ความเป็นเรา

 
นิรมิต
วันที่  13 เม.ย. 2556
หมายเลข  22752
อ่าน  1,510

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตกราบเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ

ก็ ความเป็นเรา เป็นได้ด้วยโลภะ มานะ และ ทิฏฐิ พระโสดาบันตลอดจนพระอนาคามี แม้ดับทิฏฐิเจตสิกแล้ว ไม่มีความเป็นเราด้วยทิฏฐิอีกเลย ก็ยังมีความเป็นเราด้วยโลภะและมานะหรือครับ หรือนัยของปุถุชนต่างกับพระอริยะอย่างไรหรือไม่ประการใดครับ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม แม้แต่ที่กล่าวถึงความเป็นเราด้วยสภาพธรรม ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และ ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ก็เป็นธรรมที่มีจริง

ตัณหา เป็นความติดข้องต้องการ (โลภเจตสิก) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด

มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน มีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่าดีกว่าเขา เสมอเขา หรือเลวกว่าเขา

ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ความเป็นไปของปุถุชนผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลสนั้น ย่อมยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเรา ด้วยอำนาจ ตัณหา คือ โลภะบ้าง มานะความถือตัวบ้าง ทิฏฐิความเห็นผิดบ้าง เพราะยังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน

เพียงยินดีพอใจติดข้อง โดยที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ชื่อว่าการยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเราด้วยตัณหา ขณะใดที่สำคัญตัวเองว่าดีกว่าเขา ต่ำกว่าเขา เสมอเขา อย่างนี้ ชื่อว่า การยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเราด้วยมานะ และ ขณะใดที่เห็นผิดว่า ขันธ์ห้าเป็นตัวตนของเราจริงๆ เป็นของเที่ยง เป็นของยั่งยืน อย่างนี้ชื่อว่า ยึดถือด้วยทิฏฐิความเห็นผิด ซึ่งผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลก็ยังมีครบ เพราะยังไม่สามารถดับกิเลสอะไรๆ ได้เลย

แต่ที่ควรจะได้พิจารณา คือ ความเป็นเรา ไม่ได้มีทุกขณะจิต เพราะขณะที่กุศลเกิดขึ้นไม่มีการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น อกุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในขณะนั้น

แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล อกุศลธรรมจะถูกละได้ก็ด้วยปัญญาขั้นที่เป็นโลกุตตระ ความเป็นเราด้วยความเห็นผิดถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน แต่ก็ยังมีความเป็นเราด้วยตัณหาและมานะ เพราะถึงแม้พระโสดาบันจะดับความเห็นผิดได้แล้ว แต่กิเลสประการอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ ยังมีโลภะ ยังมีมานะ เป็นต้น ที่จะดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงมีข้อความที่แสดงไว้โดยสูงสุดว่า ความยึดถือด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิ ไม่มีแก่พระขีณาสพ (พระอรหันต์) ครับ

ขอเชิญคลิกศึิกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

เราโดยลักษณะ ๓

กรุณาอธิบาย เป็นเรา ด้วยตัณหา ทิฏฐิ มานะ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความยึดถือด้วยความเป็นเรา มี ๓ อย่าง คือ เป็นเราด้วยตัณหา (โลภะ) เป็นเราด้วยมานะ เป็นเราด้วยทิฏฐิ ซึ่งจะขออธิบายความเป็นเราแต่ละอย่างดังนี้

ความเป็นเราด้วยตัณหา หรือ โลภะ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เห็น เห็นบุคคลอื่นแล้วเกิดความติดข้อง ขณะนั้น เป็นเราหรือเป็นเขาด้วยความติดข้อง หรือ ขณะเห็นตนเองในกระจก เกิดความยินดีพอใจในรูปร่างกายของตนเอง ขณะนั้นมีเราแล้ว แต่มีเราด้วยความติดข้องในความเป็นเราในขณะนั้น และ แม้อยากเกิดเป็นเทวดา เกิดในภพภูมิที่ดี ก็เป็นเราด้วยตัณหาแต่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเพียงยินดีพอใจในภพภูมิ แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมา

ความเป็นเราด้วยมานะ คือ ขณะใดที่เปรียบเทียบว่า เราสูงกว่าเขา เสมอคนอื่น หรือ ด้อยกว่าคนอื่น จะเห็นนะครับว่า มานะ เป็นการเปรียบเทียบ แล้วอะไรจะเปรียบเทียบนอกจากว่า จะต้องมีเราที่ไปเปรียบเทียบ มีเขา มีคนอื่นดังนั้น เพราะเป็นอกุศลที่คิดว่าเราสูงกว่า มีเราแล้ว แต่เป็นเราด้วยมานะที่เป็นการเปรียบเทียบ ครับ

ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือ เป็นเราด้วยความสำคัญผิดที่เป็นความเห็นผิดคือ ขณะนั้น เป็นอกุศลที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เช่น ยึดถือว่า ดอกไม้มีจริง เที่ยง ยั่งยืน และยึดถือว่ามีเราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ขณะนั้น มีเรา มีเขา มีสิ่งต่างๆ ด้วยความเห็นผิด เพราะยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นตัวตนจริงๆ ครับ

ซึ่งพระอริยบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีความเป็นเราด้วย ตัณหา และ ด้วยมานะ เพราะเหตุว่า ติดข้องพอใจในความเป็นเรา ในสิ่งต่างๆ และ มีการเปรียบเทียบว่าเรา ดีกว่าเสมอกว่า ซึ่งขณะนั้นที่เกิดโลภะ ที่ติดข้องในคนอื่น ในตัวเรา ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีเรา มีตัวตนจริงๆ ด้วยความเห็นผิด และขณะที่เปรียบเทียบด้วยมานะ ก็ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีเราจริงๆ เพียงกำลังเปรียบเทียบว่า เราดีกว่า เป็นต้น ครับ

ซึ่ง ในความต่างกับปุถุชน ของความมีเรา ด้วย ตัณหา มานะ และ ทิฎฐิ นั้น พระอริยบุคคล มีพระโสดาบันถึงพระอนาคามี ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีเราจริงๆ ดังเช่นปุถุชน แต่มีความเหมือนกัน คือ มีเราด้วยตัณหา และ มานะ อยู่ แต่ที่แตกต่างกัน คือ กำลังของกิเลสของปุถุชนที่เป็นเราด้วยโลภะกับด้วยมานะนั้น มีกำลังมากกว่าของพระโสดาบันถึง พระอนาคามีด้วย เนื่องจากปัญญาที่แตกต่างกัน และ กิเลสบางอย่างที่พระอริยบุคคลดับได้แล้ว ครับ นี่คือ ความเหมือนและแตกต่างกัน ของ ปุถุชนกับพระอริยเจ้า มี พระโสดาบัน ถึงพระอนาคามี ในความยึดถือว่าเป็นเราครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 65

อีกอย่างหนึ่ง ย่อมสำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายใน ด้วยความสำคัญ ด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิ สำคัญอย่างไร จริงอยู่ ปุถุชนนี้ ยังฉันทราคะให้เกิดในผม เป็นต้น คือยินดี เพลิดเพลิน พร่ำเพ้อ หลงใหล ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็หรือ วัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวีภายใน ด้วยความสำคัญอันเกิดจากอำนาจแห่งตัณหาอย่างนี้

ก็หรือว่า เกิดความทะยานอยากในผมเป็นต้นนั้น โดยนัยเป็นต้นว่าผมของเรา พึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ขอขนของเราพึงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ก็หรือว่า ตั้งจิตไว้ เพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ โดยนัยเป็นต้น ด้วยศีล หรือ พรหมจรรย์ อันนี้ เราจักมีผมดำสนิทอ่อนนุ่ม ดังนี้. ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายใน ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาแม้ดังอธิบายมานี้

อนึ่ง ปุถุชน อภัยสมบัติ (ความถึงพร้อม) หรือวิบัติของผมเป็นต้นแห่งตน แล้วยังมานะให้เกิดขึ้นว่า เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือว่าเราเลวกว่า ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า สำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจมานะ

อนึ่ง ย่อมยึดมั่นผมว่าเป็นชีวะ โดยนัยที่มาแล้วว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก่อนนั้น ดังนี้ (แม้) ในขน เป็นต้น ก็นัยนี้ ปุถุชนย่อมสำคัญปฐวี (ธาตุดิน) ภายในด้วยความสำคัญอันเกิดมาจากอำนาจทิฏฐิดังกล่าวมา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Boonyavee
วันที่ 13 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 14 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 14 เม.ย. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
rrebs10576
วันที่ 15 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 15 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 16 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 11 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ