สมถะ และ วิปัสสนา เหมือนหรือต่างกันอย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบ คือ สงบจากกิเลส แต่ ในชีวิตประจำวัน การสงบจากกิเลส เพียงชั่วขณะ เพราะฉะนั้น การทำให้ ความสงบจากกิเลส มีมากขึ้น เจริญมากขึ้น การเจริญมากขึ้น เรียกว่า ภาวนา เพราะฉะนั้น การอบรมความสงบมากขึ้น คือ กุศลธรรมที่เกิดต่อเนื่องเรียกว่า สมถภาวนา
สมถภาวนา คือ การอบรมกุศลธรรมประการต่างๆ ให้เกิดติดต่อกันไป ทำให้กิเลส มีนิวรณ์ ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เจริญสมถภาวนา เช่น ขณะที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย นานๆ เป็นต้น ระลึกถึงคุณของศีล ระลึกถึงคุณเทวดา ขณะนั้น เป็นการเจริญความสงบจากกิเลส ที่เรียกว่า สมถภาวนา แต่อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนา ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่จะรู้ว่าจะระลึกให้เกิดกุศลต่อเนื่องอย่างไรครับ จึงขาดปัญญาไม่ได้ อย่างไรก็ดี สมถภาวนา ไม่สามารถละกิเลสต่างๆ ได้ เพียงแต่ทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเท่านั้น ครับ
วิปัสสนาภาวนา ตามที่กล่าวแล้ว ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญให้มีมากขึ้น วิปัสสนา หมายถึง การรู้แจ้ง สภาพธรรมที่รู้แจ้ง คือ ปัญญา แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญอบรมปัญญาให้มีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญญาที่เป็นหนทางสามารถละกิเลสได้จริง แต่ค่อยๆ ละไปเป็นลำดับ วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดงกับเหล่าสาวก ให้ดำเนินตาม ซึ่งเรียกหลายชื่อ เช่น สติปัฏฐาน 4 อริยมรรค เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา ที่เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งจะต้องอาศัยปัญญาขั้นพื้นฐาน คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ ปัญญาขั้นวิปัสสนาก็สามารถเกิดขึ้นได้
ส่วนคำถามที่ว่า การเจริญวิปัสสนา และ สมถภาวนา จะต้องเจริญควบคู่กันไปหรือไม่ ในความเป็นจริงหนทางการดับกิเลสได้ คือ การเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่สมถภวนา และ วิปัสสนาจะมีได้ ไม่ได้มีเพราะจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน แต่ อาศัยการฟังศึกษาพระธรรม ดังเช่น อริยสาวกในอดีต มีท่านอนาถะ นางวิสาขา ก็ไมได้เจริญสมถภาวนา ได้ฟังพระธรรมก็บรรลุธรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน แล้ว จึงจะเจริญวิปัสสนาได้ แต่ ต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกก่อนขั้นการฟัง จึงจะเจริญวิปัสสนาได้ เพราะฉะนั้น วิปัสสนา จึงไม่ใช่เรื่องการทำ การไปนั่งสมาธิ การเดินจงกรม แต่สำคัญที่ใจที่มีความเข้าใจพระธรรม จนปัญญาเกิดรู้ความจริง ที่ในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นปัญญาเกิดแล้ว เป็นวิปัสสนาภาวนา ครับ
ซึ่ง สามารถอ่านกระทู้ในประเด็นนี้ได้อย่างละเอียด ครับ เชิญคลิก
สติปัฏฐาน ๔ อย่างเดียว โดยไม่ทำสมถะก่อน จะข้ามขั้นตอนไหม
ไม่ได้ฌาน8-9 จะเอาที่ใหนมาประหารกิเลส ครับ - บ้านธัมมะ
การเจริญสติปัฐาน โดยไม่เจริญสมถะควบคู่กันไป ปัญญาไม่สามารถแทงตลอดได้
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การอบรมเจริญสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงระงับกิเลสได้ด้วยการข่มเท่านั้น ยังไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กิเลสยังมีโอกาสเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจได้อีก สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา ได้ฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมก่อนจุติ ก็เป็นเหตุให้ไปเกิดเป็นพรหมบุคคล ในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌานที่ได้ ซึ่งยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ยังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เป็นไปเพื่อ ความเจริญขึ้นของปัญญา จนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทำให้ ผู้ที่อบรมเจริญสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระ อรหันต์ พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง
ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ย่อมไม่ละเว้นโอกาสที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจ ยิ่งขึ้น ด้วยการฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สมถภาวนา เป็นแค่ ข่มกิเลส ระงับกิเลสไว้ชั่วคราว ส่วน วิปัสสนาภาวนา เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง เป็นปัญญาที่สามารถละกิเลส และ กิเลส ก็ไม่กลับมาเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ค่ะ
สมถภาวนา คือ การที่กุศลจิตเกิดขึ้นพร้อมด้วยปัญญา ซึ่งพิจารณาอารมณ์ที่ทำให้จิตขณะนั้นเป็นกุศล อารมณ์ของสมถภาวนามีถึง 40 อารมณ์ ได้แก่ กสิณ10 อสุภะ10 อนุสสติ10 อาหาเรปฏิกูลสัญญา1 จตุธาตุววัฏฐาน1 พรหมวิหาร4 และอรูปฌาน4
ทุกท่านคงเคยมีจิตที่เป็นไปในสมถภาวนา แต่อาจไม่รู้ว่าเป็นสมถภาวนา เช่น
- การให้อภัย ไม่โกรธ มีเมตตาต่อบุคคลอื่น (เป็นเมตตาพรหมวิหาร)
- การระลึกถึงความตายแล้วน้อมนึกถึงความไม่มีสาระของกามารมณ์ต่างๆ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (เป็นมรณานุสสติ)
- การซาบซึ้งในพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงหนทางสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม (เป็นพุทธานุสสติ)
ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เพราะช่วยประคับประคองไม่ให้แต่ละท่านตกไปในอกุศล ทั้งด้วยความคิดและการกระทำ ส่วนสมถภาวนาบางประเภท เช่น กสิณ ๑๐ เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตตั้งมั่นจนถึงฌานจิตได้ (สำหรับผู้ที่มีปัจจัยพร้อม เช่น ปฏิสนธิด้วยมหากุศลญาณสัมปยุต) ทำให้จิตในขณะนั้นสงบระงับจากอกุศล
สมถภาวนาทั้งหมด แม้เจริญสักเท่าไร ก็ทำได้เพียงระงับวีติกมกิเลส (คือกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงออกมาเป็นกายทุจริต และวจีทุจริต) และปริยุฏฐานกิเลส (คือกิเลสอย่างกลางที่ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศล แต่ยังไม่ล่วงออกมาทางกายวาจา) ไว้เพียงชั่วคราวตราบเท่าที่จิตยังระลึกถึงอารมณ์นั้นอยู่ แต่ไม่สามารถดับอนุสัยกิเลสใดๆ ได้เลย ด้วยเหตุนี้ เมื่อจิตที่เป็นไปในสมถภาวนาดับไปแล้ว อกุศลจิตใดๆ ก็ยังเกิดต่อได้อีก (อนุสัยกิเลส คือกิเลสอย่างละเอียด ที่สะสมเป็นพืชเชื้ออยู่ในจิต เมื่อมีปัจจัยพร้อมเมื่อไร ก็ปรากฏเป็นปริยุฏฐานกิเลสและวีติกมกิเลสได้อีก)
วิปัสสนาภาวนา คือ กุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญา ซึ่งพิจารณาสภาพธรรมทั้งปวง (ได้แก่ จิต เจตสิก รูป) ที่ปรากฎ (ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ตามปกติ ตามความเป็นจริง โดยระลึก ศึกษา พิจารณา สังเกตอย่างละเอียด จนทั่ว จนรู้ชัด จนมั่นคงไม่หวั่นไหว ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างทั้งหมดนี้ ไม่เที่ยง (เกิดแล้วดับ) เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา (คือเป็นเพียงธาตุแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนๆ )
วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางดับอนุสัยกิเลสได้โดยสนิท โดยบรรลุอริยสัจจธรรมตามลำดับขั้นตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
ตัวอย่างที่จะให้เห็นความต่างกันของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาก็คือหากมีรูปที่น่ายินดีพอใจปรากฏขึ้น
- ผู้ที่เจริญสมถภาวนา จะไม่สนใจในอารมณ์นั้น แต่ระลึกในอารมณ์ทำให้จิตเป็นกุศลแทน เมื่อกุศลจิตนั้นดับไปแล้ว อกุศลจิตที่ยินดีพอใจก็ยังเกิดได้อีก อุปมาเหมือนการตัดต้นไม้ เมื่อเวลาผ่านไป ต้นไม้ที่ยังมีราก (อนุสัย) อยู่นั้นก็เจริญงอกงามขึ้นได้อีก
- ส่วนผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่ต้องเบี่ยงไประลึกถึงอารมณ์อื่น เพราะหมดสิ้นอนุสัยกิเลส ไม่มีพืชเชื้อของความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ อีกต่อไปแล้ว อุปมาเหมือนการขุดถอนต้นไม้ทั้งต้นออกไปแล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ดี กุศลทุกประการ ทั้งทาน ศีล การระลึกในอารมณ์ที่ทำให้จิตเป็นกุศล (สมถภาวนา) และการเจริญสติปัฏฐาน (วิปัสสนาภาวนา) ล้วนเกื้อกูล อุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และสะสมสืบต่อในจิต เป็นปัจจัยให้กุศลจิตนั้นๆ เกิดขึ้นอีกในภายหลัง และเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้นด้วย ซึ่งกุศลจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั้นเป็นโอกาสที่หาได้ยาก แต่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตคุ้มค่ามากที่สุดก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นหนทางรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนดับสังสารวัฏฏ์ฎ์ได้นั่นเอง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ