การประพฤติตนในสังคม

 
tmangkon
วันที่  10 ก.พ. 2557
หมายเลข  24451
อ่าน  1,430

ขอกราบเรียนถามว่า การที่คนเรา ไม่มีสามัญสำนึก หรือไม่สนใจว่า การกระทำของตนเอง จะส่งผลเสียหายต่อผู้อื่น เช่น การแซงคิว หรือ การจอดรถลงไปซื้อของแล้วทำให้รถติดบริเวณนั้น จิตของคนประเภทดังกล่าว ถือว่าเป็นอกุศลเรื่องใดคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยมากของปุถุชน ที่หนาด้วยกิเลส จิตส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ก็เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่ง หากพิจารณาให้ละเอียดในการกระทำทางกาย วาจาของสัตว์โลกนั้น หากเป็นการกระทำด้วยจิตที่ดีงาม ขณะนั้น ย่อมไม่ติดข้อง ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ และ ไม่ประทุษร้าย และ ไม่หลง คือ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดขึ้นในขณะนั้น และที่สำคัญ จะพิจารณาถึง บุคคลอื่น ไม่พิจารณาที่ประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง แสดงถึง การเสียสละ นึกถึงคนอื่นในทางที่ดีเสมอ เป็นต้น ครับ อันเป็นจิตที่ดีงามในขณะนั้น แต่ ขณะใดที่ไม่นึกถึงคนอื่น มีตนเองเป็นที่ตั้ง ที่จะได้ประโยชน์ก่อน แสดงถึง โลภะ ความติดข้อง ที่เกิดขึ้น ทำให้มีความเห็นแก่ตัว ขณะนั้นย่อมไม่สนใจบุคคลอื่น ในการกระทำของตนเอง ขณะนั้น ไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นความติดข้องที่เกิดขึ้น เป็นจิตอกุศลในขณะนั้น ครับ

แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องพิจารณาเป็นขณะจิตไปอีกเช่นกัน ครับ เพราะ เมื่อเอาเรื่องราวที่รวมๆ กันมาพูด ก็ไม่สามารถตัดสินความจริงได้ เพราะ ความจริง เป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น และ ดับไปอย่างรวดเร็ว เพียง กระพริบตาเดียว จิตเกิดดับมากมาย เพราะฉะนั้น ขณะที่แซงคิว ก็เป็นอกุศลจิต แต่ หลังจากนั้น ก็อาจเกิดจิตที่ดีได้ในขณะต่อไปก็ได้ ครับ

สิ่งที่จะตัดสิน คือ ปัญญาของผู้นั้นเอง ที่จะรู้ความจริงของจิตของตนเอง ด้วยปัญญาว่าเป็นอกุศล หรือ กุศล แต่ให้รู้ครับว่า โดยมาก เป็นอกุศลจิต แม้จะไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับใคร เพียงอยู่เฉยๆ เพียงเห็น ก็เกิด อกุศลจิตแล้วโดยไม่รู้ตัวเลย นี่คือ การสะสมอกุศล กิเลสที่มีมากมายเหลือเกิน

หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง จึงไม่พ้นจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น การกระทำทางกาย วาจาและใจก็ดีขึ้นด้วย กุศลจิตเกิดมากขึ้น นึกถึงคนอื่นมากขึ้น เสียสละมากขึ้น ทำตามกฎที่ควรทำ ที่เป็นสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น และ ที่สำคัญที่สุด ค่อยๆ ละกิเลสที่เป็นต้นเหตุของปัญหาได้ทีละน้อย จนในที่สุด ดับจนหมดสิ้น ด้วยการอบรมปัญญาเป็นสำคัญ ครับ

ทุกคนมีหน้าที่ แต่ ไม่ควรลืมหน้าที่ของตนที่สำคัญที่สุด คือ ทำความดีและศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 11 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มั่นคงในความดีเพิ่มขึ้นหรือยัง? เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรู ประโยชน์ คือ

มีเมตตา เป็นการรักษาทั้งตนเองและผู้อื่น

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๙๑

-----------------

-ไม่ควรเลยที่จะมีความขุ่นเคืองใจ ไม่ว่าโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโกรธคนนั้นที่ทำไม่ดี โกรธคนนี้ที่พูดอย่างนั้น หรือว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ล้วนไม่ดีทั้งนั้น

-ธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ก็คือเมตตา, ทุกคนต้องเคยทำผิด แม้แต่ท่านเองก็เคยทำผิดอย่างนั้นๆ มาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะขุ่นเคืองใจในบุคคลอื่น

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๙

เป็นความจริงที่ว่า แต่ละบุคคลมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความคิด การกระทำและคำพูด จึงแตกต่างกันออกไปตามการสะสม มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีตัวตนสัตว์บุคคลเลย มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ นามธรรม กับ รูปธรรม เท่านั้น ถ้ามีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจในเหตุในผลของธรรมจริงๆ ก็จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจ แล้วมีเมตตาในบุคคลนั้นๆ ซึ่งประพฤติไม่ดี ได้

แทนที่จะรีบโกรธ แทนที่จะรีบไม่พอใจอย่างรุนแรง ก็ควรที่จะคิดพิจารณาว่า การที่บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เมื่อเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรที่จะเข้าใจ เห็นใจ ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เป็นแน่ (เพราะเหตุว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เป็นอกุศลธรรม ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลยแม้แต่นิดเดียว) แต่ถ้าโกรธขึ้นมาคราใด ก็ขอให้ทราบว่า ไม่เข้าใจคนเหล่านั้นและไม่เห็นใจเขาด้วย จึงได้โกรธเขา และที่สำคัญ เมื่อเห็นว่า สิ่งไหน ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ทำ ไม่ใช่เพียงแค่เห็นว่าคนอื่นไม่ควรทำ เท่านั้น เพราะ สิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะฉะนั้น พระธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับทุกกาลสมัยอย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลผู้น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เท่านั้น และ กุศลเกิด เป็นประโยชน์ อกุศล เกิด ไม่เป็นประโยชน์ ความเข้าใจพระธรรม จะทำให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น ด้วยครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 11 ก.พ. 2557

ขณะที่เห็นแก่ตัว ขณะนั้นเป็นโลภะ คือ จิตที่ไม่ดี ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tmangkon
วันที่ 11 ก.พ. 2557

กราบขอบพระคุณทุกคำตอบค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ