เก็บตก [สนทนาธรรมที่ไซ่ง่อน]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง ขณะสนทนาธรรมอยู่ที่เวียดนาม เกิดนึกขึ้นมาได้ จึงเป็นที่มาของ เก็บตก [สนทนาธรรมที่ไซ่ง่อน] สัญญาจำทำกิจถึงการสนทนาธรรมซึ่งมีท่านหนึ่งเขียนขึ้นมาถามว่า การอบรมเจริญวิปัสสนาต่างกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก มีการตอบยาวพอสมควร มาทราบทีหลังว่าผู้ที่เขียนมาถามก็คือ พี่ปริญญา สีดาโสม ดิฉันจึงร้องขอให้พี่เขาช่วยกรุณาเล่ารายละเอียดเพื่อดิฉันจะได้นำมาลง ณ. ที่นี้ค่ะ
(แถวสองซ้ายมือ คุณปริญญา สีดาโสม และภรรยา คุณเบญมาศ)
เมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2558) คุณเมตตาขอร้อง ให้ผมเขียนเรื่องที่ผมถามที่เวียตนามวันสุดท้าย คำถามที่ว่า What is the difference between Vipassanā-ñāṇas and Satipathanas ผมเขียนไปถามท่านอาจารย์ วันสุดท้ายของการสนทนาธรรมที่เวียตนาม.
ผมถามว่า ขอให้ท่านอาจารย์แสดงธรรม ความต่างของวิปัสนาญาน กับสติปัฏฐานเป็นอย่างไร? หลังจากที่ท่านอาจารย์แสดงธรรมจนจบ ต่อหน้าคนประมาณ 220 คน ผมก็ได้มีโอกาสได้พบท่านอาจารย์ ท่านก็ชมว่าเป็นคำถามที่ดีมาก ผมก็เรียนตอบท่านว่า เวลาผมฟังตอนนั้นผมเข้าใจนิดเดียวครับ ท่านก็ตอบแบบให้กำลังใจว่าคงไม่มีใครสามารถเข้าใจได้ทันทีเพราะไม่ใช่ภาษาของเรา.แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่ายิ่งคือ ความสนใจศึกษาธรรมของชาวเวียตนามที่สนใจมาฟังท่านอาจารย์แสดงประมาณ 32 ชั่วโมง ทุกครั้งในห้องสนทนาธรรมจุคนได้ประมาณ 200 คน เต็มเกือบทุกครั้ง ขอให้ท่านที่อ่านนึกถึงห้องสนทนาธรรมที่มีผู้ฟังสนใจ จะฟัง จะศึกษา ในบรรยากาศที่เงียบ ... ผลอย่างไรจะเกิด กับผู้ที่มีจิตศรัทธาที่นั่น คำถามส่วนใหญ่ก็เป็นคำถามที่ต้องการจะเข้าใจธัมมะในขั้นพื้นฐาน ดังนั้นคำถามไม่ใช่คำถามของผู้คิดว่ารู้แล้ว เวลาท่านอาจารย์แสดงธรรมเพื่อเป็นคำตอบ (ผ่านล่าม) ทุกคนตั้งใจฟังสิ่งที่เขาไม่เคยได้ยิน ทุกคนฟังเรื่องของธัมมะเป็นสิ่งที่มีจริง (ฟังอย่างตั้งใจฟัง) เนื่องจากผู้ศึกษาหลายคนก็ยังมีความเห็นต่างอยู่ เพราะชาวเวียตนามส่วนใหญ่ ศึกษาธรรมโดยการนั่งสมาธิ คำถาม และคำตอบ (คือการตอบไปตอบมา) ก็มีหลายครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ฟังผู้อื่นเบื่อหน่าย นี่เป็นมรรยาทการฟังที่เขาได้รับการอบรมมา สำหรับบางคนที่มาฟังท่านอาจารย์แล้วยังนั่งสมาธิอยู่ วันรุ่งขึ้นเขากลับมาถามคำถามท่านอาจารย์อีก ผมเองไปเวียตนามไปเพื่อที่จะไปเที่ยว แต่พอเห็นความสนใจของคนที่มาฟัง ก็มีความละอายใจที่ว่า มูลนิธิของเรามีท่านอาจารย์ผู้เลิศด้วยปัญญา. แม้ผู้ศึกษาธรรมต่างชาติ ยกย่อง และแสวงหา ควรหรือเราจะไม่สนใจ ไม่ใส่ใจก่อนจบการสนทนาวันสุดท้ายผมก็ได้มีโอกาสรับประทานอาหารร่วมกับคุณSarahอาจารย์วิทยากรชาวต่างชาติ ผมก็ถามคำถามนี้กับคุณSarah คุณSarah คิดแล้วกำลังจะตอบ จากนั้นเธอก็บอกให้ผมถามอาจารย์สุจินต์ ในห้องสนทนาธรรมที่นั่น ท่านอาจารย์ตอบคำถามที่ผมถามไป คำตอบของท่านยาวถึง 30 นาที ในบรรยากาศที่เงียบสนิท พวกเขากำลังฟังพระธรรมที่มี่ประโยชน์ และหายากในชีวิตนี้ จากนั้นคุณ Sarah และคุณ Jonathan ก็ช่วยกันสรุปอีกประมาณ 10 นาที เป็นอีกวันที่ได้ศึกษาพระธรรมที่ดีมาก ... ความผูกผันของผม และคุณเบญจมาศที่มีต่อชาวเวียตนามก็มีมากขึ้น เพราะคณะสนทนา ธรรมชาวเวียตนามได้มาร่วมสนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ และเราทั้งสองก็มีโอกาสขับรถไปรับ และส่งขณะที่มีการฟังธรรม และเราก็ได้เข้านั่งฟังสนทนาธรรมโดยท่านอาจารย์ทุกครั้ง การฟังธรรมที่แก่งกระจาน จัดโดยท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ท่านให้ใช้บ้านของท่านเป็นที่สนทนา บรรยากาศเงียบสงบ อยู่ท่ามกลางภูเขา และต้นไม้ ซึ่งไม่น่าจะต่างกับในสมัยพุทธกาล ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม 45 พรรษาเพื่อโปรดชาวโลก ธัมมะที่ท่านแสดงทุกครั้งก็เป็นบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ เช่นต้นมหาโพธิ์ ... ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ท่านแสดงธรรมได้อย่างคล่องแคล่วทั้งๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ ความรู้ความสามารถทางภาษาทำให้ทุกท่านที่มาฟัง ได้มีความเข้าใจมากขึ้น Bach Thi Minh Tam (คุณยิกตั้ม) หัวหน้าคณะผู้ศึกษาธรรมชาวเวียตนาม ซึ่งมีศรัทธาในท่านอาจารย์ อย่างไม่มีข้อสงสัย ตั้งคำถามถึงท่านอาจารย์ แต่ละคำถามเป็นสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ คณะสนทนาธรรมชาวต่างชาติทั้งหมดบางครั้งก็ได้ร่วมกันเตรียมคำถามที่ดีที่สุดที่เหมาะสมที่สุดนำมาถามคำถามต่อท่านอาจารย์ที่เลิศที่สุดในยุคนี้
... 2 อาทิตย์ที่แก่งกระจานเป็นโอกาสที่ผมได้อยู่กับผู้ที่ต้องการศึกษาธัมมะและสนใจอย่างมากอีกครั้ง หนึ่ง ช่วงหยุดระหว่างอาทิตย์ ผมและคุณ เบญจมีโอกาสนำชาวเวียตนาม 6 คนไปเที่ยวเขาวัง จ.เพชรบุรี พอดีมีงานประจำปี ตอนกลางคืน คุณจู (คุณ กุสุมา โกมลกิติ) ก็ได้ร่วมไปเที่ยวด้วย ทุกคนได้เดินขึ้นเขาวัง ดูพระอาทิตย์ในยามคำ่ ถ่ายรูปและหัวเราะกันด้วยความร่าเริงกับคุณเบญจมาศความสนุกสนานรื่นเริงก็ เป็นธัมมะ ความสุขก็คือความสุข ไม่ว่าชาติใด ความสุขก็มีลักษณะเหมือนกัน แต่คงจะต่างกันที่มีความติดข้องเท่านั้น คืนนั้นที่งานประจำปีทุกคนได้กินขนมจีนน้ำยาและก๋วยเตี๋ยว พวกเขาชอบกินผักกับขนมจีน อร่อยจนลืมคำว่าเผ็ด เที่ยวงานเสร็จผม และคุณเบญจได้ขับรถคนละคันพาพวกเขาไปส่งที่ Condo หัวหิน ซึ่งเป็นที่พักผ่อนของคุณจู และคุณเมตตา ตามแผนผมควรจะกลับมานอน Condo ของผมที่ชายทะเลชะอำ แต่เพราะที่Condoของคุณจูยังมีห้องว่าง คุณจูได้มีความกรุณาให้ผมและคุณเบญจนอนพัก วันรุ่งขึ้นเราทั้งสองได้พาสหายธรรมไปเที่ยวชมที่พักผ่อนยามร้อนสมัยรัชกาล ที่ 6 มฤคทายวัน เป็นเรือนไม้สักปลูกอยู่ริมทะเล ตอนบ่ายก่อนกลับไปส่ง คณะชาวเวียตนามได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเที่ยงกับผมและคุณเบญจมาศเป็นอาหารเวียดนามครับ พวกเขาทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดี มีน้ำใจที่ดี มีความสุภาพ จากนั้นผมก็ได้พาพวกเขากลับหัวหิน เพื่อพักผ่อนอีกครั้ง และที่นั่นผมก็ได้พบกับคุณเมตตา ซึ่งขับรถมาจากกรุงเทพ พาคุณพ่อ และคุณแม่มาฟังธรรมด้วย ... มาวันนี้ บางครั้งก็มีความคิดถึงสหายธรรมหนุ่มและสาวชาวเวียตนามที่สละความสุข และอาชีพส่วนตัวมาศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธ์เจ้า ซึ่งมีท่านอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ให้พวกเขา ใครสนใจฟัง คิดว่าเดือนพฤษภาคมปีนี้ท่านอาจารย์จะนำคณะไปอีกครั้ง
กระผมขอกราบแทบเท้าบูชาท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ท่านไม่ย่อท้อที่จะแสดงธรรมกับทุกท่านที่ให้ความสนใจ ไม่ว่าชาติใดภาษาใดและแม้จะเป็นต่างประเทศที่ไกลท่านก็ไป กุศลจิตของท่านอาจารย์นั้นยิ่งใหญ่นัก
ขอกราบอนุโมทนาครับ
ปริญญา
พี่ปริญญา และคุณเบญจมาศเป็นผู้มีจิตใจดีมาก เดินทางมาจากหนองหญ้าปล้องมาที่รีสอร์ทแก่งกระจานคันทรี่คลับทุกวันเพื่อขับรถพาชาวเวียดนามออกไปทานข้าวข้างนอกกัน ส่วนคุณเบญจมาศ ตอนอยู่ที่เวียดนาม ชาวเวียดนามเรียก เบญจี้ ท่านเป็นคนสดใส ร่าเริง ขณะเดินทางไปที่ๆ ใช้เวลาชั่วโมง สองชั่วโมง คุณเบญจี้จะถูกเชิญให้ออกมาร้องเพลงให้พวกเราได้ฟังน้ำเสียงที่ไพเราะอย่างมาก ไม่ว่าเพลงไทย เพลงสากล เพลงตลกและยังเป็นวิทยากรให้ความสำราญอย่างมาก
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของพี่ปริญญา และคุณเบญจมาศ เป็นอย่างยิ่งค่ะ
เก็บตกอีกสนทนาหนึ่งที่น่าสนใจมาก ท่านหนึ่งพูดถึงความพอใจในการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าด้วยเครื่องประดับ บางท่านก็ยังติดข้องในการแต่งตัวอยู่ ท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจธรรมว่า แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคล ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ยังไม่ได้ดับกิเลสตามลำดับขั้น อย่างเช่นพระนางวิสาขา ท่านดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคลตัวตนได้แล้ว เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ท่านยังไม่ได้ดับความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นพระอนาคามีบุคคล ท่านสะสมมาที่พอใจตบแต่งกายสวยงามด้วยเครื่องประดับล้ำค่ามากมาย
(ของขวัญปีใหม่จากหนูน้อย เชปถึง โกวเมตตา)
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 314
ในราตรีปฐมยาม ทรงชำระปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในมัชฌิมยาม ทรงชำระทิพยจักษุในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาปัจจยาการ ทรงออกจากจตุตถฌานที่มีอานาปานสติเป็นอารมณ์ ทรงหยั่งสำรวจในปัญจขันธ์ก็ทรงเห็นลักษณะทั้งหลายด้วยปัญญาอันสม่ำเสมอ โดยอุทยัพพยญาณ ทรงเจริญวิปัสสนาจนถึงโคตรภูญาณ ทรงแทงตลอดมรรคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณกำหนดกำเนิด ๔ ญาณกำหนดคติ ๕ อสาธารณญาณ ๖ และพระพุทธคุณทั้งสิ้น ทรงมีความดำริบริบูรณ์แล้ว ประทับนั่ง ณ โคนไม้ที่ตรัสรู้ ทรงเปล่งอุทานอย่างนี้ว่า
เราแสวงหาตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ จึงต้องท่องเที่ยวไปตลอดชาติสงสารเป็นอันมาก ชาติความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อน ตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนอีกไม่ได้ โครงสร้างเรือนของท่านเราหักหมดแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อออกแล้ว จิตของเราถึงธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว ... ..
เมื่อสองปีก่อนที่ไปสนทนาธรรมที่เวียดนาม ได้พบกับ อัศจรรย์หนูน้อยชาวเวียดนาม น้องเชบ ลูกสาวคุณมาย และคุณซอน และได้ถ่ายรูปด้วยกันหลายรูป รูปหมู่ด้านล่างขวามือ ถ่ายที่ คอนโดคุณ Tam Bach ท่านได้ชวนไปเที่ยวบ้านหลังจบการสนทนาธรรมวันหนึ่ง ท่านเพิ่งย้ายมาที่ฮวงเต่า ไม่นาน ท่านและเพื่อนๆ จัดต้อนรับด้วยอาหารว่าง และเค้ก และเมื่อปีที่แล้วเดือนมกราคม ชาวต่างชาติและชาวเวียดนามได้มาร่วมสนทนาธรรมที่แก่งกระจาน หัวหิน และสวนผึ้ง (สนทนาธรรมกันที่บ้านมิ่งโมลี) ครั้งนั้นน้องเชบได้ร่วมเดินทางมากับคุณพ่อและคุณแม่ด้วย ทำให้น้องเชบ และดิฉันคุ้นเคย สนิทสนมรักกันมาก เมื่อดิฉันมีโอกาสไปร่วมสนทนาธรรมข้ามปีที่ไซ่ง่อนเดือนที่ผ่านมานี้เอง ก็ได้รับของขวัญปีใหม่ที่น้องเชบบรรจงวาดเอง และได้เขียนจดหมายถึงดิฉันมุมบนด้านซ้าย โดยคุณแม่เป็นคนนำภาพถ่ายมาปะไว้ให้ แล้วหนูน้อยก็ระบายสีเอง หนูเชบติดเรียนค่ะ เลยไม่ได้เดินทางมาไซ่ง่อน ได้แต่ฝากจดหมายรัก โกวเมตตา มาให้ ... ช่างน่ารักจริงๆ ค่ะ เห็นถึงความติดข้องความเยื่อใย ในสิ่งที่รัก เรือนที่ต้องสร้างต่อไปอีกไม่รู้จักจบ ... นายช่างผู้สร้างเรือน
กราบเท้า บูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ ...