เกิดมาชาตินี้มีแต่คนอิจฉาริษยา จ้องขัดขวางไม่อยากให้เราได้ดี เป็นเพราะอะไรคะ?
ชีวิตมีแต่คนอิจฉาริษยาจริงๆ ค่ะ เข้าใจนะคะว่าความอิจฉาเป็นของคู่มนุษย์ ทุกคนต้องเคยโดน แต่ของดิฉันนี่มันเยอะไปจริงๆ ค่ะ เจอแทบไม่เว้นเวลาและสถานที่ เพิ่งมาสังเกตชีวิตตัวเองได้ไม่กี่ปีนี้เองค่ะ และที่สำคัญ ดิฉันเป็นคนที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะให้คน "อิจฉา" ได้เลย ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอิจฉากัน อิจฉาไม่พอหลังๆ มามีริษยา แม้แต่เพื่อนที่คิดว่าสนิทกันที่สุดก็ยังอิจฉาริษยา เรา.. พยายามคุยทับถมเราตลอด ในสิ่งที่เราไม่มี และสิ่งที่เขามี เขาพยายามเอาสิ่งที่เขามีมาคุยทับเรา แรกๆ ก็ไม่แสดงออกอะไรมากมาย แต่พักหลังๆ มานี่เริ่มแสดงออกชัดเจน เช่น เวลามีคนชมเรา เขาก็จะพูดขัดขึ้นมาทันทีว่า จริงเหรอ แล้วก็เอาข้อเสียของเรามาพูดประจานแทน... เพื่อให้คนอื่นมองเราไม่ดี (ตอนนี้ห่างกันไปแล้ว) ทั้งๆ ที่เราก็ไม่เคยฉีกหน้าเขาเลย อีกเรื่องคือ ตั้งแต่มีเพื่อนมาแต่เด็กจนโตนี่ ไม่เคยเจอใครจริงใจเลยค่ะ มีแต่จะเข้ามาเกาะบ้าง บางคนก็ดีกับเราแรกๆ แต่นานๆ ไปก็เริ่มอิจฉาเรา พัฒนาเป็นริษยาและพยายามดูถูกเราทุกวิถีทาง ตอนแรกก็ร้องไห้เสียใจมากเพราะเป็นคนแคร์เพื่อนและคาดหวังเรื่องความจริงใจสูง พอโตขึ้น ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวได้บ้าง แต่ก็ยังไม่วายต้องเจอคนแบบนี้อยู่ตลอดๆ ไม่รู้ว่าทำกรรมอะไรไว้ (แต่ต้องทำแน่นอน) เลยมาถามว่า ปัจจัยอะไรที่ส่งให้มาเกิดชาตินี้มีแต่คนอิจฉาริษยา จ้องล้างผลาญ จ้องขัดขวางไม่อยากให้เราได้ดี มันเกิดจากผลกรรมอะไรคะ
ขอบคุณที่ตอบค่ะ:)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การที่มีคนไม่ชอบ อิจฉาริษยา มีศัตรูต่างๆ เพราะเกิดจากกรรมบางอย่าง คือการล่วงศีลข้อที่ 3 คือ การประพฤติผิดในกาม ทำให้บาปกรรมให้ผล เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ เศษของกรรมทำให้มีศัตรูมาก มีคนไม่ชอบ อิจฉา ริษยา เป็นต้น ครับ
เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่ควรพิจารณาว่า ความอิจฉา ริษยา มีกันได้ทุกคน และควรเข้าใจความจริงของอกุศลของเขา ไม่มีใครไปห้ามใจของใครได้ เพราะฉะนั้นอกุศลของใครก็ของคนนั้น ควรเห็นใจ คนที่เกิดอกุศล เกิดความอิจฉา ริษยา เพราะเป็นอกุศลที่ทำร้ายใจของเขาเอง เพราะฉะนั้น หน้าที่สำคัญ คือ การฟัง ศึกษาพระธรรม เพื่อละอกุศลของตนเองเป็นสำคัญครับ ซึ่งขอเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องความอิจฉา ริษยา ว่าคืออะไร อย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป คือ จิต เจตสิก รูป โดยไม่มีเรา ที่ทำให้เกิด และไม่มีเรา ที่เกิดความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ แม้แต่ความอิจฉา ริษยา ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ลักษณะของความอิจฉาริษยา หรือ อิสสานั้น คือ ขณะนั้นย่อมไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในเมื่อบุคคลอื่นได้ลาภ ได้สักการะ ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้รับการไหว้และบูชา กล่าวได้ว่าเห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี นี้เป็นลักษณะของความอิจฉา ริษยา (ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความริษยา คือ มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี) ความริษยา จึงมีความไม่พอใจไม่อยากให้ผู้อื่นได้ในสิ่งที่ดี เป็นลักษณะของความอิจฉาริษยาครับ
ผู้ที่จะไม่เกิดความอิจฉา ริษยาอีกเลย คือ ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า มีพระโสดาบัน เป็นต้น ก็จะไม่เกิดความอิจฉา ริษยา แต่ในเมื่อยังเป็นปุถุชน ความอิจฉา ริษยาก็เกิดได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หนทางละ คือ เข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว เพราะเราไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะมีตัวเรา สำคัญว่ามีเรานั่นเอง ก็ทำให้เกิดความอิจฉา ริษยา เพราะในความเป็นจริง การที่ใครจะได้ดี มีความสุข ไม่ใช่เขาที่ได้แต่เพราะกรรมดีให้ผล ทำให้บุคคลนั้นได้ ดังนั้น เพราะกรรมดีเป็นเหตุ จึงทำให้มีความสุข ได้รับสิ่งที่ดี ทาง ตา คือ การเห็นที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น ครับ
เพราะไม่เข้าใจความจริงว่า อิจฉา ริษยาเป็นธรรมที่จะต้องเกิดเป็นธรรมดากับปุถุชน แม้แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วก็ตามครับ แต่เพราะสำคัญผิดว่ามีเรา จึงเดือดร้อนกับความเป็นเรา ว่าเราไม่ดี เราอิจฉา ริษยา ทั้งๆ ที่ความจริงก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิต มีความอิจฉา ริษยา โดยที่ไม่ใช่เราที่อิจฉา ริษยาเลย เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นไป และเกิดแล้ว ดังนั้น หนทางละ คือ ไม่ใช่หนทางที่จะไม่ให้อิจฉา ริษยาเกิด เพราะเป็นไปไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่จะต้องเกิด แต่หนทางละจริงๆ คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดว่า คือ อะไร เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมเป็นไป และไม่ใช่เราที่อิจฉา ริษยา
แม้ความเข้าใจเพียงขั้นการฟังเช่นนี้ ว่าไม่ใช่เรา และเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิด เพราะรู้ เข้าใจเบื้องต้นว่า ไม่มีเราที่อิจฉา เพราะหากเข้าใจผิด ก็เป็นอกุศลซ้อนอกุศล คือ อิจฉา เกิด ก็เดือดร้อน (เกิดโทสะ) ว่า เป็นเราที่ไม่ดี ไม่อยากให้เกิด ลืมไปว่า ต้องเกิดแน่ และไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และไม่มีเราที่ไม่ดี มีแต่ธรรมที่เป็นไป ครับ
การเข้าใจถูกเบื้องต้นเช่นนี้ คือ เริ่มจากความเข้าใจธรรม แม้ยังไม่สามารถละอิจฉาได้ แต่นี่เป็นหนทางที่ถูกต้อง ที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริงของอิจฉา ว่าคืออะไร คือ เป็นแต่เพียงธรรม การเข้าใจแบบนี้ คือ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม อบรมปัญญาไปเรื่อยๆ อนาคตกาล ก็ย่อมถึงการดับกิเลส บรรลุเป็นพระโสดาบัน ถึงตอนนั้นความอิจฉา ริษยาก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ครับ
การศึกษาธรรม จึงไม่ใช่ เป็นยาที่กินแล้วจะหายโรคทันที หรือ สนิมที่เกาะที่เหล็กจะทำความสะอาดเพียงครั้งเดียว ให้สนิมออกจากเหล็กจนหมด ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ ซึ่งโรคใจคือกิเลส สะสมมามาก ต้องค่อยๆ สะสมปัญญาและค่อยๆ เข้าใจถูกในสิ่งทีเกิดขึ้นแล้ว ก็จะค่อยๆ ละคลายทีละน้อยตามกำลังปัญญาที่เกิดขึ้นทีละน้อยจากการศึกษาพระธรรม ครับ
หนทางที่ถูก คือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมต่อไป ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมเห็นโทษของกิเลส อกุศลก็จะเกิดน้อยลงตามปัญญาที่เจริญขึ้น แต่หากจะให้บอกวิธีและทำได้ทันที นั่นไม่ใช่หนทางที่จะละกิเลสได้จริงๆ เพราะมีแต่เราที่จะพยายามทำ ไม่ใช่ปัญญาทำหน้าที่ ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
ทำอย่างไรหนูจึงจะไม่อิจฉาเพื่อน
ขอฟังข้อธรรมที่เกี่ยวข้องกับความริษยาค่ะ
เหตุใกล้ให้เกิดมุทิตาจิต และการพิจารณาเพื่อลดความอิจฉาริษยา
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขณะที่เขาริษยาเรา ก็เป็นอกุศลของเขา ไม่ใช่ของเราเลย
แต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม ไม่เหมือนกันเลย ควรอย่างยิ่งที่จะมีความมั่นคงในความเป็นจริงของการสะสมของแต่ละคน สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตไม่ใช่อกุศลธรรม ไม่ใช่มัวแต่ไปคิดว่าทำไมคนอื่นริษยาเรา ทำไมคนอื่นทำไม่ดีกับเรา เป็นต้น ก็มั่นคงในเหตุในผล ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วเพิ่มพูนคุณความดีในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจธรรม ก็ทำให้เข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าคนอื่นเขาจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไร ใจเรา สามารถเป็นกุศลได้ไหม มีเมตตา กับเขาได้ไหม นี้แหละคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ และขอให้ได้พิจารณาว่า แม้ว่าเขาจะเดือดร้อนเร่าร้อนเพราะริษยาเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้กุศลกรรมของเราที่ได้สะสมมาให้ผลได้เลย เพราะเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ผลที่ดีที่น่าปรารถนาอันมาจากเหตุคือ กุศลกรรมที่เราได้กระทำแล้ว ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อิสสาหรืออิจฉาเป็นการสร้างเหตุหรือสะสมอกุศล หากมีกำลังล่วงเป็นกรรม ผู้นั้นย่อมต้องรับผลของกรรม ผู้ถูกอิจฉาเป็นเพียงผู้รับผลของกรรม คนที่อิจฉาผู้อื่นจึงเป็นผู้ที่น่าสงสาร อิสสาเป็นเจตสิกที่ไม่เกิดกับผู้เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ดังนั้น ปุถุชนทั่วไปมีโอกาสที่จะอิสสาผู้อื่นได้ การศึกษาพระธรรมเพื่อสะสมปัญญาอันเป็นหนทางที่จะดับความอิจฉาได้ ไม่ชอบให้ใครมาอิจฉาแต่ยังไม่มั่นคงว่าจะไม่อิจฉาคนอื่นจนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน และหากรู้ตัวว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะความอิจฉา อยากให้เขาโกรธหรืออยากให้เขาให้อภัย
ผมที่เข้ามาอ่าน รู้สึกเหมือนคุณเช่นกัน แก้ไม่ตกครับ ทุกข์มากมาย
เราว่าถามเขาไปเลยตรงๆ เวลาเขาทำกริยาไม่ดีกับเราไปเลยดีกว่า ว่า นี่แล้วทำไม่เธอจะต้องเอาข้อเสียของฉันขึ้นมาพูดด้วย ใครพูดกับเธอหรือยังไง
มีความรู้สึกว่า ตกอยู่เคราะห์ กรรมเดียวกันเลยค่ะ
แต่ความริษยาที่ดิชั้นเจอ มาแบบพูดจาเสียดสี ประชดประชัน เหน็บแนม ทับถม ใส่ไข่ยุยงให้คนอื่นเขาไม่พอใจเรา หรือเข้าใจเราผิด ทั้งที่เราไม่รู้เรื่องเลย พอมารู้ทีหลังนี่จุกมาก ชอบเอาเรื่องของเราไปใส่ไข่แล้วพูดต่อไม่ดี
เฮ้อ......กรรมหนอกรรม
ทำไมเจอแบบเดียวกันเลยค่ะ ตั้งแต่เกิดมา ไม่มีใครจริงใจกับเราเลย ไม่รู้ไปทำกรรมอะไรไว้ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยคิดร้ายกับใครเลย ทำไมถึงเจอแต่คนเหน็บแนม อิจฉาริษยา
บางครั้งการที่เราทำความดี ต่อผู้อื่นโดนไม่หวังผลตอบแทน เพียงแค่ต้องการความจริงใจ ตอบแทนมา แต่มันกลับไม่เป็นเช่นแบบนั้น เสมอไปไม่เคยคิดร้ายกับใครเหมือนกันค่ะ แต่ทุกวันนี้รู้สึกได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว มันน่ากลัว ไม่มีความจริงใจต่อกัน ทั้งๆ ที่ เราดีกับทุกคน จริงใจกับทุกคน แต่ผลที่ได้กับมา ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราทำ ช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยความจริงใจ ไม่เคนเสแสร้ง ไม่เคยมีความอิจฉาริษยา มีแต่ความปรารถนาดี มอบให้ แต่ ไม่เคยได้ความรู้สึกดีๆ กลับคืนมา รู้สึกได้บ่อยๆ ว่า คนๆ นั้น ไม่จริงใจกับเรา ไม่ชอบ เรา พยายามแกล้ง พยายามจะเอาชนะ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าเค้า คนนั้นเลย เราอยู่ในที่ของเรามักจะถูกมองเหมือนไม่มีตัวตน แต่ก็ไม่เคยเอามาคิด ให้เป็นปม ในการใช้ชีวิตนะคะ ครอบครัวให้กำลังใจดี แตมันยังคงสงสัยในใจอยู่ทุกวัน ว่าทำไมเค้าถึง มอบความรู้สึกเกลียดชัง มาให้เรา คิดทุกครั้ง ไม่เคยโกรธ มีแต่ความเมตตาให้ อภัยให้ หวังเพียงแค่อยากได้ความจริงใจกับมา เคยเสี่ยงเซียมซี ได้ใบที่ทำนายว่า ทำบุญคนไม่ขึ้น สงสัยจะจริงค่ะ ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน สุดท้ายได้แต่ความรู้สึกไม่ชอบเรากลับมา คิดตลอดว่า มันเกิดขึ้นจากเวรกรรม อะไร ทุกวันนี้ทำบุญทั้งกับคน ทั้งกับสัตว์ หวังเพียงแค่จะให้หมดเวรหมดกรรม ที่เจออยู่ตอนนี้
สู้ๆ นะคะ เราก็อยากมีเพื่อนดีดีไม่อิจฉาริษยากัน ไม่กลัวกันได้ดีไปกว่าเหมือนกัน
อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 17 โดย tulk-amp2529
เป็นความรู้สึกและคำพูดที่เราอยากพูดเลย อ่านแล้วเห็นตัวเอง เศร้าอ่ะ อยากมีเพื่อนที่ดีจริงใจ ไม่ริษยา เพราะเราไม่เคยริษยาใครเลย มีแต่ยินดีและตื่นเต้นไปกับเขา เราแค่อยากมีคนคิดแบบเราบ้างอยู่ในชีวิต เราอยู่ กทม. อยากมีเพื่อนแท้ ทุกวันนี้คนรอบตัวที่คบเราเหมือนเห็นเราดีแค่ตอนอยากได้ผลประโยชน์จากเรา พอหมดก็ไม่เห็นค่ากันเลย
อารมณ์คล้ายๆ กันค่ะ ถ้าการเป็นตัวของตัวเองไม่ได้ทำร้ายคนอื่น แต่ทำให้คนอื่นรุ่มร้อนริษยาก็ต้องปล่อยเค้าไป ตราบใดที่เรามีความจริงใจ วันนึงก็จะพบมิตรแท้ อย่างน้อยเราก็เป็นมิตรแท้ให้กับตัวเอง
ความเห็นที่ 15
กำลังตกอยู่ในสถานการณฺ์เดียวกันเลยค่ะ บางครั้งอยากจะกระชากคอเสื้อถามตรงๆ หรือถามเวลาอยู่กันหลายๆ คนแต่คิดอีกที อย่าแลกดีกว่า เพราะคนอย่างนั้นไม่ยอมรับความจริงอยู่แล้ว อีกอย่างเป็นธรรมดาของมนุษย์ทั่วๆ ไป ซึ่งบางครั้งเราก็เป็นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี (เพราะฉะนั้นแก้ที่แนวคิดเราเลย กรรมใครกรรมมัน) หรือเจอประเภทพูดกับคนนู้อย่าง กับคนนี้อย่าง ก็สงสารเค้าดีกว่า เพราะบางทีเค้าต้องทำเพื่อความอยู่รอด และดูเป็นแบบอย่างเพราะบางทีเราก็เผลอทำไปบ้างเหมือนกันและพยายามเตือนตัวเอง เราไม่ชอบคนอื่นก็เหมือนกัน แก้ที่ความคิดเราก่อนเลย ส่วนคนอื่นช่างมัน เดียวก้อได้รับผลเองจากสิ่งที่เค้ากระทำลงไป