เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน

 
นิรมิต
วันที่  18 เม.ย. 2556
หมายเลข  22778
อ่าน  5,223

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

ขออนุญาตกราบเรียนถามว่า ในบทสวดมหาสติปัฏฐานสูตร มีคำกล่าวที่ว่า "เพียรเผา กิเลสให้เร่าร้อน" หรือไม่ และคำกล่าวนี้มีความหมายอย่างไร มุ่งถึงอะไร กราบขอกวน ขอคำอธิบายเพื่อความเข้าใจด้วยครับ

กราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นพระสูตรใดหรือส่วนใดก็ตาม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นอย่างยิ่ง สำหรับมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรื่องทำโดยจะขาดความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลย ในมหาสติปัฏฐานสูตรจะมีคำว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา หมายความว่า เป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ก็เพราะมีธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไปนั่นเอง จึงเรียกว่า ผู้มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส (วิริยเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่) ผู้มีสัมปชัญญะ (ปัญญาเกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) มีสติ (สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม) จะเห็นถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม ไม่ใ่ช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สำหรับความเพียรนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เพียรที่เป็นกุศลก็มี เพียรที่เป็นอกุศลก็มี แต่สำหรับความเพียรที่เป็นไปในการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องเป็นความเพียรที่เป็นไปกับกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และประการที่สำคัญ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น วิริยเจตสิกที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมด้วยโสภณธรรมอื่นๆ มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ รวมถึงสติ และ ปัญญา ด้วย ในขณะนั้นก็เป็นไปเพื่อกำจัดความติดข้อง กำจัดความขุ่นเคืองใจ เป็นการเผาผลาญกิเลส เพราะขณะนั้นจิตเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา กิเลสอกุศลธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกในตั้งแต่ต้นในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง จึงจะมีเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง ได้ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อาตาปี สติมา สมฺปชาโน

ผู้มีความเพียร ความว่าอาตาปะ [มหาสติปัฎฐานสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีคำว่า มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 209

มหาสติปัฏฐานสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส (ความยินดี ยินร้าย) ในโลกเสียให้พินาศ เธอย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มี ความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ


ซึ่ง ความเพียร ที่เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ใน อรรถกถาที่ต่างๆ ท่านมุ่งหมายถึง ความเพียรที่เกิดพร้อมกับกัมมฐาน กล่าว คือ ความเพียรที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่เป็นหนทางการดับกิเลส ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอุปมา สภาพธรรมที่เป็นกิเลส โดยการเผาด้วยตบะที่เป็นความเพียร ลักษณะของการเผา คือ การทำให้สิ่งนั้นถูกทำลาย หมดสิ้นไป ความเพียรที่เกิดพร้อมกับกัมมฐาน คือ การเจริญสติปัฏฐาน ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็มีลักษณะที่เผา คือ ทำลายกิเลสที่สะสมอยู่ในจิตใจ ที่เป็นอนุสัยได้ ทีละน้อย จนหมดสิ้น

จึงเป็นการอุปมาความเพียร ด้วยลักษณะของการเผา หากว่าเป็นความเพียรที่ไม่มีปัญญา ก็ไม่ใช่ตบะ ที่มีลักษณะเผา ทำลาย เพราะ ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ ด้วยการเผาทำให้หมดสิ้นไปทีละน้อย ครับ

ในบทว่า อาตาปี เป็นต้น พระองค์ตรัส สัมมัปปธาน (ความเพียรชอบ) ไว้ด้วย อาตาปะ (ความเพียรเป็นเหตุให้กิเลสเร่าร้อน) ตรัสกรรมฐานที่ให้สำเร็จประโยชน์

ทุกอย่าง หรืออุบายสำหรับบริหารกรรมฐานไว้ด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งกว่าจะถึงความเพียรที่เป็นเครื่องเผากิเลส ที่มีปัญญาในการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องเริ่มจากความเพียรในชีวิตประจำวัน ที่จะเห็นประโยชน์จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะใดที่ฟังธรรม มีความเข้าใจเกิดขึ้นทีละน้อย มีความเพียรแล้ว แต่ยังไม่มีกำลังที่จะเผาทำลายกิเลสได้ แต่เมื่อสะสมปัญญามากขึ้น จนสติปัฏฐานเกิด ความเพียรที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐานย่อมเป็นการเผา ค่อยๆ ทำลายกิเลสให้เร่าร้อน คือ ให้หมดไปในที่สุดครับ เพราะฉะนั้น สำคัญที่เบื้องต้นเป็นสำคัญที่จะเริ่มจากการอบรมเหตุด้วยการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำความเพียร ทำให้กิเลสเร่าร้อน แต่ธรรมจะปรุงแต่งทำหน้าที่เอง และ เมื่อปัญญาถึงพร้อม กิเลสก็จะถูกเผาเอง เมื่อสติและปัญญาพร้อมความเพียรเกิดขึ้น ครับ สำคัญ คือ การอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรมต่อไป

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
boonpoj
วันที่ 19 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 19 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขออนุญาตกราบเรียนถามเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ

ในคำที่ว่า "เพียรเผากิเลสให้ เร่าร้อน" คำว่า เร่าร้อน ในที่นี้ มีความหมายถึงอย่างไรหรือเปล่าครับ เพราะได้ฟังมาว่า ที่ว่าเร่าร้อน หมายถึงทำให้กิเลสแสดงตนออกมาให้ปรากฏชัด โดยท่านอธิบายว่า เป็นความเพียรในการทำฌาณ ซึ่งก่อนสมาธิจะสงบแนบแน่น กิเลสก็จะแสดงตนออกมา ประหนึ่งว่าปรากฏมีกำลังชัด สัดส่ายไม่ยอมให้จิตตั้งมั่น เป็นมหัคตกุศล ถ้ากล่าวนัยนี้ ตรงหรือไม่ประการใด และมีความหมายลึกซึ้งกว่านี้อย่างไรบ้าง

กราบขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

คำว่าเร่าร้อน ไม่ได้หมายถึงการทำกิเลสให้ปรากฎชัด แต่เป็นการอุปมาลักษณะของการเผาที่เป็นความเพียรที่เผากิเลสให้เร่าร้อน คือ เร่าร้อนให้กิเลสนั้นหมดสิ้นไป เพราะการเผาด้วยเพียรที่มีปัญญา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 20 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Rodngoen
วันที่ 23 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นิรมิต
วันที่ 23 เม.ย. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 6 ก.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ