สันตีรณจิต
เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน
"สันตีรณจิต" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายในคำนี้ด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โดยศัพท์ สันตีรณะ แปลว่า พิจารณา เป็นการยากที่จะเข้าใจได้จริงๆ ถ้ากระทำกิจสันตีรณะ ก็ทำกิจหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวารต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตเท่านั้น ถ้าทำกิจอื่น ก็มีความหมายตามกิจนั้นๆ เช่น ถ้าทำตทาลัมพนกิจ ก็ไม่ได้พิจารณา แต่ทำกิจตทาลัมพนะ คือ รับรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต ตามควรแก่สันตีรณจิตนั้นๆ
สันตีรณจิต มี ๓ ประเภท เป็นอกุศลวิบาก ๑ และ เป็นกุศลวิบาก ๒ คือ
-อุเบกขาสันตีรณ อกุศลวิบาก ๑ ดวง
-อุเบกขาสันตีรณ กุศลวิบาก ๑ ดวง
-โสมนัสสันตีรณ กุศลวิบาก ๑ ดวง
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว จิตบางดวง ทำกิจได้หลายกิจ
สำหรับสันตีรณจิตมี ๓ ดวง แต่ทำได้ ๕ กิจ ซึ่งจะต้องแยกประเภทกัน เพราะเหตุว่าสำหรับอุเบกขาสันตีรณจิตเท่านั้น ที่ทำได้ถึง ๕ กิจ
สำหรับอุเบกขาสันตีรณจิตที่ทำได้ ๕ กิจ คือ ทำปฏิสนธิกิจได้ ๑ ทำภวังคกิจได้ ๑ ทำจุติกิจได้ ๑ ทำสันตีรณกิจได้ ๑ ทำตทาลัมพนกิจได้ ๑
สันตีรณจิตดวงที่ ๑ และ ดวงที่ ๒ (อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก) เท่านั้น ที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติได้ สันตีรณจิตทั้ง ๓ ประเภททำกิจพิจารณาอารมณ์ (สันตีรณกิจ) ได้ ส่วนโสมนัสสันตีรณจิตกระทำสันตีรณกิจเมื่ออารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง
เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว วิถีจิตก็ยังเกิดสืบต่อไปอีก อเหตุกวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมอีกดวงหนึ่งที่เกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตนั้นเรียกว่า สันตีรณจิต สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์ที่รับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตทางปัญจทวาร สัมปฏิจฉันนจิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สันตีรณจิตเกิด ขณะเห็นจักขุวิญญาณเกิดและดับไป แล้วสัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อแล้วดับไป สันตีรณจิตก็เกิดต่อ เป็นวิถีจิตที่รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวาร ทางโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ก็เช่นเดียวกัน
สันตีรณจิตเป็นอเหตุกวิบากจิต เมื่ออารมณ์เป็นอนิฏฐารมณ์ สันตีรณจิตก็เป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากนั้นมี ๒ ดวง เมื่ออารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ธรรมดาๆ สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เมื่ออารมณ์เป็นที่น่าพอใจยิ่ง (อติอิฏฐารมณ์) สันตีรณจิตก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
ประโยชน์ของการศึกษา สันตีรณจิต คือ รู้ว่า ทุกชีวิต ก็เป็นแต่เพียงขณะจิต ที่รับรู้อารมณ์ และ พิจารณาอารมณ์ โดยไม่มีเราที่จะทำ จะพิจารณา แต่เป็นกิจ หน้าที่ของจิต และเจตสิกเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป อันเป็นความเข้าใจเพื่อเข้าใจถูกครับว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้นการศึกษาพระอภิธรรม วิถีจิตก็จะไม่หนัก เพราะไม่ใช่เรื่องจำชื่อ เรื่องราว แต่เรื่องของความเข้าใจว่า พระพุทธองค์ทรงแสดง สันตีรณจิตว่ามีจริง แสดง จิตต่างๆ ว่าทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราทำหน้าที่ ดังนั้น ชีวิตประจำวัน จึงเป็นการทำหน้าที่ของจิต เจตสิก ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เลย ครับ ก็จะเบาด้วยความเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งสิ้น เพราะธรรมมีกิจหน้าที่ของเขา กำลังทำอยู่แล้ว นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด
ขอเชิญคลิกฟังรายละเอียดจากคำบรรยาย
ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ตลอดทั้งตอนได้ที่นี่
ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ ซึ่งไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน และเป็นการยากมากที่จะเข้าใจตามความเป็นจริง แม้แต่ในขณะนี้ สันตีรณจิตก็มี แต่ไม่รู้ เมื่อไม่สามารถจะประจักษ์ลักษณะของสันตีรณจิตได้ ก็เพียงฟังให้เข้าใจว่า มีจิตประเภทนี้จริงๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เราเลย
ยกตัวอย่างทาง ๕ ทวาร
เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว วิถีจิตก็ยังเกิดสืบต่อไปอีก อเหตุกวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมอีกดวงหนึ่งที่เกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตนั้นเรียกว่า สันตีรณจิต สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์ที่รับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตทางปัญจทวาร สัมปฏิจฉันนจิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สันตีรณจิตเกิด ขณะเห็น จักขุวิญญาณเกิดและดับไป แล้วสัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อแล้วดับไป สันตีรณจิตก็เกิดต่อ เป็นวิถีจิตที่รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวาร ทางโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ก็เช่นเดียวกัน ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขณะนี้ก็มีสันตรณจิต แต่เราไม่รู้ เรารู้ตามการศึกษา แต่ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของเขา สำคัญที่ความเข้าใจว่าแม้ทุกอย่างก็เป็นธรรมะเกิดแล้วดับแล้วไม่เหลือ ไม่เที่ยง เช่น แข็งขณะนี้ เป็นธรรมะเกิดแล้วดับแล้ว แข็งนั้นจะไม่กลับมาอีกในสังสารวัฏฏ์ จึงไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนค่ะ
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ
ผมขออนุญาตกราบเรียนถามถึงความต่างระหว่างคำสองคำนี้ คือ "อิฏฐารมณ์" และ "อติอิฏฐารมณ์" ครับ
ขอเรียนถามเพิ่มเติม เพื่อชำระความเข้าใจและความเห็นผิดของผมครับ
จากประเด็นที่ว่า..
อุเบกขาสันตัรณจิตเท่านั้นที่ทำกิจครบ ๕ อย่าง แสดงว่า
๑.โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ทำกิจไม่ครบ ๕ อย่าง เช่น ไม่ทำกิจปฏิสนธิ ใช่ไหมครับ แล้วทำกิจในขณะที่เกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต แค่นั้น ใช่ไหม
๒. เจ้าชายสิทธัตถะ จิตประเภทใดทำกิจปฏิสนธิ ผมคงจำมาผิดว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก ของพระองค์ท่านทำกิจนั้น
เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ
ข้อที่ 1 ถูกต้องครับ เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ทำไมโสมนัสสันตีรณจิตไม่สามารถทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติได้?
ข้อที่ 2
ในภพภูมิ มนุษย์ ปฏิสนธิจิตของมนุษย์ ด้วย มหากุศลวิบาก 8 ดวง ซึ่ง พระโพธิสัตว์ ย่อมปฏิสนธิ ด้วยจิตที่ เป็นมหากุศลวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ โสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก ครับ
อุเบกขา สันตีรณ อกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำปฏิสนธิกิจในอบายภูมิ ๔ คือ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
อุเบกขา สันตีรณ กุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อนไม่มีกำลัง จึงทำปฏิสนธิกิจในมนุษย์และสวรรค์ชั้นต้น คือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา โดยมีอกุศลกรรมเบียดเบียน ทำให้เป็นบุคคลพิการ บ้า ใบ้ บอด หนวกเป็นต้น ตั้งแต่กำเนิด
มหาวิบาก ๘ ดวง ทำปฏิสนธิกิจในภูมิมนุษย์และสวรรค์ ๖ ภูมิต่างๆ กันตามกำลังและความประณีตของกุศลกรรมนั้นๆ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ..
ขออนุโมทนา