ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ประเทศพม่า ๔ - ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ [ย่างกุ้ง-ตอนจบ]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  6 เม.ย. 2556
หมายเลข  22729
อ่าน  2,580

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การนำเสนอภาพและความสนทนาธรรม สำหรับการเดินทางไปพม่า ของชาวชมรมบ้านธัมมะ มศพ. และ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จะจบลงในตอนนี้ คือ วันที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเดินทาง ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้า ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น โดยได้นัดแนะกับอาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ รูมเมทของข้าพเจ้า เพื่อจะขึ้นไปถ่ายภาพพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ยามเช้า ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน สวยงามจากห้องจัดเลี้ยงบนชั้นที่ห้า ของโรงแรมที่เราพัก

ความจริง เราขึ้นมาถ่ายภาพพระมหาเจดีย์ไว้แล้วแต่เมื่อคืน ซึ่งภาพที่ได้จะมีฉากหลัง ที่ดำสนิท ต่างกับในยามเช้า ที่แม้ยังไม่เห็นแสงพระอาทิตย์ ฉากหลังก็จะออกสีน้ำเงิน สวยงาม และ เริ่มเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ เราทั้งสองต่างคนต่างเก็บภาพเป็นระยะๆ

จนคิดว่าได้ภาพ พอที่จะนำมาฝากทุกๆ ท่านได้แล้ว จึงพากันลงมาอาบน้ำ และ ข้าพเจ้าได้แยกไปเดินในสวนสาธารณะที่ติดกับโรงแรม ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่เป็นทะเลสาป Kandawgyi กลางกรุงย่างกุ้ง มองเห็นได้โดยรอบ จากโรงแรมที่เราพัก

ส่วนอาจารย์วิชัย ยังติดใจกับภาพพระมหาเจดีย์ หลังอาบน้ำจึงได้ขึ้นไปถ่ายภาพอีก และได้ภาพที่มีแสงพระอาทิตย์ส่องแสงทาบองค์พระเจดีย์ เห็นสีทองงดงาม มาฝากทุกๆ ท่านด้วย ดังภาพด้านล่างนี้ครับ

โดยในวันนี้ ตามโปรแกรม จะมีการพาไปเที่ยวชมพระมหาเจดีย์ชเวดากองอีกครั้ง ในตอนเช้า หลังจากนั้นก็ไปชมพระนอนตาหวานและ ที่อื่นๆ

สำหรับท่านที่ไม่ไป ก็อยู่ร่วมการสนทนาธรรมที่โรงแรม Kandawgyi Palace Hotel ที่พัก ข้าพเจ้าและอาจารย์วิชัย ได้ตกลงแยกกันทำหน้าที่บันทึกภาพ โดยข้าพเจ้าอยู่ทำการบันทึกภาพการสนทนาธรรม และ นำความธรรมะมาฝากทุกท่าน

ยามเช้า กลางกรุงย่างกุ้ง กับบรรยากาศของสะพานไม้ ที่ทอดยาวโดยรอบทะเลสาป มีชาวพม่า ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และ คนหนุ่มสาว พากันมาเดินออกกำลังกาย เป็นภาพที่ดูสงบ สดชื่น รายรอบไปด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่สำคัญคือ สามารถมองเห็นพระมหาเจดีย์ชเวดากองได้อย่างงดงามที่สุด

แม้ว่าการได้เห็นสิ่งดีๆ ที่สวยงาม เป็นผลของกุศลกรรมที่บุคคลได้กระทำไว้ แต่การเห็นนั้น ก็หมดไป ดับไป ไม่กลับมาอีก บุคคลก็ยังติดข้อง ต้องการที่จะได้เห็นอีก เห็นอีก และ เห็นอีก เป็นปรกติในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สำคัญที่สุด ของผู้ที่ได้ศึกษาธรรม และ เริ่มเข้าใจ ย่อมเป็นเหตุให้มีการตรึก การคิด พิจารณา การระลึก ศึกษา สังเกตุ สำเหนียก ดังที่ท่านอาจารย์เคยเตือนเสมอๆ ว่า ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นคำที่ลึกซึ้ง ด้วยว่า ขณะนี้ ไม่เฉพาะ เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่มีเสียง ที่ปรากฏ ทางหู มีกลิ่น ปรากฏทางจมูก มีเย็น หรือ ร้อน อ่อน หรือ แข็ง ตึง หรือ ไหว ที่ปรากฏทางกาย และ ใจ ที่คิดนึก

ทุกขณะ ที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง เกิดขึ้น แล้วดับไป แล้วมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร หาความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ได้ เป็นแต่เพียงธาตุ หรือ ธรรมะ หรือ สิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป ความเข้าใจจากการฟัง บ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นประโยชน์ในทุกที่ ทุกสถาน

เมื่อเดินกลับมาถึงโรงแรม ก็ได้เวลาอาหารเช้าพอดี ที่ห้องอาหาร ได้พบกับเชฟสาวชาวไทยจากปราจีนบุรี ที่บอกว่ามาทำงานที่นี่ถึงสิบเจ็ดปี เธอยืนต้อนรับและลงมือทำเย็นตาโฟที่เธอบอกว่าเป็นสูตรเธอเอง ที่สำคัญ มีขนมจีนพม่า ที่ข้าพเจ้าอยากลองชิมด้วย ซึ่งหลายท่านเตือนไม่ให้ทานแถวข้างถนน เพราะอาจทำพิษแก่ท้องได้ แต่เมื่อได้ตักชิมคำแรก ก็รู้สึกว่าไม่ชอบ ขนาดที่คิดว่าตัวเองกินง่าย อยู่ง่าย เลยคิดถึงคำของไกด์ทัวร์ว่า อาหารพม่า ไม่ค่อยถูกปากคนไทย เห็นจะจริงตามนั้น

แต่ก็ไม่ต้องห่วงเลยครับ เพราะที่นี่ มีอาหารนานาชาติ หลายชนิดให้เลือกรับประทาน การมาพม่าครั้งนี้ อย่างที่เคยกล่าวแล้วนะครับ ว่ามีการบริการดูแลอย่างดี ที่พักดี อาหารดี ทุกมื้อ ตลอดการเดินทาง ต้องขอขอบพระคุณในความเอาใจใส่ของทุกท่าน โดยเฉพาะคุณเล็ก (สุรภา ภวนานันท์) คุณเต้ย (เผดิม ยี่สมบุญ) และ คุณวรรณี แซ่โง้ว ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านนะครับ

หลังอาหารเช้า ยังมีเวลาเหลือก่อนการสนทนาธรรม ที่จะเริ่มขึ้นในเวลา ๙.๐๐ น. ข้าพเจ้าจึงมีโอกาส เดินย่อยอาหาร พร้อมทั้งสำรวจรอบๆ บริเวณโรงแรม เพื่อเก็บภาพมาฝากทุกท่าน อย่างที่ได้เห็นนะครับ ว่าโรงแรมกลางกรุงย่างกุ้งแห่งนี้ โอบล้อมด้วยทะเลสาป Kandawgyi มีทัศนียภาพที่สดชื่น เย็นสบาย มีต้นไม้ร่มครึ้ม เหมาะแก่การพักผ่อน เป็นอย่างยิ่ง

สมควรแก่เวลา อันดับต่อไป ข้าพเจ้าขอนำความการสนทนาธรรม ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งบัดนี้ การสนทนานั้น ได้กลายเป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ท่านอาจารย์ได้สนทนาไว้ ณ โรงแรม Kandawgyi Palace Hotel กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ ดังมีใจความบางตอนดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

คุณคำปั่น ท่านผู้ฟังท่านนี้ ท่านก็มีความสงสัยว่า "ศึกษา ทีละคำ" ศึกษา ทีละคำ ที่จะไม่เป็นการติดในคำ ที่จะเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลจริงๆ ในการศึกษานั้น เป็นอย่างไรครับ? กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืม นะคะ ว่า ศึกษาธรรมะ เพื่อ อะไร? ทุกนาที มีค่า เราไม่ควรจะปล่อยให้ผ่านไป โดยเฉพาะ เวลาที่มีความสนใจ ที่จะฟังธรรมะ ก็ต้องรู้จุดประสงค์จริงๆ ว่า ศึกษา เพื่ออะไร? ไม่อย่างนั้น จะไม่ได้ประโยชน์เลย ถ้าศึกษา "ชื่อต่างๆ " โดยที่ไม่เข้าใจ "สิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้" จะได้ประโยชน์ไหม? มีแต่ชื่อ แล้วก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆ

เพราะฉะนั้น ที่ว่า "ศึกษาธรรมะ ทีละคำ" เพื่อที่จะได้ เข้าใจ "คำ" ที่ได้ฟัง จริงๆ ไม่ใช่คิดว่า เข้าใจแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ที่จะขอกล่าวแล้ว กล่าวอีก ก็คือว่า ไม่ควรจะประมาท พระพุทธพจน์ เพราะเหตุว่า แต่ละคำ เป็นสิ่งที่มีค่า ประมาณไม่ได้เลย เพราะว่า มาจากการทรงบำเพ็ญพระบารมี นานแสนนาน พระบารมีนี้ก็ไม่ใช่ง่ายเลย ยิ่งกว่าใครจะทำได้ เพื่อถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือ สาวก แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รู้ความจริง ของสิ่งซึ่ง แม้กำลังปรากฏ แต่ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย

เพราะฉะนั้น แต่ละคำ ไม่ใช่ประมาท ทุกคำ ต้องไตร่ตรอง วาจาสัจจะ ว่าเป็นคำจริง คำนั้น ต้องพิสูจน์ได้ เข้าใจได้ มีในขณะนี้ ให้รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น ถ้าใครประมาท จะไม่ได้รับสาระ จากพระธรรมเลย

แต่การที่ไม่ประมาท ก็จะเห็นพระมหากรุณาคุณอย่างยิ่ง ถ้าขณะนี้ เราได้ฟังธรรมะ แล้วเรามีความเข้าใจธรรมะ เราจะคิดถึงคนที่ไม่เข้าใจไหม? ว่าเมื่อไหร่? เขาจะสามารถมีความเข้าใจ ถึงความจริง ที่เขาเกิดมาแล้ว ไม่รู้ความจริงไปโดยตลอด จนถึงตาย แล้วก็เกิดอีก ก็ไม่รู้อีก ไม่รู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานไปแล้ว กี่พระองค์ ก็ยังคงไม่รู้ไปนั่นแหละ

ด้วยเหตุนี้ การที่จะเป็นผู้ที่เคารพอย่างสูงสุด ในพระรัตนตรัย ก็คือว่า ฟังพระธรรม ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพราะรู้ว่า การเคารพอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่ว่า เราสามารถที่จะพูด ที่จะกล่าว แต่ต้องกำลังสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งใคร ก็ไม่สามารถที่จะคิดเองได้เลย

เพราะฉะนั้น บางคน ไม่ประมาทตอนต้น แต่ก็ประมาทตอนกลาง คือว่า ฟังแล้ว "คิดเอง" มีไหม? ไม่ใช่ไม่ฟัง ฟังแต่เพียงคำเดียว "คิดเอง" ไปอีก เยอะมาก ผิด หรือ ถูก? ถ้าใครสามารถจะเพียงฟัง แล้วคิดเองได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ "แต่ละคำ" ผู้ที่เคารพจริงๆ ต้องฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็เข้าใจ เพิ่มขึ้น แต่ละคำ จะสอดคล้องกันหมด ทุกคำ เพราะเหตุว่า พูดถึง ความจริง ที่ได้ตรัสรู้ โดยประการทั้งปวง โดยสิ้นเชิง จนไม่เหลืออะไรอีก ที่จะมีความสงสัย หรือว่า จะไม่สามารถอนุเคราะห์ คนที่สะสมความเห็นผิด หรือว่าความเห็นต่างๆ แล้วยังอัธยาศัยต่างๆ อีกมากมาย ที่จะสามารถทำให้เขา ได้รับประโยชน์ จากพระธรรมที่ทรงแสดง

เพราะฉะนั้น การที่มีโอกาส ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็เห็นแล้ว ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างกา กำลังร้อง (ในสวนที่โรงแรมมีอีกาจำนวนมาก) มีตาเห็น มีหูได้ยิน แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจ สิ่งที่กำลังมีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้น ทั้งชาติ ก็หมดไป แล้วใครจะรู้ว่า จากนี้ไป ชาตินี้ ซึ่งตาดี หูดี แล้วก็มีการสะสมมาดี พอที่จะเข้าใจพระธรรมด้วย แต่ก็เป็นผู้ที่ละเลย หรือว่า ไม่เห็นประโยชน์อย่างยิ่ง ของสิ่งที่มีค่า เหนืออย่างอื่นใด

ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่ลาภสักการะ เพราะเหตุว่า สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ไม่สามารถที่จะเป็นของใครจริงๆ ได้ เพียงแต่เข้าใจว่า เป็นของเรา แต่ว่า ความจริงไม่ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่าง สำหรับเห็น ชั่วขณะที่เห็น แล้วก็ดับ แล้วก็จะเป็นของใครไม่ได้เลย แม้แต่เสียง ก็เป็นของใครไม่ได้ เกิดขึ้น ปรากฏ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ทุกขณะ ถ้ารู้แจ้ง ตามความเป็นจริง จากการที่ ค่อยๆ อบรมปัญญา รู้ความต่างกันเลย เห็นมาก็นาน แต่ไม่เคยรู้เลย ว่า "เห็น" มีจริงๆ เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่ใช่ใคร แล้วก็ไม่ใช่ของใครด้วย บังคับบัญชาก็ไม่ได้

แม้ว่าจะได้ยิน ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก แต่การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ไม่ใช่ก่อนจะได้ยินเท่านั้น ทุกชาติที่ผ่านมา ก็มีการเห็น มีการได้ยิน แล้วก็ยังไม่ได้เข้าใจความจริง พิสูจน์ได้ จากการที่กำลังฟัง ก็เป็นผู้ที่ตรง ที่สามารถจะรู้ได้ว่า "เข้าใจ" สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังฟัง มากน้อยแค่ไหน?

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะ เป็นผู้ที่ตรงว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นใคร? แล้วเรา เป็นใคร? แต่ละคำ ฟัง พิจารณา เข้าใจ

เพื่อสะสมความเข้าใจ สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ซึ่งลึก และ เป็นความจริง ยากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่มีการบำเพ็ญพระบารมีมาเลย ไม่ว่าโดยฐานะของสาวกบารมี ก็ไม่สามารถที่จะได้เข้าใจ สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ด้วยเหตุนี้ ความไม่ประมาท จะทำให้สามารถ เป็นผู้ที่ตรงต่อพระธรรม

ทุกคน เป็นคนดี หรือเปล่าคะ? เห็นไม๊คะ? ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็เป็นลูกที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี แต่ว่า ดีจริงๆ หรือเปล่า? ก็เป็นสิ่งซึ่ง ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไป เขาก็บอกว่า คนนี้ดี เป็นคนดี แต่ว่า ถ้าดีจริงๆ ต้องไม่มีกิเลส

กิเลส คือ สภาพธรรมะ ที่ทำให้จิตไม่ผ่องแผ้ว เพราะเหตุว่า จิต เป็นธาตุรู้เท่านั้น เดี๋ยวนี้ เราเคยได้ยินคำว่า จิต แต่ไม่เคยมีใครที่จะอธิบาย จนกระทั่ง สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง รู้ความจริง ของสิ่งที่เราบอกว่ามี จิตมี ถ้าไม่ใช่คนตาย ก็มีจิต ก็คิดกันไปอย่างนั้น เพียงเท่านั้น แต่ว่า ไม่สามารถที่จะรู้จัก จิตขณะนี้ ตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม "ทีละคำ" นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้แต่ "จิต" คำเดียว เข้าใจหรือยัง? ยังไม่เข้าใจ ก็ "ข้าม" ไปอีกคำหนึ่งแล้ว ข้ามไปอีกคำหนึ่ง ข้ามไปอีกคำหนึ่ง แล้วรู้จริงๆ หรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น จะเคยฟังธรรมะ มามากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม แต่ว่า เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ แค่ไหน? เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ ผู้ใดก็ตาม ที่ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง ให้คนอื่นเข้าใจได้ ผู้นั้น ต้องไม่ใช่คนธรรมดา ที่เป็นเพื่อน หรือเป็นมิตรสหาย หรือเป็นใครก็ตาม แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีบุคคลใด เลิศ หรือ ประเสริฐ เท่าเทียม เปรียบได้เลย

เพราะเหตุว่า สามารถเข้าใจ สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งคนอื่น ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ นี่เป็นเหตุ ที่จะทำให้ เห็นค่า ของการได้ยิน ได้ฟัง แต่ละคำ และ เป็นผู้ที่รู้ว่า ยังไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ พอที่จะละความไม่ดี ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่รู้เลย ว่ามากน้อยแค่ไหน?

เพราะฉะนั้น การที่เริ่มจะรู้สึกว่า เป็นคนไม่ดี เพียงใด? ก็จะทำให้เห็นประโยชน์ของการที่ว่า สิ่งที่ไม่ดีก็จะเพิ่มขึ้นๆ ยิ่งมีชีวิตไปนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มไปเท่านั้น ในสังสารวัฏฏ์ แล้วใครจะเอาสิ่งที่ไม่ดีนั้น ออกไปได้? เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่ง รู้ได้เลย หนทางเดียว บุคคลเดียว ซึ่งจะเป็นที่พึ่ง เพราะเป็นรัตนะที่ประเสริฐ เลิศกว่ารัตนะอื่นๆ เพราะเหตุว่า แม้จะมีทรัพย์สมบัติ เงินทองมากมายสักเท่าไหร่ มีรัตนะ เต็มห้องหนึ่ง บ้านหนึ่ง แต่ยามทุกข์ จะช่วยได้ไหม?

แต่พระธรรม ที่ได้เข้าใจ เป็นรัตนะที่ประเสริฐยิ่ง ขณะใดก็ตาม ที่เข้าใจ ขณะนั้น ไม่เป็นทุกข์ จะไม่มีทุกข์เลย นี่ก็แสดงให้เห็น ความต่างกัน ของเพียงแม้ได้ยิน ได้ฟัง และ สามารถที่จะรู้ความจริงอย่างนั้น ก็จะเป็นบุญ คือ สิ่งที่ประเสริฐยิ่ง ในสังสารวัฏฏ์ ของแต่ละชาติ ที่มีโอกาสจะได้ฟัง ทุกคน ก็เป็นคนดี ที่มีโอกาสได้ฟังธรรมะ ต้องจำกัดด้วย ดีอื่น ใช่หรือเปล่า? ก็แล้วแต่ แต่ละคน แต่ดีหนึ่ง อย่างหนึ่งที่มี คือ ได้ฟังพระธรรม เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะรู้ว่า สิ่งที่ไม่ดี มีมากมายเหลือเกิน จากการที่ได้เข้าใจความละเอียดยิ่ง ของพระธรรม แล้วจะทำอย่างไร?

ทรงอุปมาไว้ในพระสูตร ซึ่งมีข้อความโดยตรง เป็นภาษาบาลีแต่ละแห่ง "จิต" เป็นสภาพที่ผ่องแผ้ว เฉพาะจิต เกิดขึ้นรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ แต่ว่าจิตจะเศร้าหมอง ไม่ผ่องแผ้ว เมื่อมีสภาพธรรมะที่ไม่ดี เกิดกับจิตนั้น แต่ว่า สภาพธรรมะที่ไม่ดี จริงๆ แล้ว เราไม่เคยรู้ตัวเลยว่า เพียงเห็น แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร? แล้วก็ยึดถือสิ่งนั้น ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกระทั่ง มีความยึดมั่น มีความสำคัญตน มีกิเลสอีกมากมาย ทั้งหมดนั้น ทำให้จิตไม่ผ่องแผ้ว

แต่สภาพของจิตจริงๆ ที่ภาษาบาลี ใช้คำว่า "จิต (จิต-ตะ) " ก็มีอีกคำหนึ่งว่า "ปัณฑระ" เฉพาะจิต เพราะว่า จิตเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้ เวลานี้ ถ้าจะรู้ว่า มีสิ่งต่างๆ มากมาย ไม่สังเกตเลย อย่าง "แข็ง" ทุกคนก็กระทบแข็ง "แข็ง" มี แต่แข็งเป็นอะไร? ไม่เคยรู้ความจริงว่า ลักษณะของ "แข็ง" แท้ๆ เกิดเป็น "แข็ง" ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เกิดเป็น "แข็ง" แล้วก็ดับไป พอถึงลักษณะที่ "ร้อน" ลักษณะนั้น ไม่ใช่ "แข็ง" เกิดเป็น "ร้อน" แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ แต่ละอย่าง ภาษาบาลีใช้คำว่า "ธา-ตุ" เป็น "ธาตุ" ที่ทรงสภาพ ลักษณะนั้น ซึ่งใคร ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า "ธรรมะ" ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นคำภาษาบาลี แต่ภาษาไทย หมายความที่เราเข้าใจกันได้ ในภาษาไทยธรรมดาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม ที่มีจริงๆ จะไม่ให้สิ่งนั้นไม่มี ได้ไหม? จะไม่ให้สิ่งที่มีจริงนั้น ไม่มีจริง ได้ไหม? จะให้สิ่งที่มีนั้น เป็นของใคร ได้ไหม? เพราะเหตุว่า ลักษณะนั้น เป็นอิสระ เพราะเกิดเป็นแข็ง ใครจะเป็นผู้ที่สามารถทำให้แข็งนั้น เปลี่ยน ไม่ได้ แข็งนั้น จะเป็นของใคร ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นธาตุ แต่ละหนึ่ง สรุปย่อ ธาตุมากมาย นับไม่ถ้วน แต่ละหนึ่ง เกิดเป็นสิ่งนั้น แล้วก็ดับไป เกิดเป็นสิ่งนั้น แล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

ไฟ เกิดขึ้น ไฟดับไม๊คะ? ไฟดับ เป็นอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ไฟ ได้ไหม? ไม่ได้ เป็นร้อน ฉันใด ธาตุรู้อีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ธาตุแข็ง ไม่ใช่ธาตุไฟ ก็เหมือนธาตุอื่นๆ แต่ต่างกันที่เป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้น "รู้" ไม่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติธาตุชนิดนั้น ด้วยคำหลายคำ เช่น คำว่า "จิต" เป็นธาตุรู้ เกิดแล้วไม่รู้ ไม่ได้ ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่เกิดแล้วไม่รู้ สิ่งนั้นไม่ใช่จิต ไม่ใช่ธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ จะเป็นของใครได้ไหม? เหมือนกับ "แข็ง" จะเป็นของใครได้ไหม? "ร้อน" จะเป็นของใครได้ไหม? เพียงมีปัจจัย เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

แต่ว่า สิ่งที่ยากแก่การที่ทุกคนจะรู้ตาม เข้าใจตาม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ก็คือว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดแล้วก็ดับ เร็ว สุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ จึงไม่ปรากฏเลย ว่ามีอะไรดับ แม้ขณะเกิด ก็ไม่รู้ ได้ยินเสียง แต่รู้ขณะเสียงเกิดหรือเปล่า? แล้วเสียงก็ดับ ก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้น เต็มไปด้วยความไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาส ได้ฟังพระธรรม

เพราะฉะนั้น คำที่เราใช้ ใช้คำว่า "จิต" แต่ก็ยังเข้าใจว่า จิตเป็นธาตุรู้ล้วนๆ ไม่มีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดเจือปนเลย ทั้งสิ้น เกิดมาเมื่อไหร่ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิต "รู้" จะมีจิตรู้ โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เราค่อยๆ ศึกษาธรรมะ ทีละคำ แทนที่เราจะไปพูดตั้งหลายคำ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ เลย ขณะนี้ ก็ทีละคำ ที่ได้ฟัง ไม่เข้าใจคำไหนบ้างหรือเปล่า? หรือว่า สงสัยคำไหนบ้างหรือเปล่า?

แม้แต่ "ธาตุรู้" ล้วนๆ เกิดขึ้นต้องรู้ สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ไม่มีอะไรเจือปนเลย ใช้คำว่า "ปัณฑระ" เพราะฉะนั้น คนที่ศึกษาธรรมะ พอได้ยินคำว่า "ปัณฑระ" รู้เลย หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ซึ่งกำลังเห็น หรือว่า กำลังได้ยิน หรือว่า อะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งสิ่งใด ปรากฏให้รู้ว่ามี เพราะมี "ธาตรู้" ถ้าโลกนี้ไม่มีธาตุรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย แต่เพราะเหตุว่า มีธาตุรู้ จึงมีสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งจิต สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง แล้วแต่ประเภทของจิตนั้นๆ ไม่ใช่ว่า จิตหนึ่ง รู้ได้หมดเลย แต่จิตเอง ก็ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุน เกื้อกูล อาศัยกันและกัน เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เพิ่มอีก ทีละคำ สิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตาม ที่มีการเกิด ต้องมีการอาศัยซึ่งกันและกัน มีปัจจัยที่จทำให้สิ่งนั้นเกิดได้ ภาษาบาลี ใช้คำว่า "สัง-ขา-ระ" (สังขาร) และ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ก็เป็น "ธรรมะ" เพราะฉะนั้น สังขารที่มีจริง ก็เป็นธรรมะ ด้วยเหตุนี้ ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้มีเฉพาะสิ่งนั้น สิ่งเดียว แต่จะมีสิ่งอื่น รวมอยู่ด้วยในที่นั้น แต่ไม่ปรากฏ

เพราะเหตุว่า จิตเป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้น หนึ่งอย่าง หนึ่งขณะ ก็ต้องรู้สิ่งเดียว จะรู้หลายๆ สิ่ง ไม่ได้ เพราะเหตุว่า มีธาตรู้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิต พร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต เพราะว่าเป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นก็รู้ แต่ไม่ใช่รู้อย่างจิต คือ ไม่ใช่ "ปัณฑระ" ไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้

แต่นาม (นา-มะ) อีกคำหนึ่งแล้ว คำใหม่ หมายความถึง ถ้าเราจะเข้าใจตามความจริงของสิ่งที่มี ทุกโลก จะมีสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วไม่รู้อะไร ภาษาบาลี ใช้คำว่า รูปธรรม หรือ รูปธาตุ ส่วนธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ต้องใช้อีกคำหนึ่ง จะใช้คำเดียวกันไม่ได้ ลักษณะต่างกัน เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แต่ละคำๆ ที่ได้ยิน ก็แสดงความต่าง ความหลากหลายแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ปะปนกันเลย เพราะฉะนั้น ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นจิต แต่ว่า ธาตุรู้ ซึ่งเป็นนามธาตุ เพราะเหตุว่า สภาพที่ไม่ใช่รู้ เป็นรูปธาตุ แต่ส่วนสภาพธรรมะใดๆ มองไม่เห็นเลย แต่เป็นธาตุรู้ ก็ใชคำว่า นามธาตุ มี ๒ อย่าง คือ จิต เป็นนามธาตุ ไม่มีใครมองเห็น แต่เกิดขึ้นรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้

ส่วนนามธาตุ ที่เกิดพร้อมจิต อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ใช้คำว่า "เจตสิก" ทั้งสองอย่างนี้ ปราศจากกันและกัน ไม่ได้เลย ธรรมะหนึ่งธรรมะใดซึ่งมี ต้องอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นามธาตุ ๒ อย่าง ที่เกิด คือ อย่างหนึ่ง เป็นจิต และ นามธาตุอื่นๆ มีต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท เกิดกับจิต แล้วแต่ว่า นามธาตุใด จะเกิดกับจิตใด ในขณะไหน? ก็ทำให้จิต ซึ่งผ่องแผ้ว จะดี ก็เพราะเจตสิกที่ดี เกิดร่วมด้วย จะเลว ก็เพราะ เจตสิกที่เลว เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร เพราะเหตุว่า เพียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ขณะนี้ เป็นอย่างนี้

จิต เจตสิก และ สภาพของธรรมะ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ที่ทรงบัญญัติคำว่า รูป ก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร แต่ในขณะนี้ มีทั้งจิต มีทั้งเจตสิก มีทั้งรูป เกิดดับ สืบต่อ อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีการตรัสรู้ จะไม่มีการเข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะที่มีจริง แต่ละหนึ่ง ซึ่งแยกขาดจากกัน จิต ไม่ใช่เจตสิก เจตสิก มี ๕๒ ประเภท เจตสิก ๕๒ ประเภท แต่ละหนึ่ง ไม่สับสน แล้วก็ ไม่ปะปนกันด้วย

เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็น อย่างย่อที่สุด แต่หลายคำแล้ว และ หลายคำ ต้องเข้าใจจริงๆ สะสมความเข้าใจ เพื่อรู้ว่า ถึงแม้ว่า คนอื่น จะมาบอกว่า ดี แต่ว่า ไม่พอเลย เพราะเหตุว่า ยังไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่มี โดยละเอียดยิ่ง เพราะถ้ารู้แล้ว "ไม่ดี" มากกว่า "ดี"

แต่ว่า เมื่อไม่ปรากฏให้รู้ ก็เข้าใจว่า ดี - ชั่ว ตามการสะสม ซึ่งทำให้แต่ละคน หลากหลาย เพราะฉะนั้น พระธรรม ที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา แต่ละคำ เพื่อให้เกิดปัญญา ของผู้ฟัง ไม่ใช่ให้เชื่อ ไม่ใช่ให้ ไม่คิด ไตร่ตรอง เพียงแต่ใครบอก ก็เชื่อ นั่น ไม่ใช่คำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้าที่ 338

ข้อความบางตอนจาก

เกสสปุตตสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัย ของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่า ได้ยินอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อ ว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้ เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติ ให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ขอเชิญคลิกชมทั้ง ๓ ตอนที่ผ่านมา ได้ที่นี่ครับ

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ประเทศพม่า ๔ - ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ [มัณฑเลย์]

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ประเทศพม่า ๔ - ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ [พุกาม]

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ประเทศพม่า ๔ - ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ [ย่างกุ้ง-ชเวดากอง]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 6 เม.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 7 เม.ย. 2556

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mon-pat
วันที่ 7 เม.ย. 2556


ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เข้าใจ
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 8 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
raynu.p
วันที่ 8 เม.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 8 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 9 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 10 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
panasda
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ch.
วันที่ 12 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
orawan.c
วันที่ 8 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Kalaya
วันที่ 21 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ