กิเลสกับอนุสัยต่างกันอย่างไร

 
harji
วันที่  19 ต.ค. 2557
หมายเลข  25660
อ่าน  2,679

กิเลสกับอนุสัยต่างกันอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ต.ค. 2557

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญาระดับมรรคจิตครับ

อนุสัย มี 7 ประการคือ
๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม
๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ
๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด
๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย
๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว
๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ
๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต พระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับมรรค

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลส อนุสัยกิเลสก็นอนเนื่องอยู่ในจิตที่เกิดดับสืบต่อกันเป็นเชื้อเป็นปัจจัยให้เกิดปริยุฏฐานกิเลส กิเลสทั้งหลายจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่เกิดอีกเลย เมื่อโลกุตตรมัคคจิตรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยประจักษ์แจ้งสภาพของพระนิพพาน ตามลำดับขั้นของมัคคจิต ซึ่งปหานกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามลำดับขั้นของมัคคจิตนั้นๆ

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่ละเอียดนอนเนื่องในสันดาน ไม่ปรากฎให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นการสั่งสมไว้ในจิต เปรียบเหมือนเชื้อโรคที่ฝังตัวอยู่ในร่างกายไม่สามารถรู้ได้ ต่อเมื่อเกิดอาการของโรคแล้ว (ปริยุฏฐานกิเลสและวีติกมกิเลส) ย่อมรู้ได้ว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อโรค ซึ่งอนุสัยกิเลส เป็นพืชเชื้อให้มีการเกิดขึ้นของกิเลสอย่างกลาง เช่น ความโกรธในใจ ดังนั้นอนุสัยกิเลสจึงเป็นกิเลสที่ละเอียดที่สุด ที่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวันครับ แต่ถึงแม้ไม่สามารถที่จะรู้อนุสัยกิเลสได้ แต่ก็สามารถอบรมปัญญาเพื่อละอนุสัยกิเลสได้ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็จะถึงปัญญาระดับสูงที่เป็นมรรคจิต ที่สามารถละอนุสัยกิเลสได้จริงๆ ครับ ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้และละอนุสัยกิเลสด้วยการอบรม ศึกษาพระธรรม ครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม ระงับปริยุฏฐานกิเลสได้ชั่วคราว เป็นวิกขัมภณปหานด้วยฌานกุศลจิต

ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต มี นิวรณ์ เป็นต้น แต่ไม่ได้แสดงออกมาทางกาย และวาจา เพียงแต่เกิดกิเลสขึ้นมาภายในจิตใจ เช่น เกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่ได้เห็น เกิดความขุ่นเคืองใจ แต่ไม่ได้ล่วงแสดงออกมาทางกาย วาจา ซึ่งสามารถรู้ได้ในชีวิตประจำวัน กับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน โดยผู้นั้นเองที่จะเป็นผู้รู้ ด้วยปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ ครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย วาจาวิรัติ คือ ละเว้นวีติกกมกิเลสได้ด้วยศีล

วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ สามารถปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งกับตนเองและผู้อื่น เพราะมีการแสดงออกมา ทางกาย และ วาจา เช่น การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น

กิเลสขั้นหยาบและกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด ซึ่งไม่มีใครรู้เลยนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ว่า การที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นพืชเชื้อ ที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสที่เป็นระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์ไม่มีอนุสัยกิเลส และไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น อนุสัยเป็นส่วนหนึ่งของกิเลส กิเลสกว้างกว่าครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่า กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ เราเห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล แสดงให้ทราบว่ากิเลสนั้นหยาบและมีกำลัง กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภกิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต แต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบและกิเลสขั้นกลางจะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียด

-กิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นธรรมที่เศร้าหมอง กระทำให้จิตเศร้าหมองไม่สะอาด เมื่อแต่ละบุคคลรู้จักกิเลสของตนเองมากยิ่งขึ้น (ไม่ใช่ให้ไปดูกิเลสของผู้อื่น) ก็จะเห็นความน่ารังเกียจของกิเลส และเห็นความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส (ความทุกข์ทั้งปวง ล้วนมีกิเลสเป็นเหตุทั้งนั้น) ก็จะเห็นโทษเห็นภัยของกิเลสยิ่งขึ้น และจะรู้ว่าตนเองมีกิเลสหนาแน่น เหนียวแน่น และละคลายได้ยากเพียงใด

กิเลส เมื่อเกิดขึ้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยเท่านั้น ดังนั้น กิเลสจึงเป็นสภาพธรรมที่บัณฑิต หรือ คนดีเกลียดไม่ควรแก่การเข้าใกล้เป็นอย่างยิ่ง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นอนุสาสนี เป็นคำพร่ำสอนเพื่อให้พุทธบริษัทเห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เพื่อสำรวจตนเองว่ายังเป็นผู้มากไปด้วยกิเลส (ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท) เพื่อจะได้ขัดเกลา ละคลายให้เบาบางลง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะถึงความเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสได้ในที่สุดครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 20 ต.ค. 2557

การที่รู้เรื่องราวของกิเลสแต่ละขั้น ก็เพื่อการสำรวมในกาย วาจา และใจ เพื่อไม่ให้ล่วงออกมา ในชีวิตประจำวันจึงต้องอบรมความเห็นถูกต่อไป มิเข่นนั้นภพชาติก็มากมายทุกข์ และสุขปะปนกันไป ไหลไปตามอำนาจของกิเลส อุปมาได้ไม่ต่างอะไรกับเดรัจฉาน มนุษย์ชอบพูดว่าตนมีปัญญาที่ต่างจากเดรัจฉาน เดรัจฉานที่เป็นไป มนุษย์ว่าสัญชาตญาณ แต่มนุษย์ที่เป็นไปก็เพราะกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
harji
วันที่ 20 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 20 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 23 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Wisaka
วันที่ 25 ต.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 25 ต.ค. 2557

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
napachant
วันที่ 28 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 26 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ