เคยฟังบรรยายว่า เพ้อธรรม คือการแต่งธรรมะเอาเอง อยากทราบรายละเอียด
คำว่า เพ้อธรรม หรือการแต่งธรรมะเอาเอง มีที่มาอย่างไร มีบาลีหรือไม่ ถ้ามีคำบาลี ขอความกรุณาจากท่านผู้รู้กรุณาบอกคำบาลีนั้นด้วย ตลอดจนความหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า เพ้อ ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมทีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ป้องกันความเห็นผิด ป้องกันการคิดธรรมเอาเอง ตลอดจนถึง ป้องกันการแต่งธรรมเอาเองซึ่งก็มาจากความคิดของบุคคลคนนั้น ดังนั้น เมื่อพระธรรม เป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว ไม่มีส่วนที่จะต้องตัดออก ไม่มีส่วนที่จะต้องเพิ่มเติมเข้าไปใหม่ ก็จะต้องเป็นกิจหน้าที่ของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาว่า จะต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ตั้งแต่คำว่าธรรมคืออะไร คือสิ่งที่มีจริงๆ และมีจริงในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ความดี ความชั่ว เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น ลักษณะของความโกรธก็กระทบกระทั่ง ลักษณะของโลภะก็ติดข้องเป็นต้น ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และจุดประสงค์ในการศึกษาต้องตรงเป็นอย่างยิ่ง คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อรู้ชื่อจำชื่อเยอะๆ เพื่อจะคุยกับคนอื่นได้ หรือ เพื่อลาภ สักการะ เป็นต้น
สำหรับ คำว่าบ่นเพ้อธรรม นั้น เท่าที่ค้นดูทั้งจากพระวินัยปิฎก และในส่วนของอลคัททูปมสูตรนั้น ในภาษาบาลี ใช้คำ อิติวาทปฺปโมกฺข ก็สามารถแปลโดยศัพท์ได้ว่า มีการเปล่งออกซึ่งว่าวาทะ อย่างนี้ ซึ่งโดยความหมาย ก็คือบ่นเพ้อธรรมนั่นเอง มีแต่กล่าวชื่อ มากไปด้วยชื่อ พูดชื่อคล่อง แต่ไม่ได้น้อมมาเพื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
แม้ว่าจะไม่รู้ว่าภาษาบาลีมาจากคำว่าอะไร ก็ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นในการอบรมเจริญปัญญา เพราะสามารถเข้าใจธรรมในภาษาของตนๆ ได้ ที่สำคัญคือไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การพูดในเรื่องราวของธรรม แต่ไม่เข้าใจพระธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ หรือ เข้าใจธรรมที่ไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่าเป็นผู้บ่นเพ้อในธรรม เพราะบ่นเพ้อในสิ่งที่ไม่รู้จริง เพราะความจริงคือ สภาพธรรมในขณะนี้ หากไม่มีสภาพธรรมในขณะนี้ ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ก็จะไม่มีเรื่องราว ไม่มีสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ เลย ดังนั้นอาศัยชื่อเพื่อเข้าใจตัวจริง คือ ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เป็นชื่อ เรื่องราว ที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ด้วยจุดประสงค์เพื่อเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้เป็นสำคัญครับ เมื่อพูดธรรมไม่ว่าเรื่องใดก็ไม่พ้นจากความจริงที่ปรากฏในขณะนี้นั่นเองครับ ศึกษาเพื่อเข้าใจตัวจริงขณะนี้สำคัญที่สุด ซึ่งการกล่าวธรรมที่ถูกต้อง และตรงตามสภาพธรรมที่มีจริง หรือขณะที่สติเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ชื่อว่า เป็นผู้ไม่บ่นเพ้อธรรม
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่........บ่นเพ้อธรรม [มหาวิภังค์]
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๒๗๐
บุคคล ไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมแม้ ๒ อย่าง ด้วยปัญญาของตนแล้ว และไม่ใคร่ครวญเนื้อความแม้สักว่า คำว่า อนิจจัง คำว่า ทุกขัง และคำว่า อนัตตา ในสำนักของบุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้อยู่เพราะความที่ตนไม่รู้ได้ด้วยตนเอง และชื่อว่ายังข้ามความสงสัยไม่ได้ เพราะตนยังไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญ แล้วอาจเพื่อจะทำบุคคลอื่นให้เพ่งเล็ง คือ ให้เพ่งพินิจได้อย่างไรดังนี้.
ในข้อนี้ผู้ศึกษาพึงระลึกถึงสุตตบท มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนจุนทะ ผู้นั้นแล ชื่อว่า บ่นเพ้ออยู่ด้วยตนเอง ดังนี้.
ขออนุโมทนา