ขอความเข้าใจเพิ่มเติมเรื่องการนั่งสมาธิหรือไม่นั่งสมาธิ

 
sikkha
วันที่  23 ต.ค. 2556
หมายเลข  23901
อ่าน  896

ผมพอทราบว่าพระพุทธองค์ทรงแนะนำวิธีการศึกษาและปฏิบัติธรรมไว้หลายนัย ผมพอทราบว่าในเรื่องสมาธิทรงหมายถึงสัมมาสมาธิ ผมพอทราบว่าสมาธิเกิดได้ในทุกอิริยาบถ ในปัจจุบันมีการเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการไปนั่งสมาธิกันแพร่หลาย แต่ผมอยากทราบว่าในสี่สิบห้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระธรรมท่าน ได้กล่าวเกี่ยวกับการนั่งสมาธิไว้อย่างไรบ้าง ในพระสูตรมีตอนใดบ้างที่ทรง แนะนำและไม่ทรงแนะนำภิกษุสงฆ์ว่าให้นั่งสมาธิและไม่ให้นั่งสมาธิ กรุณาให้คำอธิบายด้วยครับ


Tag  สมาธิ  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ขอให้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อตั้งใจว่าจะศึกษาพระธรรมจริงๆ ก็ต้องตั้งต้นอย่างนี้ เป็นเหมือนผู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อที่จะได้รู้ ได้เข้าใจถูกเห็นถูก จากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้นคือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลยตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ อกุศลสมาธิ เช่น การนั่งสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปกับด้วยความต้องการ อยากจะสงบ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ความสงบ เป็นเรื่องของกุศลธรรม อกุศลสมาธิ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญา เป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป

ในสมัยพุทธกาล อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นเพศฆราวาส ไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตผิดปกติ เพราะท่านเข้าใจว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การเจริญอบรมปัญญา ความสงบ จึงไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติ โดยการนั่งสมาธิ แต่ท่านเข้าใจถูก และอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน และก็ทำกิจการงาน ดังเช่น คฤหัสถ์ในปัจจุบันด้วยดังเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่เป็นพ่อค้า และเป็นอริยสาวก และอบรมปัญญาเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน มีการให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา โดยไม่ได้ไปปลีกวิเวก หาที่นั่งสงบเลย เพราะ ความสงบ คือ จิตใจที่เป็นกุศลที่เกิดได้ในชีวิตประจำวัน เพราะ จิตที่ดี สงบ ไม่ได้เลือก ดังนั้น พระพุทธเจ้า ทรงแสดงเรื่องสมาธิ ในสมัยพุทธกาลว่า สมาธิ มี สองอย่าง คือ สัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ สมาธิใดที่เป็นความตั้งมั่น ที่ไม่ได้หมายถึง จะต้องไปนั่งสมาธิ แต่ขณะแม้เพียงขณะจิตเดียวก็มีสมาธิ แต่เป็นความตั้งมั่น ขณะจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยที่รู้ความจริงที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้น ก็มีสมาธิด้วย และเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็นสมาธิที่ควรเจริญ ส่วนการกระทำที่ได้แต่ความนิ่ง ไม่ทำให้เกิดปัญญาควมรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าเป็น มิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะ เกิดกับอกุศลจิต มี โลภะ และโมหะ เป็นต้น คือ มีความต้องการที่จะทำ อยากที่จะสงบ อันเป็นความต้องการที่เป็นโลภะ และ ขณะที่นิ่งก็ไม่รู้อะไร ขณะนั้น ก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย พระพุทธเจ้าทรงติเตียน มิจฉาสมาธิ ว่าไม่ควรเจริญ ครับ จะเห็นนะครับว่า หากการศึกษาพระธรรมโดยละเอียด เมื่อได้ยินคำว่า สมาธิ เราก็จะเข้าใจว่าดี ทั้งที่ มีทั้งมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ และ หากละเอียดลงไป สมาธิไม่ได้หมายความว่าจะต้องนิ่งสงบเป็นเวลานานๆ แต่สมาธิที่เกิดเพียงขณะจิตเดียว ที่เกิดพร้อมปัญญาก็เป็นสัมมาสมาธิแล้ว ครับ

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงจะเข้าใจพระธรรม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือจะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ

ทำไมไม่สนับสนุนการทำสมาธิ การทำสมาธิไม่ดีตรงไหน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย แต่ไม่ได้สอนให้ไปทำ หรือไปฝึกสมาธิ แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับกุศล เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๖๐

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น

ตามที่เรียนแล้วว่า สมาธิ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรม แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ สัมมาสมาธิ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิ ก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด พอกพูนความติดข้อง ความไม่รู้และความเห็นผิดให้หนาแน่นยิ่งขึ้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ทั้งสัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ควรอบรมควรเจริญ ส่วนมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศล ไม่ควรทำ สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตในทางที่ถูกเป็นกุศล สัมมาสมาธิมีหลายระดับ ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นก็มีสมาธิที่เป็น ขณิกสมาธิ ก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่โดยทั่วไปแล้ว สัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา เช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐานหรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็นขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะ แต่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรค มีองค์ ๘ ก็จะเป็นสัมมาสมาธิเช่นกัน ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ทำให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูก และละเว้นในสิ่งที่ผิด

ถ้าไม่ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีแต่ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่สำคัญผิดว่า เป็นสิ่งที่ถูก ก็สอนในสิ่งผิดๆ ให้ กับผู้อื่นเป็นการเผยแพร่ความเห็นผิด ทำให้คนอื่นประพฤติผิดตามไปด้วย เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว ที่ดีที่สุด ควรที่จะได้ ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ควรไปทำอะไรตามใครด้วย ความไม่รู้ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
sikkha
วันที่ 23 ต.ค. 2556

กราบขอบพระคุณท่านผู้ตอบทั้งสองท่าน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 23 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 24 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
sikkha
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ