ขอความกรุณาตอบคำถามธรรมเฉพาะตน

 
ckannikar
วันที่  25 มี.ค. 2556
หมายเลข  22676
อ่าน  1,773

1. การอธิบายปรมัตถธรรมว่า จิตไม่ใช่จิตดวงเดิม เนื่องจากจิตเกิดแล้วก็ดับไป เจตสิกก็เกิดและดับไปเช่นกัน ไม่ควรยึดถือ กับการอธิบายว่าสิ่งที่เกิดกับจิตทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้ ไม่ว่ากรรมดีกรรมชั่ว จะสืบเนื่องต่อไปทุกภพทุกชาติ การอธิบายเรื่องจิตใน 2 ประเด็นนี้ ขัดแย้งกันหรือไม่ หากไม่ อะไรเป็นตัวบันทึกกรรมที่ไม่มีการเกิดดับ (บันทึกไว้ถาวร)

2. การที่จิตและปัญญารวมทั้งสติรู้ตัวอยู่ว่าอะไรดีควรทำ อะไรไม่ดีไม่ควรทำ เช่น รู้ตัวว่ากำลังขี้เกียจ แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะความขี้เกียจนั้นได้ รู้กระทั่งว่าจิตและความคิดพยายามหาเหตุสารพัดมาเป็นเหตุผลให้เบี่ยงเบนการทำงาน แต่ก็ยังเอาชนะไม่ได้ เกิดจากอะไร ทำไมจิตจึงไม่หวังดีกับตนเอง

3. ขอคำอธิบายง่ายๆ ชัดๆ อีกครั้ง เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างจิตกับความคิด

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. การอธิบายปรมัตถธรรมว่า จิตไม่ใช่จิตดวงเดิม เนื่องจากจิตเกิดแล้วก็ดับไป เจตสิก ก็เกิดและดับไปเช่นกัน ไม่ควรยึดถือ กับการอธิบายว่าสิ่งที่เกิดกับจิตทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้ ไม่ว่ากรรมดีกรรมชั่ว จะสืบเนื่องต่อไปทุกภพทุกชาติ การอธิบายเรื่องจิตใน 2 ประเด็นนี้ ขัดแย้งกันหรือไม่หากไม่ อะไรเป็นตัวบันทึกกรรมที่ไม่มีการเกิดดับ (บันทึกไว้ถาวร)

- สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไป ใหม่เสมอ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ประกอบด้วยจิต เจตสิก และรูป ซึ่ง รูป ไม่ใช่สภาพรู้ จึงไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ส่วนจิต เจตสิก เป็นสภาพรู้ และ จิต เจตสิก ก็เกิดขึ้นและดับไป ใหม่เสมอ เพียงแต่ว่า สภาพธรรมที่ชื่อว่า จิต เพราะว่าสั่งสม คือ สั่งสมในสิ่งที่ดีหรือ ไม่ดีด้วย แม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่จิตดวงเดิม แต่การเกิดขึ้นของจิต เจตสิก จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ ดังนั้น ปัจจัยข้อหนึ่ง คือ เพราะอาศัยจิตดวงเก่าที่ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้น แสดงว่า จิตดวงเก่า ย่อมมีผลกับจิตดวงใหม่ ถ้าไม่มีจิตดวงเก่า และ จิตดวงเก่ายังไม่ได้ดับไป จิตดวงใหม่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย แต่เพราะอาศัยจิตดวงเก่า ที่เกิดขึ้นและดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้น ซึ่งจิตไม่ใช่เป็นเพียงสภาพรู้ แต่เป็นสภาพธรรมที่สะสมด้วย สะสมสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพราะฉะนั้น อาศัยการเกิดดับสืบต่อจากจิตดวงเก่า ไปสู่ จิตดวงใหม่ โดยจิตดวงเก่าย่อมมีผลต่อจิตดวงใหม่ การสะสมนั้น ก็สะสมสืบต่อไป ทั้งที่ดี หรือ ไม่ดี ด้วย แม้จะเป็นจิตดวงใหม่ ไม่ใช่ดวงเดิมก็ตาม

ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างไม่พ้นจากการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ทำไมแต่ละคนมีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ก็เพราะการสะสมของจิตที่เกิดขึ้นมาแตกต่างกัน หากว่าจิตดวงใหม่ไม่ได้สะสมมาจากจิตดวงเก่าเลย คนที่เป็นคนชั่ว มีความเห็นผิด คือ เกิดจิตที่เห็นผิดบ่อยๆ เมื่อจิตดวงใหม่เกิดขึ้นก็กลายเป็นว่า ไม่มีความเห็นผิดแล้ว แต่ในความเป็นจริง ก็อาศัย การเกิดดับสืบต่อกัน ของจิตดวงเก่าที่สะสมมา อย่างนั้นที่เห็นผิด คนนั้น ก็ยังเกิดจิตที่เห็นผิดได้เพราะได้สะสมสิ่งที่ผิดมาจากจิตดวงก่อนนั่นเอง ครับ นี่คือ ความละเอียดของพระธรรม แม้แต่ละคนที่มีอุปนิสัยมักโกรธ โกรธง่ายกว่าคนอื่น เพราะว่า เกิดจิตที่ไม่ดี คือ เกิดโทสะบ่อยๆ และความไม่ดีที่เป็นความโกรธก็สะสมในจิตดวงต่อๆ ไป ทำให้โกรธง่ายขึ้น โดยนัยตรงกันข้าม ผู้ที่สะสมคุณความดี หากว่าจิตดวงก่อน ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดการสะสมต่อไป จิตดวง ใหม่ การสะสม อบรมปัญญา ก็เป็นการสูญเปล่าไป เพราะเมื่อจิตดวงใหม่เกิดขึ้น ก็ทำให้ไม่มีอะไรเลย เพราะไม่ได้สะสมต่อจากจิตดวงเก่า แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ดังนั้น ผู้ที่สะสม อบรมปัญญา มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น อบรมบารมี ๑๐ มาหลายๆ ล้านชาติ สะสม เกิดจิตดวงเก่าและดับไป และเกิดจิตดวงใหม่ก็ยังสะสมอุปนิสัยที่ดี สะสมความดีเอาไว้แต่ครั้งก่อนจนบารมีเต็ม บารมีเต็มก็คือ จิตที่ดีมีกำลังเพราะกุศลที่สะสมมาในอดีตเต็ม มีกำลัง ก็ได้บรรลุเป็พระพุทธเจ้า ด้วยปัญญาที่สะสมมาในอดีตชาตินับชาติไม่ถ้วน ครับ

หากจะอุปมา การเปรียบเทียบของการเกิดดับของจิต เจตสิก ที่เกิดดับสืบต่อ และ เป็นจิตดวงใหม่ และก็ยังเกี่ยวข้องกัน และการสะสมไม่ได้หายไปไหน ท่านพระนาคเสนได้อุปมาไว้ว่า ดังเช่น เทียนที่จุดแล้ว เปลวเทียนในยามหัวค่ำ กับ เปลวเทียนในตอนใกล้รุ่ง ใช่เปลวเทียนเดียวกันไหม ตอบได้ว่า ไม่ใช่เปลวเทียนเดียวกัน แต่เพราะอาศัยเปลวเทียนยามหัวค่ำ ทำให้มีเปลวเทียนตอนเที่ยงคืนและมีเปลวเทียนตอนใกล้รุ่ง และ เปลวเทียนหรือ ความร้อน ก็สะสมต่อไป จากหัวค่ำ จนถึงใกล้รุ่ง ความร้อนก็สะสมมาจนถึงใกล้รุ่งได้ สำหรับเปลวเทียน ฉันใด การสะสมของจิต ที่เกิดขึ้น แม้เป็นจิตดวงใหม่ แต่เพราะอาศัยจิตดวงเก่าที่ดับไป สืบต่อ การสะสมก็ไม่ได้หายไปไหน สะสมต่อไปในจิตดวงใหม่นั่นเอง เพราะอาศัยความเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน ครับ


2. การที่จิตและปัญญารวมทั้งสติรู้ตัวอยู่ว่าอะไรดีควรทำ อะไรไม่ดีไม่ควรทำ เช่น รู้ตัวว่ากำลังขี้เกียจ แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะความขี้เกียจนั้นได้ รู้กระทั่งว่าจิตและ ความคิดพยายามหาเหตุสารพัดมาเป็นเหตุผลให้เบี่ยงเบนการทำงาน แต่ก็ยังเอาชนะไม่ได้ เกิดจากอะไร ทำไมจิตจึงไม่หวังดีกับตนเอง

- การรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ถูกหรือผิด ที่เป็นปัญญานั้น ก็มีหลายระดับ ตามระดับของปัญญา และ กิเลสก็มีหลายระดับ ซึ่ง กิเลสบางประเภท ไม่สามารถที่จะละได้ด้วยปัญญาบางระดับ เพราะฉะนั้น แม้รู้ว่าอกุศลไม่ดี รู้เพียงปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาขั้นการฟัง แม้รู้อยู่ แต่รู้ไม่พอ ก็ยังไม่สามารถละกิเลสได้ จะต้องเป็นปัญญาระดับสูงที่จะสามารถละ ดับกิเลสได้ แม้แต่ความเกียจคร้าน ก็จะต้องละได้ เมื่อถึงความเป็นพระอริยบุคคล บุคคลที่เป็นปุถุชน แม้รู้อยู่ว่าเกียจคร้านไม่ดี แต่จิตที่ไม่หวังดี คือ อกุศลจิตก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะ ปัญญายังไม่พอ ครับ แม้รู้ว่าโกรธไม่ดี แต่รู้เพียงขั้นการฟัง ผู้ที่จะละความโกรธ คือ เป็นพระอนาคามี เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้เพียงขั้นคิดนึก ทำอะไรกิเลสไม่ได้ ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดความโกรธ เกิดอกุศลจิตประการต่างๆ สำหรับความเป็นปุถุชน ดังนั้น หนทางที่ถูก จึงไม่ใช่การไม่ให้อกุศลจิต หรือ จิตที่ไม่ดีเกิดขึ้น เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่การเจริญอริยมรรค เจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา อกุศลก็เป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม สำคัญว่าเกียจคร้านเป็นเราที่ขี้เกียจ เพราะฉะนั้น กิเลสจะต้องละเป็นลำดับ ด้วยการเจริญปัญญาเป็นลำดับ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ที่เป็นการละความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลก่อน ครับ หนทางที่ถูก คือ ค่อยๆ สะสมปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป กิเลสจะค่อยๆ ละไป ทีละน้อย แต่เพราะสะสมมามาก แต่ไม่เหลือวิสัย อดทนที่จะฟังต่อไป ในอนาคตกาล ย่อมละกิเลสได้จริงๆ ครับ


3. ขอคำอธิบายง่ายๆ ชัดๆ อีกครั้ง เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างจิตกับความคิด

จิต เป็นสภาพรู้ แต่เพราะอาศัยจิต จึงคิดได้ ขณะนี้ ที่กำลังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ กำลังเห็นเป็นตัวหนังสือ แปลความหมายว่า เป็นคำนั้น คำนี้ อะไรคิด เพราะ มีจิต ที่คิด ดังนั้น ความคิดก็คือ จิตที่ทำหน้าที่ นึกถึงในสิ่งที่เห็น และ เคยทรงจำว่า ลักษณะตัวอย่างนี้ มีคามหมายอย่างนี้ จึงนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น จิตก็คิดนึก ตามความทรงจำที่เคยจำมา ตามการสะสมของแต่ละคน ดังนั้น จิต หมายถึง สภาพรู้ แต่ จิต มีหลายประเภท จึงเป็นจิตประเภทต่างๆ ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แม้มีจิต แต่ไม่คิดเป็นเรื่องราวก็ได้ เช่น จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นเพียงสีเท่านั้น ยังไม่่ได้คิดว่าเป็นคน เป็นสัตว์ แต่หลังจากจิตเห็นดับไป จิตอื่นก็เกิดต่อ คิดทางใจ เป็นความคิด อันอาศัยจิตอีกประเภท ที่คิดว่า สีนี้ คือ ลักษณะของคนนี้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นสิ่งต่างๆ เพราะอาศัยจิตคิด จึงกล่าวสรุปได้ว่า จิตมีหลายประเภท จิตที่ยังไม่ได้คิดก็มี และ จิตที่คิดเป็นเรื่องราวก็มี เป็นความคิด ต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า ความคิดมีได้ เพราะมีจิต แต่มีจิต โดยไม่คิดก็ได้ ตามตัวอย่าง ที่กล่าวมาข้างต้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ckannikar
วันที่ 25 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่เมตตาสอนให้ค่ะ

ดิฉันเองมีประสบการณ์และเชื่อสนิทใจว่ามีความจำหรือกรรมเก่าที่บันทึกไว้ในจิตจริง (แม้จะลืมไปแล้วในชาตินี้) ตอนนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าตัวตน (กรรมเก่า) มีจริง เพียงแต่ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นให้เป็นทุกข์ ขณะนี้ดิฉันค่อนข้างทุกข์ (แบบรู้ตัว) เพราะเอาชนะกิเลสตัวเองไม่ได้ ก็จะพยายามศึกษาธรรมะต่อไปค่ะ

อนุโมทนาสาธุในจิตเปี่ยมเมตตาของท่านที่กรุณาอธิบายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที จะไม่มีจิตเกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ จิตขณะนี้ ไม่ใช่จิตขณะก่อน เห็นขณะนี้ ก็ไม่ใช่เห็นในขณะก่อน เป็นต้น จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำหรับประเด็นเรื่องกรรม ก็ต้องเข้าใจว่า กรรม คือ เจตนา กรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเกิดร่วมกับจิต ก็ต้องมีจิตในขณะนั้น กรรมที่ทำแล้ว สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ แต่ไม่ใช่เป็นความเที่ยงยั่งยืน เพราะเกิดแล้วดับไป สิ่งที่เคยมี เคยสะสม ไม่ว่าจะทั้งดี และ ไม่ดี ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ จริงๆ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศล
ธรรมหรือกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ บัญชาของใครทั้งสิ้น

กุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ในขณะที่กุศลเกิดย่อม ขัดเกลาอกุศล อกุศลเกิดไม่ได้ในขณะที่จิตเป็นกุศล, ในทางตรงกันข้าม อกุศลธรรมซึ่ง เป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นบาปธรรม เป็นธรรมที่ไม่ดี ให้ผลเป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง ค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีไปทีละเล็กทีละน้อย

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ล้วนเป็นไปเพื่อความ เข้า ใจถูกเห็นถูกทั้งสิ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบในการฟัง ในการศึกษา เมื่อมี ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และเห็นคุณค่าของกุศลธรรม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ ประมาท ไม่ประมาททั้งในกุศลและในอกุศลแม้จะเล็กน้อย เป็นผู้เจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพราะเหตุว่าเมื่อกุศลไม่เกิดขึ้น ไม่เจริญขึ้น ก็เป็นโอกาสของอกุศลที่นับวันจะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

ทุกขณะไม่เคยขาดจิต มีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอด จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะหลับหรือตื่นก็มีจิต ถ้ากล่าวถึงความคิดแล้ว ส่วนใหญ่ อธิบายถึงวิถีจิตทางมโนทวาร ไม่ใช่ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และที่สำคัญในขณะที่คิด ก็ไม่พ้นไปจากจิตแน่นอน เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ พร้อมกับเจตสิกธรรมประการต่างๆ ที่เกิด ร่วมด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 25 มี.ค. 2556

คนที่ชอบให้ทาน ให้ครั้งหนึ่งก็เป็นปัจจัยให้อีก ทางตรงกันขัามถ้าเป็นฝ่ายอกุศล เช่น คนที่โกรธครั้งนึง ความโกรธก็สะสมในจิต ก็เป็นปัจจัยให้โกรธอีก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ckannikar
วันที่ 26 มี.ค. 2556

ขอบพระคุณทุกท่านที่เมตตาสอนค่ะ

ดิฉันมีพื้นฐานน้อยมาก ปัญญาก็ยิ่งน้อย เมื่อได้รับข้อมูล สิ่งที่เกิดเสมอคือคำถาม ไม่ทราบว่าสมควรหรือไม่ หากจะถามต่อว่า "ทุกขณะไม่เคยขาดจิต มีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอด" นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดใช่ไหมคะ จิตดับก็เลิกเกิดใช่ไหมคะ แล้ว"จิตว่าง" ยังเกิดไหมคะ "กรรม คือ เจตนา" กรรมที่ไม่มีเจตนา เช่น มองไม่เห็นเลยไปเหยียบมดตาย เกิดกรรมไหมคะ หากไม่สมควรอย่างไร ต้องขอโทษและกรุณาสอนสั่งนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดใช่ไหมคะ จิตดับก็เลิกเกิดใช่ไหมคะ แล้ว"จิตว่าง" ยังเกิดไหมคะ จิตเมื่อเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นเกิดต่อ ครับ ส่วนประเด็นเรื่องจิตว่าง

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

จิตว่างคือ?

"กรรม คือเจตนา"กรรมที่ไม่มีเจตนา เช่น มองไม่เห็นเลยไปเหยียบมดตายเกิดกรรมไหม เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

เดินเหยียบมด

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ckannikar
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ดิฉันมีประสบการณ์จริงหลายเรื่อง เรื่อง 1 คือ ดิฉันเคยทำร้ายคนโดยไม่แน่ใจว่าเป็นเจตนาหรือไม่ ดังนี้ คือ ดิฉันขับไปคนเดียวแล้วจอดรถข้างทาง ระหว่างที่กำลังหยิบกระเป๋าสตางค์และสิ่งของข้างที่นั่งก่อนลงจากรถไปซื้อของ ปรากฏว่ารู้สึกเหมือนมีเสียงบอกในหัว (หรือความคิด) ดิฉันว่าให้เปิดประตูรถข้างคนขับโดยให้กระชากออกไปเลย ดิฉันจึงเปิดประตูรถกระชากออกไปโดยไม่มองกระจกมองข้าง ผลคือกระแทกอย่างจังเข้ากับคนขับรถมอเตอร์ไซค์ที่กำลังขับมา รถล้ม เขาบาดเจ็บ ดิฉันรีบขอโทษและ ถามเขาว่าเป็นอะไรไหม ไปหาหมอไหม แต่ดิฉันรับรู้ได้ว่าใจจริงดิฉันไม่ได้อยากพาเขาไป เพราะจะเสียเวลาซื้อของ เมื่อเขาไม่ได้ตอบทันที ดิฉันจึงรีบตัดบทว่า ไม่เป็นอะไรนะ แล้วดิฉันก็เหมือนแล้วเลยกันไป ไม่ใยดีเขาอีก ดิฉันมาคิดทบทวนดูแล้ว ไม่เข้าใจว่า ทำไมดิฉันจึงใจดำกับเขาได้ขนาดนี้ ทั้งที่ปกติเป็นคนขี้สงสารคนไม่น้อย ดิฉันคิดว่าเขาคงเจ็บไม่น้อย ดิฉันยังนึกได้ถึงแววตาโกรธแค้นของเขา แล้วอะไรเป็นเสียงที่บอกให้ดิฉันทำ เมื่อผ่านเลยมา ดิฉันจึงได้แต่นึกขอโทษเขาทางใจ เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเสียใจกับการกระทำของตนเอง ขอความกรุณาอธิบายด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 28 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

เมื่อยังเป็นปุถุชน หนาด้วยกิเลส ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเรามากไปด้วยความไม่ดี คือ มีอกุศลเกิดมาก แต่เพราะไม่รู้ความจริงว่าขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล ก็ทำให้สำคัญผิดว่าเป็นคนดี แท้ที่จริง เต็มไปด้วยอกุศลในจิตใจมากมาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมดา ที่จะเกิดอกุศลที่จะไม่ช่วยเหลือ เกิดความเห็นแก่ตัว เพราะมีเหตุที่เป็นกิเลสที่สะสมมามากเป็นหตุ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ckannikar
วันที่ 28 มี.ค. 2556

ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่เคยสำคัญตนว่าดี มีเมตตา แต่ที่จริงมีความเห็นแก่ตัวและใจร้ายอย่างไม่น่าให้อภัย ดิฉันยังเห็นความเลวร้ายในตัวเองอีกมากมายที่ผุดขึ้นเป็นระยะๆ บางอย่างแม้แต่ตัวเองก็ยังสะดุ้งกับความเลวร้ายที่พบ จึงพยายามกำลังจะค้นหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมดิฉันจึงเลวร้ายได้ถึงขนาดนั้น และที่สำคัญที่สุด คือ แล้วทำอย่างไรจะหมดความเลวร้ายเหล่านั้น

ดิฉันทราบว่าการพยายามศึกษาธรรมะ ต้องใช้ความเพียรและสติปัญญาเพียงหวังว่าจะพบคำตอบได้เร็วขึ้นจากผู้เมตตา เกรงว่าสติและปัญญาของตนเอง จะน้อยเกินไปจนมีเวลาไม่พอที่จะค้นพบ

อีกอย่างคือ ดิฉันไม่อยากทำผิดเพิ่มอีก แต่ทุกวันดูเหมือนดิฉันยิ่งทำบาปกรรมเพิ่ม ได้แทบทุกวัน นอกจากการฝึกสติ (ซึ่งดิฉันมีน้อยมากและไม่กล้าแข็งเลย) อยากได้ คำแนะนำจากผู้ที่เมตตาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
boonpoj
วันที่ 30 มี.ค. 2556

ผม เป็นสมาชิกใหม่ครับ อยากเรียนถามท่านผู้รู้ คือว่า ทุกคนที่เกิดมาย่อมมีกรรมติดตัวมา ต้องมาใช้กรรมเก่าของตัวเองใช่ไหมครับ ถ้าหากว่าเราไปช่วยเขาให้พ้นทุกข์ หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สบายขึ้น เราจะต้องรับกรรมแทนเขาหรือเปล่า เหมือนกับว่า เขาต้องโทษ ต้องติดคุก แล้วเราช่วยพาเขาหนี เราจะต้องติดคุกแทนเขาหรือเปล่าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

การจะไม่ทำบาปอีกเลย คือ เป็นพระอรหันต์ ผู้ที่ไม่ล่วงศีลห้าอีก คือ เป็น พระโสดาบัน ดังนั้นเป็นธรรมดาของปุถุชนที่ยังจะทำบาปเป็นธรรมดา แต่ที่สำคัญ ควรที่จะอบรมปัญญาในแนวทางที่ถูกต้อง อย่าไปฝึกสติเอง ที่จะเป็นหนทางที่ผิด ขอให้ฟังแนวทางนี้ ที่ถูกต้องดีกว่า จะไปทำเอง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

ทุกคนเกิดมาก็ต้องได้รับผลของกรรม จากกรรมที่ได้กระทำมา มีเห็นดี ไม่ดี เป็นต้น ซึ่งไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้เลย ส่วนการช่วยเหลือ ก็ต้องดูว่า การช่วยเหลือนั้น เป็นไปในทางที่ทำบาปไม่ถูกต้องหรือไม่ เช่น ช่วยฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น หากช่วยเหลือในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้ตนเองได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีในอนาคต เพราะบาปที่ตนเองกระทำเป็นการช่วยเหลือในการทำบาป ครับ

ขออนุโมทนา และ ขอต้อนรับในเวปนี้นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
boonpoj
วันที่ 30 มี.ค. 2556

ขอบคุณที่ท่านได้ตอบคำถามของผม ผมได้อ่านคำถามหลายๆ เรื่อง และคำตอบของหลายๆ ท่าน บางครั้งก็เกิดความสับสนขึ้นมาบ้าง ต้องตั้งสติ คิดนานๆ ถึงจะเข้าใจ ต้องขอขอบคุณที่มีข้อมูลธรรมมะดีๆ ให้ได้ศึกษานะครับ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ckannikar
วันที่ 1 เม.ย. 2556

เรียนท่าน Paderm ความคิดเห็นที่ 14

"ควรที่จะอบรมปัญญาในแนวทางที่ถูกต้อง อย่าไปฝึกสติเอง ที่จะเป็นหนทางที่ผิด ขอให้ฟังแนวทางนี้ ที่ถูกต้อง ดีกว่าจะไปทำเอง" ดิฉันไม่เข้าใจค่ะ กรุณาแนะนำเพิ่มเติม

-การอบรมปัญญาที่ถูกต้อง

-อย่าไปฝึกสติเอง

-ฟังแนวทางนี้

คืออย่างไรคะ

ขอบพระคุณที่เมตตาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
paderm
วันที่ 3 เม.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 18 ครับ

-การอบรมปัญญาที่ถูกต้อง

ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม โดยเริ่มจากคำว่า ธรรมคืออะไร ให้เข้าใจถูก ปัญญาขั้นการฟังที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติ โดยไม่มีตัวเราจะไปพยายามปฏิบัติ

-อย่าไปฝึกสติเอง

เพราะยังไม่มีความเข้าใจถูกเบื้องต้นในขั้นการฟัง การจะฝึกสติเอง แสดงถึง ความเป็นตัวตนด้วยความเป็นอัตตา ที่จะบังคับสติ แท้ที่จริง สติจะเกิดเอง โดยไม่ต้องไปพยายามที่จะฝึก สติจะเกิดจากการฟังจนมั่นคง ครับ

-ฟังแนวทางนี้

แนวที่เข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ สำคัญมาก

เริ่มต้นศึกษาพระธรรมคือการรู้จักธรรมะก่อน

สำหรับผู้เริ่มต้น

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
ckannikar
วันที่ 3 เม.ย. 2556

สาธุ ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ จะพยายามค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
peem
วันที่ 10 พ.ค. 2556

ขอขอบคุณและอนุโมทนาคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ