การเจริญสติปัฏฐาน โดยไม่เจริญสมถะควบคู่กันไป ปัญญาไม่สามารถแทงตลอดได้

 
apitum
วันที่  15 ม.ค. 2555
หมายเลข  20367
อ่าน  6,870

การเจริญสติปัฏฐาน โดยไม่เจริญสมถะควบคู่กันไป จะกล่าวว่าจะทำให้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะว่ากุศลจิตและปัญญาเกิดขึ้นชั่วขณะสั้นๆ ไม่สามารถแทงตลอดได้ ซึ่งเทียบกับบุคลที่มีสมาธิดี ขั้นอุปจาร หรืออัปปนา จะเจริญสติปัฏฐานได้ดีกว่ามาก ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยโต้แย้งด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบย่อมได้สาระจากพระธรรมวินัย

โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรบให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ดังนั้นเรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน สมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส ส่วนสมถภาวนาหมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น

คำถาม จึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนา ก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนาและวิปัสสนานั้น เป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌานแต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ

คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือ ไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไมใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ดังนั้น ประเด็นคือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ วิปัสสนานั่นเองครับ

คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา

ดังนั้น ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลังคือ สัมมาวาจา ... สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเอง ครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน

ถามว่า มีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ....

มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

จะเห็นนะครับว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว มีทั้ง สมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องเข้าใจใหม่ว่า จะต้องไปทำสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ไม่ใช่ครับ เพราะเราจะต้องเข้าใจคำพูดที่ว่า ธรรมที่เป็นคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา สมถะในที่นี้ไม่ได้มุ่งหมายถึงการเจริญฌานเท่านั้น สมถะในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ เป็นฝักฝ่ายสมถะ ก็เกิดอยู่แล้วในขณะเจริญวิปัสสนา ฝักฝ่ายสมถะก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิครับ

ตามที่กล่าวแล้ว สมถะ หมายถึง ความสงบจากกิเลสด้วย ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เจริญวิปัสสนา ขณะนั้นจิตก็สงบจากกิเลสด้วยในขณะนั้น จึงเป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนาในขณะที่สติปัฏฐานเกิดครับ

ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของสติและปัญญาเป็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ดังเช่น อริยมรรคมีองค์ ๘ สำคัญ คือ เริ่มที่ สัมมาทิฏฐิก่อน คือ ปัญญา ความเห็นถูก หากมีสมาธิดี แต่ไม่ไ่ด้เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ไม่มีปัญญาที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนาได้เลย

ดังนั้น การเจริญวิปัสสนาที่ดีได้ ไม่ใช่อยู่ที่สมาธิ แต่อยู่ที่ปัญญาครับ และผู้ที่ไม่ไ่ด้เจริญสมถภาวนา หรือ ไม่ได้ฌาน แต่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว และได้บรรลุธรรมมีมากมาย นับไม่ถ้วน ซึ่งขณะที่เจริญวิปัสสนานั้น จะเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นได้ฌานไม่ได้ ต้องเป็นขณิกสมาธิเสมอ คือ สมาธิชั่วขณะ ครับ ดังนั้น ปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่สมาธิครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
apitum
วันที่ 15 ม.ค. 2555

๑๑. สัจจสังยุต สมาธิวรรคที่ ๑

สมาธิสูตร

ผู้มีใจตั้งมั่นย่อมรู้ตามความเป็นจริง

[๑๖๕๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจ ตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ย่อมรู้อะไรตามความเป็นจริง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

ถ้าท่านอ่านพระสูตรนี้แล้ว มีความเห็นเช่นไร

ขอความคิดเห็นด้วย สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
apitum
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ถ้าไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นดีก่อน (หมายถึงกุศลจิตที่เกิดต่อเนี่อง) แล้วจะระลึกรู้สภาพธรรม ได้อย่างไร?

สภาพธรรมเกิด ดับ รวดเร็วมากกว่า ความเร็วของแสง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
apitum
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ทำไมเราไม่เลีอกเจริญสติปัฏฐาน ๔ ขั้นต้นๆ ก่อน? เช่น กายยานุปัสสนา ซึ่งง่ายกว่า แล้วจึงมาเจริญธัมมานุปัสสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่ามาก เหมาะกับบุคคลที่มีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว เพราะว่า สติปัฏฐานทั้ง ๒๑ บรรพ ทำให้บรรลุได้ทุกๆ บรรพ

ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยโต้แย้งด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนา ก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก การอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้องเห็นความต่างระหว่างกุศล กับ อกุศล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเป็นผู้เจริญสมถภาวนา จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และประการที่สำคัญ ไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปเจริญ แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรม นั่นเอง

สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตเพื่อให้สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต จนจิตสงบเข้าถึงความสงบแนบแน่น เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่เจริญสมถถาวนา จิตย่อมไม่มีอกุศลเลย แต่ข้อที่น่าพิจารณา คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาที่ไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ความเข้าใจ เจริญไม่ถูก จิตย่อมไม่สงบจากอกุศล แต่เป็นอกุศล เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่า การอบรมเจริญสมถภาวนา เมื่อเจริญถูกต้อง ผลของสมถภาวนา ย่อมทำให้เกิดในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌาน ยังเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ เพราะสมถภาวนา ละกิเลสไม่ได้เลย เพียงแค่ข่มกิเลสไว้เท่านั้น

ส่วนวิปัสสนาภาวนา เป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ทั้งที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม เป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลสได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว จึงควรอย่างยิ่ง ที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ธรรมตามเป็นจริง เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมสำรอกราคะ ดับอวิชชา และดับกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

จากข้อความในสมาธิสูตรที่ยกมา ข้ออธิบายดังนี้ครับ ขอยกข้อความในอรรถกถาในพระสูตรนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 404

สัจจสังยุตตาวรรณนา

สมาธิสูตร

พึงทราบอธิบายในสมาธิสูตรที่ ๑ แห่งอรรถกถาสัจจสังยุต.

คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ...

สมาธิ ความว่า ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเสื่อม จากเอกัคคตาจิต (สมาธิ) ลำดับนั้น พระศาสดาทรง ปรารภเทศนานี้ แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุเหล่านั้น ได้ความที่จิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่งอย่างนี้ เจริญกรรมฐานแล้ว ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้.

จากคำอธิบายในอรรถกถา แสดงไว้ครับว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นพระภิกษุ เสื่อมจากการเจริญสมถภาวนาที่เป็นฌาน พระองค์ทรงปรารภเทศนานี้กับภิกษุเหล่านั้นเพื่อให้ได้ฌาน และให้เจริญกรรมฐานต่อ คือ เจริญวิปัสสนาจึงบรรลุธรรม

นี่แสดงให้เห้นครับว่า พระพุทธองค์ทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกที่สะสมมาไม่เหมือนกัน ทรงปรารภเฉพาะภิกษุกลุ่มเหล่านี้ ที่ให้เจริญฌาน เพราะภิกษุกลุ่มเหล่านี้ ได้ฌานอยู่แล้วครับ แต่ภายหลังท่านเสื่อมจากฌาน พระองค์ทรงรู้ว่า ท่านเหล่านี้ มีอัธยาศัยในการเจริญสมถภาวนาอยู่แล้ว และก็ต้องได้ฌานด้วย จึงทรงปรารภสูตรนี้ให้เจริญสมาธิ คือ สมถภาวนา และเจริญวิปัสสนาด้วยครับ

ดังนั้น จึงไม่ใช่หมายถึง ภิกษุทุกรูป อุบาสก อุบาสิกาทุกคนที่จะต้องทำตาม เพราะสัตว์โลกสะสมอัธยาศัยและบุญ บารมีมาไม่เหมือนกัน เพราะบางคนก็ไม่ได้สะสมการเจริญสมถภาวนา เจริญฌาน แต่ท่านก็อบรมวิปัสสนาอย่างเดียว ก็บรรลุธรรมได้ ไม่เช่นนั้น จะไม่มีพระอรหันต์ที่เรียกว่า พระอรหันต์ สุขวิปัสสกะ เลยครับ คือ พระอรหันต์ที่ดับกิเลส เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ไม่ได้อบรมสมาธิ อบรมฌานครับ แต่ในความเป็นจริง มีพระอรหันต์ที่ดับกิเลสอย่างเดียว คือ เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวที่เรียกว่า พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ครับ

เพราฉะนั้น เมื่อเราอ่านสูตรนี้ ก็ต้องเข้าใจว่า พระพุทธองค์มุ่งหมายถึง พระภิกษุบางรูปเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด และพุทธบริษัททั้งหมด แต่พระองค์มุ่งหมายถึงที่ท่านได้อบรมสมถภาวนามาแล้วครับ เพราะพระองค์เห็นเขาเสื่อมจากฌานจึงให้เจริญฌานต่อ พร้อมกับการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่ว่า ยังไม่ได้ฌาน ยังไม่ได้อบรมสมาธิเลย ก็จะให้ทำสมาธิก่อน เพื่อจะทำวิปัสสนา อันนี้ไม่ถูกต้องครับ

ดังนั้นการอ่านเพียงพระสูตรเดียวแล้วสรุปทั้งหมดไม่ได้ ต้องอ่านพระสูตรอื่นๆ และที่สำคัญอ่านอรรถกถา คำอธิบายในสูตรนั้นด้วย แม้แต่เรื่องสมาธิสูตรที่ยกมาครับ เพราะสูตรอื่นๆ แสดงว่า การเจริญวิปัสสนา สติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่ดับกิเลส และสูตรอื่นๆ ก็แสดงว่า ผู้ที่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ไม่อบรมสมาธิแต่อบรมวิปัสสนาอย่างเดียวและบรรลุธรรมก็มี และมีมากกว่าผู้ที่อบรมสมถภาวนา สมาธิและบรรลุธรรมด้วยครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎกครับ

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 206

สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้เอกัคคตาจิต มากกว่าโดยแท้

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

ถ้าไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นดีก่อน (หมายถึงกุศลจิตที่เกิดต่อเนี่อง) แล้วจะระลึกรู้สภาพธรรม ได้อย่างไร? สภาพธรรมเกิด ดับ รวดเร็วมากกว่า ความเร็วของแสง

- การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม กิจหน้าที่ที่ทำหน้าที่ระลึก คือ สติ ไม่ใช่สมาธิ สมาธิทำกิจหน้าที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ครับ

ขณะนี้เพียงเห็นใช่ไหมครับ เห็นเกิด อกุศลเกิดต่อทันที ติดข้อง ชอบแล้วโดยไม่รู้ตัวรวดเร็วถึงปานนั้น คือ อกุศลเกิดแทรก ขึ้นได้ทันทีอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ จิตเกิดดับรวดเร็วกว่าแสง แต่ อกุศลจิตก็เกิดได้ทันทีรวดเร็ว ขณะนี้ ได้ยิน เพียงแค่ได้ยิน อกุศลเกิดได้ทันที ชอบในเสียงที่ได้ยิน หรือ ไม่ชอบในเสียงที่ได้ยิน อกุศลเกิดต่ออย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ จิตเกิดดับ รวดเร็วกว่าแสง แต่ทำไม อกุศลก็เกิดต่อได้อย่างรวดเร็ว นี่คือ สัจจะ ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้น นี่คือการมองมุมกลับของฝ่ายอกุศลที่เกิดต่ออย่างรวดเร็วได้ หลังจากสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นและดับไป อกุศลก็เกิดต่อทันที ทำไมล่ะครับ ถึงเกิดอกุศลเกิดต่อได้ และเกิดได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสภาพธรรมที่เพิ่งดับ ก็เพราะว่า อกุศลนั้น สะสมมาเนิ่นนานนับชาติไม่ถ้วน จนชำนาญ ว่องไว เพียงเห็น สภาพธรรมที่เห็นดับไป อกุศลสามารถเกิดต่ออย่างรวดเร็ว เพราะสะสมมามาก และบ่อยๆ นับชาติไม่ถ้วน ฉันใด

การอบรมเจริญสติปัฏฐานคือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ สำคัญที่ สติและปัญญา ไม่ใช่สมาธิ แต่เพราะไม่ได้สะสมปัญญามามาก ก็ทำให้สติไม่สามารถเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เช่น เห็น เมื่อเห็นเกิดขึ้น เห็นดับไป ปัญญาก็ไม่เกิดต่อ พร้อมสติที่ระลึกว่าเป็นธรรมใช่เรา เพราะอะไรครับ เพราะสะสมปัญญามาน้อย ไม่ใช่สะสมสมาธิมาน้อย จึงทำไม่เกิดสติและปัญญาระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง แต่เมื่อมีการสะสมปัญญามามาก ไม่ใช่สะสมสมาธิมามากนะครับ ก็ทำให้ปัญญาและสติ สามารถเกิดแทรก สภาพธรรมที่เป็น เห็น ที่ดับไปและรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราได้ ดังเช่น อกุศลเกิดแทรก หลังจากเห็นที่ดับไปนั่นเองครับ จึงไม่ใช่เรื่องของสมาธิที่จะทำให้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วทัน แต่ เป็นปัญญาต่างหากที่คมกล้า จึงจะสามารถรู้การเกิดดับของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว

ซึ่งหากได้ศึกษาธรรมอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องวิปัสสนาญาณ ญาณ เป็นชื่อของปัญญา นะครับ ไม่ใช่สมาธิที่เป็น ฌาน วิปัสสนาญาณที่ ๓ และ ๔ คือ สัมมสนญานและ อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญาที่เห็นการเกิดดับของสภาพธรรม ซึ่งวิปัสสนาญาณ ขั้นที่ ๓ และ ๔ เป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ ที่ไม่ใช่ สมาธิตั้งมั่นเป็นฌานนะครับ

ดังนั้นจึงไม่ใช่จะต้องมีสมาธิเป็นอุปจารสมาธิ หรือ ถึงขั้นฌานจะทำให้เห็นการเกิดดับของสภาพธรรม แต่ ปัญญาต่างหากที่เป็นญาณ ไม่ใช่ ฌานที่จะเห็นการเกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ และ ๔ ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

วิปัสสนาญาณที่ ๓ -- สัมมสนญาณ

วิปัสสนาญาณที่ ๔ -- อุทยัพพยญาณ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 15 ม.ค. 2555

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20367 ความคิดเห็นที่ 5 โดย apitum

ปัญญาจึงเป็นใหญ่ในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อมีปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) แม้การให้ทาน ก็เป็นทานที่ถูก (ไม่มีเรา) แม้ศีลก็เป็นศีลที่ถูก แม้สมาธิ (สมถภาวนา) ก็เป็นสมาธิที่ถูก

สรุปคือ ทุกอย่างถูกหมดเมื่อมีความเห็นถูก ดังนั้น ควรเริ่มจากความเห็นที่ถูกต้องก่อนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

ทำไมเราไม่เลีอกเจริญสติปัฏฐาน ๔ ขั้นต้นๆ ก่อน? เช่น กายยานุปัสสนา ซึ่งง่ายกว่า แล้วจึงมาเจริญธัมมานุปัสสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่ามาก เหมาะกับบุคคลที่มี อินทรีย์แก่กล้าแล้วเพราะว่า สติปัฏฐานทั้ง ๒๑ บรรพ ทำให้บรรลุได้ทุกๆ บรรพ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยโต้แย้งด้วย

- ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติปัฏฐาน ก็คือ ธรรม ซึ่งเป็น สติและปัญญาที่เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมต่างๆ ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมครับ สติและปัญญาก็เป็นธรรมเช่นกัน ดังนั้นในเมื่อ สติและปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นธรรม ก็ต้องเป็นอนัตตาด้วย ความหมายของอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีเราที่จะทำให้เกิด เป็นไปตามอำนาจของเราได้เลย นี่คือ ความเป็นอนัตตา ดังนั้น สติปัฏฐาน เป็นอนัตตา สติและปัญญา บังคับให้เกิดตามใจชอบไม่ได้ เพราะเป็นธรรมไม่ใช่เรา และบังคับที่จะเลือกหมวดใดหมวดหนึ่ง ตามที่เราจะเลือกก็ไม่ได้อีก เพราะเป็นธรรม สติและปัญญาเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ จึงบังคับที่จะเลือกให้สติเกิดระลึกรู้ที่หมวดนี้ก่อน เพราะคิดว่าง่าย อันนี้ก็ไม่ตรงกับหลักความเป็นอนัตตาแล้ว จึงไม่ถูกต้อง ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเลย

ดังนั้น เมื่อไหร่ที่เลือก ให้รู้ทันทีว่าไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะ เป็นโลภะ ความต้องการที่จะเลือกหมวดด้วยความเป็นเราที่คิดว่าหมวดนี้ง่ายครับ

ดังนั้น ทุกบรรพ ทุกหมวด บรรลุได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า สติและปัญญาจะระลึกรู้หมวดอะไร บังคับไม่ได้เลย เปรียบเหมือน อกุศล ทุกประเภท ไม่ดีทุกประเภท แต่เลือกให้เกิดอกุศลประเภทนี้ก่อนได้ไหม เพราะอกุศลประเภทนี้ ไม่รุนแรง ทำได้ไหมครับ ก็ไม่ได้ ฉันใด สติและปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะเลือกหมวดตามใจที่คิดว่าง่าย เพราะเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา จึงเป็นอนัตตาครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาเพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
apitum
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ความคิดเห็นที่ 11 paderm

สติปัฏฐาน เป็นอนัตตา สติและปัญญา บังคับให้เกิดตามใจชอบไม่ได้ เพราะเป็นธรรมไม่ใช่เรา และบังคับที่จะเลือกหมวดใดหมวดหนึ่ง ตามที่เราจะเลือกก็ไม่ได้อีก เพราะเป็นธรรม สติและปัญญาเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ จึงบังคับที่จะเลือกให้สติเกิดระลึกรู้ที่หมวดนี้ก่อน เพราะคิดว่าง่าย อันนี้ก็ไม่ตรงกับหลักความเป็นอนัตตาแล้ว จึงไม่ถูกต้อง ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเลย

ขออนุญาตโต้แย้ง

ถ้าเราไม่สามารถเลือก หัวข้อธรรมที่จะเจริญเองได้ ก็คงเจริญอกุศลธรรมกันตลอดเวลาแน่ แล้วพระพุทธเจ้าจะทรงสอนธรรมะไว้มากมายทำไม ธรรมใดที่ควรเจริญ ธรรมใดที่ควรละเว้น มีความเพียร ไม่ใช่นั่งรออนัตตา รอเหตุปัจจัย เราควรจะระลึกถึงธรรมะต่างๆ ที่ท่านสอนให้เจริญอยู่เนืองๆ เช่น เมตตา มรณานุสติ กายคตาสติ เป็นต้น สร้างเหตุปัจจัยที่เป็นทางกุศล ไม่ใช่นั่งรออนัตตา เหตุปัจจัยให้เกิดกุศล ถ้าไม่เกิดก็มีแต่อกุศล ต้องใช้ความเพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นมา และเพียรละอกุศล ถึงจะตรงต่อคำสอนหรือกลัวว่าจะมีตัวตนในการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติโดยไม่มีตัวตน เราจะงงไปหรือเปล่าที่เอาผลมาเป็นเหตุ (กลับหัวกลับหางกัน) ปฏิบัติเพื่อละตัวตน หรีอว่าละตัวตนเสียก่อนจึงปฏิบัติ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
apitum
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ความคิดเห็นที่ 1

คุณ paderm ตอบไม่ตรงประเด็นครับ

เจริญสมถะควบคู่กันไป (หมายถึง เจริญสมถะบ้างบางเวลาและเจริญวิปัสสนาบ้าง) มิใช่เจริญก่อน หรือหลังครับ

ความคิดเห็นที่ 2

คุณ paderm ตอบไม่ตรงประเด็นอีกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 15 ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

ถ้าเราไม่สามารถเลือก หัวข้อธรรมที่จะเจริญเองได้ ก็คงเจริญอกุศลธรรมกันตลอดเวลาแน่ แล้วพระพุทธเจ้าจะทรงสอนธรรมะไว้มากมายทำไม ธรรมใดที่ควรเจริญ ธรรมใดที่ควรละเว้น มีความเพียร ไม่ใช่นั่งรออนัตตา รอเหตุปัจจัย เราควรจะระลึกถึงธรรมะต่างๆ ที่ท่านสอนให้เจริญอยู่เนืองๆ เช่นเมตตา มรณานุสติ กายคตาสติ เป็นต้น สร้างเหตุปัจจัยที่เป็นทางกุศลไม่ใช่นั่งรอ อนัตตา เหตุปัจจัยให้เกิดกุศล ถ้าไม่เกิดก็มีแต่อกุศล ต้องใช้ความเพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นมา และเพียรละอกุศล ถึงจะตรงค่อคำสอน

- พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรม แสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดปัญญา ขณะที่ฟังพระธรรม เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาใช่เราหรือเปล่าครับ หรือ เป็นธรรม หากแต่ว่าเมื่อฟังพระธรรมเข้าใจ ปัญญาก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รู้ความจริง ก็จะค่อยๆ ละกิเลสเอง โดยไม่มีเราที่จะพยายามที่จะทำ ให้ปัญญาเกิด เพราะแล้วแต่ว่าปัญญาจะเกิดตอนไหน เมื่อไหร่นั่นเอง ครับ รู้ใช่ไหมครับ ว่าความโกรธไม่ดี แต่ทำไมก็ยังเกิดความโกรธ ทำไมไม่บังคับ พยายามที่จะเพียรที่จะไม่ให้ความโกรธเกิดล่ะครับ แต่โกรธก็เกิดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ด้วยครับ และบังคับให้มีเมตตาทันทีตลอดเวลาได้ไหมครับ เช่นเดียวกับที่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงสอนให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจ ปัญญาก็ทำหน้าที่เอง

ดังนั้น คำถามจึงมีอยู่ว่า เป็นเราที่ระลึก หรือ ธรรมทำหน้าที่ระลึก และคำถามก็มีอยู่ว่า บังคับบัญชาได้ไหม แม้อกุศล และกุศลที่จะเกิดขึ้นครับ

การศึกษาธรรมจึงต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก แม้ในเรื่อง อภิธรรมที่แสดงว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตาครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

หรือกลัวว่าจะมีตัวตนในการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติโดยไม่มีตัวตน เราจะงงไปหรือเปล่าที่เอาผลมาเป็นเหตุ (กลับหัวกลับหางกัน) ปฏิบัติเพื่อละตัวตน หรือว่าละตัวตนเสียก่อนจึงปฏิบัติ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ปฏิบัติเพื่อละตัวตน หรีอว่าละตัวตนเสียก่อนจึงปฏิบัติ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 16 ครับ

ขออนุญาตยกคำถามตั้งต้นของผู้ถามาอีกครั้งครับ

การเจริญสติปัฐาน โดยไม่เจริญสมถะควบคู่กันไป จะกล่าวว่าจะทำให้การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะว่ากุศลจิตและปัญญาเกิดขึ้นชั่วขณะสั้นๆ ไม่สามารถแทงตลอดได้ ซึ่งเทียบกับบุคลที่มีสมาธิดี ขั้นอุปจาร หรืออัปปมา จะเจริญสติปัฏฐานได้ดีกว่ามาก ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร


- จากคำถาม กำลังแสดงว่า การเจริญสมถภาวนา หรือ ทำสมาธิจะทำให้เจริญสติปัฏฐานได้ดีกว่า เพาะมีสมาธิ ทำให้เจริญสติปัฏฐานได้ดีกว่า ผู้ถามจึงกำลังโยงว่า สมถภาวนานั้นเกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนา

ดังนั้นในความเห็นที่ 1 และ 2 จึงได้อธิบายว่า สมถะจริงๆ คืออย่างไร และสมถภาวนา เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ และก็ยังอธิบายรายละเอียดด้วยว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสมถะ หรือไม่ครับ ซึ่งก็ตรงประเด็นในคำถามแล้วครับ

และจากหัวข้อเรื่องที่ผู้ถามตั้งเป็นกระทู้ว่า

การเจริญสติปัฐาน โดยไม่เจริญสมถะควบคู่กันไป ปัญญาไม่สามารถแทงตลอดได้

- นั่นก็แสดงว่าผู้ถาม เข้าใจว่า จะต้องเจริญสมถภาวนาควบคู่กันไป จึงจะมีปัญญาแทงตลอดบรรลุธรรมได้ กระผมจึงได้อธิบายในความคิดเห็นที่ 1 และ 2 ว่า ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาควบคู่กันไปกับการเจริญวิปัสสนาจึงจะบรรลุธรรม เพราะผู้ที่บรรลุธรรมโดยไม่ได้เจริญสมถภาวนาก็มีด้วยครับ และก็อธิบายสมถะ ที่อยู่ในองค์วิปัสสนาก็มีด้วยครับ รวมทั้งอธิบายความต่างของสมถะ และ สมถภาวนาเพื่อให้ผู้ถามได้เข้าใจถูกต้องครับ ความคิดเห็นที่ 1 และ 2 จึงตรงประเด็นกับ ทั้งหัวข้อเรื่อง และ เนื้อหารายละเอียดที่ถามต่อจากหัวข้อแล้วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
apitum
วันที่ 16 ม.ค. 2555

* ดังนั้นเริ่มจากความเข้าใจถูกเบื้องต้นในขั้นการฟังว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ไม่มีตัวตน เมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้องเช่นนี้ ก็ย่อมนำไปสู่ผลที่ถูกต้อง คือ ละคลายความยึดถือว่ามีตัวตน รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ เริ่มจากเหตุที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่ผลที่ถูกต้อง * *

- ขอแสดงความคิดเห็น

คนที่ศึกษามา ฟังมา ก็เข้าใจเช่นเดียวกัน * ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ไม่มีตัวตน *

แต่เมี่อระลึกรู้สภาพธรรมที่แท้จริงของของเรา ก็ยังคงมีตัวตนอยู่ ทำไมเราจะต้องแสร้งว่า เป็นเพียงสภาพธรรม ไม่มี ตัวตน ไม่มีใครบังคับ บัญชา เป็นอนัตตา ทั้งที่เราก็ รู้อยู่แก่ใจว่า ยังมีตัวตนอยู่

ทำไมไม่ระลึกรู้สภาพธรรม ที่เกิดดับจริงๆ จากจิตเรา โดยที่ไม่สอดแทรก ความคิดใดๆ เข้าไป เพียงแต่เฝ้าดูอยู่โดยไม่ไปรบกวน สภาพธรรมนั้นๆ (เหมือนกับการเฝ้าดูกล้องวงจรปิด) ก็ยังเป็นความคิดอยู่ดี จิตยังไม่ประจักษ์แจ้งถึง ความเป็นอนัตตา รวมถึง ไตรลักษณ์

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 19 ครับ

คนที่ศึกษามา ฟังมา ก็เข้าใจเช่นเดียวกัน * ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ไม่มีตัวตน * แต่เมี่อระลึกรู้สภาพธรรมที่แท้จริงของของเรา ก็ยังคงมีตัวตนอยู่


- ข้อความนี้ก็ต้องละเอียดครับว่า คนที่ศึกษามา ฟังมา ก็เข้าใจเช่นเดียวกัน * ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ไม่มีตัวตน * ถ้าเข้าใจจริงๆ ในคำนี้ คือ ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ไม่มีตัวตน แม้ในขั้นการฟัง ก็จะไม่พยายามที่จะทำ แม้จะพยามที่จะเพียรที่จะปฏิบัติ เพราะเข้าใจว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม ที่ทำหน้าที่ ไม่มีตัวตนที่จะทำ ที่จะปฏิบัติ ปฏิบัติ คือ การทำหน้าที่ของธรรม ที่เป็น สติและปัญญาเกิดขึ้น เมื่อเข้าใจว่า ปฏิบัติ คือ การทำหน้าที่ของธรรม จึงไม่มีใครที่จะพยายามเพียร จะปฏิบัติ พยายามที่จะเลือกระลึกรู้ลักษณะ เพราะเป็นหน้าที่ของธรรม ไม่มีเรา มีแต่ธรรมนั่นเอง นี่คือ ผู้ที่เข้าใจคำนี้จริงๆ แต่ ผู้ที่ไม่เข้าใจ แม้จะกล่าวว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ไม่มีตัวตน แต่พยายามที่จะทำ จะปฏิบัติ นั่นก็เท่ากับว่าไม่เข้าใจคำนี้จริงๆ นั่นเองครับ เพราะไม่เข้าใจแม้แต่คำว่า ธรรมปฏิบัติหน้าที่ แต่เข้าใจผิดว่า คิดว่าเป็นเราที่จะปฏิบัติได้ เป็นเราที่จะเพียรนั่นเองครับ

ส่วน ผู้ร่วมสนทนากล่าวว่า

แต่เมี่อระลึกรู้สภาพธรรมที่แท้จริงของของเรา ก็ยังคงมีตัวตนอยู่

- ต้องเข้าใจครับว่า ขณะที่เป็นตัวตน ด้วยความเป็นเรา มี ๓ อย่าง คือ ขณะที่เกิดด้วยจิต โลภะ มานะและทิฏฐิ ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศลเกิด เช่น มีโลภะ ต้องการที่จะทำ จะเลือกสภาพธรรม ต้องการที่จะปฏิบัติ ขณะนั้นเป็นเรา เป็นตัวตนด้วยโลภะครับ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนี้ ปัญญาเกิดรู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ได้มีความยึดถือเลยว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลในขณะจิตนั้นนะครับ ดังนั้นจะกล่าวมีตัวตนในขณะจิตนั้นไม่ได้เลย นี่เราพูดทีละขณะจิตครับ

และจากคำกล่าวที่ว่า

ทำไมเราจะต้องแสร้งว่า เป็นเพียงสภาพธรรม ไม่มี ตัวตน ไม่มีใครบังคับ บัญชา เป็นอนัตตา ทั้งที่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่า ยังมีตัวตนอยู่ ทำไมไม่ระลึกรู้สภาพธรรม ที่เกิดดับจริงๆ จากจิตเรา โดยที่ไม่สอดแทรก ความคิดใดๆ เข้าไป เพียงแต่เฝ้าดูอยู่โดยไม่ไปรบกวนสภาพธรรมนั้นๆ (เหมือนกับการเฝ้าดูกล้องวงจรปิด) ก็ยังเป็นความคิดอยู่ดี จิตยังไม่ประจักษ์แจ้งถึง ความเป็นอนัตตา รวมถึง ไตรลักษณ์


- ปัญญา ไม่ได้แสร้ง แต่ค่อยๆ เริ่มเข้าใจความจริงในขั้นการฟังว่ามีแต่ธรรมไม่ใช่เรา และที่กล่าวว่า ทำไมไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับจากจิตใจของเรา

ในความเป็นจริง การอบรมปัญญาจะต้องเป็นไปตามลำดับ แม้วิปัสสนาญาณ ก็ต้องแบ่งเป็น ๑๖ ขั้น เริ่มจาก ๑ ไป ๒

ดังนั้น ปัญญาขั้นต้นจึงไม่ใช่รู้การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ต้องรู้สภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมก่อนครับ เพราะ หากยังไม่รู้ตัวธรรม แล้วจะไปรู้สิ่งที่เกิดดับได้อย่างไรครับ เพราะการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม เป็นปัญญาระดับสูง ที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ และ ๔ แล้วครับ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ต้องเกิดก่อน คือ เป็นปัญญาที่รู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมก่อนครับ จึงจะไปถึง วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ และ ๔ ได้

การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมจะทำให้ไม่เข้าใจผิด อันเกิดจากความคิดเองที่ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ

เชิญคลิกกอ่านที่นี่ครับ

การปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานและ เห็นการเกิดดับนั้น คือเห็นอย่างไรคะ

โลก หรือ การเกิดดับ เทียบเคียงอย่างนี้พอจะได้หรือไม่ เพื่อให้เห็นแนวทาง

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
apitum
วันที่ 16 ม.ค. 2555

* * ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสมถะ * *

ตามพระอภิธรรม ถูกต้องครับ มีเอกกัคคตาเจตสิกเกิดร่วม แต่ เอกกัคคตาเจตสิก ที่เกิดขึ้นร่วมด้วยไม่มีกำลังพอ (ขาดการฝึกฝน) ทำให้จิตไม่มี กำลังที่จะให้การเจริญสติปัฐาน ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จิตไม่สามารถแทงตลอดในหมวดธรรมที่ สติระลึกรู้อยู่

(อุปมาเหมีอน การจุดไฟแช็ค ที่ฝนไปกับถ่านไฟแช็คมีเพียงประกายไฟ โดยที่ไม่มี

การลุกไหม้ของแก๊ส จึงไม่มีประกายไฟ ส่องสว่างขึ้นมา) สมถะจะต้องมีการฝึกฝนให้มีกำลัง กุศลจิตจะ เกิดบ่อย เร็ว คม เกิดขึ้นต่อเนื่อง จึงจะประจักษ์สภาพธรรมได้อย่างชัดเจน ต่อเนี่อง เนืองๆ เสมือนไฟแช็คที่ถูกจุดติดขึ้นมา ส่องแสงสว่างให้เราได้ ประจักษ์สภาพธรรมได้อย่าง ชัดเจน บ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาเกิดร่วมกับกุศลจิต ใช่ไหมครับ?

ดังนั้น เราจึงต้องเจริญ กุศลจิตให้เกิดมากๆ เพราะปัญญามิได้เกิดขึ้นจากการ ฟังธรรมเพียงอย่างเดียว หรีอว่า ท่านจะโต้แย้งว่า มีตัวตนในการเจริญสมถ ก็คงขัดแย้งกับพระพุทธพจน์

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 21 ครับ

ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ที่สำคัญจะต้องศึกษาจากพระไตรปิฎอย่างกว้างขวาง ครอบคลุม จึงจะเข้าใจถูกต้อง แม้แต่คำว่า สมถะ คืออะไร ผู้ร่วมสนทนากล่าวว่า สมถะ คือ เอกัคคตาเจตสิก แต่ในความเป็นจริงของพระธรรม สมถะ ในสติปัฏฐาน หรือ อริยมรรค นั้น ไม่ใช่เพียงเอกัคคตาเจตสิกนะครับ ดังนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด จึงไม่ใช่มีแต่เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่เป็นองค์ของสมถะ เท่านั้น แต่ก็มีองค์ของสมถะอื่นด้วย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว หรือ สติปัฏฐาน เกิดก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมา ทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามี สมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่าย ของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

จะเห็นนะครับว่า สมถะ ไม่ใช่มีเฉพาะเอกัคคตาเจตสิกเท่านั้น มีความเพียรที่เป็น สัมมาวายามะด้วย มี สัมมสมาธิ ที่เป็น เอกกัคคตาเจตสิกด้วย มี สัมมาสติที่เป็น สติ เจตสิก ก็เป็นองค์สมถะด้วยครับ ดังนั้น จะกล่าว่า สมถะนั้นไม่มีกำลังไม่ได้ เพราะเกิด ร่วมกับองค์สมถะหลายๆ องค์ที่สำคัญ เกิดพร้อมกับปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิด้วยครับ ซึ่งจะขอยกข้อความในพระไตรปิฎกโดยตรงนะครับ ในเรื่องนี้

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 373 อนึ่ง โลกุตรมรรคใด พร้อมทั้งโลกิยมรรค ถึงซึ่งการนับ ว่าเป็น

ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์) มรรคนั้นแลเป็น ทั้งวิชชาและจรณะ เพราะสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทรงสงเคราะห์ไว้ด้วย วิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ไว้ด้วยจรณะ อนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งสมถะและ

วิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ. ธรรมนอกจากนี้ สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ.อีกอย่างหนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งขันธ์ ๓ และสิกขา ๓ เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์ ธรรม ๓ในลำดับต่อจากสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะนั้นสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ ที่เหลือสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์และธรรมเหล่านั้นแหละสงเคราะห์ด้วยอธิปัญญาสิกขาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา.


ส่วนข้อความที่ว่า

ปัญญาเกิดร่วมกับกุศลจิต ใช่ไหมครับ?

ดังนั้น เราจึงต้องเจริญ กุศลจิตให้เกิดมากๆ เพราะปัญญามิได้เกิดขึ้นจากการ ฟังธรรมเพียงอย่างเดียวหรีอว่า ท่านจะโต้แย้งว่า มีตัวตนในการเจริญสมถ ก็คงขัดแย้ง กับพระพุทธพจน์


ก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดนะครับ กุศลจะเกิดมากๆ เพราะอะไร กุศลประการอื่นๆ เกิด มากๆ เพราะปัญญามีมาก หรือ เพราะกุศลอื่นๆ เกิดมาก เช่น ทาน ศีล ทำให้ปัญญามี มาก ตรงนี้ต้องคิดพิจารณานะครับ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงชัดเจนครับว่า วิชชา หรือ ปัญญาเป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลาย ความหมาย คือ เพราะมีปัญญา มากขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ มี ทาน ศีล เป็นต้น ก็เจริญมากขึ้นตามไปด้วยครับ ดังนั้น เพราะอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาจึงเจริญขึ้น เมื่อปัญญา เจริญขึ้น ก็ทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นตามปัญญา เพราะเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ก็ย่อมคิดถูก วาจาก็ถูก การกระทำทางกายก็ถูก ระลึกก็ถูก ตามปัญญาที่ เจริญขึ้น คือ สัมมาทิฏฐินั่นเองครับ ดังนั้น ปัญญาต่างหากที่ทำให้ กุศลธรรมประการ ต่างๆ เจริญขึ้น รวมทั้ง ความเห็นถูก ปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเกิดขึ้น ก็ ทำให้ธรรมอื่นๆ คือ องค์สมถะ ที่ไม่ใช่มีองค์เดียวนะครับ คล้อยตามเกิดขึ้นตามไปด้วย หลายๆ องค์นั่นเองครับ ส่วนผู้ร่วมสนทนาที่ยกอุปมา มาเรื่องไฟแช็ค อัน เกิดจากความ คิดของตนเอง ที่ไม่ตรงตามพระธรรม และไม่มีในพระไตรปิฎก ขอความกรุณา ยกพระ ธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ประกอบกับความคิดเห็นก็จะเป็นระโยชน์มากครับ ขอยกข้อความในพระไตรปิฎกดังนี้ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 1

๑. อวิชชาสูตร

[๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความ

เห็นชอบ ย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมเกิด มีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การงาน ชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีระลึกชอบ.

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
apitum
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เราสนทนากันเพียง หัวข้อแคบๆ (เพียงการเจริญสติปัฐาน4 และการระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฎในประจำวัน) ยังมิได้ไปไกลถึงมรรคมีองค์ 8 รอให้โภชงค์ 7 สมบูรณ์เสียก่อน แล้วค่อยสนทนากันใหม่ เอาประเด็นแคบๆ ให้กระจ่างก่อน เอาแค่การระลึกรู้สภาพธรรม ที่มิได้มีการฝึกฝนสมถ หรือสัมมาสมาธิ ที่เจริญควบคู่กันไป ซึ่งคุณกล่าวว่าไม่มีความจำเป็นต้องเจริญสมถ แต่ผมเสนอว่ามีความจำเป็นต้องเจริญควบคู่กันจึงจะได้ผล แต่คุณยังหาเหตุผลมาหักร้างไม่ได้ดีพอ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
paderm
วันที่ 16 ม.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 23 ครับ

หากเราศึกษาให้ละเอียด ก็จะเข้าใจว่า แม้ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน นั่นคือ มีมรรคมีองค์ 5 ที่เ่กิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิด จะไม่มี สภาพธรรมที่เป็น สัมมาแต่ละ องค์นะครับ มี คือ มีองค์ 5 มีอะไรครับ สัมมาทิฏฐิ สัมมสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ดังนั้น องค์ 2 ข้างต้น เป็นองค์ของวิปัสสนา ส่วน สัมมาวายามะ สัมมา สติและ สัมมาสมาธิ เป็น องค์ของสมถะครับ ดังนั้นการศึกษาพระธรรมจะต้องละเอียด ก็ จะเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องครับ ว่ามีองค์ของสมถะ อยู่แล้วครับ เนื่องจากผู้ร่วมสนทนาได้ถามกระผมในหลายข้อเืพื่อความเข้าใจ กระผมจึงขอเรียนถาม เพื่อเป็นการร่วมสนทนาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง หวังว่าท่านผู้ร่วมสนทนาคงร่วมตอบ คำถามเหล่านี้เพื่อประโยชน์กับความเข้าใจถูกต้องของตนเองและสหายธรรมทั้งหลาย นะครับ คำถามมี 5 ข้อดังนี้

ข้อที่ 1. นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นพระโสดาบันหรือไม่ และท่านได้ฌาน อบรมสมถภาวนาด้วยหรือ เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็บรรลุธรรม

ข้อที่ 2.ผู้ที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวแล้วบรรลุธรรมมีหรือไม่ หรือ จะต้องอบรมสมถ ภาวนาควบคู่กันไปกับวิปัสสนาจึงจะบรรลุธรรม

ข้อที่ 3.พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ คือ ใคร ท่านอบรมสมถภาวนาหรือไม่

ข้อที่ 4. ขณะที่สติปัฏฐานเกิด หรือ วิปัสสนาเกิด มีองค์ของสมถะ หรือ ไม่ หรือ ต้องไป ทำสมถะอีกครับ

ข้อที่ 5. ข้อความที่ว่า

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 206

สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ ได้เอกกัคคตาจิต มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ไม่ได้สมาธิไม่ได้เอกกัคคตาจิต มากกว่าโดยแท้


หมายความว่าอย่างไรครับ


ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
วิริยะ
วันที่ 16 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 16 ม.ค. 2555

"..เอาประเด็นแคบๆ ให้กระจ่างก่อน เอาแค่การระลึกรู้สภาพธรรมที่มิได้มีการฝึกฝนสมถ หรือสัมมาสมาธิ ที่เจริญควบคู่กันไป ซึ่งคุณกล่าวว่าไม่มีความจำเป็นต้องเจริญสมถ.."

ขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ความเข้าใจของท่าน คือ อย่างไรครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
aurasa
วันที่ 16 ม.ค. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด การหักล้างกันด้วยความคิดเห็นของเราอาจคลาดเคลื่อน พระธรรมทุกปิฎก ต้องสอดคล้องกันอย่างแน่นอน เพราะเป็นพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ช่วยอธิบายและยกข้อความในพระไตรปิฎกมาอ้างอิงเพื่อ ประโยชน์ของความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ความคิดเห็นที่ 27

ขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ความเข้าใจของท่าน คือ อย่างไรครับ? ถัาสติเกิดก็ระลึกรู้ ถ้าไม่เกิดก็ไม่รู้ ปัญญาก็พิจารณาไปตามหมวดธรรมที่เราต้องการ ไม่เห็นจะมีอะไรที่ซับซ้อน

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
apitum
วันที่ 17 ม.ค. 2555

ความคิดเห็นที่ 24

จะเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องครับ ว่ามีองค์ของสมถะ อยู่แล้วครับ

องค์ของสมถะ ซึ่งขาดการเจริญฝึกฝนให้มีกำลัง มรรค 8 จะสมบูรณ์ได้อย่างไรครับ

สัมมาสมาธิ ท่านจะเอาไปซ่อนไว้ตรงไหนครับ ไม่เจริญ (เท่ากับค้านพระพุทธพจน์ครับ) ท่านต้องระวังตรงนี้ให้มาก สัมมาสมาธิไม่ได้เกิดเองโดย อัตโนมัตครับ ต้องเจริญขึ้น ไม่ใช่เจริญสติปัฐาน แล้วแถมให้ฟรีๆ ไม่ได้มาเอง อย่างที่คุณกล่าวไว้ (เกิดร่วมกัน ในสาธารณเจตสิก ตามอภิธรรม)

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
--MoN--Pp--
วันที่ 17 ม.ค. 2555

เรียนขอร่วมสนทนา กับ คุณapitum

จากข้อความที่คุณยกมา

การเจริญสติปัฐาน โดยไม่เจริญสมถะควบคู่กันไป ปัญญาไม่สามารถแทงตลอดได้ การเจริญสติปัฐาน โดยไม่เจริญสมถะควบคู่กันไป จะกล่าวว่าจะทำให้ การเจริญสติปัฐานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะว่า กุศลจิตและปัญญาเกิดขึ้นชั่วขณะสั้นๆ ไม่สามารถแทงตลอดได้ ซึ่งเทียบกับบุคลที่มีสมาธิดีขั้นอุปจาร หรืออัปปนา จะเจริญสติปัฐานได้ดีกว่ามาก ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยโต้แย้งด้วย

ขอสนทนาดังนี้

มรรคจิตเป็นกุศลจิตและปัญญาก็เกิดขึ้นชั่วขณะสั้นๆ แต่สามารถแทงตลอดดับกิเลสได้

เพราะว่า กว่าจะฟังให้เข้าใจ จนสติปัฐานเกิดได้ ต้องมีเหตุคือ สมาธิพร้อมปัญญาในสัจจญาณ มากน้อยขึ้นอยู่กับอินทรีย์ คือกุศลและ สมาธิ ทั้งปวงที่เป็น วิวัฏฏะ ที่สะสมต่างกัน ไม่ใช่ฉะเพาะกุศล และสมาธิที่เป็น วัฏฏะ แม้เป็น อัปปนาสมาธิ ก็ไม่ใช่ สัมมาสมาธิ ในองค์มรรค เพราะ อุปมา การต้องการผลของเมล็ดพันธ์พืช แต่ได้ผลคนละพันธ์ กุศลและสมาธิที่เป็นวัฏฏะ เพียงอุปถัมภ์ เหมือนให้ร่มเงาแก่ พันธ์พืช ที่ปลูกจนออกดอก ผลตรงกับพันธ์ที่ปลูก แต่ไม่ได้ออกดอกผลตามพันธ์พืช ที่ให้ร่มเงา เอามาเป็นสิ่งเดียวกันไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการเข้าใจผิดที่เป็น อกุศล และมิจฉาสมาธิ เป็นวัฏฏะที่ไม่ดี

ขออนุญาติยกตัวอย่างเหมือนท่านพระองคุลิมาลมือก็เปื้อนเลือด

ก่อนฟังธรรมไม่นานแต่ก็บรรลุได้ ต่างจากพระอรหันต์สาวกบางท่าน บรรลุในเพศภิกษุทั้งเป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัยได้อัปนาสมาธิก่อนบวชก็บรรลุได้ หรือท่านพระเทวทัตได้อัปนาสมาธิแต่ก็บรรลุไม่ได้ สมาธิ มาก ยาว นาน จึงไม่เป็นประมาณ อยู่ที่มี สมาธิ ปัญญา ที่เป็นสัจจญาณ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม๒ภาค๒หน้าที่ 141

๖. อังคุลิมาลสูตร

[๕๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้นแล ในแว่นแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล..... ฯลฯ

พระองคุลิมาลอุทาน

[๕๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุตติสุข เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ผู้ใด เมื่อก่อนประมาท ภายหลังผู้นั้นไม่ประมาท เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ผู้ใดทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 151

ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึงพ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น. ขอศัตรูทั้งหลายของเราจงพึงธรรมกถาเถิด ขอศัตรูทั้งหลายของเราจงขวนขวายในพระพุทธศาสนาเถิด อมนุษย์ทั้งหลายที่เป็นศัตรูของเรา จงคบสัตบุรุษผู้ชวนให้ถือธรรมเถิด. ขอจงคบความผ่องแผ่ว คือ ขันติ ความสรรเสริญ คือ เมตตาเถิด ขอจงพึงธรรมตามกาล และจงกระทำตามธรรมนั้นเถิด ผู้ที่เป็นศัตรูนั้น ไม่พึงเบียดเบียนเรา หรือใครๆ อื่นนั้นเลย ผู้ถึงความสงบอย่างยิ่งแล้วพึงรักษาไว้ซึงสัตว์ที่สะดุ้งและที่มั่นคง คนทดน้ำย่อมชักนำไปได้ ช่างศรย่อมดัดลูกศรได้ ช่างถากย่อมถากไม้ได้ฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมทรมานตนได้ ฉันนั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 152

คนบางพวกย่อมฝึกสัตว์ ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง เราเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้วโดยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาสตรา เมื่อก่อนเรามีชื่อว่าอหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียนสัตว์อยู่ วันนิ้เรามีชื่อตรงความจริงเราไม่เบียดเบียนใครๆ เลย เมื่อก่อน เราเป็นโจร ปรากฏชื่อว่าองคุลิมาล ถูกกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่พัดไป มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะแล้ว เมื่อก่อนเรามีมือเปื้อนเลือดปรากฏชื่อว่า องคุลิมาล ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ จึงถอนตัณหาอันจะนำไปสู่ภพเสียได้ เรากระทำกรรมที่จะให้ถึงทุคติเช่นนั้นไว้มาก อันวิบากของกรรมถูกต้องแล้ว เป็นผู้ไม่มีหนี้ บริโภคโภชนะ พวกชนที่เป็นพาลทรามปัญญา ย่อมประกอบตามซึ่งความประมาท ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริญ ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงอย่าประกอบตามซึ่งความประมาท อย่าประกอบตามความชิดชมด้วยสามารถความยินดีในกาม เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงความสุขอัน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 153

... ไพบูลย์ การที่เรามาสู่พระพุทธศาสนานี้นั้นเป็นการมาดีแล้วไม่ปราศจากประโยชน์ไม่เป็นการคิดผิด บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ดีแล้ว เราก็ได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดแล้ว (นิพพาน) การที่เราได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดนี้นั้น เป็นการถึงดีแล้ว ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิดผิด วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำแล้วดังนี้.

จบ อังคุลิมาลสูตรที่ ๖

ท่านพระองคุลิมาล หรือผู้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน รู้กำลังปัญญาของตัวเอง สะสมที่จะมีความเพียร วิริยเจตสิก ทำหน้าที่ไม่ท้อถอยไม่ยอมแพ้อกุศลธรรม อยู่แล้ว ไม่ต้องพูดออกมา หรือพูดในใจว่าต้องเพียรเสียก่อนและไม่ต้องบอกให้ ใครรู้ว่าเป็นตัวตนเสียก่อน เพราะใครๆ ที่ไม่มีสัจจญาณ ก็เป็นอย่างนั้น จีงไม่เป็นปัจจัยให้ สติปัฐานเจริญขึ้น ด้วยการพูด นั้นไม่ใช่หนทาง (สัมมามรรค) เพราะหากสติปัฏฐานเกิดได้ สัจจะญาณ รู้ว่าแม้ที่เข้าใจว่าเป็นตัวตนนั้น ก็รู้ว่าเป็นเราด้วยโลภะบ้าง เป็นเราดัวยอัตสัญญาบ้าง มานะบ้าง แต่ไม่ต้องเป็นเราก่อน เพราะไม่มีเราเลย แต่เป็น อัตสัญญาเจตสิกบ้าง เป็นโลภะบ้าง เพราะในขณะที่ไม่มีสติปัฏฐาน และ สัจจะญาณที่มั่นคง แม้เป็นอุปจาร หรืออัปนสมาธิ ไม่พ้นจากความเข้าใจว่ามีเรา จนเข้าใจผิดได้ว่าต้องมี เราก่อน ตัวตนก่อน จึงเหมือนบังคับได้ก่อน แต่เพราะไม่มีญาณต่างๆ ในอริยะสัจจ ๔ นั่นเอง

ประภาส

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
--MoN--Pp--
วันที่ 17 ม.ค. 2555

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 533

ในพรหมวิหาร ๔ เหล่านี้ อุเบกขาพรหมวิหารเป็นผลไหลออกของพรหมวิหาร ๓ ข้างต้น เหมือนรูปสมาบัติเป็นผลไหลออกของกสิณทั้งหลาย

เนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นผลไหลออกของอรูปสมาธิ

ผลสมาบัติเป็นผล ไหลออกของวิปัสสนา

นิโรธสมาบัติเป็นผลไหลออกของสมถะและวิปัสสนา

ขออนุญาติคัดพุทธพจน์มาบางส่วน

ก็ชาวนาที่ต้องการน้ำย่อมไขน้ำ

ช่างศรย่อมดัดลูกศร

ช่างไม้ย่อมถากไม้

บัณฑิตย่อมฝึกตน

ประภาส

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
paderm
วันที่ 17 ม.ค. 2555

เรียนคุณ apitum กระผมจะต้องไปอินเดียเพื่อปฏิบัติหน้าที่สำคัญของมูลนิธิ ณ เช้านี้ ไม่สามารถสนทนาต่อได้ เรียนสหายธรรมทั้งหลายสนทนาธรรมกันนะครับ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 19 ม.ค. 2555

อ้างถึงความเห็นที่ ๒๙

"..ถัาสติเกิดก็ระลึกรู้ ถ้าไม่เกิดก็ไม่รู้ ปัญญาก็พิจารณาไปตามหมวดธรรมที่เราต้องการ ไม่เห็นจะมีอะไรที่ซับซ้อน.."

เพียงความเห็นสั้นๆ เท่านี้ ก็ทราบว่าผิดทางนะครับ

"ปัญญา" ที่ท่านกล่าวถึง ก็คือ "ความคิด" คือ "เรา" ครับ ไม่ใช่ปัญญาที่ทรงแสดงไว้

หากเริ่มต้นด้วยความเป็นเรา ก็เลิกพูดถึงทางที่จะพ้นไปจากทุกข์ได้เลยครับ ขออภัยที่ต้องกล่าวตามตรง แต่ธรรมะที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้นั้นละเอียด ลึกซึ้ง ยากแก่การเข้าใจ และ คำว่า "..ไม่เห็นจะมีอะไรที่ซับซ้อน.." ก็เป็นการประมาทในพระปัญญาคุณ นะครับ การได้ศึกษาและเข้าใจพระธรรมที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้โดยถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์จริงๆ ก็เพื่อประโยชน์แห่งสังสารวัฏฏ์ของบุคคลนั้นเอง หาใช่ผู้อื่นไม่ ผู้มีปัญญาจะรู้ว่า ความเห็นผิด เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังสารวัฏฏ์ของบุคคลนั้นเองครับ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าก็ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาต่อพระศาสนาของท่านนะครับ

ขอให้เจริญในธรรมที่ถูกและตรง นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 38  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

(สัมมาทิฎฐิ) ความเข้าใจถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยขอให้ค่อยๆ เริ่มฟัง เริ่มศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะแท้ที่จริงแล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มี มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ ครับ (ต่อให้เรียนปริยัติมากมายเท่าไรสักกี่ชาติ ท่องเก่ง จำเก่ง เข้าใจเก่ง แต่ไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นโมฆะ)

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 39  
 
captpok
วันที่ 20 ม.ค. 2555

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 41  
 
nong
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ผู้ถึงธรรมจะ "งาม" ทั้ง กาย วาจาและใจเสมอ...

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 43  
 
xbird
วันที่ 23 ก.ค. 2557

ขออนุโมทนาทุกท่านครับ การสนทนาทำเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 44  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 45  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 28 พ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ