เกี่ยวกับจิต

 
นิรมิต
วันที่  26 มี.ค. 2556
หมายเลข  22688
อ่าน  2,144

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีคำถามอยากขออนุญาตกราบเรียนถามดังนี้ครับ

1. อภิญญา ที่เป็นจักษุทิพย์และโสตทิพย์ เมื่อปรารถนาจะเห็นด้วยจักษุทิพย์ ก็ไม่ได้เห็นทางปัญจทวาร แต่เห็นทางมโนทวาร และเมื่อปรารถนาจะได้ยินด้วยโสตทิพย์ ก็ไม่ได้ได้ยินทางปัญจทวาร แต่ได้ยินทางมโนทวาร ใช่หรือเปล่าครับ ซึ่งถ้าเป็นทางมโนทวาร ก็ต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะที่ได้ยินหรือเห็น ขณะนั้นลักษณะก็เสมือนกับนึกคิดถึงสี หรือนึกคิดถึงเสียง เอาเองหรือเปล่าครับ หรือเป็นเสียงที่ปรากฏทางมโนทวาร แต่ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย

2. เทวดาดลใจ อย่างเช่นที่มีแสดงไว้ว่า ในขณะฝันอาจเกิดเพราะเทวดาดลใจได้ ซึ่งขณะนั้นมีเฉพาะมโนทวารวิถีเท่านั้น ปัญจทวารก็ถูกกั้นไว้หมด ไม่ทราบว่า เทวดาสามารถดลใจได้ด้วยลักษณะอย่างไรครับ คือ เหตุใดจึงสามารถบรรดาลฝัน ซึ่งเป็นมโนทวารวิถีของคนๆ หนึ่ง ให้เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ ทำให้บุคคลนั้นเกิดวิตกเจตสิก นึกถึงสีหรือเสียงที่ปรากฏเป็นความฝันในมโนทวารให้เป็นไปอย่างนั้นๆ ได้ดั่งต้องการ เช่น ดลใจให้ฝันเห็นคนๆ นั้น คนๆ นี้

หรืออย่างกรณีท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านก็เป็นพระอริยบุคคล ไม่ทราบว่ามาร ทั้งๆ ที่เป็นปุถุชน ดลใจอย่างไรจึงทำให้พระอานนท์ไม่สามารถทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงไม่ปลงอายุสังขารได้ มารดลใจโดยตรงยังมโนทวารวิถีได้อย่างไรครับ เพราะแต่ก่อนเข้าใจว่า การดลใจของเทพทั้งหลาย น่าจะต้องอาศัยปัญจทวาร เนรมิตสี เนรมิตเสียงหรือเนรมิตสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้บุคคลนั้นน้อมใจไปที่จะตรึก หรือคิดในทำนองนั้นที่ตนต้องการ แต่ในกรณีอย่างนี้ ก็ไม่ปรากฏการชักจูงด้วยปัญจทวาร แต่กระทำโดยตรงไปยังมโนทวารวิถีได้ จึงสงสัยว่ากระทำได้อย่างไรครับ

3. สติ สามารถระลึกในฝันได้ไหมครับ แล้วถ้าระลึกแล้วจะต้องรู้ตัวหรือไม่ว่าขณะนั้น คือมโนทวารวิถีไม่ใช่ปัญจทวาร เพราะขณะนั้น ไม่ได้กระทบอะไรทางอายตนะทั้ง 5 เลย มีแต่มโนทวารวิถีทั้งนั้น ที่ปรากฏเสมือนกำลังกระทบสีจริงๆ กระทบเสียงจริงๆ ใน ขณะที่เป็นฝัน ต่อเมื่อตื่น จึงจะทราบความต่าง แต่ขณะฝันก็ไม่ทราบเลย เพราะก็เคยฝันว่าฟังธรรมบ้าง ฝันว่าสติเกิดระลึกบ้าง แต่ไม่รู้ว่านั้นเป็นมโนทวาร ยังคิดว่าเป็นสีมากระทบจริงๆ เสียงกระทบจริงๆ ต่อเมื่อตื่นจึงรู้ เลยสงสัยว่าขณะนั้นเป็นสติเจตสิกรึเปล่า แล้วเป็นได้หรือไม่ครับที่สติจะเกิดในฝัน

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


Tag  จิต  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ครับ

-ทุกขณะไม่เคยขาดจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่การได้เห็นด้วยตาทิพย์ (ทิพพจักขุ) และ การได้ยินด้วยหูทิพย์ (ทิพพโสตะ) ก็ไม่พ้นจากจิต เป็นจิต แต่ไม่ใช่จิตของคนทั่วไป แต่เป็นจิตของผู้ที่ได้ฌาน ซึ่งเป็นผลของการอบรมเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน ชำนาญ คล่องแคล่ว ว่องไว และประการที่สำคัญ การที่จะมีเห็นด้วยตาทิพย์ก็ต้องมีจักขุปสาทะ มีสีกระทบกับจักขุปสาทะ และการที่จะได้ยินด้วยหูทิพย์ก็ต้องมีโสตปสาทะ และมีเสียงกระทบโสตปสาทะ ซึ่งเป็นความพิเศษของบุคคลเหล่านี้ที่สามารถเห็นด้วยตาทิพย์และได้ยินด้วยหูทิพย์ ซึ่งเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร สืบเนื่องจากทางตาและทางหู นั่นเอง ตามความเป็นจริงของธรรมในขณนั้น ก็ต้องมีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำกิจหน้าที่ของวิตักกเจตสิกด้วย เพราะเหตุว่าวิตักกเจตสิก ไม่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่เป็นผลของกุศลและอกุศล และไม่เกิดกับทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และ ปัญจมฌาน ซึ่งเป็นฌานขั้นที่สามารถละวิตักกะ ได้

-แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ทั้งหมดก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นจริงแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน สำหรับประเด็นเทวดาดลใจ เทวดานั้น มี ๒ พวก คือ พวกที่ประสงค์ดี กับ พวกที่ประสงค์ร้าย ถ้าประสงค์ดี ก็แสดงถึงเหตุที่จะทำให้บุคคลอื่นเกิดกุศลจิต เป็นไปในเรื่องต่างๆ ได้ และก็ต้องขึ้นอยู่กับการสะสมมาของผู้นั้นด้วยที่จะได้เกิดกุศล เป็นกุศลของตนเองในขณะนั้น ในทางตรงกันข้าม เทวดาที่ประสงค์ร้าย ก็แสดงถึงสีหรือเสียงต่างๆ ที่น่ากลัว ด้วยความไม่หวังดีต่อผู้นั้น ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากอกุศลจิต และเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังละกิเลสไม่ได้ ที่จะทำให้หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล ตรึกนึกคิดไปในอารมณ์ที่ได้ประสบด้วยอกุศล จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า เพราะยังมีอกุศลจึงถูกครอบงำด้วยอกุศลเป็นธรรมดา ซึ่งเหตุจริงๆ แล้วคือ เพราะยังไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น นั่นเอง

ผู้ที่ถูกมารดลใจได้ ก็เพราะยังมีกิเลสอยู่ ยังละวิปลาสไม่ได้ มารมาเปล่งเสียง หรือแสดงรูปที่น่ากลัว ก็เป็นเหตุให้ผู้นั้นซึ่งละกิเลสไม่ได้ หวั่นไหวไปด้วยความกลัว เป็นไปกับด้วยอกุศล มีการตรึกนึกคิดเป็นไปกับด้วยอกุศล ด้วยความกลัว ไม่สบายใจ ในขณะนั้นกุศลเกิดไม่ได้ พระอานนท์ในขณะที่ถูกมารดลใจก็เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุจริงๆ คือ ละกิเลสไม่ได้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เพราะยังมีกิเลสอยู่ จึงถูกมารที่เป็นเทวปุตตมารครอบงำได้ ซึ่งจะต้องอาศัยหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เริ่มต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสได้

-สภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ที่ตั้งให้สติปัฏฐานเกิดได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นได้อบรมเจริญเหตุ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง จนกระทั่งมีความเข้าใจอย่างมั่นคงในความเป็นจริงของธรรมว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง มากน้อยเพียงใด สำคัญอยู่ที่เหตุจริงๆ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ย่อมเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ขณะที่ฝัน เป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ขณะที่ฝัน ต้องเป็นกุศลหรืออกุศลเท่านั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นสภาพธรรมที่มีจริงก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ แต่ต้องเป็นผู้มีปัญญาไวต่อการระลึกรู้สภาพธรรมแม้ในขณะที่ฝัน แต่ก็เป็นที่น่าพิจารณาสำหรับผู้ศึกษาพระธรรมว่า แม้ในขณะไม่ฝัน สติปัฏฐานยังไม่เกิด แล้วจะไปเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่ฝันได้อย่างไร ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เข้าใจในส่วนที่พอจะเข้าใจได้ ตามกำลังปัญญาของตนๆ ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อต่อไปนี้ ครับ

ผู้ที่มีจักขุทิพย์ โสตทิพย์ จะเห็น จะได้ยินทางไหน

มารดลใจ การเข้าสิง

สติปัฏฐานเกิดขณะหลับได้มั้ย

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ในประเด็นเรื่องจักษุทิพย์นั้น พระธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก สำหรับโดยทั่วไป ขณะที่เห็น จะต้องมีสีเป็นอารมณ์ที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ที่ละเอียดลงไปกว่านั้นอีก คือ เมื่อเห็นแล้ว ทางปัญจทวารยังไม่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด วิถีแรก คือ มโนทวาร ก็เกิดต่อ รับรู้อารมณ์ คือ ปรมัตถอารมณ์นั้นต่อ คือ รู้สีนั้น และ หลังจากวิถีจิตแรกดับไป ก็มีมโนทวารวิถีจิตเกิดต่ออีก โดยคิดนึกต่อจากสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ นึกถึงรูปร่างสัณฐานที่เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถแล้ว ดังนั้นผู้ที่อบรมฌาน ได้จักษุทิพย์ ก็สามารถเห็นได้ละเอียด แต่เห็น ไม่ใช่เห็นโดยที่เป็นทางปัญจทวาร แต่เพราะกำลังของฌานที่ได้ ทำให้เห็นโดยการนึกถึงที่เป็นรูปร่างสัณฐานที่เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถจริงๆ ครับ

2. สำหรับคำถามที่สอง แบ่งเป็นสองคำถาม คือ

1. ทำไมเทวดาดลใจขณะที่ฝันได้

2. มารดลใจพระอานนท์ได้อย่างไร

ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจพื้นฐานครับว่า ต่างจิตต่างใจ จิตเมื่อเกิดขึ้น จะต้องอาศัยที่เกิดคือรูป เพราะฉะนั้น จิตของคนอื่นก็ไม่สามารถจะมาเกิดที่จิตของอีกคนได้เลย เพราะไม่ได้อาศัยรูปเดียวกัน จิตของใครก็ต้องเกิดที่รูปของคนนั้นเป็นสำคัญ

คำว่า ดลใจ จึงไม่ได้หมายถึงสามารถบังคับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ตามใจชอบ และ ไม่มีใจอีกใจที่มาดลใจ แต่ ดลใจ คือ ใจที่เป็นไปตามการสะสมของบุคคลนั้น ใจที่มีกิเลส ตัวกิเลสนั่นเองที่ดลใจให้บุคคลนั้นคิดอย่างนั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลอื่นมาดลใจ เพราะในความเป็นจริงไม่มีสัตว์บุคคล มีแต่ธรรมที่ไม่ใช่เรา ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นและดับไป ครับ

ดังนั้น ในคำถามที่เรื่อง เทวดาดลใจในขณะที่ฝัน ก็คือ จิตของเทวดาไม่ได้มาเกิดในจิต หรือ ในรูปของคนอื่น แต่เพราะว่า เทวดาสามารถทำให้รูปของคนอื่น หรือ ทำกับร่างกายของบุคคลนั้นให้ไหวไป เป็นต้น เพราะขณะที่ฝันไม่ได้หลับสนิท แสดงว่า สามารถเกิดวิถีจิตทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ใช่ไหมครับ และแม้หลับตาก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เห็น เช่น ลองหลับตาตอนนี้ เห็นอะไรไหมครับ บางทีอาจตอบว่าไม่เห็น แต่จริงๆ แล้ว เห็นแต่เห็นสีดำๆ มืด ก็ถือว่าเห็นอยู่ดี แต่เห็นน้อยเพราะไม่มีแสงที่ช่วยมาก ดังนั้น เทวดาดลใจ ก็สามารถทำภาพที่เป็นนิมิตสว่างต่อหน้าบุคคลที่กำลังนอนอยู่ ให้เป็นภาพนิมิตอย่างนั้น อาศัยแสงสว่างที่จ้าย่อมสามารถเห็นเป็นเค้าโครงของสิ่งนั้นได้ ครับ ยกตัวอย่าง ถ้าเราใช้ไฟฉาย ลองส่องมาที่ตาขณะที่หลับ ย่อมเห็นสีที่ชัดมากกว่าไม่มีแสงเลย แม้จะหลับตาเหมือนกัน ฉันใด การที่เทวดาแสดงนิมิต แสงสว่าง ในขณะที่ไม่ได้หลับสนิท ต่อหน้าในขณะที่หลับ ย่อมทำให้ผู้นั้นเกิดการคิดนึกในสิ่งที่เห็นได้ เพราะทำให้เกิดการเห็นขึ้นในขณะนั้น ก็ทำให้เห็นเป็นรูปร่างต่างๆ ตามที่เทวดานิมิตเป็นแสงสว่างต่อหน้าให้เห็น ครับ เราจึงเรียกว่าเทวดาดลใจ แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็วิถีจิตของตนเองนั่นแหละที่เกิดขึ้น เห็นเป็นลักษณะอย่างนั้น จาก ปัญจทวารวิถี สู่ มโนทวารวิถี ที่คิดนึกตามรูปร่างสัณฐาน ครับ เหมือนตอนที่เราคิดว่าเราหลับ มีคนมาทำอะไรกับเราสักอย่าง เช่น เขย่าตัว เราก็ฝันว่า มีคนเขย่าตัว บอกว่า ฝันว่าอย่างนั้นก็คิดนึกตามรูปร่างกายที่ถูกเขย่าก็ได้ ครับ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เปรียบเทียบในเรื่องเทวดาดลใจในขณะที่ฝัน ซึ่งเป็นความละเอียดของพระธรรม

ส่วนคำถามที่ 2 ที่ท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจตามที่กล่าวแล้ว ไม่มีจิตหรือใจของใคร จะไปเกิดซ้อนกับใจของคนอื่นแทนได้ หรือ บังคับได้ เพราะไม่มีใคร ไม่มีสัตว์บุคคลที่จะบังคับ ดังนั้น อะไรที่ดลใจพระอานนท์กันแน่ นั่นคือ กิเลสของท่านพระอานนท์เอง ที่ดลใจท่านไม่ให้ทูลถามเรื่องที่จะให้อยู่ต่อ ดำรงชีวิตอยู่ตลอดกัป เพราะโทสมูลจิตของท่านพระอานนท์เกิดขึ้น เมื่อเห็นรูปร่างน่ากลัวที่มารบันดาลให้เห็น ขณะที่โทสะเกิด พระพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ข้อหนึ่งว่า หากว่าโทสะเกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมไม่เห็นอรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะ โมหะ ก็โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขณะที่กิเลสเกิด มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อความไม่รู้มี ปัญญาก็เกิดไม่ได้ สิ่งที่ควรทำก็ไม่ได้ทำ เพราะไม่มีปัญญาในขณะนั้น กิเลสของท่านพระอานนท์เอง จึงดลใจที่จะไม่ให้ทำกิจที่ควรทำ ครับ

3. คำถามที่ว่า สติเกิดในความฝันได้หรือไม่

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจว่า ฝัน คือ อะไร ฝัน คือ ขณะที่คิดนึก ที่เป็นมโนทวาร คิดนึกโดยมีบัญญัติเรื่องราวเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ ขณะที่มีปรมัตถ หรือ สภาพธรรมที่มีจริงเป็นอารมณ์ คือ เช่น สี เสียง กลิ่น รส จิตประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝัน อะไรมีจริง เรื่องที่ฝันไม่มีจริงแน่นอน แต่มีสิ่งที่มีจริง คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก ที่กำลังเกิด ในขณะนั้นที่กำลังนึกคิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาเจริญอบรมอย่างคล่องแคล่ว มีกำลัง สติก็สามารถเกิดได้แม้ในขณะที่ฝัน เพราะสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิตในขณะที่นึกคิดนั้น ซึ่งจะต้องไม่ลืมครับว่า สติปัฏฐานไม่ใช่การคิดนึกเป็นเรื่องราว จะต้องมีตัวปรมัตถจริงๆ เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มอบรมปัญญา จึงมิใช่ฐานะที่เกิดสติปัฏฐานในขณะที่ฝัน เนื่องจากชวนจิตขณะที่ฝัน และอารมณ์มีกำลังอ่อน จึงยากสำหรับผู้ที่มีปัญญาน้อย แต่ผู้มีปัญญามาก ก็ย่อมเกิดได้ เป็นธรรมดา ตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ครับ อย่างเช่น ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะลุกขึ้น เป็นต้น ก็สามารถเกิดสติปัญญา ในขณะที่เรียกว่าฝัน แท้ที่จริงก็คือ ขณะที่มโนทวารวิถีเกิด นั่นเอง ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าสำเร็จสีหไสยยาส ทรงมีสติ สัมปชัญญะอยู่ เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 28 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 28 มี.ค. 2556

อ่านแล้วได้ความรู้ความเข้าใจมากครับ

กราบขอบพระคุณ และขอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประวิทย์พลีไพร
วันที่ 28 มี.ค. 2556

ละเอียด ลึกซึ้ง เกิดปัญญา ขอบพระคุณในธรรมที่แสดงครับ ชัดเจนมาก

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 26 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ