วิปลาสกถา

 
natural
วันที่  31 พ.ค. 2556
หมายเลข  22983
อ่าน  2,888

จากที่ได้ฟังเทปวิทยุ แผ่นที่ ๓๒ - ชุดเทปวิทยุ ครั้งที่ 1902 เกี่ยวกับวิปลาส จึงอยากเรียนรบกวนช่วยลิงก์ ขุ. ปฏิ. วิปลาสกถาจากพระไตรปิฎก และความหมายของคำว่า กถา ที่เขียนต่อด้านหลังคำต่างๆ เช่น อรรถกถา คะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปลาส หรือ วิปัลลาส หมายถึง การรู้ การเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ได้แก่ ขณะที่จำผิด เห็นผิด และ คิดผิด ขณะที่มีการคลาดเคลื่อนจากความจริง ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แต่ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นจิตผ่องใส จึงไม่วิปลาส ไม่มีวิปลาสใดๆ เกิดขึ้นในขณะที่จิตเป็นกุศล

วิปลาส ซึ่งเป็นการรู้การเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นั้น โดยสภาพธรรมแล้วเป็นอกุศลธรรม ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นวิปลาส ซึ่งเป็นการเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือเห็นว่าเที่ยงในสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เห็นว่าเป็นสุขในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เห็นว่างามในสภาพธรรมที่ไม่งาม

ในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ย่อมเป็นผู้ถูกกิเลสมารกลุ้มรุมจิตใจทำให้จิตใจเศร้าหมองอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวันนี้ ชาตินี้เท่านั้น เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วน จึงต้องเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรม เพื่อสะสมปัญญาต่อไป ที่สำคัญ จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว

กถา หมายถึง ถ้อยคำ ดังนั้น วิปัลลาสกถา จึงหมายถึง ถ้อยคำหรือข้อความที่แสดงถึงวิปลาส ครับ

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

วิปัลลาสกถา [ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค]

วิปัลลาสสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ชุดแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

(วิปัลลาส) ความคลาดเคลื่อน, ความตรงกันข้าม, ความผันแปร หมายถึง ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงด้วยอาการ ๓ ที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น คือสัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปปลาส ๑ วิปลาส ๓ นี้เป็นไปในอาการ ๔ คือ

ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

จึงกลายเป็นวิปลาส ๑๒ อย่าง คือ

๑. สัญญาวิปลาส จำผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๒. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๓. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๔. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันจึงละได้

๕. จิตตวิปลาส คิดผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๖. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๗. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๘. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

๙. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่ารูปเป็นงาม พระโสดาบันละได้

๑๐. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระโสดาบันละได้

๑๑. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันละได้

๑๒. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

ซึ่ง ยังมีข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงความละเอีดของวิปลาส

ใน จตุกนิบาตดังนี้ ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 172

๙. วิปัลลาสสูตร

ว่าด้วยวิปลาสในธรรม ๔ ประการ

[๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส (ความสำคัญ คิด เห็นคลาดเคลื่อน) มี ๔ ประการนี้ ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่ เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ๑ ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม ๑ นี้แล สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการ ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ นี้ ๔ คืออะไรบ้าง คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ... ว่าทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ... ว่าเป็นอนัตตาในสิ่งที่เป็น อนัตตา ... ว่าไม่งามในสิ่งที่ไม่งาม นี้แล สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการ.

สัตว์เหล่าใดสำคัญว่าเที่ยงในสิ่งที่ ไม่เที่ยง สำคัญว่าสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ สำคัญว่าเป็นอัตตาในสิ่งที่เป็นอนัตตา และสำคัญว่างานในสิ่งที่ไม่งาม ถูกความ เป็นผิดชักนำไปแล้ว ความคิดซัดส่ายไป มีความสำคัญ (คิดเห็น) วิปลาส สัตว์ เหล่านั้นชื่อว่า ถูกเครื่องผูกของมารผูกไว้ แล้ว เป็นคนไม่เกษมจากโยคะ ย่อม เวียนเกิดเวียนตายไป.

เมื่อใดพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประดุจ ดวงอาทิตย์บังเกิดขึ้นในโลก ทรงประกาศ ธรรมอันนี้ ซึ่งเป็นทางให้ถึงความสงบ ทุกข์ เมื่อนั้น สัตว์เหล่านั้น ผู้ที่มีปัญญา ได้ฟังธรรมของท่านแล้ว จึงกลับได้คิด เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่งาม ตามความเป็นจริง เพราะมา ถือเอาทางความเห็นชอบ ก็ล่วงพ้นทุกข์ ทั้งปวงได้.

จบวิปัลลาสสูตรที่ ๙

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ