กรรมบถ ๑๐
กราบท่านอาจารย์ กรุณาให้ความกระจ่างของกรรมบถ ๑๐ ว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะมโนกรรม ๓ มีรายละเอียดอะไรบ้าง
กราบขอบพระคุณป็นอย่างสูงค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีจริงๆ เป็นธรรม ว่าโดยสภาพธรรมแล้วคือเจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่มีเว้นเลย แต่กรรมที่จะเป็นเหตุในภายหน้าต้องสำเร็จเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมบถ เช่น ถ้าเป็นกุศลกรรม ก็อย่างเช่น ให้ทาน รักษาศีล การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลกรรม เช่น ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ ลักทรัพย์ผู้อื่นเป็นต้น เมื่อเหตุมีแล้ว ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้
แต่ถ้าเป็นเพียงอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เช่น ขุ่นเคืองใจ หรือ ติดข้องยินดีพอใจโดยไม่ได้ล่วงออกมาเป็นอกุศลกรรมบถประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลคือวิบากในภายหน้า แต่ก็เป็นการสะสมสิ่งที่ไม่ดี เพราะถ้าสะสมมากขึ้น ก็อาจจะล่วงเป็นอกุศลกรรมบถได้ เพราะฉะนั้นจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย ที่ชื่อว่า กรรมบถ เพราะความเป็นทางของทุคติและสุคติทั้งหลาย ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ และทางใจ ๓ รวมเป็น ๑๐
อกุศลกรรมบถ ๑๐ แสดงถึง ความเป็นไปของการกระทำอกุศลกรรม ได้แก่
ทางกาย ๓ ได้แก่
ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์มีชีวิต ๑
อทินนาทาน การถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑
กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม ๑
ทางวาจาก็มี ๔ คือ
มุสาวาท พูดสิ่งที่ไม่จริง ๑
ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๑
ปิสุณาวาจา พูดคำส่อเสียด ๑
สัมผัปปลาปวาจา คือพูดคำเพ้อเจ้อ คำที่ไม่มีประโยชน์ ๑
นี่เป็นวจีกรรม ๔ ซึ่งหักราน ตัดประโยชน์ของผู้อื่น
มโนกรรม ๓ คือ
อภิชฌา การเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่นมาเป็นของของตน ๑
พยาปาท การเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ๑
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากความเป็นจริงของธรรม ๑
ส่วน กุศลกรรมบถ ก็โดยนัยตรงกันข้าม ครับ
ส่วนเรื่องมโนกรรมเชิญคลิกอ่านที่นี่ได้ดังนี้ ครับ
กรรมบถ มโนกรรม ข้อพยาบาท มีขอบเขตแค่ไหน อย่างไรครับ
พยาบาท ในอกุศลมโนกรรมต่างจากวิหิงสาวิตกไหมคะ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มโนกรรม หมายถึง เจตนาเจตสิกที่ทำให้เกิดการกระทำทางใจเป็นส่วนมาก
อกุศลมโนกรรม ๓ ได้แก่ ...
๑. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นด้วยทุจริต (โลภเจตสิก)
๒. พยาบาท ความอาฆาตมุ่งร้ายปรารถนาให้ผู้อื่นพินาศ (โทสเจตสิก)
๓. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น มีความเห็นว่า บาปบุญไม่มีนรกสวรรค์ไม่มี สัตว์ที่จะมาเกิดในโลกนี้หรือโลกหน้าไม่มี
(ทิฏฐิเจตสิก คือ ความเห็นผิด)
กุศลมโนกรรม ๓ ได้แก่ ...
๑. อนภิชฌา ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น (อโลภเจตสิก)
๒. อพยาบาท ความไม่อาฆาตมุ่งร้ายต่อผู้อื่น (อโทสเจตสิก)
๓. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น มีความเห็นว่าบาปบุญมีจริง มารดาบิดามีคุณจริง สัตว์บุคคลตัวตนเป็นเพียงสมมติ ไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ สิ่งที่มีจริงคือนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น (ปัญญาเจตสิก)
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ในพระไตรปิฏกมีแสดงไว้ เช่น ท่านโสไรย เห็นท่านมหากัจจายนะ มีรูปสวย ก็คิดในใจ ขอให้พระเถระรูปนี้ควรเป็นภรรยาของเรา หรือ ภรรยาของเรามีรูปสวยอย่างท่าน ขณะที่คิดเพศชายหายไป เพศหญิงก็ปรากฏ ค่ะ