การปฏิบัติของฆราวาสตอนใส่บาตรที่ถูกต้อง

 
เจริญในธรรม
วันที่  18 พ.ค. 2557
หมายเลข  24875
อ่าน  28,396

เรียนถาม

1.หลังจากเราใส่บาตรเสร็จ การปฏิบัติที่ถูกต้องควรทำอย่างไรไม่ให้พระผิดวินัย

.เรายืนไหว้ ,นั่งไหว้ หรือกราบลงพื้น (เพราะเห็นข้างบ้านกราบ 3 ครั้งลงพื้น) อย่างไหนถูกต้อง และการกราบลงพื้นทำได้หรือเปล่าครับ

2.ผมยืนไหว้ทั้งก่อนใส่และหลังใส่บาตร ทำถูกต้องหรือไม่ครับ

3.ใส่ผลไม้ ปกติถ้ามีเมล็ด เราต้องกล่าวแก่พระสงฆ์ หากเราทำการปลอกเปลือก แคะเมล็ดออกเรียบร้อย ต้องบอกกล่าวหรือไม่ตอนถวายครับ

ขอบคุณล่วงหน้านะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1.หลังจากเราใส่บาตรเสร็จ การปฏิบัติที่ถูกต้องควรทำอย่างไรไม่ให้พระผิดวินัย.เรายืนไหว้ ,นั่งไหว้ หรือกราบลงพื้น (เพราะเห็นข้างบ้านกราบ 3 ครั้งลงพื้น) อย่างไหนถูกต้อง และการกราบลงพื้นทำได้หรือเปล่าครับ

พระที่ท่านเดินบิณฑบาต เมื่อคฤหัสถ์ถวายอาหารเสร็จแล้วให้พร คือ การแสดงธรรมแต่มุ่งแสดงธรรมเพื่อประจบ เพื่อให้ตระกูลรักไม่ถูกต้อง และแม้แสดงธรรม (ให้พร) คือการกล่าวอนุโมทนากถา แสดงธรรม การเคารพธรรมเป็นสิ่งที่สมควรเพราะพระธรรมเป็นสิ่งที่เลิศ การแสดงธรรมจึงต้องอยู่ในอิริยาบถที่สมควรสำหรับผู้แสดงและผู้ที่ฟัง ครับ ดังนั้น การที่พระท่านยืนให้พร แสดงธรรม แต่ผู้ฟังนั่งรับพร หรือ ฟังพระธรรม ขณะนั้นพระภิกษุชื่อว่าไม่เคารพพระธรรม เพราะพระภิกษุอยู่ในอิริยาบถที่ลำบากกว่า แต่แสดงธรรมแก่ผู้ฟังซึ่งสบายกว่า พระภิกษุยืนแสดงธรรมในขณะนั้น เท่ากับว่าพระภิกษุรูปนั้นไม่เคารพธรรม ต้องอาบัติทุกกฏที่แสดงธรรมในขณะนั้นครับ ความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่แสดงธรรมควรอยู่ในอิริยาบถที่สบายกว่าหรือเสมอกันกับผู้ที่ฟังพระธรรม ผู้แสดงควรเคารพพระธรรม ดังนั้น อิริยาบถจึงต้องเหมาะสมกับผู้ที่แสดงและผู้ฟัง, แต่ถ้าท่านยืนให้พรแสดงธรรมอยู่ เรายืนฟังพระธรรมในขณะนั้นท่านไม่ต้องอาบัติทุกกฏในเรื่องการไม่เคารพธรรมครับ เพราะอยู่ในอิริยาบถที่สมควรแล้วทั้งสองฝ่ายในการแสดงและฟังพระธรรมครับ

ดังนั้นทางที่ดีเมื่อเราใส่บาตรเสร็จก็บอกท่านว่าไม่ต้องให้พรก็ได้ เพราะการแสดงธรรมก็ควรหาที่ที่เหมาะสม ไม่ใช่ตามละแวกบ้าน หากเหตุไม่จำเป็นครับ และหากท่านจะให้พรแสดงธรรมจริงๆ ตรงนั้น ควรยืนไม่ควรนั่ง ท่านก็จะไม่ต้องอาบัติทุกกฏในเรื่องการไม่เคารพธรรมครับ

หากใส่บาตรเสร็จแล้ว ถ้าพระให้พร คือ การแสดงธรรม ควรยกมือ ยืนไหว้ ไม่ควรนั่งไหว้ เพราะ จะทำให้พระต้องอาบัติ เพราะพระภิกษุไม่เคารพในธรรม เพราะฉะนั้นควรยืนไหว้ รับพร ครับ แต่ถ้าท่านไม่ได้แสดงธรรม จะยืนไหว้ หรือ กราบลงที่พื้นก็ได้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

2.ผมยืนไหว้ทั้งก่อนใส่และหลังใส่บาตร ทำถูกต้องหรือไม่ครับ

ได้ครับ ถูกต้อง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

3.ใส่ผลไม้ ปกติถ้ามีเมล็ด เราต้องกล่าวแก่พระสงฆ์ หากเราทำการปลอกเปลือก แคะเมล็ดออกเรียบร้อย ต้องบอกกล่าวหรือไม่ตอนถวายครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่ง พระวินัยบัญัติของพระพุทธเจ้าก็ต้องตั้งอยู่ ตามสมมติของชาวโลก เพื่อเป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของประชุมชน ไม่ถูกติเตียนด้วย ครับ ซึ่ง คนในสมัยนั้น มีความเชื่อว่า ต้นไม้มีชีวิต เพราะฉะนั้น พระภิกษุ ท่านก็จะรับอาหาร ที่เป็นผลไม้ ด้วยการทำกัปปิยะ ตามวินัยที่ควรทำ เช่น เอาเมล็ดออกก่อน จิกด้วยเล็บ เป็นต้น ครับ ซึ่งหากมีโอกาสบอกท่านก็เป็นการดีว่า ได้เอาเมล็ดออกแล้ว ท่านก็จะทราบได้ว่าเป็น ผลไม้ที่เป็นกัปปิยะแล้ว ไม่ต้องทำวินัยกรรมให้ถูกต้อง ครับ

[เล่มที่ 9] พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 11

สัมณกัปปะ อย่าง

[๒๕] สมัยต่อมา สัปบุรุษหมู่หนึ่งถวายภัตตาหารแก่สงฆ์ เขาไม่ได้ฝานมะม่วงเป็นชิ้นๆ ในโรงอาหารล้วนแล้วไปด้วยผลมะม่วงทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน . . .

พระผู้มีพระภาคเจ้า ...ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด เราอนุญาตให้ฉันผลไม้โดยสมณกัปปะ ๕ อย่าง คือ

๑. ผลไม้ที่ลนด้วยไฟ

๒. ผลไม้ทำกรีดด้วยศัสตรา

๓. ผลไม้ที่จิกด้วยเล็บ

๔. ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ด

๕. ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว .

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้โดยสมณกัปปะ ๕ อย่างนี้.

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

อธิบายการทำกัปปิยะและวัตถุที่ใช้ทำกัปปิยะ [มหาวิภังค์] - บ้านธัมมะ

การถวายผลไม้ที่มีเมล็ดแด่พระภิกษุ

การถวายผลไม้ชนิดไหนถวายได้และไม่ได้แก่พระภิกษุ?

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ. ผเดิม ครับ

ความเข้าใจพระวินัย ของคฤหัสถ์ เกื้อกูลทั้งตนเองที่จะได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นการเกื้อกูลให้พระภิกษุท่านไม่ต้องอาบัติ ด้วย สำหรับเพศที่เป็นบรรพชิตแล้วถ้ามีความเข้าใจพระวินัยอย่างถูกต้อง มีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติตามพระวินัย ก็จะเป็นผู้รักษาพระวินัย ไม่ต้องอาบัติน้อยใหญ่ ไม่ทำให้ตนเองเกิดโทษเพราะไม่ต้องอาบัติไม่มีเหตุที่จะทำให้จิตใจเดือดร้อนในภายหลัง และที่สำคัญ สามารถเกื้อกูลด้วยการแสดงความจริงตามพระวินัยให้กับคฤหัสถ์ได้เข้าใจด้วย เป็นการรักษาพระธรรมวินัย ด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้อง

ดังนั้น จึงสำคัญมาก กับความเข้าใจ ซึ่งต้องมาจากการได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมวินัยตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ch.
วันที่ 18 พ.ค. 2557

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 19 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Podjanee
วันที่ 19 ม.ค. 2561

เวลาใส่บาตรเสร็จ หนูนั่งลงไหว้ แต่ก็ไม่ได้หวังให้พระท่านให้ศีลให้พร แต่ก็เหมือนท่านจะให้ทุกครั้ง อย่างนี้ เวลาใส่บาตรเสร็จ ต้องยืนไหว้ ถึงจะถูกต้องใช่ไหมคะ ขอบคุณค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ