ปัจจนิกสูตร และ ภิกขกสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ปัจจนิกสูตร และ ภิกขกสูตร
จาก ... [เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๘๖,๒๙๕
... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๘๖
๖. ปัจจนิกสูตร
(ว่าด้วยคำอันเป็นสุภาษิต)
[๗๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์ มีนามว่า ปัจจนิกสาตะ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ปัจจนิกสาตพราหมณ์ มีความดำริ ว่า อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับเถิด พระสมณโคดม จักตรัสคำใดๆ เราจักเป็นข้าศึกคำนั้นๆ ดังนี้.
[๗๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้งลำดับนั้น ปัจจนิกสาตพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว เดินตาม พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งกำลังเสด็จจงกรมอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอท่านพระสมณะ จงตรัสธรรม.
[๗๐๓] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
คำอันเป็นสุภาษิต อันบุคคลผู้ยินดี จะเป็นข้าศึก มีจิตเศร้าหมอง มากไปด้วย ความแข่งดี จะรู้แจ้งด้วยดีไม่ได้, ส่วนว่า บุคคลใด กำจัดความแข่งดี และความไม่ เลื่อมใสแห่งใจ ถอนความอาฆาตได้แล้ว ผู้นั้นแลพึงรู้คำอันเป็นสุภาษิต.
[๗๐๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว ปัจจนิกสาตพราหมณ์กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงาย ภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวัง ว่าคนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มี พระภาคเจ้า กับพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำ ข้าพระองค์ ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
อรรถกถาปัจจนิกสูตร
ในปัจจนิกสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
เมื่อเขากล่าวว่า สิ่งทั้งปวงขาว พราหมณ์นั้นก็ทำการขัดแย้ง โดยนัย เป็นต้นว่าสิ่งทั้งปวงดำ ย่อมมีความสำราญ คือ มีความสุข เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่า ปจฺจนิกสาโต. บทว่า โย จ วิเนยฺย สารมฺภํ ความว่า ผู้ใดกำจัด ความแข่งดี มีลักษณะทำให้เกินหน้ากัน แล้วฟัง.
จบอรรถกถาปัจจนิกสูตรที่ ๖.
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๒๙๕
๑๐. ภิกขกสูตร
(ว่าด้วยความเป็นภิกษุ)
[๗๑๖] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น ภิกขกพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยกันตามธรรมเนียมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกขกพราหมณ์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็น คนขอ พระองค์ก็เป็นผู้ขอ ในความข้อนี้ เราจะต่างอะไรกัน.
[๗๑๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
บุคคล หาชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงด้วย การขอคนอื่นไม่ บุคคลสมาทานธรรม เป็นพิษ หาชื่อว่าเป็นภิกษุได้ไม่ ผู้ใด ใน โลกนี้ ละบุญและบาปเสียแล้ว ประพฤติ พรหมจรรย์ ด้วยการพิจารณา ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็น ภิกษุ.
[๗๑๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกขกพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยปริยาย ดุจหงายภาชนะ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มี พระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
อรรถกถาภิกขกสูตร
ในภิกขกสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อิธ ได้แก่ในความ เป็นภิกษุนี้นั่นแล.
บทว่า วิสํ ธมฺมํได้แก่ อกุศลธรรมที่มีกลิ่นเหม็น.
บทว่า วาเหตฺวา ได้แก่ ละได้ด้วยอรหัตตมรรค.
บทว่า สงฺขาย ได้แก่ ญาณ. บทว่า ส เว ภิกฺขูติ
วุจฺจติ ความว่า ผู้นั้นแล ท่านเรียกชื่อว่า ภิกษุ เพราะทำลายกิเลส นั่นแล.
จบอรรถกถาภิกขกสูตรที่ ๑๐.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ปัจจนิกสูตร
(ว่าด้วยคำอันเป็นสุภาษิต)
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พราหมณ์ชื่อ ปัจจนิกสาตะ (ผู้ยินดีที่จะเป็นข้าศึก) ได้คิดว่า เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสคำใด เราก็จะเป็นข้าศึกของคำนั้นๆ แล้วเข้าไปเฝ้าพระองค์ กราบทูลให้พระองค์ตรัสธรรม
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ผู้ที่ยินดีจะเป็นข้าศึก มีจิตใจเศร้าหมอง แข่งดี จะรู้แจ้งคำสุภาษิต ไม่ได้เลย ส่วนผู้ใดที่กำจัดความแข่งดี ความไม่เลื่อมใส และความอาฆาตแล้ว จึงจะฟังคำสุภาษิตได้
เมื่อปัจจนิกสาตพราหมณ์ ได้ฟังแล้ว ก็ได้กราบทูลชื่นชมพระภาษิตของพระองค์ และได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
ข้อความโดยสรุป
ภิกขกสูตร
(ว่าด้วยความเป็นภิกษุ)
ภิกขพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้มีปกติเที่ยวขอผู้อื่น ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลถามพระองค์ว่า ตนเอง ก็เป็นผู้ขอ และพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เป็นผู้ขอ แล้วจะมีความแตกต่างกันอย่างไร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า บุคคล ไม่ใช่เป็นภิกษุ เพราะการขอผู้อื่น ผู้ที่สมาทานถือเอาธรรมที่มีพิษ (อกุศลธรรม) ก็ไม่ใช่ภิกษุ ส่วนผู้ใดที่ละ บุญและบาปได้แล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยปัญญา ผู้นั้นเป็นภิกษุ เมื่อภิกขกพราหมณ์ ได้ฟังแล้ว ก็ได้กราบทูลชื่นชมพระภาษิตของพระองค์และ ได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
พระพุทธเจ้าสอนให้ตอบสนองผู้มักโกรธ อาฆาตไว้อย่างไรบ้าง
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ๑๒ ... ... เพื่อนแท้ไม่แข่งดี
ภิกษุและบรรพชิต แตกต่างกันอย่างไร
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
สาธุ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน นะคะ
ด้วยความเคารพและขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
จากใหญ่ราชบุรี – ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี