภาพการเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ

เป็นลำดับไป ตามโปรแกรมที่ท่านได้จัดไว้ ณ เมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า

ซึ่งจะเป็นตอนแรก ของทั้งหมดจำนวน ๓ ตอน

คือ ที่ มัณฑเลย์ เป็นตอนที่ ๑ ที่ พุกาม ในตอนที่ ๒ และ ที่ ย่างกุ้ง ในตอนจบ นะครับ

อนึ่ง ต้องขออภัย ที่ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงประวัติของสถานที่ต่างๆ ที่ได้ไปเยี่ยมชม

แต่จะลงเพียงภาพ และ ความธรรมะ

เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาธรรมของทุกท่าน เท่านั้นนะครับ

ซึ่งท่านที่สนใจประวัติบางส่วน อาจคลิกชมได้จากกระทู้ที่คุณ paderm

ได้กรุณาลงไว้ให้อ่านก่อนหน้านี้ โดยคลิกดูได้ตามนี้ครับ

ประวัติความเจริญทางพระพุทธศาสนาของพม่า ตอนที่ 1 [พุกาม ๑]

ประวัติความเจริญทางพระพุทธศาสนาของพม่า ตอนที่ 2 [พุกาม จบ]

ประวัติความเจริญทางพระพุทธศาสนาของพม่า ตอนที่ 3 [มัณฑะเลย์]

ประวัติความเจริญทางพระพุทธศาสนาของพม่า ตอนจบ

[ย่างกุ้ง พระมหาเจดีย์ชเวดากอง]

(พระราชวังมัณฑเลย์ เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ โดยการจำลองแบบคร่าวๆ บนฐานเดิม

ซึ่งของเดิมถูกไฟไหม้หมดแล้ว)

อ.อรรณพ ก็เป็นประโยชน์และน่าคิดมาก ที่เราสนทนากันว่า ทำไมถึงโกรธ?

เพราะทุกคนที่ยังมีพืชเชื้อของความโกรธ ก็ยังจะต้องโกรธ ท่านอาจารย์ก็ตอบว่า

"เพราะไม่รู้ความจริง"

ก็จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ไม่รู้ความจริงว่าอย่างไร?

(พระเจ้ามินดง)

ท่านอาจารย์ ค่ะ เราก็พูดอยู่แล้ว ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้ เกิด

จึงได้ปรากฏว่ามีจริง เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ แต่ขณะเกิด รู้ไหมว่าเกิด

กำลังเกิดเดี๋ยวนี้ รู้ไหมว่าเกิด?

อ.อรรณพ ไม่ทราบครับ

ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ว่าเกิด รู้การดับไหม?

อ.อรรณพ ไม่ทราบครับ

ท่านอาจารย์ นี่คือความจริง ไม่รู้ทั้งการเกิด

อ.อรรณพ ความจริงคือ ความที่ไม่รู้ ทั้งความเกิดและความดับ

ท่านอาจารย์ ไม่รู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริง เป็นชั้นๆ มาเลย ว่าอะไรจริง?

ไม่รู้ ถ้าไม่ได้ฟัง

รู้ว่าอะไรจริง แต่ก็ยังมีความโกรธ ความรัก ความชัง เพราะอะไร?

อย่างเสียงเมื่อกี้นี้ ไม่ใช่ว่า เพราะเสียง ทำให้โกรธ

ไม่ใช่ อย่าไปโทษเลย

โดยมาก เราจะบอกว่า เพราะอย่างนี้ อย่างนั้น เราก็เลยโกรธ

แต่ไม่ใช่

จริงๆ แล้ว ก็เพราะ ไม่รู้ความจริง

ไม่รู้ความจริงระดับไหน?

ถ้าเป็นระดับพระโสดาบัน ก็รู้ความจริงการเกิดดับ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

แต่ไม่รู้ความจริงว่า ความโกรธมีโทษ แล้วก็ไม่ใช่เรา

เพียงรู้ว่าเป็นธรรมะ แต่ความละเอียดของธรรมะนี้ ยังไม่พอ

เพราะฉะนั้น ความรู้ถึงต้องดับไป ตามลำดับขั้น

พระโสดาบันก็รู้ความจริง

แต่ความจริงขั้นที่พระโสดาบันรู้

ยังไม่พอที่จะดับความโกรธ

อ.อรรณพ ขนาดพระโสดาบัน?

ท่านอาจารย์ ค่ะ ขนาดพระโสดาบัน

แล้วขนาดคนที่ฟังธรรมะ ก็คือว่า "ฟัง" เพื่อเข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย

จะสลด ไม่สลด ก็อย่าไปคิดว่า

เราฟังธรรมะ เรื่องการไม่เที่ยง การเกิดดับ แล้วจะสลดได้

ต้องเป็นปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาญาณด้วย

ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ เพียงแค่นั้น ยังไม่สลดได้

(สะพานไม้อูเบ็ง สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลก อายุกว่า ๒๐๐ ปี ทอดข้ามทะเลสาป)

แสดงให้เห็นว่า กิเลสที่อยู่ในใจ มากมายขนาดไหน

หนาแน่น เหนียวแน่น ทั้งลึก ทั้งอะไร สารพัด

อุปมา ทั้งเป็นแผลเหวอะหวะ ทั้งมีกลิ่น ทั้งอะไร

แล้วแต่ละขณะ ก็คือ ตกลงไปอีกแล้ว ในเหวของความไม่รู้

และไม่ใช่ตกไปเปล่าๆ หมักหมมอยู่ด้วย อยู่ในนั้น

ไม่ได้ออกไปจากจิตเลย

แล้วยาอะไรจะเป็นยาวิเศษ ที่จะรักษาแผลเหวอะหวะ

ที่เหวอะหวะ จนล้นออกมาทางกาย ทางวาจาได้

อ.อรรณพ ที่แย่ก็คือ ไม่รู้ว่าเป็นแผลที่เหวอหวะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา

ให้เห็นโทษ ของอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย

เราไม่เคยเห็นโทษเลย ใช่ไม๊คะ?

แต่ว่า จริงๆ แล้ว นิดหนึ่ง เล็กน้อย ก็มีโทษ

เพราะอะไร?

เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผงฝุ่น

ไม่มีโลกเลย

มากลายเป็นโลกทั้งโลก เป็นภูเขา เป็นอะไรได้

ความจริงก็คือ จากการสะสม ทีละเล็ก ทีละน้อย

เพราะฉะนั้น กุศล ไม่มีที่เก็บ ถ้าไม่ใช่จิต

ถ้าไม่ใช่สภาพรู้ หรือ ธาตุรู้ ไม่มีทาง

จักรวาล เขาสิเนรุ เทียบไปเถอะ เพราะเราเกิดมานาน

แม้ตั้งแต่เช้า มาถึงเดี๋ยวนี้ กุศลเกิดเท่าไหร่?

กุศล นะคะ

กุศลเกิดเท่าไหร่?

แล้วเราจะสลด เป็นไปไม่ได้

ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เมื่อกี้นี้ไปดูอะไรมาคะ?

ท่านผู้ฟัง เจดีย์ครับ

ท่านอาจารย์ ไปดูเจดีย์ แล้วดูอะไรอีกคะ?

คุณพัฒน์นรี แล้วก็ไปดูระฆัง ที่บอกว่าใหญ่ที่สุดค่ะ

ท่านอาจารย์ แล้วลืมหรือยัง?

คุณพัฒน์นรี ยังคิดอยู่ค่ะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เจดีย์รูปร่างเป็นอย่างไร?

คุณพัฒน์นรี เจดีย์รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมค่ะ

ท่านอาจารย์ (หัวเราะ) จำอะไรได้บ้างคะ? เจดีย์ที่เห็น

คุณพัฒน์นรี หนูดูแค่ภายนอก หนูก็เห็นเป็นอิฐ แล้วก็สี่เหลี่ยม

ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก็ลืมไม๊คะ?

คุณพัฒน์นรี เดี๋ยวก็ลืมค่ะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ดูเพื่ออะไรคะ?

คุณพัฒน์นรี เพราะความอยากไปดูค่ะ

ท่านอาจารย์ แต่เพื่อลืม ใช่ไม๊คะ? ไม่มีเลย ที่จะไม่ลืม

อย่างที่คุณอรรณพคุยกัน ก่อนที่พวกที่ดูเจดีย์จะกลับมา

อ.อรรณพ เมื่อเช้านี้ ได้ไปตอนตี ๔ ไปดูการล้างพระพักตร์ ของพระมหามุนีที่วัด

พอดีเพิ่งได้แทบเล็ทตัวใหม่มา ก็เห่อนิดหน่อย ก็เลยถ่ายวีดีโอไว้ แล้วก็กลับมา

ตอนที่ทานข้าวที่ห้องอาหาร ก็เจอคุณป้าจี๊ด

คุณป้าจี๊ดบอกว่า เป็นไงบ้าง ไปดูอะไรบ้าง? มีอะไรบ้าง?

ผมก็เลยเอาแทบเล็ทมาเปิดให้ดูว่า การล้างพระพักตร์ แปรงฟัน อะไรเนี่ย เป็นอย่างไร?

ท่านอาจารย์ก็นั่งอยู่กับคุณป้าด้วย ท่านอาจารย์ก็บอกว่า

ดูเพื่ออะไร?

ดูเพื่ออะไร?

"ดูเพื่อลืม" ใช่ไหม?

ท่านอาจารย์เตือน เราก็คิดว่า ก็ต้องมีความละเอียด ลึกซึ้ง ก็ไตร่ตรองตามมาอีก

ที่เราอัดไว้ ก็ไปกดดูอีก ก็เอ๊ะ ไปดูทำไม?

ดูแล้วก็น่าจะจบ แล้วก็ยังกดอีก แสดงว่าลืม แล้วก็อยากจะเห็นอันนั้นอีก

ก็ต้องลืมอันเก่า แล้วก็เปิดดูใหม่ แล้วเราก็ลืม

แล้วก็ไปหาสิ่งอื่นที่เราอยากจะดู อยากจะฟัง อยากจะอะไรๆ ต่อไปเรื่อยๆ

แต่ทั้งนั้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราทริปนี้ เลยไม่ให้ดูอะไร

ส่วนใหญ่ คนจะตีความหมายตรงกันข้ามเลย ว่ามาแล้ว ไม่ต้องไปดูอะไรที่ไหน

เป็นคนสนใจธรรมะ ต้องอยู่กับที่ อะไรอย่างนี้

ใครจะไปก็ไป ใครจะฟังธรรมะก็ฟัง

ผมขอเสริมประเด็น พอดีผมได้ฟังการสนทนาธรรมที่อินเดียนานแล้ว ก่อนปี ๓๘

ผมไม่ทราบว่าปีอะไร ก่อนปี ๓๘ แน่นอน เพราะผมยังไม่ได้ไป

ก็มีการสนทนากันว่า คือ จะเหมือนเราทริปนี้ อย่างนี้นะครับ

ว่า บางทีคนที่เหลืออยู่ ก็จะฟังธรรมะ

แล้วก็มีส่วนหนึ่ง ที่ส่วนใหญก็จะไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ กัน

แล้วก็มีผู้ที่ถามว่า ควรจะอยู่ฟังธรรมะดี หรือ ควรที่จะไปดี

เพราะว่า การไปดูอะไรที่ไหน สติก็สามารถเกิดได้ มิใช่หรือ? แม้เราจะไปดูที่โน่น ที่นี่

ถ้าสติจะเกิด ก็รู้ว่าเป็นธรรมะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ที่นี่ ก็มีสภาพธรรมะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกัน ก็คุยกัน

ก็มีบอกว่า ถ้าอยู่ที่นี่ ก็จะได้ฟัง แล้วก็มีโอกาสที่สติเกิด

ส่วนไปทางโน้น เขาก็บอกว่า เขาก็มีธรรมะ สามารถที่สติเกิดได้ เหมือนกัน

ทีนี้ ข้อยุติ คือ อย่างไร?

ท่านอาจารย์ก็ตอบไว้ในเทปว่า

ขึ้นอยู่กับ "ความเข้าใจ"

เพราะว่า ถ้าจะอยู่ด้วยความต้องการ หรือ ความเห็นว่า อยากจะให้สติเกิดเยอะๆ

จาการที่จะได้ฟังธรรมะ เพื่อต้องการให้สติเกิด ไม่ไปดูอะไร

แต่ต้องการฟังธรรมะ แล้วให้สติเกิด

อย่างนั้นก็เป็นอกุศล ไม่ถูกต้อง

แต่ถ้าคนที่ไป แล้วโดยที่เขาอ้างว่า สติเกิดที่ไหนก็ได้

เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่สนใจแล้วธรรมะ จะฟังอะไรอย่างนี้

เขาก็ประมาทว่า สติจะเกิดได้หมด

แต่ถ้าเป็นความถูกต้อง

คนที่เห็นประโยชน์ ไม่ได้ด้วยความหวัง

แต่เป็นการปรุงแต่งของเขาเอง

ที่เขาจะไปหรือไม่ไป

เป็นการปรุงแต่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เขาไปแล้ว สติเขาอาจจะเกิดก็ได้

ก็เป็นประโยชน์

หรือ อยู่ที่นี่ ฟังแล้วมีความเข้าใจ แล้วสติเกิด

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องไป ไม่ไป

แต่เรื่องที่ควรเข้าใจว่า

ไม่ควรที่จะมีความเห็นผิด ว่าต้องทำอย่างโน้น เพื่อให้เป็นอย่างนี้ อย่างนั้น

เมื่อเช้า ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า ไปดู

เห็นแล้ว เพื่อลืม

ก็ยังเข้าใจยากอยู่นะครับ

พี่ชุมพร เมื่อกี้นี้ ที่อาจารย์อรรณพพูดถึงว่า ไปดู เพื่อที่จะลืม

แล้วเมื่อกี้อาจารย์อรรณพพูดถึงว่า ที่ลืม หมายถึงเมื่อกี้ ที่เราไปดูระฆัง

เราลืม แต่ว่ามีสภาพธรรมใหม่เกิดขึ้น ตอนนี้ เราไม่ลืม

ไม่ทราบว่า ท่านอาจารย์จะช่วยอธิบายตรงนี้ไม๊คะ?

ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ต้องทราบประโยชน์ ไม่ว่าจะพูดคำอะไร?

เราจะพูดว่า "เห็นแล้วลืม" ก็เป็นความจริง ใช่ไม๊คะ?

ยังไงๆ ก็ลืมไปแล้ว

ระฆัง รูปร่างเป็นอย่างไร? ขึ้นบันไดกี่ขั้น หรืออะไรก็แล้วแต่

เพราะฉะนั้น ประโยชน์อะไร ของการพูดความจริงนี้?

เวลาที่เรากำลังเห็น รู้สึกว่าสิ่งนั้น มีสาระมาก ใช่ไม๊คะ?

ดูอย่างละเอียดเลย

ระฆังนี้ เป็นอย่างไร? อะไรต่างๆ

แต่ว่า ทำไมถึงมีประโยคนี้ให้เข้าใจ

เพื่อที่จะรู้ว่า มีสาระอะไรหรือเปล่า?

กำลังตื่นเต้น กำลังพอใจ กำลังอยากรู้

ชั่วขณะที่กำลังเห็น

แล้วก็ลืม

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ที่เราคิดว่า มีความสำคัญมาก

อาหารต้องอร่อย เติมสิ่งนั้น สิ่งนี้ ปรุงอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อรสนี้

ชั่วขณะ ที่กำลังเห็นสาระของการที่จะได้รส ที่จะพอใจ

แต่ถ้ารู้ว่า

แล้วก็ลืม

ก็ทำให้เรา คลายความติดข้อง

และคิดว่า ไม่ได้มีสาระมากมาย

เพราะฉะนั้น การที่เราจะเห็นอะไร หรือว่า รับประทานอาหารรสอะไร

มันก็คืออย่างนั้นแหละ

ใจเราขณะนั้น ก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่า เรารู้ความจริง

เพราะฉะนั้น ความจริง เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง อย่างมั่นคงว่า

ไม่มีใคร จำสิ่งที่ผ่านไปแล้วได้

อย่างเช่น ชาติก่อน จำไม่ได้เลย ชาตินี้ อาจจะจำบ้าง นิดๆ หน่อยๆ

แล้วก็ลืมไปตั้งเยอะแยะ

หรือแม้วันนี้เอง อะไรที่เราคิดว่า เราต้องไป หรือ ท่านต้องไป

เพื่อที่จะไป "เห็น"

แล้วก็ลืม

เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ

สามารถสติเกิด

รู้ได้ว่า

มันก็ไม่มีความสำคัญอะไรเลย

เพราะมันเป็นเพียงชั่วขณะ หรือ ชั่วคราว เท่านั้น

แล้วมันก็หมดไป

เราจะได้คลายความติดข้อง คลายการยึดมั่น ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ในขั้นเพียงการฟัง

ซึ่งถ้าไม่มีเสียเลย ไม่มีทางที่จะเข้าไปลึกถึงในใจ

ที่จะทำให้เรา มีปัญญาเพิ่มขึ้น

ที่สามารถจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

เพราะขณะนี้ ถึงฟังอย่างนี้

ก็ไม่ได้รู้ลักษณะ ของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง

ที่เป็นวาจาสัจจะ

เพราะใจของเรา ไม่พร้อม ไม่พอ ที่จะรู้ความจริง

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นนะคะ ทุกคนลืม เรื่องความสำคัญของจิต

ว่าจิตขณะนี้ เป็นอย่างไร? ดีขนาดไหน?

ที่จะได้ฟังธรรมะ ให้เข้าใจ

จนกระทั่งสลด หรือว่าคลาย มันเป็นไปไม่ได้

เพราะเหตุว่า อย่างที่ว่า พูดซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

อกุศลแต่ละขณะ สะสม หมักหมม เป็นแผลเรื้อรัง สกปรก

แล้วอย่างนี้ จะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

ไม่มีทางเลย

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น รักษาจิต ให้มีกุศลน้อยลง

นี่เป็นประโยชน์ ที่ทรงแสดงพระธรรม

เพราะตรัสรู้ว่า

กว่าใจของแต่ละคน สามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้

แล้วก็เพิ่มความมั่นคง ในกุศลเพิ่มขึ้น

ก็ต่อเมื่อ ใจสะอาด อกุศลน้อยลง

ถ้ากุศลยังมาก

ความติดข้องของเราก็มาก

เพราะฉะนั้น เราจะรู้ตัวของเราเอง ว่าความติดข้องของเรา

ไม่ต้องไปถึงความติดข้องในนามรูป ที่มีอยู่

แม้ในสิ่งที่สำเร็จรูปออกมา เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ เราก็ติดข้อง

โดยที่ฟังมาว่า

ความจริงเป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง

ซึ่งเกิดดับสืบต่อ สลับกันอย่างรวดเร็ว

อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ เพื่อความเข้าใจชัดเจน

จากประเด็นที่ท่านอาจารย์บอกว่า สำเร็จรูป

อย่างบอกว่า เห็นคุณ ณภัทร

เป็นคุณ ณภัทร สำเร็จรูป

จะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า สำเร็จรูปจากอะไรครับ?

ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีวัตถุ ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป

ไม่มีคุณ ณภัทร

แต่จากที่ทุกคน ก็มีจิต มีเจตสิก มีรูป

แต่ว่าจิตต่างกัน เจตสิกต่างกัน

เป็นปัจจัยให้รูปต่างกัน

ก็ทำให้สิ่งที่มี ทำให้รูปสำเร็จ เป็นรูปต่างๆ กัน

โดยที่ว่า เราไม่ได้รู้ว่า

ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป

ก็ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น

มีใครเห็นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น?

มีใครรู้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้ได้ยิน?

มีใครรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ขณะที่ปรากฏ?

ฟังแล้ว ก็ไตร่ตรองว่า

ความจริง ก็คือ อย่างนี้เอง

อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ ก็ขอกลับมาคำถามเดิมว่า

"เห็นเพื่อลืม"

ท่านอาจารย์คะ เท่าที่ฟังมา ก็คือ ท่านอาจารย์กล่าวถึง

ว่าความจริงก็คือ จิตเกิดขึ้นแต่ละขณะ

แล้วขณะนั้น ก็ต้องมีสัญญาจำอารมณ์

แล้วพอจิตเกิดใหม่ขึ้นมา ก็ต้องจำอารมณ์ใหม่นั้นเอง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีนั้น ก็หาสาระไม่ได้

เพราะว่ามี แล้วก็หมดไป

สาระที่จะได้ก็คือ

ความที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่า

รักษาจิต เพื่อกุศล

ถ้าผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้สะสมความเห็นถูก

เขาก็ไม่ทราบว่า จิตเขาขณะนั้น จะเป็นกุศลอย่างไร?

เพราะว่า การรักษาจิต ก็ต้องด้วยปัญญานั่นเองค่ะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ในที่นี้ ทุกคนคงจะกล่าวคำที่ว่า

มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

(พุทธัง สรณัง คัจฉามิ)

แล้วพึ่งอย่างไร?

แล้วพึ่งหรือเปล่า?

จะมารักษาจิตเองหรือคะ?

ใครสามารถที่จะรักษาจิตของตัวเองได้?

เพราะฉะนั้น แต่ละคำ ต้องเป็นความจริง

ไม่ใช่พูดแต่เพียงปาก

ว่ามีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง

แต่ต้องรู้ว่า พึ่งอย่างไร

ถ้าไม่รู้ก็คือว่า

ไม่สามารถที่จะพึ่งได้

(เจดีย์มิงกุง ถ้าสร้างเสร็จ จะใหญ่ที่สุดในโลก)

(ระฆังมิงกุง ระฆังยักษ์ที่ตีได้ ใหญ่ที่สุดในโลก)

อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า

พึ่งอย่างไร?

ก็ต้องไม่พ้นปัญญา ที่จะเห็นถูกในธรรมะ ตามความเป็นจริงนั่นเองค่ะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เริ่มรู้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นใคร?

ทำไมเราถึงพึ่ง

ทำไมเราไม่พึ่งคนอื่น?

แต่เราพึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทุกอย่างต้องมีเหตุผล

ไม่ใช่ว่า เกิดมาแล้ว ก็ลอยๆ ไป

เดี๋ยวโน่น เดี๋ยวนี่

โดยที่เราไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่มีเหตุผล

แล้วจะไปไหน? ลอยไป ลอยมา

ลอยไปไหน?

ลอยไปตามกำลังของอวิชชา และ โลภะ

อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ ก็เป็นการสะสมความเห็นถูก นั่นเอง

เพราะว่า ถ้าไม่มีความเห็นถูก ก็ต้องเชื่อตามๆ กัน ด้วยความไม่รู้

หลายๆ ท่าน ตอนเช้าก็กลับมาคุยกันว่า การที่ไปดูการล้างพระพักตร์พระพุทธรูป

จะเป็นบุญตอนไหน?

ซึ่งจริงๆ แล้ว ดิฉันก็ได้สนทนากับน้องๆ เขา ก็ถามว่า

เขาล้างพระพักตร์พระพุทธรูป เพื่ออะไร?

ช่วงแรก เขาก็บอกว่า ผู้ที่มาล้าง คือ พระภิกษุ เขาก็เห็นว่า

เป็นศรัทธาการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ในการที่ล้างพระพักตร์

แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ยังมีความคิดต่อไปว่า พระพุทธรูปนี้ มีลมปราณ

(การล้างพระพักตร์) ก็คือ การที่จะรักษาลมปราณนั่นเอง

ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มีทั้งกุศลที่มีศรัทธา เล็กๆ น้อยๆ ประกอบกับความเห็นผิดด้วย

เพราะว่า รูป ไม่มีใจครอง เขายังเข้าใจว่า พระพุทธรูปนั้น มีลมหายใจ ก็เป็นไปไม่ได้

แล้วข้อสำคัญ ลมหายใจก็เกิดจากจิตด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ความเห็นถูกในธรรมะตามความเป็นจริง ย่อมไม่มี

การกระทำทั้งหลาย ก็เป็นไป ด้วยความไม่รู้

อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า

ความไม่รู้และความติดข้อง ก็จะไปกับความไม่รู้ และ ความติดข้องนั่นเอง

(วิหารชเวนันดอร์ สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง และ เคยเป็นที่ประทับนั่งสมาธิ

ของพระเจ้ามินดง จนสวรรคตที่พระที่นั่งแห่งนี้)

พี่ชุมพร เมื่อกี้ ท่านอาจารย์พูดถึงว่า ไม่ทำอะไร คือ ฟังแล้ว เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

แล้วท่านอาจารย์ ก็พูดถึงสภาพธรรมะ ที่มีอยู่ตลอด

เราจะเข้าใจเรื่องราว ของความเป็นจริง

แล้วอย่างไรคะ ท่านอาจารย์ กว่าจะเข้าใจจริงๆ ? (หัวเราะ)

ก็มาอีกแล้วค่ะ

แต่อย่างไรก็ พยายามให้เข้าใจ ที่ท่านอาจารย์บอก นะคะ

"ฟัง" เพื่อเข้าใจ

มันก็มีการเข้าใจเรื่องราว แล้วก็เข้าใจความจริงของสภาพธรรมะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น จะมี

"ตัวเรา" ที่ฟังธรรมะ

ฟังเพราะ "อยากจะเข้าใจ" เพราะ "เรา" อยากจะเข้าใจ ฟังแล้ว "เรา" เข้าใจแค่ไหน

"เรา" จะทำอย่างไรต่อไป "เรา" ถึงจะได้เข้าใจมากกว่านี้

นี่ก็คือ "เรา" ฟังธรรมะ

เพื่อ "ตัวเรา"

แต่ไม่เพื่อเข้าใจว่า

"ไม่มีเรา"

แล้วก็ เป็นการที่

กว่าจะรู้จริงๆ ได้

ก็ต้องอาศัยการพิจารณา ไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

จะไม่ให้มีเราเลย (อย่างที่ได้ฟังทันที เป็นไปไม่ได้)

เพราะเหตุว่า ไม่เคยรู้ความจริง มานานแสนนาน

ที่จะให้หมดความไม่รู้ไปเลย แล้วก็ยังหาวิธีว่า ทำอย่างไร?

ก็เป็นสิ่งที่ เป็นตัวเราทั้งหมด

ไม่ได้ละคลายความเป็นตัวเรา โดยเข้าใจขึ้น แม้ทีละเล็ก ทีละน้อย นิดหน่อย

ว่า ตัวธรรมะ ไม่ใช่เรา

ศึกษาธรรมะ ทีละคำ ดีที่สุด

อย่างเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังเห็น ผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรมะ เป็นเราแน่ๆ

จะเป็นคนอื่นได้ยังไง ใช่ไม๊คะ?

แต่ "เห็น" เกิด "เห็น" แล้วดับ

แล้วยังสามารถที่จะเข้าใจความละเอียดว่า

ขณะที่มี "เห็น" เกิดขึ้น ขณะนั้น "มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น" แล้วดับ เท่านั้น

ตรงนั้น ที่จะทำให้เริ่มเข้าใจว่า

ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ถึงฟังสักเท่าไหร่ ก็เป็น

"เราฟัง"

"เราเข้าใจ"

"เราจะทำอย่างไร จะได้เข้าใจมากกว่านี้?"

ก็ไม่พ้นจากความ "เป็นเรา" ไปได้

เพราะเหตุว่า แม้ในขั้นการฟัง ก็ยังไม่เป็นไปเพื่อการละ ความเป็นเรา

มีแต่ "ความเป็นเรา" ที่ฟัง

แล้วรู้ว่า ยังไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้น อยากเข้าใจ ก็เป็นเรา

ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

ฟังธรรมะ เพื่อเข้าใจ และ "เข้าใจ" ก็ไม่ใช่เราด้วย

"เข้าใจ" เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

ไม่มีอะไรสักอย่างเลย ที่เกิดแล้วไม่ดับ

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจึงไม่ใช่เรา และ ไม่ใช่ของเรา

(วัดกุโสดอ กับการจารึกพระไตรปิฎกไว้บนแผ่นหิน 729 แผ่น แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบไว้)

แม้แต่ความเข้าใจ กับ ความไม่เข้าใจ

ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัย เกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีกเลย

ต้องฟังเพื่อเข้าใจ ไปอีกนานเท่าไหร่?

กว่าจะค่อยๆ คลาย

"ความเป็นเรา"

"ฟัง" เพื่อรู้ความจริงว่า ไม่มีเรา และ ไม่ใช่เรา

ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

เราจะอยากให้รู้อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ฟังเพื่อเข้าใจว่า ไม่ใช่เราอีกแล้ว

เป็น "ตัวเรา" ที่อยาก

กว่าจะน้อมใจมาเป็น "ไม่ใช่เรา" ได้

พระผู้มีพระภาคฯ ต้องแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา

เพื่อรักษาจิต ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่รู้ และ ความติดข้อง

จนกว่า จะค่อยๆ คลาย เพราะกุศลจิต ที่เกิดขึ้น

ถ้ากุศลจิตเกิด ขณะนั้น อกุศลจิตเกิดไม่ได้ ความไม่รู้เกิดไม่ได้

ค่อยๆ สะสม ธรรมะฝ่ายดี

เพื่อที่จะไม่ให้ความไม่รู้ พอกพูน พร้อมกับความติดข้อง และ ยึดถือว่าเป็นเรา

เพราะฉะนั้น

จึงต้อง "ทำดี และ ศึกษาพระธรรม" ด้วย

ถ้ามีแต่ทำดี แต่ไม่มีปัญญา

ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า

ไม่ใช่เรา

เป็นธรรมะ

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pavee
วันที่ 15 มี.ค. 2556

กราบเท้าท่านอาจารย์

ขอบคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"พระผู้มีพระภาคฯ ต้องแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา

เพื่อรักษาจิต ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่รู้ และ ความติดข้อง

จนกว่า จะค่อยๆ คลาย เพราะกุศลจิต ที่เกิดขึ้น

ถ้ากุศลจิตเกิด ขณะนั้น อกุศลจิตเกิดไม่ได้ ความไม่รู้เกิดไม่ได้

ค่อยๆ สะสม ธรรมะฝ่ายดี

เพื่อที่จะไม่ให้ความไม่รู้ พอกพูน พร้อมกับความติดข้อง และ ยึดถือว่าเป็นเรา

เพราะฉะนั้น

จึงต้อง "ทำดี และ ศึกษาพระธรรม" ด้วย"

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม ทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ฟัง" เพื่อรู้ความจริงว่า ไม่มีเรา และ ไม่ใช่เรา

ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น"

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตวิริยะของพี่วันชัย ภู่งามและ ทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 15 มี.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pannipa.v
วันที่ 15 มี.ค. 2556

ขอขอบคุณ และอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
montha
วันที่ 15 มี.ค. 2556

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งาม

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
namo
วันที่ 15 มี.ค. 2556

กราบแทบเท้าท่าน อ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่กระผมเคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลทุกทุกประการของพี่ วันชัย ภู่งาม ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ฐาณิญา
วันที่ 16 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 16 มี.ค. 2556

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้ (โดย

เฉพาะกุศลวิริยะ ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตลอดการเดินทางท่ีจะนำภาพสวยๆ มา

ฝากสหายธรรมครับ)

และขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Patikul
วันที่ 16 มี.ค. 2556

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ

"เห็น เพื่อลืม"

เวลาที่เรากำลังเห็น รู้สึกว่าสิ่งนั้น มีสาระมาก

แต่ว่า ทำไมถึงมีประโยคนี้ให้เข้าใจ

เพื่อที่จะรู้ว่า มีสาระอะไรหรือเปล่า?

กำลังตื่นเต้น กำลังพอใจ กำลังอยากรู้

ชั่วขณะที่กำลังเห็น

แล้วก็ลืม.

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องไป ไม่ไป แต่เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจว่า

ไม่ควรที่จะมีความเห็นผิด ว่าต้องทำอย่างโน้น เพื่อให้เป็นอย่างนี้ อย่างนั้น...

ต้องฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อความถูกต้อง "ฟัง" เพื่อรู้ความจริงว่า ไม่มีเรา และ ไม่ใช่เรา

ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น.

ขอบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
raynu.p
วันที่ 16 มี.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ch.
วันที่ 16 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
นิรมิต
วันที่ 17 มี.ค. 2556

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาคณะท่านวิทยากรทุกท่าน และขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 18 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
jaturong
วันที่ 19 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Wisaka
วันที่ 28 มี.ค. 2556
ขออนุโมทนาในกุศลทุกทุกประการของพี่ วันชัย ภู่งาม ด้วยค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
orawan.c
วันที่ 17 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
ฐาณิญา
วันที่ 31 ม.ค. 2557

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่อธิบายค่ะ

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
wirat.k
วันที่ 2 ก.พ. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 3 ก.พ. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ