จักกสูตร ว่าด้วยจักร ๔ ... วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
จักกสูตร
ว่าด้วยจักร ๔
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๑๑๕
จักกวรรคที่ ๔
๑. จักกสูตร
ว่าด้วยจักร ๔
[๓๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักร ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้วได้จักร ๔ ประการ เป็นเหตุให้เทวดาและ มนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้ว ถึงความใหญ่ ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ ทั้งหลาย ไม่นานเลย
จักร ๔ ประการ คืออะไร คือ
ปฏิรูปเทสวาสะ (ความอยู่ในถิ่นที่เหมาะ) ๑
สัปปุริสูปัสสยะ (ความพึ่งพิงสัตบุรุษ) ๑
อัตตสัมมาปณิธิ (ความตั้งตนไว้ชอบ) ๑
ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน) ๑
นี้แลจักร ๔ ซึ่งเป็น เหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้วได้จักร ๔ ประการ เป็นเหตุให้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้ว ถึงความใหญ่ ความไพบูลย์ใน โภคทรัพย์ทั้งหลายไม่นานเลย
นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะ พึงทำ อริยชนให้เป็นมิตร ถึงพร้อมด้วยความ ตั้งตนไว้ชอบ มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน ข้าวเปลือก ทรัพย์ ยศ เกียรติ และความ สุข ย่อมพรั่งพรูมาสู่นรชนผู้นั้น.
จบจักกสูตรที่ ๑
จักรวรรควรรณนาที่ ๔
อรรถกถาจักกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในจักกสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า จกฺกานิ คือ สมบัติ
บทว่า จตุจกฺกํ วตฺตติ ความว่า จักร คือ สมบัติ ๔ ย่อมหมุนสืบต่อกัน ไป. บริษัท ๔ ย่อมปรากฏพร้อมในถิ่นใด ความอยู่ในถิ่นอันสมควรเห็นปานนั้น ชื่อว่า ปฏิรูปเทสวาสะ (ความอยู่ในถิ่นที่เหมาะ) ความพึ่งพิงคบหาสัตบุรุษมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ชื่อว่า สัปปุริสูปัสสยะ (ความพึ่งพิงสัตบุรุษ) . การตั้งตนไว้ชอบ คือ ถ้าเป็นคนประกอบด้วยความไม่มีสัทธาเป็นต้นมาก่อน การละความไม่มีสัทธาเหล่านั้นเสียแล้วตั้งอยู่ในสัทธา เป็นต้น ชื่อว่า อัตตสัมมาปณิธิ (ความตั้งคนไว้ชอบ) . ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้ในกาลก่อน ชื่อว่า ปุพฺเพ จ กตปฺญฺญตา (ความเป็นผู้ทำบุญมาก่อน)
ข้อนี้แหละถือเอาเป็นประมาณในจักร ๔ นี้. เพราะว่า กุศลกรรมเท่านั้นอันคนใด ทำด้วยจิตที่สัมปยุตด้วยญาณ กุศลจิตนั้น แหละย่อมนำคนนั้นเข้าไปอยู่ในถิ่น ที่เหมาะ ให้เขาคบหาสัตบุรุษ. ก็บุคคลนั้น ชื่อว่าตั้งตนชอบ ด้วยอาการอย่างนี้
บทว่า ปุญฺญกโต แปลว่า ได้ทำบุญไว้แล้ว
บทว่า สุขญฺเจตํ อธิวตฺตติ ความว่า และความสุข ย่อมพรั่งพรู คือ แผ่ลงมาสู่บุคคลนั้นดังนี้
อรรถกถาจักกสูตรที่ ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
จักกสูตร
ว่าด้วยจักร ๔
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงจักร (สมบัติ) ๔ ประการ ได้แก่
การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ
การได้พึ่งพิงสัตบุรุษ
การตั้งตนไว้ชอบ
ความเป็นผู้ได้กระทำบุญไว้ในกาลก่อน
เป็นธรรมที่สืบต่อ หมุนไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา (ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่
พึงเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบในการศึกษาพระธรรม
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...