คำหยาบหมายความว่าอะไรครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  7 มี.ค. 2557
หมายเลข  24557
อ่าน  3,680

การพูดสถบหรือภาษาพ่อขุนรามฯถือว่าไม่ใช่คำหยาบใช่ไหมครับ

แต่ผมรู้สึกไม่ชอบเวลาใครพูด ดังนั้นจะพยายามเลี่ยงพูด. เพราะผมคิดว่าเวลาเราฟัง ยังรู้สึกไม่ดี จึงไม่ควรพูดครับ

รบกวนอธิบายชี้แนะให้กระจ่างด้วยครับ

ขอบคุณครับ อนุโมทนาสาธุครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำพูดมีได้ เพราะอาศัย จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ดังนั้น คำพูดจึงมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น คำพูด จึงพูดด้วยอกุศลจิตก็ได้ พูดด้วยกุศลจิตก็ได้ แต่คำพูดใดที่เป็นคำหยาบ สำคัญที่จิตนั้นเป็นสำคัญ เพราะจิตหยาบ คือ หยาบด้วยอกุศลจิต ที่เป็นโทสะในขณะนั้น จึงชื่อว่า เป็นคำหยาบ เพราะมีจิตที่หยาบเป็นสำคัญ แต่ถ้าจิตไม่หยาบ ไม่เป็นอกุศลจิตที่เป็นโทสะแล้ว ไม่ชื่อว่าหยาบ ไม่ได้สำคัญที่คำพูด เรื่องราวที่พูด เป็นสำคัญ เช่น พระภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ มักกล่าววาจาเรียกคนอื่นว่า คนถ่อย แต่เป็นเพราะท่านสะสมการเรียกอย่างนี้ในอดีตชาติมามากมาย จึงยังติดการพูดเช่นนี้ แต่ท่านพูดด้วยกิริยาจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แม้คำว่าคนถ่อยจะฟังดูไม่ดี แต่จิตท่านพูดด้วยกิริยาจิต จิตไม่หยาบ คำนั้นจึงไม่ใช่คำหยาบ เพราะไม่มีเจตนาด่าว่าใครนั่นเอง ครับ

หรือ แม่เป็นห่วงลูก กล่าววาจาด้วยคำที่ดูว่าหยาบเหมือนจะด่า ว่าลูก แต่ด้วยจิตที่หวังดี ไม่ใช่ด้วยโทสะ คำนั้นแม้ฟังดูไม่ไพเราะ แต่จิตไม่หยาบด้วยโทสะ ก็ไม่ใช่คำหยาบ ครับ

ส่วน ปุถุชน ยังมีอกุศลจิตโดยมาก แม้พูดคำที่ดูดี น่ารัก ตามที่ชาวโลกสมมติกันในปัจจุบัน แต่มีเจตนาว่าบุคคลนั้นในขณะที่พูด แต่พูดด้วยคำสวยหรู ไพเราะ ก็ชื่อว่า เป็นคำหยาบ เพราะหยาบด้วยจิตที่หยาบด้วยโทสมูลจิตที่เจตนาว่าร้ายคนอื่นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จะเป็นคำหยาบหรือไม่ ก็สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ

สรุปได้ว่า วาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นกุศลจิต แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะ แต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ ครับ

ซี่งในพระพุทธศาสนาแสดง องค์ประกอบและรายละเอียดของการเป็นผรุสวาจาดังนี้

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 196

เรื่องวาจาหยาบ แต่ใจไม่หยาบ

ได้ยินว่า เด็กคนหนึ่งไม่เอื้อเฟื้อถ้อยคําของมารดาไปป่า มารดาไม่สามารถให้เด็กนั้นกลับได้ จึงได้ด่าว่า ขอให้แม่กระบือดุจงไล่มึง ทันใดนั้น แม่กระบือป่าได้ปรากฏแก่เด็กนั้น เหมือนอย่างมารดาว่าทีเดียว เด็กนั้นได้กระทําสัจจกิริยาว่า สิ่งที่มารดาของเราพูดด้วยปาก จงอย่ามี สิ่งที่มารดาคิดด้วยใจ จงมีเถิด แม่กระบือได้ยืนอยู่เหมือนถูกผูกไว้ในป่านั้นเอง.

ประโยคแม้ตัดความรักอย่างนี้ ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะมีจิตอ่อนโยน. จริงอยู่ บางครั้งมารดาบิดาย่อมกล่าวกะลูกน้อยๆ ถึงอย่างนี้ว่า พวกโจรจงห้ำหั่นพวกเจ้าเป็นชิ้นๆ ดังนี้ แต่ก็ไม่ปรารถนาแม้ให้กลีบบัวตกเบื้องบนของลูกน้อยๆ เหล่านั้น อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์ บางคราวก็กล่าวกะพวกศิษย์อย่างนี้ว่า พวกนี้ไม่มียางอาย ไม่เกรงกลัว คุยอะไรกัน จงไล่มันไปเสีย ก็แต่ว่า ย่อมปรารถนาให้ศิษย์เหล่านั้นสําเร็จการศึกษา และบรรลุมรรคผล. เหมือนอย่างว่า วาจาไม่เป็นผรุสวาจา เพราะคําอ่อนหวานก็หาไม่. ด้วยว่าผู้ต้องการจะฆ่า พูดว่า จงให้ผู้นี้นอนให้สบาย ดังนี้ จะไม่เป็นผรุสวาจาก็หาไม่. ก็วาจานี้เป็นผรุสวาจาทีเดียว เพราะมีจิตหยาบ. ผรุสวาจานั้น มีโทษน้อย เพราะผู้ที่ตนพูดหมายถึงนั้น

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 197

มีคุณน้อย มีโทษมาก เพราะผู้นั้นมีคุณมาก.

ผรุสวาจานั้น มีองค์ ๓ คือ

๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า

๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ

๓. อกฺโกสนา การด่า

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กระทู้นี้ ครับ

การใช้คำพูด (ศีลข้อ 4)

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ผรุสวาจาประกอบด้วยองค์ ๓

ผรุสวาจาเกิดจากจิตที่ประทุษร้าย

ซึ่งการใช้ภาษาพ่อขุนรามคำแหง ในความเป็นจริงก็เป็นภาษาของคนสมัยนั้น สมัยนั้นก็ไม่ใช่คำหยาบ เพราะเป็นภาษาทั่วไป แต่สมัยนี้ ไม่ได้ใช้ภาษานี้แล้ว และยึดถือว่าคำเหล่านั้นไม่สุภาพ แต่ควรแยกระหว่าง เป็นภาษาที่ไม่เหมาะ กับ วาจาหยาบ เพราะวาจาหยาบ คำพูดที่หยาบ มาจาก จิตที่หยาบ คือ โทสะ ที่มีเจตนาว่า แม้จะใช้ภาษาแบบใดก็ตาม หากจิตเป็นโทสะ มีเจตนาว่า ก็เป็น วาจาหยาบ ครับ

หากแต่ว่า เมื่อเรารู้ว่า สมัยนี้ ภาษาพ่อขุนราม เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะ ก็ควรที่ไม่ใช้ เพราะไม่ใช่วาจาอ่อนหวาน ไม่ใช่ภาษาของชาวบ้านที่ใช้กันในสมัยนี้ หากแต่ว่า แม้จะมีการพูดกัน แต่จิตไม่ได้ด่าว่า ก็ไม่ใช่ คำพูดที่หยาบ ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความจริงอย่างยิ่งที่ควรที่จะได้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทุกที่ ทุกสถานการณ์ แต่ธรรม เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง แตกต่างกันตามการสะสม การพูดคำหยาบคาย เป็นเรื่องของอกุศลจิต เพราะอกุศลจิตเกิดขึ้น จึงพูดคำที่ไม่น่าฟังอย่างนั้น แต่เราไม่สามารถที่จะห้ามได้ว่า คนอื่น ห้ามพูดคำหยาบ เพราะห้ามไม่ได้ ธรรม เป็นอนัตตา แต่ในฐานะที่เราอยู่ร่วมกันกับคนอื่น สิ่งไหนที่เป็นสิ่งที่ดีงาม เราสามารถแนะนำคนอื่นได้ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา หวังดี ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ถ้าสามารถเกื้อกูลให้คนอื่นเกิดกุศลจิตได้ แทนที่จะเป็นอกุศลจิต ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ควรกระทำ แต่อย่างไรก็ตาม พระธรรม สำคัญที่การน้อมประพฤติปฏิบัติตาม และ เป็นชีวิตแต่ละคนจริงๆ ดังนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า ปกติแล้ว โดยทั่วไป ไม่มีใครชอบคำหยาบ เมื่อไม่ชอบ ก็ไม่ควรที่จะกล่าวคำหยาบกับใครๆ แม้ว่าคนอื่นจะมีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ก็ตาม ครับ

…ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 มี.ค. 2557

ภาษาชาวบ้าน เป็นคำหยาบก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ อยู่ที่จิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 13 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 14 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ