ไม่เข้าใจเกี่ยวกับวิถีจิต

 
papon
วันที่  2 ส.ค. 2556
หมายเลข  23286
อ่าน  1,364

กระผมฟังพระอภิธรรมพื้นฐาน แต่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับวิถีจิต หลังจากภวังคจิตแล้ว กิจของจิตทำอย่างไรต่อและมีรายละเอียดอย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรม ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย และประการที่สำคัญ จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมก็เพื่อ เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ แม้ จะกล่าวถึง ภวังคจิต ก็ดี วิถีจิตก็ดี ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ ศึกษาจะไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การดับดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ ขาดสาย จิต เมื่อจำแนก เป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็น วิถีจิต กับ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้ เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิต ประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรง ภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อยจริงๆ

สำหรับในประเด็นคำถาม ท่านผู้ถามมีความประสงค์ที่จะเข้าใจวิถีจิตที่เกิดขึ้นทำกิจ เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว ขอยกตัวอย่าง วิถีจิตทางตา ดังต่อไปนี้ เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตทางตาเกิดขึ้น วิถีจิตที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี ได้แก่ จักขุทวารวัชชนจิต เกิดขึ้นทำกิจรำพึงคือรู้ว่า มีอารมณ์กระทบกับจักขุปสาทะ

วิถีจิตที่ ๒ คือ จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นทำกิจเห็นซึ่งอารมณ์คือสี

วิถีจิตที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นทำกิจรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ

วิถีจิตที่ ๔ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์

วิถีจิตที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนจิต ทำกิจตัดสินอารมณ์ หมายความว่าเป็นจิตที่กระทำ ทางให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์) เกิดต่อ

วิถีจิตที่ ๖ คือ ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ “ชวนะ” แปลว่า แล่นไป คือ ไปอย่างเร็วใน อารมณ์ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือกิริยาจิต (เฉพาะพระอรหันต์)

วิถีจิตที่ ๗ คือ ตทาลัมพนวิถี หรือตทารัมมณวิถี ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้นกระทำ กิจรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถีจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไป นี้ คือ ตัวอย่างของวิถีจิตทางตา เท่านั้น ซึ่งเป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่อกัน เป็นลำดับด้วยดี ไม่สับลำดับกัน ถ้าหากว่าคุณ papon มีเวลา ก็สามารถอ่านทบทวน ได้จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปฯ พร้อมกับฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ต่อไปนะครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิถีจิต คือ จิตที่เป็นไปตามแนวทาง หมายถึง จิตซึ่งรู้อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้ทาง ทวาร ๖ ถ้าเป็นไปตามแนวทางปัญจทวาร เรียกว่า ปัญจทวารวิถีจิต ถ้าเป็นไป ตามแนวทางมโนทวาร เรียกว่า มโนทวารวิถีจิต

สามารถอ่านเพิ่มเติมในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปได้ครับ รวมทั้งพระอภิธรรมใน ชีวิตประจำวัน ที่สามารถดาวโหลดอ่านได้ครับที่ เมนูหน้าแรก คือ หนังสือธัมมะครับ ดังนั้นการเข้าใจวิถีจิตนั้นจะเข้าใจได้จะต้องมีพื้นฐานเรื่องจิตและอื่นๆ อย่างมั่นคง ก่อน ก็จะทำให้เข้าใจวิถีจิตเพิ่มขึ้นซึ่งวิถีจิตก็คือ ชีวิตประจำวันนั่นเองในขณะนี้ครับ ที่กำลังเห็น ได้ยิน คิดนึก เป็นต้นครับ

คลิกอ่านได้ที่นี่ครับ -->

วิถีจิต

ปัญจทวารวิถีจิต

มโนทวารวิถีจิต

เข้าใจวิถีจิต เป็นปัจจัยให้สติเกิด

วิถีจิตทางปัญจทวาร

ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

ปัญจวิญญาณธาตุ

ปัญจวิญญาณ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 3 ส.ค. 2556

ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะศึกษาพระธรรมในส่วนใดของพระไตรปิฎกก็ตาม หรือแม้เรื่องของวิถีจิต ก็เพื่อเกื้อกูลต่อการอบรมเจริญปัญญา อบรมสติปัฏฐาน คือระลึกสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ มิเช่นนั้น ก็จะเป็นการจำชื่อ เรื่องราวในเรื่องวิถีจิตว่า จาก จักขุวิญญาณจิตเป็นสัมปฏิฉันจิต สันตีรณจิต ซึ่งไม่เกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าศึกษาด้วยความเข้าใจ ต่างจากการจำ ก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีตัวตนเลยที่จะทำให้สภาพธัมมะนั้นเกิดขึ้น เป็นไปตามเหตุปัจจัยและวิถีจิต ซึ่งย่อมเป็นการเกื้อกูลต่อการปฏิบัติว่าไม่มีตัวตนที่จะทำให้สภาพธัมมะเกิด เช่น จะไปทำสติ ไปกำหนด แต่เป็นธรรมที่ทำหน้าที่ตามวิถีจิตที่ได้สะสมเหตุปัจจัยมา ว่าชวนจิต จะเป็นกุศล (มีสติและปัญญา) ด้วยความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะเป็นธรรมครับ การศึกษาพระธรรมจึงมิใช่จำ แต่ต้องเข้าใจโดยความเป็นอนัตตา อันเป็นไปเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฎฐาน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
medihealing
วันที่ 3 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 3 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 5 ส.ค. 2556

วิถีจิต หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พระทองสุข
วันที่ 14 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
j.jim
วันที่ 6 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ