สมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่ และในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงการนั่งสมาิธิบ้างหรือไม่

 
Suth.
วันที่  14 ต.ค. 2556
หมายเลข  23855
อ่าน  964

ปัจจุบันมีการใช้คำว่า "นั่งสมาธิ" กันแพร่หลาย บ้างก็เข้าใจว่าการเจริญสมาธิในท่านั่งจะเกิดสมาธิได้ง่ายกว่า อยากทราบว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่อิริยาบถนั่งจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอิริยาบถอื่นๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ขออธิบาย สมาธิใน พระไตรปิฎกให้เข้าใจครับว่า พระไตรปิฎก แสดงเรื่องสมาธิว่า อย่างไร

สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และ กิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ ซึ่ง ในพระไตรปิฎก แสดง สมาธิ ว่า มีสองอย่าง คือ มิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นผิด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิด จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ได้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี

สัมมาสมาธิ เป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นโสภณจิต คือจิตที่ดีงาม สัมมาสมาธิไม่ได้อยู่ที่คำที่ใช้ เพราะว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ อยู่ที่ว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นกุศล แม้ไม่ใช้คำอะไรเลย ก็เป็นสัมมาสมาธิ ความจริงเป็น อย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ครับ

- พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย แต่ไม่ได้สอนให้ไปทำ หรือไปฝึกสมาธิ แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับกุศล เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๖๐

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าสัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 15

[๒๙๔] มิจฉาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจผิด ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า มิจฉาสมาธิมีในสมัยนั้น

- ตามที่เรียนแล้วว่า สมาธิ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรม แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ สัมมาสมาธิ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด พอกพูนความติดข้องความไม่รู้และความเห็นผิดในหนาแน่นยิ่งขึ้น

-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ทั้งสัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ควรอบรมควรเจริญ ส่วนมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศล ไม่ควรทำ สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตในทางที่ถูกเป็นกุศล สัมมาสมาธิมีหลายระดับ ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นก็มีสมาธิที่เป็น ขณิกสมาธิ ก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่โดยทั่วไปแล้วสัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา เช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐานหรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็นขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะแต่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรค มีองค์ ๘ ก็จะเป็นสัมมาสมาธิเช่นกัน ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ทำให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกและละเว้นในสิ่งที่ผิด ครับ

ดังนั้น การนั่งสมาธิในปัจจุบัน ทำแล้ว ไม่ได้เกิดปัญญา ได้แต่ความนิ่ง ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ แต่ เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่ได้เกิดปัญญารู้อะไร เพราะ ความสงบไม่ได้อยู่ที่ความนิ่ง ไม่คิดเรื่องอะไร แต่ความสงบที่แท้จริง คือขณะที่เป็นกุศลขณะนั้น สงบจากกิเลส ครับ แทนที่จะไปนั่งสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้สงบ ขณะที่กุศลเกิดก็สงบแล้ว และแม้ไม่ต้องหลับตา ลืมตา ก็สามารถอ่าน ศึกษาธรม ฟังธรรม อันเป็นเหตุให้เจริญ เกิดปัญญาได้ หากแต่ว่า การนั่งสมาธิสมัยพุทธกาล เป็นผู้ที่มีปัญญามากที่เจริญสมถภาวนา พร้อมวิปัสสนา จนบรรลุธรรม มีพระพุทธเจ้า และ พระสารีบุตร เป็นต้น ส่วนท่านอนาถะ ผู้เป็นพระโสดาบัน นางวิสาขา ฟังธรรมได้บรรลุธรรม และไม่ได้นั่งสมาธิ ดังนั้น เราจะทำตาม พระพุทธเจ้า พระอัครสาวก ผู้เลิศด้วยปัญญา หรืออบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน ดั่งเช่น พระอริยสาวก มีท่านอนาถะ นางวิสาขา เป็นต้น และคำถามที่พุทธบริษัท ควรพิจารณาอย่างยิ่ง ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บรรยายล่าสุด คือ เราเป็นใคร และพระพุทธเจ้าเป็นใคร อันแสดงว่า จะทำตามด้วยความไม่รู้ ควรหรือไม่ดังนั้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ย่อมรู้ว่า หนทางที่ถูก ไม่ใช่การไปนั่งสมาธิทำตามๆ กัน ไม่ได้เกิดปัญญา หากแต่ว่า ปัญญาเกิดได้จากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ไม่มี- คำสอนที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ เพราะถ้าไปทำอะไรด้วย ความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน จดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่เห็นทางแห่งปัญญา ไม่ใช่ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อละ เลย มีแต่จะเพิ่มอกุศล มีความไม่รู้ ความติดข้อง ความเห็น ผิด เป็นต้น ให้หนาแน่นมากยิ่งขึ้นจนยากที่จะแก้ไขได้

ขณะที่อยากนั่งสมาธิ อยากเป็นอกุศลแล้ว และไม่รู้ด้วยว่าเป็นอกุศล ก็ยิ่ง จะทำให้หลงผิดมากยิ่งขึ้น

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ก็จะเข้าใจ ผิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องไปทำอะไรขึ้นมา ต้องไปเดินจงกรม ต้องนั่งสมาธิ เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่าปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมา ด้วยความเป็นตัวตนหรือความติดข้องต้องการ แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม ไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูก เห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ จะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยที เดียว ก็ขอให้ตั้งต้นที่เริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจตั้งแต่ในขณะนี้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 14 ต.ค. 2556

พระพุทธเจ้ารู้ว่าสมาธิไม่ใช่หนทางที่จะดับทุกข์ ทางที่จะดับ ทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เท่านั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Suth.
วันที่ 15 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 16 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาและฟังธรรมให้เข้าใจมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มิ.ย. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ