-- ความน่าอัศจรรย์ ของ ธรรมะ --

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  24 ก.ค. 2556
หมายเลข  23237
อ่าน  1,804

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถอดคำบรรยายธรรม -- ความน่าอัศจรรย์ ของ ธรรมะ --

บ้านธัมมะ > ฟังธรรม > พื้นฐานพระอภิธรรม

ความน่าอัศจรรย์ของธรรมะ

คุณจำนง เรียนถาม ท่านอาจารย์ ครับ เรียน อย่างพิสดาร เรียนอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์สุจินต์ ฟังมากๆ เข้าใจค่ะ ก็ขอถามคุณจำนง กลิ่น เป็นธรรมดาไหม

คุณจำนง ถ้าเรารู้กัน เบื้อง ต้นๆ ก็ธรรมดา นะครับ

ท่านอาจารย์สุจินต์ รส เป็นธรรมดา ไหมคะคะ

คุณจำนง ครับ เหมือนกัน นัย เดียวกัน ครับครับ

ท่านอาจารย์สุจินต์ รส อยู่ที่ไหน

คุณจำนง รส ก็รู้ว่า เกิดได้ที่ลิ้น ต้องสัมผัสลิ้น ตามที่ได้ศึกษา

ท่านอาจารย์สุจินต์ ลองคิดดู รส ก็เป็น รส ที่มีอยู่ ทุกแห่ง ที่มี ธาตุดินน้ำไฟลม ใช่ไหม ก็ต้อง มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา รสต้องมี น่าอัศจรรย์ไหมคะ ว่า แม้มี แต่ทำไมปรากฏ ให้รู้ได้ ว่ามี ดูเป็น เรื่อง เหมือน ธรรมดาๆ สิ่งที่มี ก็มี แต่ทำไม ถึงได้ สามารถ ปรากฏ ให้รู้ได้ ว่ามี ถ้า ไม่มีสภาพรู้ ไม่มีทวาร ไม่เป็นอายตนะ รสปรากฏไม่ได้เลย แม้มี

เพราะฉะนั้น ถ้าจะคิดถึง ความน่าอัศจรรย์ของธัมมะ ไม่ใช่เรา ถ้าเรา ลิ้มรส เนี่ย เป็นธรรมดา ทุกคน ที่มีลิ้น ก็ลิ้มรส ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นธัมมะ แม้แต่ แข็งเนี่ยค่ะ แข็งก็แข็ง แต่แข็งปรากฏได้ เฉพาะเมื่อ มี สภาพที่ รู้ แข็ง แข็งมี แต่ไม่ได้ปรากฏเลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น รู้แข็ง ในขณะนั้น ทั้งๆ ที่ แข็งก็มี รสก็มี เป็นปกติธรรมดา แต่ถ้า จิตไม่เกิดขึ้น นะคะ ลิ้ม รสนั้น ไม่ปรากฏเลย

เพราะฉะนั้น การที่ สิ่งที่มี จะปรากฏได้ ก็น่าอัศจรรย์ ว่า ทำไม มี แล้วปรากฏได้ด้วย ปรากฏ ให้รู้ว่า มี ก็ต่อเมื่อ มี สภาพรู้ หรือ ธาตุรู้ ที่กำลังรู้ สิ่งนั้น เท่านั้น เท่านั้น คือ จากนั้นแล้ว ก็ไม่มีอีกแล้ว ทั้ง สภาพรู้ และ สิ่งที่ปรากฏให้รู้ นี่คือ การฟัง และ การพิจารณา ว่า นี่ เป็นความจริงอย่างนี้ หรือเปล่า แล้วก็ เป็นจริง อย่างนี้ ทุกขณะจิต ค่ะ ไม่ใช่เพียงขณะเดียว ก็จะเห็น ความน่าอัศจรรย์ ของ ความเป็นธาตุ ความเป็นธาตุ ทุกอย่าง ว่า แม้ว่า เป็นธัมมะ ก็จริง แต่ ต้องสมควร ต่อ การที่เมื่อเกิดแล้ว จะมีการ รู้สิ่งนั้น หรือ ไม่รู้สิ่งนั้น ในเมื่อ รส หรือ รูป ทั้งหลายเนี่ย ไม่สามารถจะ รู้ อะไรได้เลย แล้วก็ ไม่สามารถจะ ปรากฏ ให้ใครรู้ได้ด้วย ถ้า จิต ไม่เกิดขึ้น แล้วก็ รู้ สิ่งนั้น ในขณะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ นะคะ ความเป็นเรา เนี่ย จะอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นไปได้ แต่ละทาง ในแต่ละขณะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 24 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บ้านธัมมะ > ฟังธรรม > พื้นฐานพระอภิธรรม

ธรรมทั้งหลายน่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด

๑. คือ ทั้งหมด ที่ได้ฟัง ไม่สูญหายเลย สะสมสืบต่อ พร้อมที่จะ ปรุงแต่ง ให้เป็น ความคิด ความเข้าใจ เพิ่มขึ้น

๒. ความจริง ธาตุรู้น่าอัศจรรย์ ธัมมะทั้งหลายน่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่ เกิดแล้วก็ เปลี่ยนแปลง ปัจจัย ที่ทำให้เกิด เป็นอย่างนั้น ในขณะนั้น ไม่ได้ด้วย

ขอเรียนถาม

ความหมายทางธัมมะ ที่ว่า คำ ''ปัจจัย'' กับ คํา ''เหตุ'' มักใช้แทนกันได้ ขอคำอธิบายความละเอียดและตัวอย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎกด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง และสิ่งที่ศึกษานั้นก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย หรือ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่ธรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนอาศัยเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เช่น เห็นในขณะนี้ เกิดเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ มีที่เกิดของจิตเห็น มี เจตสิกเกิดร่วมกับจิตเห็น มีอารมณ์ของจิตเห็น มีกรรมเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น จากไม่มีแล้วเกิดมีแล้วก็ไม่มีนี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งคำว่า เหตุปัจจัยในที่นี้ เป็นการกล่าว รวมมุ่งหมายถึงสิ่งที่จะทำให้ธรรมที่เป็นผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป

ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม คือ ในความหมายของ เหตุ ปัจจัย มีความหมายที่กว้างขวางมาก ในภาษาไทย คำทั้ง ๒ ใช้คู่กันเสมอ ว่าโดยนัยพระอภิธรรม คำว่า ปัจจัย มีความหมายกว้างกว่า และ คำว่า เหตุก็มีหลายความหมาย

[เล่มที่ 65] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑

อธิบายว่า ที่ชื่อว่าเหตุ เพราะอรรถว่า มีผลเกิดขึ้น คือ เป็นไปด้วยเหตุนั้น (กรณะ) ที่ชื่อว่าปัจจัย เพราะอรรถว่า ผลย่อมอาศัยธรรมนั้นเกิด และเป็นไป

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่

เหตุกับปัจจัยต่างกันอย่างไร

ข้อความจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

แสดงถึงความต่างระหว่าง ปัจจัย กับ เหตุ ดังนี้

"ปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ตามควรแก่ประเภทของปัจจัยนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกไม่ใช่โลภเจตสิกแต่ทั้งผัสสเจตสิกก็ดี โลภเจตสิกก็ดี เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ธรรมอื่นๆ คือ จิตเจตสิก และรูปเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อสภาพลักษณะและกิจของผัสสเจตสิกต่างกับสภาพลักษณะและกิจของโลภเจตสิก ผัสสเจตสิกจึงเป็นสภาพปัจจัยที่ต่างกับโลภเจตสิก

ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยโดยเป็น อาหารปัจจัย อาหารเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งผล แต่ไม่มั่นคงถึงกับทำให้งอกงามไพบูลย์อย่างรากแก้วของต้นไม้ส่วนสภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นเป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ ซึ่งอุปมาเหมือนรากแก้ว ต้นไม้จะเจริญเติบโตโดยมีแต่รากแก้วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีดิน น้ำเป็นอาหาร แต่ถ้าขาดรากแก้ว ดิน น้ำก็ทำให้ต้นไม้งอกงามไพบูลย์ไม่ได้ ต้นไม้ที่มีรากแก้วกับพืชที่ไม่มีรากแก้วนั้น ย่อมเจริญงอกงามไพบูลย์เพราะปัจจัยต่างกันฉันใด เจตสิกอื่นและสภาพธรรมอื่นนอกจากเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ก็เป็นปัจจัย

โดยเป็นปัจจัยอื่น ไม่ใช่โดยเป็นเหตุปัจจัย"

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

คำว่า เหตุปัจจัย คืออะไร

เหตุปัจจัย

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เหตุ กับ ปัจจัย มีความหมายเหมือนกัน ที่นำมาซึ่งผลของสภาพธรรมนั้น แต่ ยังมีความละเอียดของสภาพธรรมใน คำสองคำนี้ด้วย

คำว่า เหตุ คือ สภาพธรรมที่ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น ซึ่งเหตุก็ใช้ได้หลาก หลายนัย หากมุ่งกล่าวถึง พระอภิธรรม ที่เป็นปัจจัย หมายถึง เหตุ 6 ที่เป็นอโลภะ อโทสะ อโมหะ โลภะ โทสะ โมหเจตสิก ครับ

ส่วนปัจจัย หมายถึง สภาพธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นและ ดำรงอยู่ มีความหมายกว้างขวางมาก สภาพธรรมหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เพราะปัจจัย หลายปัจจัย แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยปราศจากปัจจัย เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ จะต้องมีอารมณ์ จะต้อง มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จะต้องมีกรรมเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น และจะต้องมีที่ อาศัยให้จิตเห็นเกิดด้วย

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 211

คำว่า น เหตุเมว (ไม่ใช่เหตุทั้งนั้น) นี้ ทรงขยายความถึงการปฏิเสธเหตุทั่วไป. ในข้อว่ารูปไม่ใช่เหตุนั้น เหตุมี ๔ อย่าง คือ เหตุเหตุ คือเหตุที่เป็นมูล ปัจจยเหตุ คือเหตุที่เป็นปัจจัย อุตตมเหตุ คือเหตุที่เป็นประธาน สาธารณเหตุสาธารณเหตุ คือเหตุทั่วไปแก่สรรพสัตว์. บรรดาเหตุทั้ง ๔ เหล่านั้น เหตุนี้คือ กุศลเหตุ ๓ (อโลภะ อโทสะอโมหะ) อกุศลเหตุ ๓ และอัพยากฤตเหตุ ๓ ชื่อว่า เหตุเหตุ. เหตุที่ตรัสไว้ในบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป เหล่านี้เป็นเหตุ มหาภูตรูป เหล่านั้นเป็นปัจจัยเพื่อการบัญญัติรูปขันธ์นี้ ชื่อว่า ปัจจยเหตุ.


การเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย ที่สำคัญที่สุดเป็นการแสดงถึงความไม่ใช่สัตว์ บุคคล ที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย เพราะ เป็นแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป และ ธรรม ที่เกิดขึ้น ก็อาศัยเหตุ ปัจจัย ดังนั้น เมื่อได้ยินคำว่า เหตุปัจจัย แสดงถึงความเป็น อนัตตา ว่ามีแต่ธรรมมใช่เราแล้ว การศึกษาเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ก็จะเบา เพราะ ไม่มีตัวเราไปจัดการทำในทุกๆ เรื่อง จะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นตามเหตุปัจจัย ทั้งสิ้น ไม่มีตัวเราที่ปล่อย ไม่มีตัวเราที่ทำ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขณะนี้ เห็น เกิดขึ้นไม่มีใครทำเห็นได้ แต่เหตุปัจจัยให้เห็นก็เกิดขึ้น แม้การจะคิดนึก ทำอะไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสม ที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นต้น ความเป็นเหตุปัจจัย จึงกำลังมี กำลังเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของๆ ทุกคน การ รู้เหตุปัจจัย ก็รู้ในขณะนี้ โดยรู้ความเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นก่อน เมื่อ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ย่อมเกิดปัญญาตามลำดับขั้น ที่จะรู้ ความเกิดขึ้น เป็นไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละอย่าง ที่ไม่ใช่โดยชื่อ ที่จำกันว่ามีเหตุ ปัจจัยอะไรบ้าง แต่ ขณะนี้กำลังมีเหตุปัจจัย และรู้โดยความเป็นเหตุปัจจัยที่กำลัง เกิดปรากฎ อันจะเป็นหนทางการดับกิเลส เพราะเข้าใจความเป็นจริงของความเป็น อนัตตามากขึ้น โดยความเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
guy
วันที่ 26 ก.ค. 2556

กราบขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 27 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของ คุณใหญ่ราชบุรี และ อ.คำปั่น อ.เผดิม และทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Kalaya
วันที่ 20 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ