ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๘

 
khampan.a
วันที่  15 ก.ย. 2556
หมายเลข  23615
อ่าน  1,894

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรม จากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๘]

[1] บางครั้ง ก็มีการกระทำผิด มีการปฏิบัติผิด มีการประพฤติผิดหลายอย่าง แต่ถ้า เป็นผู้ที่มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน สติจะมีความชำนาญขึ้นในการที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะ ของนามธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล แล้วก็ละเว้นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล อบรมเจริญ สภาพธรรมที่เป็นกุศลได้ยิ่งขึ้น สติ เกื้อกูล แล้วก็มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตใน ทางกุศลได้มากขึ้น

[2] กุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต และปัญญา จะเจริญขึ้นได้ ก็เพราะมี ธรรมทาน

[3] ทรัพย์ของท่านทั้งหมดที่มีอยู่กับ ปัญญา ทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน สำหรับ ผู้ที่เห็นค่าของปัญญาแล้วก็ย่อมเห็นว่า ปัญญา นั้น ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหมด

[4] ผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ เป็นผู้รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แต่ละท่านนี้จะ เป็นใคร มีภาระ มีกิจ มีหน้าที่อย่างไร มีฐานะสภาพความเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอย่างใด ผู้ที่รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็รู้ตามสภาพความเป็นจริง นั้น

[5] การดำเนินชีวิตปกติประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจะต้องจากโลกนี้ไป โลกหน้า แต่ว่าจะไปอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิต เป็นปกติประจำวันนี่เอง

[6] ควรอ่อนน้อมต่อกุศลธรรม ไม่ใช่ต่ออกุศลธรรม

[7] ปัญญาความรู้ ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลนั้น ย่อมสามารถจะทำให้ผู้ ที่ดำเนินชีวิตในทางกุศล ได้พ้นจากภัยได้

[8] ถึงชีวิตของบุคคลใดจะเป็นอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดง ธรรมที่เป็นเหตุ เป็นผล เพื่ออนุเคราะห์บุคคลนั้นให้ละคลายอกุศลให้เบาบาง เท่าที่สามารถจะกระทำได้

[9] ในชาติปัจจุบันนี้ ถ้าทรัพย์สมบัติของท่านเกิดพินาศไป วิบัติไป ให้ทราบว่า เป็นเพราะผลของอทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้) ของท่านในอดีต

[10] ไม่มีผู้ใดเลยที่ต้องการจะได้ยิน ได้ฟังคำพูดที่หยาบคาย แต่ว่าเพราะอกุศลจิต เพราะโทสมูลจิต ความหยาบกระด้างของจิต ไม่มีการงดเว้น จึงทำให้เกิดวจีทุจริต คือ คำหยาบคาย ได้กล่าวออกไป ได้ล่วงไป เพราะฉะนั้น ผล ก็คือว่า ย่อมยังเสียง ที่ไม่น่าพอใจให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

[11] แม้ว่าจะลำบากสักเพียงใด ชีวิตก็ยังมีค่า โดยเฉพาะถ้าได้เข้าใจพระธรรม และ ได้เจริญกุศลในชีวิตประจำวันในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

[12] อกุศลจิต เช่น โลภมูลจิต (จิตที่ประกอบด้วยโลภะ) เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นไป พร้อมกับความติดข้องต้องการ อยากได้ เพลิดเพลิน โดยมากไม่มีผู้เห็นว่าเป็น โทษเป็นภัย เพราะธรรมดาของอกุศลจิตนั้นเป็นอันตรายที่ปกปิด ถ้าไม่พิจารณา ด้วยปัญญาแล้วจะไม่เห็นเลย ไม่เหมือนกับอันตรายที่เปิดเผย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นต้น

[13] การกระทำทุจริตกรรม ย่อมทำให้จิตใจเดือดร้อนกระวนกระวาย มีความหวั่น กลัวผลของอกุศลกรรม ซึ่งจะติดตามมาในภายหลัง และ ในขณะที่ได้รับความทุกข์ เดือดร้อนอันเป็นผลมาจากการกระทำอกุศลกรรมนั้น ขณะนั้นย่อมไม่ทำให้เกิดโสมนัส เลย มีแต่โทมนัสโดยส่วนเดียว

[14] ความเห็นผิดนั้นมีมากมาย เมื่อมีความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นพื้นอยู่ในจิตใจแล้ว เมื่อได้ยินได้ฟังความเห็นผิดๆ ก็อาจจะชอบ พอใจด้วยอำนาจของการที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

[15] ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็จะเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นและ มั่นคงได้ ขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นไม่ติดข้อง ความติดข้องต้องการเกิดไม่ได้ในขณะนั้น แต่ความติดข้องยังมี ตราบใดที่ยังไม่ได้ถูกดับ

[16] ประโยชน์จริงๆ ของการฟังพระธรรม คือ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง และปัญญา ก็จะทำหน้าที่ของปัญญาในทุกสถานการณ์

[17] จิต ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ที่ดี และ ชั่ว นั้น ก็เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่สามารถขัดเกลาละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลได้เลย

[18] ตราบใดที่ยังมีกิเลส ตายแล้วเกิดอย่างแน่นอน ตายแล้วก็ต้องเกิดทันที แต่ว่าจะเกิดเป็นอะไร นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามกรรมของแต่ละคน

[19] จะมั่นคง ว่า เป็นธรรม ก็ต่อเมื่อไม่ขาดการฟังพระธรรมให้เข้าใจ

[20] มีนิสัยช่างโกรธ โกรธง่าย เพราะจิตสะสมโทสะไว้มากจนเป็นนิสัย เมื่อโกรธบ่อยๆ เข้า ไม่พอใจมากๆ เข้า ก็ทำให้มีนิสัยโกรธง่าย ขี้โกรธ ขี้บ่น อะไรๆ ก็ไม่ถูกใจ ไม่ชอบ ไม่พอใจ ถึงแม้จะได้อารมณ์ที่ดี มีคน พะเน้าพะนอเอาอกเอาใจสักเท่าใด ถ้าสะสมโทสะจนเป็นนิสัยแล้ว ก็ทำ ให้เกิดโทสะได้

[21] เคยโกรธใคร เคยเกลียดใคร คนนั้นไม่ติดตามเราไปในภพหน้า แต่ความโกรธของเราติดตามไป ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากจิตได้

[22] ทุกข์ของใจ ใครทำให้? ไม่มีเลย เป็นเพราะกิเลสของตนเองแท้ๆ

[23] ถ้ารู้ว่าการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศล ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อคิดที่จะละอกุศล มีความเพียรที่จะละอกุศลด้วยการเจริญกุศล มีการให้ทาน รักษาศีล และอบรมเจริญ ปัญญา อย่างนี้ เป็นกุศล ไม่ใช่โลภะ

[24] พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สำหรับผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้ว ตั้งแต่ชาติปางก่อนจริงๆ ถ้าไม่เห็นประโยชน์ ก็จะไม่ฟังเลย ถ้าไม่เริ่มฟังพระธรรม ก็จะต้องอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์

[25] ทำอะไรกันดีในภพนี้ชาตินี้? ทำดี และ ศึกษาพระธรรม

(ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกันทุกท่าน ร่วมแบ่งปันข้อความธรรม ด้วยนะครับ)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความย้อนหลังครั้งที่ ๑๐๗ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๗

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตต่วมปันธรรม ด้วยครับ

[1] โสตาปัตติยังคะ องค์ธรรมของการบรรลุโสดาบันมี ๔ คือ คบสัตตบุรุษ ๑ ฟังธรรม จากท่าน ๑ พิจารณาธรรมที่ได้ฟังด้วยความถูกต้อง ๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ไม่เกี่ยวกับสถานที่เลย ฉะนั้น ในเรื่องของสำนักปฏิบัตินั้นควรย้อนกลับไปพิจารณา สำนักของพระผู้มีพระภาคเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าสำนักปฏิบัติในสมัยนี้ เหมือนกับ สำนักของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ สำนักของพระผู้มีพระภาคในอดีตกาลนั้น พระภิกษุ ทั้งหลายบิณฑบาต สนทนาธรรมทำกิจต่างๆ ตามพระวินัยบัญญัติพระผู้มีพระภาคทรง สรรเสริญกุศลทั้งปวงแต่ผู้ที่ไปสู่สำนักปฏิบัติในสมัยนี้ ปฏิบัติเช่นเดียวกับพุทธบริษัท ในครั้งนั้นหรือเกินกว่า หรือต่างกัน ถ้าเหตุคือการปฏิบัติต่างกัน ผลจะเหมือนกันได้ ไหมอุบาสกและอุบาสิกาในครั้งพุทธกาล เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านก็ไป พระเชตวันมหาวิหารที่ท่านได้สร้างไว้ แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าใจผิดว่าจะต้อง บรรลุมรรคผลเฉพาะในสถานที่เหล่านั้น เพราะท่านเหล่านั้นบรรลุมรรคผลนิพพาน ณ สถานที่ต่างๆ กันตามชีวิตประจำวันจริงๆ ของแต่ละท่าน

[2] พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมอื่น เพื่อประโยชน์อะไรไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งกระทบสัมผัส การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ ความจำ ฯลฯ เป็นอันมากทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึก ให้ปัญญา พิจารณาศึกษารู้ชัดจนดับความสงสัยและความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ได้เป็นสมุจเฉทและที่กล่าวว่าสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ โดยไม่ต้องรู้ลักษณะ ของนามธรรมและรูปธรรมตามปรกติตามความเป็นจริงนั้น ก็แสดงความเคลือบแคลง สงสัยแล้วว่า จะรู้นามอื่น รูปอื่นไม่ได้ มิฉะนั้น ก็จะไม่กล่าวว่า ให้รู้เพียงนามเดียว รูปเดียว

[3] บางคนก็บอกว่าไม่ขอพบคนนั้นคนนี้อีกในชาติหน้าซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม แล้วจะไม่คิดอย่างนี้เลย เพราะชาติหน้าจะไม่มีคนนั้นและจะไม่มีคนนี้ซึ่งกำลังเข้าใจ ว่าเป็นเราอีกในชาติหน้าด้วยชาตินี้เท่านั้นก็ยังเป็นคนนี้ หรือเป็นคนนั้นอยู่เมื่อตายไป ก็สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้และบุคคลนั้นในชาตินี้โดยเด็ดขาดชาติหน้าก็ต้องเป็น บุคคลอื่นจริงๆ ฉะนั้น ก็ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะต้องไปพบกับคนนั้นคนนี้อีกซึ่งไม่มี ทางจะเป็นไปได้เลยเพราะว่าความเป็นบุคคลนี้บุคคลนั้นจะไม่ติดตามไปถึงชาติหน้า

[4] ถ้ายังมีความขุ่นเคืองใจหรือความไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ขอให้เข้าใจ ว่าความจริงไม่มีบุคคลนั้นเลยมีแต่สภาพธรรมซึ่งเป็น จิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้นและดับ ไป ทุกชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง

[5] ความตายพรากทุกอย่างจากชาตินี้ไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลืออีกเลยแม้แต่ความ ทรงจำ เหมือนเมื่อเกิดมาชาตินี้ก็จำไม่ได้ว่าชาติก่อนเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร หมดความเป็นบุคคลในชาติก่อนโดยสิ้นเชิง ฉันใดชาตินี้ทั้งหมดไม่ว่าจะเคยทำกุศล กรรม อกุศลกรรมอะไรมาแล้ว เป็นบุคคลที่มีมานะในชาติตระกูล ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียงอะไรๆ ก็ตามก็จะต้องหมดสิ้น ไม่มีเยื่อใยหลงเหลือเกี่ยวข้องกับ ภพนี้ชาตินี้อีกเลย หมดความผูกพันยึดถือทุกขณะ ในชาตินี้ว่าเป็น “เรา” อีกต่อไป ฉันนั้น การประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของปรมัตถธรรม จะพรากจากการยึดถือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แม้แต่ความทรงจำที่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมประเภทหนึ่งเท่านั้น สติที่ระลึกรู้ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนปัญญาประจักษ์แจ้งสภาพธรรม จึงพรากจาก ความเป็นตัวตน เป็นบุคคลในชาตินี้ เมื่อประจักษ์ลักษณะที่เป็นขณิกมรณะของ สภาพธรรมทั้งหลาย

[6] ไม่มีเราจะทำ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ขณะที่ฟังเข้าใจ เริ่มที่จะสะสม ปรุงแต่ง ที่จะให้มีการระลึกได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน เป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครคนหนึ่งคนใดจะบอกหรือจะทำ แต่ว่าผู้นั้นจะ เข้าใจได้ถูกต้องว่า มีความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพอที่จะรู้ว่า เป็นธรรม จริงๆ หรือเปล่าในขั้นการศึกษา เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ จากการฟังโดยละเอียดก็มี ปัจจัยที่จะทำให้สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมเมื่อไร สตินั้นจึงเป็นสติ ปัฏฐาน ซึ่งก็จำแนกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรมซึ่งก็ได้แก่ จิต เจตสิกรูป นั่นเอง

[7] โกรธคนอื่น คนที่ถูกโกรธ ไม่ได้ติดตามไปด้วยในชาติหน้า แต่ ความโกรธที่เกิด ขึ้น ติดตามไปชาติหน้า เพราะฉะนั้น ควรผูกโกรธ คนอื่นหรือไม่

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
napachant
วันที่ 15 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปัน และ อ.ผเดิม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรมที่มีความประทับใจจากการฟัง ในชั่วโมงปฏิบัติธรรม เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา มีข้อความดังนี้ครับ ... คิดรื่องการปฏิบัติ หมายความว่าอย่างไร? อยากปฏิบัติหรือเปล่า? ถึงได้คิด อยู่ดีๆ ปฏิบัติ คือ อะไร? เข้าใจว่า คือ อะไร? แล้วไปคิดเรื่องปฏิบัติ พระธรรม ที่ทรงแสดง เพื่อเห็นถูก เข้าใจถูก ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อ "เรา" จะได้ไปรู้ธรรมะ จะได้ไปละกิเลส จะได้เป็นพระโสดาบัน นั่นผิด หมายความว่า ศึกษา ด้วยความเป็นตัวตน

แต่จะลดความเป็นตัวตน หรือ ความติดข้องได้ ก็เมื่อมีปัญญา แล้วก็ไม่ต้องไปห่วงเลย ปัญญาเกิด ปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา แต่ "เรา" จะไปทำหน้าที่ของ "ปัญญา" แล้วก็ถามเรื่องปฏิบัติ นี่ถามเรื่องอะไร? เพราะอะไร?...

กราบท่านอาจารย์

ขออนุโมทนาคุณคำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Noparat
วันที่ 16 ก.ย. 2556

การดำเนินชีวิตปกติประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจะต้องจากโลกนี้ไป โลกหน้า แต่ว่าจะไปอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิต เป็นปกติประจำวันนี่เอง

เคยโกรธใคร เคยเกลียดใคร คนนั้นไม่ติดตามเราไปในภพหน้า แต่ ความโกรธของเราติดตามไป ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่อง ค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากจิตได้

ทุกข์ของใจ ใครทำให้? ไม่มีเลย เป็นเพราะกิเลสของตนเองแท้ๆ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 16 ก.ย. 2556

โกรธคนอื่น คนที่ถูกโกรธ ไม่ได้ติดตามไปด้วยในชาติหน้า แต่ ความโกรธที่เกิด ขึ้น ติดตามไปชาติหน้า เพราะฉะนั้น ควรผูกโกรธ คนอื่นหรือไม่

ขออนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
papon
วันที่ 16 ก.ย. 2556

ขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองที่ให้ปัญญาครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 17 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
bsomsuda
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ไม่มีเราจะทำ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ขณะที่ฟังเข้าใจ เริ่มที่จะสะสม ปรุงแต่งที่จะให้มีการระลึกได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครคนหนึ่งคนใดจะบอกหรือจะทำ แต่ว่าผู้นั้นจะเข้าใจได้ถูกต้องว่ามีความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พอที่จะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ หรือเปล่า ในขั้นการศึกษา เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ จากการฟังโดยละเอียด ก็มีปัจจัยที่จะทำให้สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมเมื่อไร สตินั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.ผเดิม และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เมตตา
วันที่ 19 ก.ย. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.ผเดิม และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
rrebs10576
วันที่ 19 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
orawan.c
วันที่ 23 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
มังกรทอง
วันที่ 1 มี.ค. 2565

บางครั้ง ก็มีการกระทำผิด มีการปฏิบัติผิด มีการประพฤติผิดหลายอย่าง แต่ถ้า เป็นผู้ที่มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน สติจะมีความชำนาญขึ้นในการที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะ ของนามธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล แล้วก็ละเว้นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล อบรมเจริญ สภาพธรรมที่เป็นกุศลได้ยิ่งขึ้น สติ เกื้อกูล แล้วก็มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตใน ทางกุศลได้มากขึ้น น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Jarunee.A
วันที่ 7 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ